ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th
ข่าวศูนย์ศิลปวัฒนธรรม

มข.มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ ๓๒ ศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์

วันอังคารที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๗ รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในงานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้ผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี ๒๕๖๗ โดยมี รศ.ดร. นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายวรศักดิ์ วรยศ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินมรดกอีสาน ผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ สื่อมวลชน และผู้มีเกียรติจำนวนมากเข้าร่วมในงาน ซึ่งในปีนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติ อมรศิลปินมรดกอีสาน ศิลปินมรดกอีสาน และผู้มีผลงานดีเด่น ด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ จำนวน ๓๒ ราย ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ประธานในพิธี พร้อมด้วย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และ ดร.สมยงค์ แก้วสุพรรณ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น นำถวายความเคารพและกล่าวคำถวายอาเศียรวาทราชสดุดี เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มีการลำถวายพระพรโดย ดร.ฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๓๖ แคน โดย นายพงศธร อุปนิ (อ้น แคนเขียว)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถในหลากหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์ และดนตรีไทยซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริมและให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศเป็นเอนกอนันต์ จากพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพ และพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมอันโดดเด่นนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน”
สำหรับผู้ที่ได้เข้ารับรางวัลศิลปินมรดกอีสานและผู้ผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ปีนี้ประกอบไปด้วย
รางวัลเชิดชูเกียรติ “อมรศิลปินมรดกอีสาน”
๑. นางสาวรัตนาภรณ์ อินทรกำแหง ณ ราชสีมา (สาขานักแสดง)
๒. นายเฉลิมชัย ศรีฤาชา (สาขาประพันธ์และขับร้องเพลงลูกทุ่ง)
รางวัลศิลปินมรดกอีสาน ประกอบด้วย
สาขาทัศนศิลป์ มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ ๓ ท่าน ได้แก่
๑. นางสาวจินตนา เปี่ยมศิริ (จิตรกรรมร่วมสมัย)
๒. นายพงษ์ชยุตน์ โพนะทา (หัตถกรรม)
๓. นายภัฏ พลชัย (ประติมากรรม)
สาขาวรรณศิลป์ มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ ๒ ท่าน ได้แก่
๑. นายปรีดา ปัญญาจันทร์ (วรรณกรรมเยาวชน)
๒. นายไชยา วรรณศรี (วรรณกรรมร่วมสมัย)
สาขาศิลปะการแสดง มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ ๑๐ ท่าน ได้แก่
๑. นายบุญชื่น บุญเกิดรัมย์ (การแสดง)
๒. นายบุญเสริม เพ็ญศรี (หมอลำกลอนทำนองอุบล)
๓. นายสุเทพ โพธิ์งาม (นักแสดงตลก)
๔. นางทองวัน ตรีสูน (หมอลำกลอนทำนองพุทไธสง)
๕. นายศรชัย เมฆวิเชียร (นักร้องลูกทุ่ง)
๖. นายบุญจัน ชูชีพ (หมอลำกลอนทำนองพุทไธสง)
๗. นายเรืองยศ พิมพ์ทอง (เรียบเรียงเสียงประสาน)
๘. นายธงชัย ประสงค์สันติ (ผู้จัดละคร)
๙. นายพงษ์สิทธิ์ คำภีร์ (นักร้องเพลงเพื่อชีวิต)
๑๐. นางเพชราภรณ์ กาละพันธ์ (หมอลำกลอนประยุกต์)
รางวัลเชิดชูเกียรติผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประกอบด้วย
สาขาเกษตรกรรม มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ ๑ ท่าน ได้แก่
๑.นายวานิชย์ วันทวี (ปศุสัตว์)
สาขาการแพทย์หรือเภสัชกรรมแผนไทย มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ ๒ ท่าน ได้แก่
๑.นายทองสา เจริญตา (หมอสมุนไพรพื้นบ้าน)
๒.นางสาวขวัญดิน สิงห์คำ (ครูภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย)
สาขาศิลปกรรม มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ ๘ ท่าน ได้แก่
๑. นางปริศนา วงศ์ศิริ (นักแสดง นักร้อง)
๒. นางชนิดา นาห้วยทราย (หมอลำกลอน)
๓. นางละมัย เฉิดละออ (หมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองกาฬสินธุ์)
๔. นางสงบ คำภูเวียง (หมอลำกลอน)
๕. นายบรรลุ ศรีแสง (นักแสดง/ ผู้ฝึกสอน/ ผู้กำกับคิวบู๊)
๖. นายภักดี พลล้ำ (หมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่น)
๗. นายพรสวรรค์ นนทะภา (ทัศนศิลป์)
๘. นายปอยฝ้าย เบญจมาลัยพร (นักแสดง/ นักร้อง)
สาขาภาษาและวรรณกรรม มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ ๑ ท่าน ได้แก่
๑. นายณรงค์ศักดิ์ ราวะรินทร์ (ปริวรรตใบลาน)
สาขาศาสนาและประเพณี มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ 2 รูป ได้แก่
๑. พระครูภาวนาโพธิคุณ,รศ.ดร. (สมชาย กนฺตสีโล)
๒. พระครูสมุห์หาญ ปัญฺญาธโร,ดร
สาขาสื่อสารวัฒนธรรม มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ ๑ ท่าน ได้แก่
๑. นายชุมเดช เดชภิมล(ดนตรีพื้นบ้าน)
งานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน สืบสานวัฒนธรรมสัมพันธ์ในครั้งนี้ ปิดท้ายด้วยการแสดงจากศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี ๒๕๖๗ พร้อมการแสดงคอนเสิร์ตลูกทุ่งหมอลำ จากวง ระเบียบวาทศิลป์
โดยรางวัลศิลปินมรดกอีสานได้เริ่มมอบรางวัลให้กับศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลากว่า ๒๐ ปี โดยจะมอบรางวัลให้กับศิลปินที่มีผลงานโดดเด่นทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับประเทศซึ่งจะต้องสร้างสรรค์ผลงานมาไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี และปัจจุบันยังสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้สืบสานส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรมของอีสาน
  • Date

    สิงหาคม 20, 2021

Share project