ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

อินตา บุตรทา (หมอลำเรื่องต่อกลอน)

อินตา บุตรทา

นายอินตา บุตรทา เกิดเมื่อพุทธศักราช ๒๔๕๘ ที่จังหวัดขอนแก่น สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ โรงเรียนบ้านเหล่านาดี ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยเริ่มเรียนหมอลำจากปู่คำ ด้วยความอุตสาหะและใฝ่รู้จนสามารถลำได้อย่างชำนาญ โดยลำด้นสดไม่ใช้การลำแบบท่องจำ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการลำได้เป็นอย่างดี ถึงแก่กรรมเมื่อ พุทธศักราช ๒๕๐๔ สิริอายุ ๔๖ ปี

นายอินตา บุตรทา เป็นศิลปินหมอลำที่มีผลงานการแสดงดีเด่น เป็นที่รู้จักและยอมรับกันทั่วไปในภาคอีสาน โดยเริ่มก่อตั้งคณะเสียงทองบันเทิงศิลป์อินตาไทยราษฎร์ เมื่อปี พุทธศักราช ๒๔๙๘ ได้ถ่ายทอดการร้องหมอลำให้แก่ลูกศิษย์ มากกว่า ๕๐๐ คน โดยสอนทั้งวิชาความรู้และวิชาการใช้ชีวิต ยึดหลักธรรมทางศาสนาและหลักเศรษฐกิจพอเพียงเป็นที่ตั้งในการดูแลวงหมอลำ ซึ่งลูกศิษย์คนสำคัญที่มีชื่อเสียงโด่งดังในปัจจุบัน ได้แก่ คุณพ่อทองเยี่ยม ประสมพืช หัวหน้าคณะเทพประสิทธิ์ศิลป์ (ปัจจุบันยุบวงไปแล้ว) คุณแม่อุษา แถววิชา หัวหน้าคณะหนึ่งในสยาม คุณแม่บุญถม นามวันทา หัวหน้าคณะประถมบันเทิงศิลป์ ส่วนคุณพ่อบุญถือ หาญสุรีย์ เป็นลูกศิษย์คนสุดท้ายของพ่อครูอินตาก่อนที่จะถึงแก่กรรม คุณพ่อบุญถือ หาญสุรีย์ จึงสืบทอดวงหมอลำต่อจากพ่อครูอินตามาหลายปี ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อวงเป็น หมอลำคณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์

หมอลำคณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ ก่อกำเนิดขึ้นและยืนหยัดอยู่ได้ เพราะเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ จากพ่อครูอินตา บุตรทา บรมครูหมอลำผู้ก่อกำเนิดทำนองลำพื้นสังวาสอินตา ซึ่งเป็นทำนองลำพื้นขอนแก่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นวงหมอลำที่มีชื่อเสียงโดยเฉพาะการแสดงลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่น ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง นอกจากนี้ หมอลำคณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ ยังเปรียบเสมือนโรงเรียนสอนหมอลำที่ถ่ายทอดการแสดงศิลปะอีสานที่นับวันจะถูกลืมเลือนจากวัฒนธรรมหมอลำให้แก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการจะมาเป็นศิลปินหมอลำ ทั้งพระเอก นางเอก นักร้อง นักแสดง ตลก หรือแดนเซอร์ โดยทำมาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนได้รับการแต่งตั้งเป็นศูนย์อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมหมอลำอีสาน ประจำจังหวัดขอนแก่น จากศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดขอนแก่น

ตลอดชีวิตของ นายอินตา บุตรทา ได้สร้างและวางรากฐานการแสดงลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่นแบบดั้งเดิมที่เรียกว่า ลำพื้นสังวาสอินตา ให้แก่วงหมอลำคณะรัตนศิลป์อินตาไทยราษฎร์ จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แม้ท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่คุณูปการในการสร้างศิลปินหมอลำในรุ่นหลังยังคงสืบต่อและสร้างสรรค์จนเกิดคณะหมอลำที่มีชื่อเสียงขึ้นมาอีกมากมาย นายอินตา บุตรทา จึงสมควรได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นอมรศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำเรื่องต่อกลอน) พุทธศักราช ๒๕๖๒ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ครอบครัวสืบไป