ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

วีระ สุดสังข์ (ฟอน ฝ้าฟาง) (วรรณกรรมร่วมสมัย)

วีระ สุดสังข์

นายวีระ สุดสังข์ เกิดเมื่อวันอังคารที่ ๒๐ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๐๑ ที่บ้านโพธิ์กระสังข์ เติบโตจากวัยเด็กถึงวัยหนุ่มที่บ้านตาตา บ้านหนองขนาน ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรการศึกษา วิทยาลัยครูสุรินทร์ อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์ ศึกษาศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และการศึกษามหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

รับราชการครูครั้งแรกที่บ้านหนองขนาน ปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ อาจารย์ ๓ ระดับ ๘ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ ปัจจุบันรับราชการครูที่โรงเรียนบ้านเปือยนาสูง ตำบลตะดอบ อำเภอเมือง จังหวัดศรีสะเกษ

เพราะเป็นนักอ่านมาก่อน จึงทำให้เขารักในการเขียน และเป็นนักเขียนในเวลาต่อมา โดยสาเหตุที่ทำให้เขารักการอ่านนั้น วีระเคยบอกว่า ในวัยเด็กขณะเรียนชั้นประถมศึกษา หนังสือหายาก เห็นอะไรที่เป็นตัวหนังสือก็จะเก็บมาอ่านทั้งหมด แม้แต่หนังสือพิมพ์ห่อกล้วยแขก หนังสือพิมพ์ฉีกขาดตกอยู่ตามพื้น ก็เก็บมาอ่าน แต่อ่านแล้วไม่จบเรื่อง ทำให้อยากอ่านต่อ จึงพยายามอ่านหนังสือที่เป็นเรื่องและหยิบหนังสือที่มีอยู่ในโรงเรียนมาอ่าน โดยเฉพาะตอนพักกลางวันที่ไม่มีเงินไปซื้ออาหาร ทำให้เวลาทั้งหมดถูกทุ่มเทให้กับการอ่านหนังสือในห้องสมุด และได้ข้อสรุปสำหรับตนเองว่า “ถ้าเขียนอย่างนี้เราก็เขียนได้”

จนกระทั่งรับราชการครู นิสัยรักการอ่านรักการเขียนฝังลึกในจิตวิญญาณ พอมีเงินซื้อหนังสือแล้ว ทำให้เขาได้อ่านหนังสือหลากหลายขึ้น นามปากกาก็มีมากมายเช่นเดียวกัน โดยเดือนธันวาคม ๒๕๒๓ เขามีงานชิ้นแรกตีพิมพ์ในหนังสือการะเกด ของ สุจิตต์ วงษ์เทศ นามปากกา วีระ สุดสังข์ แต่จำชื่อเรื่องที่เขียนไม่ได้ และที่ถือว่าแจ้งเกิดบนถนนนักเขียนก็คือบทกวีตีพิมพ์ในมติชนรายวัน ฉบับวันที่ ๑๘ เมษายน ๒๕๒๔ ชื่อบทกวีว่า “คำสั่งพ่อ” นามปากกา ฟอน ฝ้าฟาง และนามปากกานี้ก็ถูกใช้มาจนถึงเมษายน ๒๕๔๔ จึงประกาศเลิกใช้

ปัจจุบันผลงานที่เขาเขียนนั้นมีทุกประเภท ทั้งบทกวี เรื่องสั้น นิยาย สารคดี บทความทั่วไป แม้จะเขียนประเภทใดก็ตาม แนวที่เขียนก็ยังเหมือนเดิม เป็นเรื่องชีวิต วัฒนธรรม ความรู้ ความคิดด้านการศึกษา การบ้านการเมือง ส่วนใหญ่เป็นงานสัจนิยมมากกว่างานจินตนิยม

สำหรับผลงานการสร้างสรรค์ของวีระ สุดสังข์นั้น ถือว่ามีคุณค่าและได้บันทึกรวบรวมเรื่องราวชีวิตของคนอีสาน โดยเฉพาะคนชาติพันธุ์ที่มีอยู่หลายกลุ่มในภาคอีสานเอาไว้ รวมถึงทุกวันนี้เขายังนำเวลาที่ว่างไปเป็นวิทยากร ถ่ายทอดความรู้ประสบการณ์แก่ผู้ที่สนใจทั่วประเทศ นายวีระ สุดสังข์ จึงสมควรได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ (วรรณกรรมร่วมสมัย) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป