ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

วัดโพธาราม

ประวัติความเป็นมา

เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ โดยชาวลาวที่อพยพมาจากเวียงจันท์ บ้านดงบัง ตั้งอยู่บนโพนสูงล้อมรอบด้วยป่าไม้หนาทึบจึงชื่อว่า “ดงบัง” ประชากรเป็นชาวไทยลาว ตั้งบ้านครั้งแรกที่บ้านเก่าน้อย โดยตั้งพร้อมกับบ้านตาบางเขต อ.ปทุมรัตต์ บริเวณที่ตั้งบ้านดงบัง สันนิษฐานว่า เห็นเมืองของเก่า เนื่องจากมีคูน้ำล้อมรอบ มีแท่งศิลาแลงและขุดวัตถุโบราณ กระปุกรูปช้าง และโครงกระดูกจำนวนมาก แต่เดิมมีหอไตรและโบสถ์เก่าสร้างอยู่กลางน้ำเป็นอุทกฺกขเขปสีมา (หรือที่เรียกกันโดยภาษาพื้นถิ่นว่า “สิมน้ำ”) อยู่ทางทิศเหนือของโบสถ์หลังปัจจุบัน ซึ่งเมื่อชำรุดแล้วจึงได้สร้างสิมบกขึ้น โดยพระครูจันดี เจ้าอาวาสองค์ที่ ๔ เป็นผู้ออกแบบเดิมมีชื่อว่า “วัดโพธิ์ทอง” มาเปลี่ยนเป็น “วัดโพธาราม” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๕

ที่ตั้ง

บ้านดงบัง  อ.นาดูน  จ.มหาสารคาม

รูปแบบสิม วัสดุและโครงสร้าง

เป็นสถาปัตยกรรมแบบพื้นบ้านอีสาน ฐานสิมยกสูงตั้งอยู่บนฐานประทักษิณซึ่งบกสูงอยู่โดยรอบมีเสานางเรียงรองรับชายคาปีกนกตลอด หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องไม้ (แด่เดิม) มีลำยอง หางหงส์เป็นหัวนาค มีโหง และช่อฟ้า อยู่กลางสันหลังคา เป็นไม้แกะสลักแบบศิลปกรรมอีสานพื้นบ้านที่สวยงามมาก ผนังก่อทึบตลอด เจาะช่องหน้าต่างข้างละ ๒ ช่อง เพื่อต้องการแสงสว่างโดยไม่ทำเป็น บานปิดเปิด พระประธานใช้ พระไม้ ที่แกะสลักอย่างสวยงามตามฝีมือช่างพื้นถิ่นซึ่งให้เอกลักษณ์ทางพุทธศิลป์อย่างเต็มเปี่ยม ส่วนเพิงด้านหน้านั้นน่าจะทำขึ้นภายหลังเพื่อป้องกันฝนไม่ให้ทำลายตัวนาคที่เฝ้าบันไดทั้งคู่ ซึ่งนับเป็นงานประติมากรรมที่มีคุณค่าสูงเช่นเดียวกัน มีฮูปแต้มทั้งภายในและภายนอกช่างเขียนคือ อาจารย์ซาลาย และนายสิงห์ เป็นชาวบ้านดงบังทั้งคู่ เขียนสีฝุ่นผสมกาวไม่มีรองพื้น ใช้สีของพื้นผนังสิมเป็นสีพื้นของฮูปแต้ม สีที่ใช้มีสีฟ้า เขียว แดง ดำ ขาว วรรณะสีส่วนรวมเป็นสีอ่อนไม่ฉูดฉาด ภาพที่ต้องการเน้นให้เป็นจุดเด่นสะดุดตา จะเขียนสีตรงข้ามตัดกัน เช่น สีครามตัดเส้นด้วยสีน้าตาล ส้มและดำ เป็นต้น เนื้อหาเป็นเรื่องพระเวสสันดร พระพุทธประวัต พระป่าเลไลยก์ รามสูร-เมขลา และเรื่องสังข์ศิลป์ชัย นอกจากนี้ยังสะท้อนให้เห็นเหตุการณ์ในอดีต อาทิเช่น การแต่งกาย การไว้ผม สภาพสังคม การทำบุญ ความเป็นอยู่ประจำวัน การเลี้ยงดูบุตร การประกอบอาชีพการค้าขาย การล่าสัตว์ ขับร้องฟ้อนรำ เป็นต้น นับเป็นแหล่งที่ให้ทั้งความงามและความรู้สึกเกี่ยวกับวิถีชีวิตผู้คนอีสานในอดีตอย่างดียิ่ง

เป็นอาคารก่ออิฐสอดินฉาบปูนพื้นเมือง (ปะทาย) เครื่องบนหลังคาใช้โครงสร้างไม้ทั้งหมด เดิมทีมุงกระเบื้องไม้ (แป้นเกล็ด) แล้วมาเปลี่ยนเป็นที่สุดเช่นปัจจุบัน ส่วนปีกนกยื่นแบนรานทำเป็น ๒ ชั้น มีเสาไม้รับตลอด มีประโยชน์ใช้ป้องกันฝนสาดฮูปแต้มได้เต็มที่ เพิ่งได้รับการบูรณะ จากกรมศิลปากรทั้งตัวอาคารและจิตรกรรมเสร็จเรียบร้อยแล้ว โครงสร้างและวัสดุของสิมหลังนี้จึงสามารถยืนหยัดต่อไปได้อีกนานทีเดียว ทั้งนี้ต้องให้ทางวัดคอยสอดส่องดูแลอยู่อย่างสม่ำเสมอด้วยอีกทางหนึ่ง

รายละเอียดส่วนประดับมีดังนี้

๑. โหง่ ไม้แกะสลักช่างพื้นบัาน ทำอกใหญ่ เเละยอดโค้งมีตุ้มกลมที่ปลายยอด
๒. ลำยองที่หน้าบัน สลักไม้เป็นตัวนาคเลื้อยสะดุ้ง ๕ ชั้น มีเกล็ดนาค หางหงส์ ชำรุดหลุดหายไปแล้ว

๓. ที่สันหลังคาปั้นปูนเป็นหัวพญานาค
๔. ช่อฟ้า ไม้แกะสลักเป็นยอด ๓ ชั้น

. ทางเข้าสิมมีพญานาคปั้นปูนสองข้าง มีสัดส่วนที่งดงามแบบอีสาน ประตู เเละ หน้าต่างนั้นช่างทำเรียบง่ายไม่มีการแกะสลักแต่อย่างใด
สิมวัดโพธารามมีรูปลักษณ์ของโครงสร้างตัวอาคารเด่นกว่าสิมอีสานพื้นบ้านโดยทั่วไปที่พบเห็นกันในอีสาน ที่เห็นแปลกตาออกไปคือ สิมแห่งนี้มีฐานที่รองรับเสานางเรียงสูงกว่าสิมหลังอื่นๆ ฐานรองรับเสานางเรียงจะมีบัวหงาย เส้นลวดลายท้องไม้และบัวคว่ำ มีลักษณะเหมือนกับเป็นฐานรองรับตัวอาคาร โดยปกติแล้วฐานที่รองรับฐานตัวอาคารหากว่ายกสูงขึ้นกว่าพื้นดินเพื่อกันน้ำท่วมหรือเพิ่มความงามก็จะสร้างแต่เพียงฐานหน้ากระดานที่ไม่สูงนัก รวมแล้วสิมหลังนี้จะมีส่วนประกอบของฐานถึง ๒ ชั้น หนึ่งคือฐานของตัวอาคารสิม สองคือฐานรับเสานางเรียงบันได ๑๑ ขั้น จึงเป็นผลให้เกิดความงามทางด้านสุนทรียะทางตัวอาคารสิมเกิดความเด่นสง่างามกว่าสิมหลังอื่น ๆ ที่มีความสูงเหนือจากพื้นดินไม่มากนัก

ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนังอีสาน)

ฮูปแต้มวัดโพธารามปรากฎอยู่บนพื้นผนังทั้งภายในและภายนอก เต็มระนาบของพื้นผนังทุกด้าน
พื้นผนังที่รองรับฮูปแต้มเป็นการเตรียมขึ้นแบบธรรมดา ไม่มีการล้วงพื้นเหมือนภาพเขียนที่พบเห็นกันในอีสวน โดยเฉพาะแถบอีสานกลาง สุนทรียภาพที่เกิดจากฮูปแต้มจากวัดโพธารามเห็นได้จากลายเส้น และการวางองค์ประกอบศิลป์อย่างเรียบง่าย
องค์ประกอบภาพทั้งหมดจะอยู่เหนือขอบหน้าต่างด้านรีของตัวอาคาร สูงจากพื้นสิม ๑เมตร ๗๐ เซนติเมตร มีขอบลายหน้ากระดานเป็นภรอบภาพ เฉพาะส่วนล่างขององค์ประกอบภาพ มีลักษณะคล้ายแผ่นผ้าพระเวสที่น่ามาประดับบนฝาผนังทุกด้าน ช่างแต้มเขียนภาพให้เกิดความวิจิตรตามกำลังความสามารถและความคิดของพุทธศาสนิกชนที่อยู่ห่างไกลจากสังคมเมือง ฮูปแต้มบนผนังด้านรีแบ่งออกเป็น ๓ ห้องภาพ แต่ละห้องคันดัวยเสาไม้ เสาไม้ ๒ เสาเปรียบเหมือนสินเทาคั่นห้องภาพทั้ง ๓

เรื่องราวที่ปรากฏเป็นฮูปแต้มคือพุทธประวัติ ช่างแต้มคัดเฉพาะตอนที่มีความสำคัญมาถ่ายทอดให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยวางเนื้อหาสาระของภาพแต่ละตอนให้ต่อเนื่องกัน เพื่อโน้มนำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมที่จะก้าวสู่คุณค่าของคุณธรรม ฉากที่เด่นที่สุดได้แก่ภาพตอนถวายพระเพลิง ช่างแต้มมีความรู้สึกว่า พระพุทธเจ้านั้นมิได้อยู่ใกล้เกินคนธรรมดาสามัญจะเอื้อมถึง สังเกตได้จากภาพลักษณะโครงสร้างของพระเมรุมาศนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเห็นได้ในสภาพจริง คือมีรูปร่าง ลักษณะของรูปแบบที่ทั้งชาวบ้านและชาววัดของอีสานร่วมกันสร้างให้พระเถระผู้ใหญ่เมื่อมรณภาพมีจุดที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งเกี่ยวกับการเขียนภาพ การห่มผ้าอังสะทั้งภาพของพระพุทธเจ้าและพระสาวก ภาพพระภิกษุที่หันหน้าไปทางขวาคือหันเข้าสู่พระประธานผ้าคลุมไหล่จะอยู่ทางด้านซ้ายมือ ซึ่งเป็นสิ่งผิดปกติวิสัยการครองผ้าของสงฆ์ หากว่าหันหน้าไปทางซ้ายจะคลุมไหล่ขวานั้นแสดงว่าเป็นความตั้งใจของช่างแต้มเพื่อให้องค์ประกอบภาพแต่ละตอนเกิดความเป็นเอกภาพเกิดความประสานกลมกลืนมากกว่าปกติ

สี
ได้แก่ สีเทาคราม คราม ขาว ดินแดง เขียว
ปริมณฑลสีส่วนรวมผนังด้านรีขวามือพระประธานมีบรรยากาศเป็นสีน้ำตาลเหลือง สีที่เด่นมากคือสีดินแดงผสมเหลืองอันเป็นสีที่ใช้เป็นสบงจีวรของพระพุทธเจ้ารวมถึงพระสาวกซึ่งมีอยู่แทบจะทุกฉากทุกองค์ประกอบภาพ การระบายสีช่างแต้มพยายามระบายให้เกิดมีน้ำหนักอ่อนแก่แล้วตัดเส้นด้วยสีที่มีน้ำหนักเข้ม มิได้ใช้สีดำ พระพักตร์และพระวรกายจะเป็นสีขาว แล้วตัดเส้นด้วยสีเหลืองนวล
ผนังด้านรีขวามือองค์พระประธาน เป็นภาพเวสสันดร โดยเน้นดอนทานกัณฑ์ ตัวเอกของเรื่องคือชูชก ช่างแต้มจะเน้นขนาดของชูชกให้โตเด่นและรูปร่างที่อัปลักษณ์กว่าตัวละครอื่นใด         สีผิวกายชูชกจะเป็นสีเทา ผมขาว บางองค์ประกอบภาพชูชกจะมีผมที่หยิกงอ
ฉากที่เด่นเป็นตอนที่ชูชกเดินป่า จะเห็นเป็นโชคในอิริยาบถต่าง ๆ ท่ามกลางต้นไม้ป่านานาชนิด ต้นไม้แต่ละต้นออกลูกเต็มต้น ด้วยเหตุนี้จึงมีฝูงนกหลากหลายเกาะตามกิ่งก้านของลำต้น ดูราวกับว่าต้นไม้แต่ละต้นคือภัตตาคารใหญ่มีอาหารสันโอชะเลือกได้ตามใจชอบ ฮูปแต้มที่สะท้อนให้เห็นถึงสภาพชีวิตของชาวบ้านอย่างแท้จริงก็คือ ภาพการนำศพบูชาเข้าสู่เชิงตะกอน ลักษณะเชิงตะกอนช่างแต้มได้ถอดเค้ามาจากเชิงตะกอนที่ใช้กันอยู่เป็นประจำ สำหรับการเผาศพของชาวบ้านแถบอีสานที่อยู่ห่างไกลจากสังคมเมืองที่ยังอยู่ในยุคที่สังคมชนบท ยังมีป่าไม้อุดมสมบูรณ์มากกว่าปัจจุบัน ผู้ที่มาร่วมงานศพจะหาไม้ฟืนติดมือมาคนละดุ้นสองดุ้นเพื่อจะใช้เป็นเชื้อเพลิง

หอแจก (ศาลาการเปรียญ)

มีความพิเศษคือเป็นรูปแบบของศิลปกรรมแบบช่างญวน เช่น การทำซุ้มโค้งของหน้าต่างและประตู การปั้นภาพประดับอาคารนั้นสัดส่วนและการจัดวางดูเป็นอิสระ มีจินตนาการตามความรู้สึกของช่างปั้น ทำให้ดูน่าสนใจแปลกตาดูเป็นพื้นบ้านสูง