ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

ตุ้มทอง โชคชนะ (เบญจมินทร์) (ประพันธ์เพลง)

ตุ้มทอง โชคชนะ

ตุ้มทอง โชคชนะ หรือ เบญจมินทร์ เป็นนักร้อง นักแต่งเพลงรุ่นเก่าชื่อดังที่ได้รับฉายาว่า “ราชาเพลงรำวง” ในยุคที่วงการลูกทุ่งเพิ่งจะบุกเบิก นอกจากนั้นก็เคยสร้างและกำกับภาพยนตร์ เขียนบทละครและภาพยนตร์หลายเรื่อง รวมทั้งร่วมแสดงภาพยนตร์ด้วย ในวงการเพลง เบญจมินทร์ เป็นที่รู้จักอย่างมากจากเพลงรำวง อย่าง เมขลาล่อแก้ว, รำวงแจกหมวก, แมมโบ้จัมโบ้, อึกทึก, มะโนราห์ ๑-๒, สาลิกาน้อย, รำวงฮาวาย, รำเต้ย, อายจัง และอีกมากมาย ส่วนเพลงลูกทุ่ง เขาโด่งดังจากเพลงแนวเกาหลีหลายเพลง ต้นฉบับแนวเสียงของ “สุรพล สมบัติเจริญ” เจ้าของฉายา ราชาเพลงลูกทุ่ง และเป็นคนเปิดศักราชของลูกทุ่งอีสานและชาวอีสานในวงการเพลงลูกทุ่งของเมืองไทย ช่วงที่กำลังรุ่งโรจน์ ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๐-๒๔๙๕ เพลงของเขาได้รับความนิยมและมักสอดแทรกด้วยอารมณ์ขัน อย่างเช่น เพลง “ไปเสียได้ก็ดี” ซึ่งบันทึกเสียงเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๕

นายตุ้มทอง โชคชนะ เป็นชื่อ- นามสกุลจริง ของ เบญจมินทร์ เกิดเมื่อ ๒๓ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๖๔ ที่จังหวัดอุบลราชธานี เป็นบุตรสิบเอกบุญชู โชคชนะ นับถือศาสนาพุทธ และนางคูณ โชคชนะ พ่อเป็นชาวบ้านย่อ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดอุบลราชธานี (ในสมัยนั้น) ปัจจุบันขึ้นอยู่กับจังหวัดยโสธร เป็นพุทธศาสนิกชน ส่วนแม่เป็นชาวเวียงจันทน์ นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกและเป็นต้นเสียงขับร้องเพลงในโบสถ์ และด้วยบทบาทในศาสนกิจของแม่นี่เอง ที่ทำให้เบญจมินทร์ซึมซับจดจำเป็นแม่แบบทางด้านศิลปะการขับร้องตั้งแต่อายุได้ ๓ ขวบ ก่อนเข้าสู่วงการเพลงเป็นนักร้อง เบญจมินทร์เคยรับราชการตำรวจมาก่อนเป็นนักร้องรุ่นราวคราวเดียวกันกับ เสน่ห์ โกมารชุน, ชะลอ, ไตรตรองสอน, เนียนวิชิตนันท์, กุงกาดิน หรือนคร ถนอมทรัพย์ เสียงของเบญจมินทร์เป็นที่รู้จักและประทับใจแก่แฟนเพลง ด้วยเพลง “ชายฝั่งโขง” ถือว่าเป็นผู้บุกเบิกโดยการนำเอาเพลงรำวงรำโทน มาบันทึกแผ่นเสียง ออกจำหน่าย และได้หันมาแต่งเพลงรำวงอย่างเอาการเอางาน ต้นฉบับรำวงแบบเบญจมินทร์ได้สร้างความประทับใจแก่แฟนเพลงยากที่นักร้องยุคนั้นจะตามทัน จนมีผู้ให้สมญานามว่าเป็น “ราชาเพลงรำวง” ของเมืองไทย เบญจมินทร์ใช่จะมีแต่ผลงานที่เป็นเพลงรำวงหรือเพลงสนุกสนานครึกครึ้น เขายังมีความสามารถในการประพันธ์เพลงแนวหวานอมตะได้หวานซึ้งยิ่งเบญจมินทร์คือช่างเพชรผู้เจียรไนและป้อนเพลงหวานให้ “ทูล ทองใจ” นักร้องผู้ผูกขาดแนวเพลงหวานซึ้งของวงการลูกทุ่งไทย ผลงานการประพันธ์เพลงแนวหวานเกือบทุกเพลงล้วนเป็นอมตะ เช่นผลงานเพลง โปรดเถิดดวงใจ, นวลปรางนางหอม, ในฝัน เหนือฝัน เป็นต้น ที่ประพันธ์เองร้องเองจนได้รับความนิยม เช่น ไม่ใช่หัวตอ, หนาวอารมณ์, ทูนหัวอย่าร้องให้, ยอดรักพี่อยู่ไหน และสุดยอดเพลงรำวงที่โด่งดัง ได้รับความนิยมและนำมาร้องกันจนถึงในยุคปัจจุบัน คือ ผลงานเพลง รำเต้ย อันลือลั่นประพันธ์เองร้องเอง จากการเข้ารับราชการทหารในสงครามเกาหลีในครั้งนั้น ระยะเวลา ๖ เดือนในเกาหลีทำให้เขาได้รับแรงบันดาลใจในการประพันธ์เพลงลูกทุ่งชุดเพลงอารีดัง เสียงครวญจากเกาหลี รักแท้จากหนุ่มไทย และเกาหลีแห่งความหลัง จนมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น ชีวิตและผลงาน เบญจมินทร์ได้ผ่านวงการบันเทิงไทยมาทุกรูปแบบ โดยเริ่มจากการสร้างภาพยนตร์ จนทำให้ “ภัทราวดี (ศรีไตรรัตน์) มีชูทน” นางเอกของเรื่องได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง จากเรื่อง ไม่มีสวรรค์สำหรับคุณ นอกจากนี้ยังได้แสดงภาพยนตร์ไทยหลายเรื่องโดยได้รับบทเป็นพระเอกเช่นเรื่อง เพื่อนตายภาพยนตร์เรื่องสุดท้ายในการแสดง คือเรื่อง ทองพูน โคกโพ ราษฎรเต็มขั้นการสร้างสรรค์ผลงานเพลงลูกทุ่งทั้งร้องและประพันธ์ไว้เป็นอมตะมากมายและเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง เบญจมินทร์ เป็นผู้มีอุปนิสัย ซื่อตรง ไม่เสแสร้ง อันเป็นอุปนิสัยของคนอีสานอย่างแท้จริง เป็นผู้มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองสูง มีความทะนงในความเป็นศิลปินพอๆ กับความเฉยเมยต่อความช่วยเหลือ แม้ขณะที่มีความทุกข์ยากลำบาก และแม้วาระสุดท้ายของชีวิต

บุคคลท่านนี้มีความสามารถในศิลปะสาขาต่างๆ ชั้นเชิงการขับร้อง หรือการประพันธ์เพลงนั้น จัดอยู่ในชั้นครู และมีความสามารถในศิลปะแขนงอื่นมากมาย อาทิ เขียนบทละคร เขียนบท แสดง สร้างและกำกับภาพยนตร์ ปูชนียบุคคลชาวอีสานผู้เอกอุและอุดมหลากในงานศิลป์ และจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ศิลปินท่านนี้ถือเป็นผู้บุกเบิกแผ้วถางทางให้ชาวอีสานรุ่นหลังได้มีที่ยืนในวงการเพลงบ้านเรา สมแล้วที่ท่านได้สมญานาม เบญจมินทร์ “ราชาเพลงรำวง” ของเมืองไทย จากการทำงานหนักมาตลอดชีวิตและแล้วในวันที่ ๑๐ มีนาคม ๒๕๓๗ ราชาเพลงรำวงผู้ยิ่งใหญ่ ก็ได้ลาโลกนี้ไปด้วยอาการหัวใจล้มเหลว

จากกียรติคุณในการสร้างสรรค์ผลงานการขับร้องเพลงลูกทุ่งจนเป็นที่ยอมรับและช่วยเหลือสังคมนายตุ้มทอง โชคชนะ จึงสมควรได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลอมรศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ประพันธ์เพลง) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป