ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

คุยเรื่องความเชื่อ เล่าเรื่องความตาย …ผีขวัญ และแดนฟ้า ในเสวนาออนไลน์ "ตายแล้วไปไหน คติหลังความตายในอุษาคเนย์”

เมื่อวันเสาร์ที่ 15 สิงหาคม 2563 เวลา 13.00-13.30 น. ที่ผ่านมา ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ หลักสูตรวิจัยวัฒนธรรม ศิลปกรรมและการออกแบบ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดงานเสวนาออนไลน์ ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “ตายแล้วไปไหน  คติหลังความตายในอุษาคเนย์ โดยมีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นนักวิชาการ นักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา ทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยขอนแก่น รวมไปถึงในต่างประเทศ โดยเสวนาผ่านระบบการประชุมทางไกล (VDO Conference) ด้วยแอปพลิเคชัน Zoom ซึ่งการเสวนาครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญพิธีกรรมความเชื่อ ตามจารีตโบราณ คือ อาจารย์ ดร.ยุทธพงศ์  มาตย์วิเศษ   ผู้ดำเนินการเสนา อาจารย์ ดร.ลัดดาวัลย์ สีพาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การเสวนาเริ่มต้นด้วย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ ประธานหลักสูตรวิจัยวัฒนธรรม ศิลปกรรมและการออกแบบ เกริ่นนำสรุปการเสวนาครั้งที่ 2 หัวข้อ “พุทธแท้ พุทธไทย พุทธเทศ ภายใต้วัฒนธรรมใหม่ (New Normal)” เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา และแนะนำวิทยากรผู้บรรยายซึ่งสำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ แต่มีความสนใจและศึกษาในเรื่องของคติความเชื่อหลังความตาย และเป็นเจ้าพิธีผู้เชี่ยวชาญพิธีกรรมความเชื่อตามจารีตโบราณ  โดยเฉพาะการสร้างนกหัสดีลิงค์ ฯลฯ

อาจารย์ ดร.ยุทธพงศ์  มาตย์วิเศษ   ได้บรรยายในประเด็นเกี่ยวกับคติความเชื่อเกี่ยวกับความตาย โดยเฉพาะความเชื่อของคนแถบอุษาคเนย์เมื่อหลายพันปีก่อน ซึ่งเดิมนั้นมีความเชื่อว่าคนเราจะมี “ขวัญ” ซึ่งขวัญนี้ไม่ใช่ทั้งจิตและวิญญาณ เพราะขวัญจะอยู่ทุกส่วนของร่างกาย นักวิชาการด้านวัฒนธรรมยังไม่มีคำใดมาแทนคำว่า “ขวัญ”ได้ ซึ่งความเชื่อเรื่องความตายของคนอุษาคเนย์ก่อนการเข้ามาของศาสนาและอิทธิพลตะวันตก จะเชื่อว่าการตายนั้นไม่ใช่เรื่องน่าเศร้าโศก เป็นเพียงการเดินทางของ “ผีขวัญ” จาก “เมืองลุ่ม” คือโลกมนุษย์ เพื่อไปยัง “เมืองฟ้า” ของแถน ซึ่งมีทุกอย่างเหมือนโลกมนุษย์ หากตอนมีชีวิตเป็นชาวนา หลังการตายก็ต้องไปทำนาเหมือนเดิม แต่อยู่อีกที่หนึ่งที่แสนไกล “ผีขวัญ” จะไปอยู่ในดินแดนของแถน เมื่อใดก็ตามที่มีการ “สู่ขวัญ” คือลูกหลานที่อยู่เมืองลุ่มเรียกหรือเชิญผีขวัญไปปกป้องดูแล ผีขวัญ จึงอยู่ในสถานะ “ผีบรรพบุรุษ” นั่นเอง ซึ่งการจัดการศพ หรือ พิธีกรรมเกี่ยวกับความตายในอดีตนั้นเป็นการเฉลิมฉลอง มากกว่าการร้องไห้ อาลัย ดังปรากฏในร่องรอยทางวัฒนธรรม เช่น กลองมโหระทึก มีภาพการเป่าแคน หรือในบางชนเผ่ามีการร้องรำทำเพลง การสมสู่กันในงานศพเพราะเพิ่มประชากรให้คงที่ หรือปรากฏในพิธีกรรม “งันเฮือนดี” นั่นเอง

คติความเชื่อเกี่ยวกับโลกหลังความตายนั้นมีความน่าสนใจ และสะท้อนความเชื่อ ความคิดของแต่ละยุคสมัยได้เป็นอย่างดี เช่น หีบศพ ซึ่งเป็นสิ่งแทน เรือ เพราะในอดีตนั้นจะมีพิธีกรรมงานศพโดยใช้เรือ เชื่อว่าเป็นการส่งผีขวัญสู่แดนฟ้าทางน้ำ ซึ่งเรือนั้นอาจเป็นรูปนาค หรือ พญานาค ซึ่งมีนัยและคติความเชื่ออีกว่า นาค คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คนในแถบอุษาคเนย์บูชา มีอิทธิฤทธิ์ คุณวิเศษ สามารถพาผีขวัญนี้ไปสู่แดนที่ไกลแสนไกล คือ แดนฟ้า ซึ่งมนุษย์ไปสามารถก้าวล่วงได้ หรือในประเด็นการจัดงานพิธีกรรมหลังความตายโดยใช้
“นกหัสดีลิงค์” ซึ่งมีนัยสำคัญ ผูกโยงกับความเชื่อและตำนานท้องถิ่น เป็นพิธีกรรมที่เก่าแก่เช่นกัน ความเชื่อเรื่องความตายของคนอุษาคเนย์นั้นเปลี่ยนแปลงไปภายหลังการเข้ามาของศาสนาพราหมณ์ พุทธ และอิทธิพลตะวันตก ซึ่งเปลี่ยนจากความเชื่อว่าการตายไม่มีจริง หรือ ผีขวัญ ไปสู่การตายแล้วไปอยู่กับพระเจ้า หรือการเวียนว่ายในวัฏสงสารตามผลกรรม พิธีกรรม การให้ความหมายของพิธีกรรมจึงเปลี่ยนแปลงตาม

การศึกษาเรื่องพิธีกรรม ความเชื่อ และคติ ของความตาย ที่ดูเหมือนเรื่องน่ากลัวสำหรับบางคน แต่แท้จริงแล้วนั้นนัยที่แฝงอยู่ ร่องรอยทางวัฒนธรรม สามารถสะท้อนถึงความคิด ความเชื่อของผู้คนหรือบรรพบุรุษในอดีตซึ่งมีผลมาจนถึงปัจจุบัน เมื่อเปลื้องอาภรณ์วัฒนธรรมอื่นที่เคลือบแฝง จึงจะพบเนื้อในตนของคนอุษาคเนย์ซึ่งมีรากเหง้าของตนมาช้านาน

ช่วงท้ายของการเสวนาออนไลน์ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเสวนาได้ถาม-ตอบ ซึ่งได้รับความสนใจ และมีการถามในประเด็นที่หลากหลายแต่เป็นที่น่าเสียดายว่าเวลานั้นมีจำกัด ก่อนปิดการเสวนานั้น รศ.ดร.นิยม วงษ์พงศ์คำ ได้ประชาสัมพันธ์โครงการเสวนาออนไลน์ครั้งที่ 4 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 12  กันยายน  2563  ในหัวข้อ “ฤา สักอีสาน จะสาบสูญ ” เวลา 13.30 -15.30 น.วิทยากรโดย อาจารย์ชาญพิชิต พลทองสำราญ และดำเนินการเสวนาโดย อาจารย์ ดร.ภัทร คชภักดี  สำหรับรายละเอียดนั้นสามารถติดตามได้ทาง Facebook Fanpage : ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น KKU Culture Center

ข่าว/ภาพ : ธิดารัตน์  สีหะเกรียงไกร / บุญยืน เปล่งวาจา/วิทยา  วุฒิไธสง

]]>