ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

ผศ.ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์ (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน)

ผศ.ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เจริญชัย ชนไพโรจน์ เกิดเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๘๖ ที่บ้านหนองแวงควง ตำบลหนองแวงควง อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก สาขา Musicology-Ethnomusicology จาก Kent State University. ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เจริญชัย ชนไพโรจน์ เป็นบรมครูทางด้านดนตรีพื้นบ้านอีสาน มีความเชี่ยวชาญทั้งงานวิชาการ และทักษะการปฏิบัติเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่างถ่องแท้ เป็นผู้อุทิศตนในการพัฒนาดนตรีพื้นบ้านอีสาน ตลอดทั้งเป็นผู้บุกเบิกการนำหลักการทางดนตรีตะวันตก ดนตรีวิทยา มาใช้ และวางระบบให้กับดนตรีพื้นบ้านอีสาน จนทำให้ดนตรีพื้นบ้านอีสานได้รับการถ่ายทอดในวงวิชาการอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและต่างประเทศ

นอกจากนั้นท่านยังเป็นศิลปินที่มีความสามารถอย่างยอดเยี่ยมในการบรรเลงเครื่องดนตรีพื้นบ้านอีสานได้ทุกชนิด โดยเฉพาะเครื่องดนตรีประเภทแคน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีอันแสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาวอีสาน หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ๓๐ ปี ท่านเป็นหมอแคนที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง ท่านได้นำลายแคน การเป่าแคนถ่ายทอดสู่ศิลปินหลาย ๆ ท่าน ในขณะเดียวกันท่านยังเรียบเรียงและประพันธ์ลายแคนขึ้นใหม่ โดยใช้หลักการทางดนตรีวิทยาเป็นตัวกำหนด เช่น เดี่ยวลายใหญ่ เดี่ยวลายสุดสะแนนและลายอื่น ๆ อีกมากมายเพื่อใช้บรรเลงประกอบวงดนตรีพื้นบ้านอีสาน นอกจากนั้นด้วยความใฝ่เรียนรู้ของท่าน ท่านยังได้นำทำนองลายแคนจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ทั้งในประเทศลาว เวียดนาม และจีน มาเรียบเรียงเสียงประสานให้เข้ากับลายแคนของไทยได้เป็นอย่างดี ในขณะเดียวกันท่านยังได้นำศาสตร์และศิลป์ต่าง ๆ ของแคน ไปเผยแพร่ให้กับศิลปินพื้นบ้านในพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้เรียนรู้ในเทคนิคการเป่าแคน ในรูปแบบการบรรยายพร้อมกับสาธิตการเป่าแคน เช่น Japan 1984 “The States of Music Researches in Thailand” Sponsored by UNESCO, Philippines 1985 and England and Portugal 1989 Folk Music of Northeast Thailand, และประเทศอื่น ๆ ในกลุ่มประเทศอาเซียนอีกด้วย

นอกจากนั้นท่านยังได้เขียนเอกสาร ตำรา เกี่ยวกับดนตรีและการแสดง เช่น ประวัตินักดนตรีไทย,ชีวิตและผลงานของคีตกวีเอกของไทย, เครื่องสายและบทความบางเรื่องเกี่ยวกับดนตรีไทย, ดนตรีพื้นบ้านอีสาน, แคนวง ดนตรีผู้ไทย, คู่มือการเป่าขลุ่ยเบื้องต้น, หมอลำ-หมอแคน, ปื้มกลอนลำ, แคนวงและโปงลาง ,ดนตรีและการละเล่นพื้นบ้าน เป็นต้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เจริญชัย ชนไพโรจน์ คือ “บรมครู” ผู้ที่เสียสละ อุทิศตนต่อสังคมและ ลูกศิษย์มาโดยตลอด เป็นผู้วางรากฐานและเสาหลักทางดนตรีพื้นบ้านอีสานให้มีการสืบทอดอนุรักษ์ และพัฒนา อย่างยั่งยืน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจริญชัย ชนไพโรจน์ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป