ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

สืบสานสาวะถี…บุญข้าวจี่ตุ้มโฮมฮัก

โดย เบญจพร บุญวิเศษ นักศึกษาฝึกประสบการณ์จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ดวงตะวันโผล่พ้นขอบฟ้า แสงอาทิตย์ค่อย ๆ แยงตาผ่านม่านเมฆ เสียงไก่ขันสลับขับบรรเลง บวกเสียงเพลงที่แว่วดังจากลำโพง ถึงแล้วหนอบุญเดือนสามสาวะถี บุญข้าวจี่ตุ้มโฮมฮักสมัครสมาน ฮักมั่นฮักแพงและแบ่งปัน สาวะถีนั้นสืบสานฮีตคอง เช้าวันเสาร์ก้าวขาลงจากรถ จุดนัดพบคือวัดไชยศรี แหล่งเรียนรู้วัฒนธรรมประเพณี ฮีตคองนี้สาวะถีไม่เลือนลาง

เมื่อวันที่ ๒๗ – ๒๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับวัดไชยศรี ชาวชุมชนสาวะถีและเครือข่ายการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม จัดกิจกกรรมการเรียนรู้ตามโครงการสัมนาเชิงปฏิบัติการ “สินไซบุญข้าวจี่วิถีวัฒนธรรมอีสาน” ประจำปี ๒๕๖๑ จัดขึ้น ณ วัดไชยศรี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เพื่อเป็นการเรียนรู้และสืบสานศิลปวัฒนธรรม ประเพณี ตามฮีต ๑๒ คอง ๑๔ โดยกิจกรรมในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนยุคใหม่หันมา อนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีอันเก่าแก่ของชาวอีสาน ซึ่งชุมชนสาวะถีและวัดไชยศรีเป็นแหล่งเรียนรู้ที่อุดมด้วยศิลปวัฒนธรรมและจารีตประเพณี ที่ยังสามารถรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีวิถีท้องถิ่นไว้ได้อย่างดี ทำให้ชุมชนเหมือนถูกแต่งแต้มสีสันให้มีเสน่ห์ การนับถือและปฏิบัติตามความเชื่อแบบดั้งเดิมอย่างฮีต ๑๒ คอง ๑๔ จนเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ใหม่ที่มุ่งเน้นและส่งเสริมให้คนยุคใหม่ช่วยกันอนุรักษ์ สืบสาน ศิลปวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชาวอีสานไว้ไม่ให้เลือนหายตามกาลเวลา

ณ วัดไชยศรี ก้าวแรกที่เดินลงจากรถ กวาดสายตามองไปรอบๆ สิ่งที่สะดุดตามากที่สุด คือ โบสถ์เก่าๆที่ชาวชุมชนสาวะถีเรียกว่า “สิม” สิมมีลักษณะเป็นสิมแบบโบราณ (หาดูได้ยากมากในปัจจุบัน) มีขนาดไม่ใหญ่นัก แต่โดดเด่นและมีเสน่ห์ สามารถดึงดูดทุกสายตาที่เดินเข้ามาภายในวัดไชยศรีได้อย่างน่าอัศจรรย์ สิมถูกตกแต่งด้วยการแต้มลวดลาย ทราบภายหลังว่าสีที่แต้มนั้นเป็นสีที่มาจากธรรมชาติ วัดไชยศรี มีคำนิยามว่า “วัดศรีพุทธศาสตร์ ธรรมชาติรื่นรมย์ ชื่นชมสิมเก่า จิตรกรรมฝาผนัง” สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๘ ด้วยความศรัทธาของชาวบ้าน ส่วนสิมวัดไชยศรีสันนิษฐานว่าเริ่มสร้างประมาณปี พ.ศ. ๒๔๔๓ ต่อมาได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ผู้นำศรัทธาในการสร้าง คือ หลวงปู่อ่อนสา เป็นการร่วมกันสร้างของพระสงฆ์ สามเณรและชาวบ้าน ฮูปแต้มหรือภาพจิตรกรรมฝาผนังสิมนั้นมีทั้งผนังด้านนอกและด้านใน เกือบทั้งหมดเป็นเรื่องสินไซ ซึ่งเป็นวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมของคนในท้องถิ่นในสมัยสร้างสิม ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโครงการ “สินไซบุญข้าวจี่วิถีวัฒนธรรมอีสาน” เมื่อได้เห็นสิมโบราณแบบนี้แล้วยิ่งทำให้ผู้เขียนและนักเรียนนักศึกษาที่มาร่วมกิจกกรรมรู้สึกตื่นเต้นมากกว่าเดิม เมื่อลงทะเบียนแบ่งกลุ่มเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าร่วมกิจกรรมถูกแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่ม โดยฐานการเรียนรู้มีทั้งหมด ๘ ฐาน แบ่งเป็นช่วงเช้า ๔ ฐาน และช่วงบ่ายอีก ๔ ฐาน ในช่วงช่วงเช้ามีฐานโนนเมือง ฐานศาลปู่ตา ฐานพิพิธภันฑ์ ฐานเหล่าปู่ตา เป็นการลงพื้นที่เก็บข้อมูโดยแต่ละกลุ่มถูกแบ่งให้เดินไปตามฐานต่าง ๆ ภายในแหล่งการเรียนรู้ชุมชนสาวะถี โดยใช้วิธีเดินเวียนฐานเหมือนการเข้าค่ายลูกเสือ ในช่วงแรกน้อง ๆ ดูสนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจ กับการเดินไปยังฐานต่าง ๆ เพราะได้เห็นบ้านเรือน ถีวีชีวิตและความเป็นอยู่ของชาวชุมชนสาวะถี แต่ก็ต้องมาอ่อนแรงเพราะระยะทางที่ค่อนข้างไกลและแสงแดดยามใกล้เที่ยงที่ร้อนระอุ ทำให้น้อง ๆ มีอาการปวดขาและเหนื่อยล้าจากการเดินทาง แต่หลังจากได้พักรับประทานอาหารเที่ยง น้อง ๆ ก็กลับมาสดใสเหมือนเดิม ในระหว่างการเดินทางไปยังฐานต่าง ๆ นอกจากจะได้ความรู้จากผู้เฒ่าผู้แก่ที่มาเป็นวิทยากรแล้ว ผู้เขียนยังประทับใจในความน่ารักของน้อง ๆ ได้เห็นความรักใคร่ปองดองระหว่างสถาบัน การช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ช่วยกันจดบันทึกและแลกเปลี่ยนความรู้กัน ตัวอย่างเช่น ฐานเหล่าพระเจ้าและฐานศาลปู่ตา เป็นฐานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชุมชนสาวะถี ประวัติความเป็นมาของศาลปู่ตาและเหล่าพระเจ้า ซึ่งประวัติความเป็นมาจะมีความสอดคล้องกัน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสามารถปะติดปะต่อเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนสาวะถีได้อย่างดีและนำความรู้ที่ได้มาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน

  [caption id="attachment_4950" align="aligncenter" width="416"] ฐานศาลปู่ตา[/caption] [caption id="attachment_4949" align="aligncenter" width="691"] ฐานโนนเมือง[/caption] โดยสรุปผลการเรียนรู้จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจากฐานโนนเมือง ฐานเหล่าพระเจ้า ฐานศาลปู่ตา และฐานพิพิธภัณฑ์ได้อย่างคร่าว ๆ ว่าเมื่อประมาณ ๑๕๐ ที่แล้ว สถานที่บ้านสาวะถีนั้นยังเป็นป่าดงไม่มีผู้คนอาศัยหมู่บ้านที่อยู่ใกล้บริเวณนี้มากที่สุด คือ บ้านทุ่ม(ในปัจจุบัน) วันหนึ่งมีชาวบ้านทุ่ม 3 คน ได้แก่ ปู่กะนิง ปู่คำจ้ำโง้ง และปู่มุกดาหาร ท่านทั้ง ๓ คน พากันมาเผียงช้าง (เผียง แปลว่า ผูกหรือเลี้ยง) ที่โคกป่าเหล่าพระเจ้า (โคกป่าเหล่าพระเจ้าปัจจุบันอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านสาวะถีหมู่ที่ ๘ อยู่ห่างประมาณ ๒๐๐ เมตร) ในโคกป่าเหล่าพระเจ้านี้มีพุทธรูปเก่าแก่อยู่ ๑ องค์ ปัจจุบันยังคงเหลืออยู่ และโคกเหล่าพระเจ้านี้ปัจจุบันมีที่นาล้อมรอบ เนื้อที่เหลือประมาณไม่เกิน ๒๐ ไร่) ขณะที่ปู่ทั้ง ๓ คนเลี้ยงช้างอยู่นั้น ช้างตัวหนึ่งเกิดตกมันวิ่งหนีเข้าไปในป่า ปู่ทั้ง ๓ จึงพากันออกตามหา ในที่สุดก็ไปพบช้างเชือกนั้นยืนสงบอยู่ที่โนนเมือง ช้างนั้นยอมให้จับแต่โดยดี อาการตกมันนั้นได้หายไปเป็นปลิดทิ้ง เสมือนมีสิ่งบันดาลให้เป็นไป เป็นที่อัศจรรย์แก่ปู่ทั้ง ๓ อย่างยิ่ง เมื่อทั้งสองคนได้พิจารณาโดยพื้นที่บริเวณโนนเมืองโดยละเอียดแล้ว เห็นว่ามีหลายสิ่งหลายอย่างที่บ่งบอกถึงว่าสถานที่แห่งนี้เคยมีความเจริญรุ่งเรืองมาในอดีต มีคูน้ำล้อมคล้ายเป็นคูเมืองสมัยก่อน (โนนเมืองในปัจจุบันอยู่ห่างจากบ้านสาวะถีหมู่ที่ ๘ ไปทางทิศเหนือ ประมาณ ๒๐๐ เมตร) มีซากวัตถุโบราณเก่าแก่ เช่น เครื่องปั้นดินเผา ถ้วยชาม ไหแตก กระดูกขนาดใหญ่ของคนโบราณ และขุดพบใบเสมาจำนวนมากที่โนนเมือง เมื่อปู่ทั้ง ๓ คนได้สำรวจพื้นที่โนนเมืองอย่างดีแล้ว ก็ได้เริ่มชักชวนชาวบ้านทุ่มย้ายถิ่นฐานมาตั้งรากฐานที่โนนเมือง ซึ่งก็มีคนเห็นด้วยและย้ายถิ่นฐานมาหลายพวก แยกย้ายกันตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่รอบ ๆ โนนเมือง บางพวกก็อยู่ไกลบางพวกก็อยู่ใกล้ ผู้ที่มาตั้งอยู่ใกล้โนนเมืองมีความเชื่อและสันนิษฐานว่า โนนเมืองนี้คงจะเคยเป็นสถานที่บ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมีวัดวาอารามที่รุ่งเรืองมาก่อน ด้วยเหตุผลว่าลักษณะมีวัดหลายวัด มีสระหลายแห่ง จะต้องอาศัยกำลังพลสร้าง กำลังพระสงฆ์สามเณรช่วยมาก อีกทั้งต้องมีพระผู้ใหญ่ที่คนเลื่อมใสศรัทธาอยู่ด้วย ประชาชนจึงให้ความสำคัญขนาดนี้ สรุปอาจมีความเจริญมาก่อนเป็นแน่ ถ้ากล่าวถึงประชาชนผู้มาสร้างบ้านเมืองก่อนนี้ ก็คงเป็นผู้ที่มีอันจะกิน มีทรัพย์สมบัติมากดูจากเครื่องใช้ไม้สอยและการสร้างบ้านและสร้างวัด การขุดคลองรอบๆ จึงทำให้คนนิยมเรียกผู้มาตั้งบ้านเรือนหมายแถบโนนเมืองนี้ว่า “ชาวบ้านเศรษฐี” แต่ก็คงมีบางส่วนนิยมเรียกว่า “บ้านสาวัดถี่” เพราะเรียกตามที่มีสระมีวัดอยู่ติดกัน (ภาษาถิ่นเรียกติดกันว่า ถี่) ต่อมาก็นิยมเรียกชื่อบ้านว่า “สาวัตถี” ซึ่งพ้องกับชื่อเมืองในครั้งพุทธกาล คือ กรุงสาวัตถี ต่อมาทางราชการกลับใช้ชื่อหมู่บ้านหรือชื่อตำบลเป็น “สาวะถี” ซึ่งคงเป็นความเข้าใจไม่ตรงกันกับชาวบ้าน จึงเป็นชุมชนสาวะถีอย่างในปัจจุบัน

ฐานพิพิธภัณฑ์ ส่วนในฐานพิพิธภัณฑ์ เป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับฮีต ๑๒ คอง ๑๔ มีเรื่องย่อเกี่ยวกับตำนานสินไซ มีตัวอย่างเครื่องมือเครื่องใช้ในสมัยโบราณ มีหุ่นกระติบข้าวจำลอง มีสิมอีสานจำลอง ได้เห็นห้องซ้อมหมอลำหุ่นสินไซน้อยร้อยปี ได้เห็นอักษรธรรมอีสาน เป็นแหล่งรวมสาระความรู้ของชุมชนสาวะถีที่สำคัญอีกหนึ่งแห่งและในช่วงบ่ายก็แบ่งเป็น ๔ ฐานการเรียนรู้ คือ ฐานฮูปแต้ม ฐานหมอลำ ฐานบายศรี และฐานข้าวจี่ โดยในช่วงบ่ายนี้จะเป็นการทำกิจกรรมภายในวัด

ฐานฮูปแต้ม ฐานฮูปแต้มจะเป็นฐานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับฮูปแต้ม เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับวรรณกรรมเรื่องสินไซ บอกเล่าความเป็นมาของสิมโบราณและการแต้มลวดลายจากสีธรรมชาติ และยังมีภาพมาให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมลองแต้มตามจินตนาการของตนเองอีกด้วย

ฐานหมอลำ ฐานหมอลำ เป็นฐานที่ให้ความรู้เกี่ยวกับหมอลำชนิดต่าง ๆ มีชาวบ้านที่ขับร้องหมอลำได้มาร้อง มาเป่าแคน เล่นพิณ ตีกลองยาว ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้เฒ่าผู้แก่ต่างมาร้องเล่นเต้นรำอย่างสนุกสนานด้วยกัน

ฐานบายศรี ฐานบายศรี เป็นฐานที่สอนทำพานบายศรี มีอุปกรณ์ให้ลองทำ และออกแบบพานบายศรีได้ตามจินตนาการของตนเอง

ฐานข้าวจี่ ฐานข้าวจี่ เป็นฐานที่คนแน่นที่สุด เพราะเป็นฐานที่สอนทำข้าวจี่นั่นเอง เรียกได้ว่ากลิ่นข้าวจี่หอมโชยมาตามลมเลยทีเดียว นอกจากจะได้เรียนรู้วิธีการทำข้าวจี่แล้ว ยังอิ่มอร่อยและได้ออกแบบข้าวจี่เป็นรูปทรงต่าง ๆ ตามความชอบของตนเองอีกด้วย แน่นอนว่าใคร ๆ ก็คงอยากลองทำข้าวจี่ เพราะมีขั้นตอนการทำที่ไม่ยุ่งยากและการได้ทำข้าวจี่เพื่อมาทำบุญใส่บาตรตามฮีตคองนั้น มีความเชื่อว่าจะได้อานิสงส์เยอะ และในช่วงเย็นมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสานอีก ๔ ชุด คือชุดการแสดงเทิดพระเกียรติในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ นำแสดงโดยนักเรียนโรงเรียนขอนแก่นนคร การแสดงโดยกลุ่มนักเรียนสินไซโมเดล การแสดงโดยวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีขอนแก่น การแสดงจากวงโปงลางสินไซ โดยนักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น บุญเดือนสามหรือที่ชาวอีสานเรียกว่าบุญข้าวจี่ เป็นการทำบุญตามฮีตสิบสองคองสิบสี่ ชาวอีสานและชาวชุมชนสาวะถียึดถือปฏิบัติมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน บุญข้าวจี่นิยมทำกันในราวกลางเดือนหรือปลายเดือน ๓ คือ ภายหลังจากทำบุญวันมาฆบูชา ส่วนใหญ่จะกำหนดเป็นวันแรม ๑๓ ค่ำและ ๑๔ ค่ำของเดือน ๓ มูลเหตุมาจากความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาว่านางปุณณทาสีถวายขนมแป้งจี่ (ทำมาจากรำข้าว) แด่พระพุทธเจ้า ด้วยอานิสงส์ที่ถวายดังกล่าว จึงทำให้นางบรรลุเป็นโสดาปัตติผล จากนั้นจึงพากันทำบุญข้าวจี่ถวายแด่พระสงฆ์ เพื่อหวังว่าตนจะมีอานิสงส์เหมือนนางปุณณทาสีเมื่อบุญข้าวจี่มาถึง ชาวบ้านสาวะถีจะรวมตัวกันที่วัดไชยศรีเพื่อเตรียมทำจี่ร่วมกัน เพื่อรอทำบุญร่วมกันในตอนเช้า ประเพณีบุญข้าวจี่จึงเป็นประเพณีอันดีงามที่ชาวสาวะถีปฏิบัติสืบทอดมาเป็นเวลานาน แสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของชาวชุมชนสาวะถี การร่วมมือร่วมใจกันทำบุญตามฮีตคองประเพณีและเพื่ออนุรักษ์สืบสาน วัฒนธรรมประเพณี ให้อยู่คู่ลูกคู่หลานชาวอีสานและชาวสาวะถีสืบไป ดวงตะวันค่อย ๆ ลับขอบฟ้า เป็นสัญญานบอกว่าถึงเวลาพัก ลมโชยยามเย็น ๆ นั่งชมการแสดงจากสถาบันต่าง ๆ รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ มิตรภาพ ความรักและความอบอุ่นจากชาวสาวะถี ทำให้ผู้เขียนประทับใจอย่างไม่มีวันลืม กิจกรรมครั้งนี้เป็นการปลูกจิตสำนึกให้คนในท้องถิ่นและเด็กยุคใหม่ให้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมและประเพณีเก่าแก่ของชาวอีสาน]]>