ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

"พระศรีปัญญาสภูริฐาน" หลวงพ่อพระศรี ๕๐ ปี มข.

โดย ผศ.ดร.เทพพร มังธานี อดีตรองผู้อำนวยการ สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ความเป็นมา ของการสร้างหลวงพ่อพระศรี ๕๐ ปี มข. มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีดำริในการสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นสักการบูชาและเป็นสิริมงคลแก่บุคลากรและประชาชนทั่วไป ในวาระ ๕๐ ปี ของการสถาปนามหาวิทยาลัยขอนแก่น รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์  ผู้ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการสร้าง  ได้กำหนดรูปแบบการสร้างพระพุทธจากฐานความรู้งานวิจัยที่ศึกษาเรื่องพระพุทธรูปไม้ในภาคอีสาน ในการสร้างพระพุทธรูปไม้ในโอกาสสำคัญยิ่งนี้  มีกระบวนการมีส่วนร่วมจากบุคลากรและชุมชนหลายฝ่าย ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบและคัดเลือกไม้มงคลตลอดจนกระบวนการแกะสลักองค์พระซึ่งมุ่งสะท้อนความงดงามของพระพุทธรูปผ่านศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสาน จึงสำเร็จเป็นพระพุทธรูปไม้สักทองทั้งองค์ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง  ๒.๔๐  ซม.  สูง ๓.๒๐  ซม. นับเป็นพระพุทธรูปไม้องค์ใหญ่ที่สุดที่สะท้อนอัตลักษณ์ของอีสานตามต้นแบบของหลวงพ่อพระใสที่สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรล้านช้าง มีชื่อว่า “หลวงพ่อพระศรี  ๕๐  ปี มข.” หรือ “พระศรีปัญญาสภูริฐาน”  หมายถึง  หลวงพ่อพระศรีที่ประดิษฐานไว้  ณ  แหล่งภูมิปัญญาดังแผ่นดิน ในวาระ ๕๐ ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ลวงพ่อพระศรี ๕๐ ปี  มข. กับคติด้านพุทธประวัติตามคติด้านพุทธประวัติ หลวงพ่อพระศรี ๕๐ ปี มข. นับเป็นพระพุทธรูปไม้ที่สร้างขึ้นตามหลักการสำคัญของสร้างพระพุทธรูปซึ่งถ่ายทอดมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ อันเป็นพระรูปกายของพระพุทธเจ้าที่มองเห็นได้  และเป็นสื่อถ่ายทอดพุทธประวัติอันเป็นที่มาของพุทธรูปปางมารวิชัยตอนหนึ่งว่า  ในคราวที่พระมหาบุรุษประทับนั่งที่โคนต้นโพธิ์ซึ่งเรียกว่า โพธิบัลลังก์ เพื่อทรงบำเพ็ญเพียรอยู่นั้น  มีการกล่าวถึงเหตุการณ์เป็นบุคคลาธิษฐานว่า  พญามารพร้อมด้วยเสนามารเป็นจำนวนมาก ยกทัพแห่งมารมาเพื่อทำลายความเพียรของพระองค์ด้วยวิธีการต่างๆ   แม้กระทั่งตู่โพธิบัลลังก์ว่าเป็นของพญามาร  พระมหาบุรุษต่อสู้พระบารมีคือความดีที่ได้ทรงบำเพ็ญไว้ในอดีตหลายแสนชาติจนนับไม่ถ้วน  โดยทรงชี้นิ้วพระหัตถ์ลงบนพื้นปฐพีเป็นนัยว่าแผ่นดินนี้เป็นพยานของพระองค์  ยังผลให้พญามารและเสนามารพ่ายแพ้กลับไปในที่สุดจากเรื่องราวในพุทธประวัติดังกล่าวจึงมีการสร้างพระพุทธรูปปางมารวิชัยขึ้น  โดยสร้างพระพุทธรูปในพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิราบ  พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา (ตัก) พระหัตถ์ขวาคว่ำลงที่พระชานุ(เข่า) นิ้วชี้ลงที่พื้นปฐพี [gallery td_select_gallery_slide="slide" ids="905,4860,4861,4862,4863"] หลวงพ่อพระศรี ๕๐ ปี มข. กับความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นอีสาน การดำเนินการสร้างหลวงพ่อพระศรี  ๕๐  ปี มข.  มุ่งให้เกิดความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตและชุมชนโดยมีกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน  มีพิธีกรรมตามคติความเชื่อ  ความศรัทธา  และความสามัคคีของชุมชนท้องถิ่นอีสาน   ที่จะทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่นอย่างยั่งยืนดังนั้น  ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์  โดยสำนักวัฒนธรรม  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  ร่วมกับวัดไชยศรี  จึงกำหนดให้มีการสมโภชหลวงพ่อพระศรี  ๕๐  ปี  มข.ขึ้นตามประเพณีท้องถิ่นอีสาน  โดยมีพิธีกรรมที่ผนวกเข้ากับงานบุญประเพณีฮีตเดือน  ๓  คือ  บุญข้าวจี่  วิถีวัฒนธรรมอีสาน  ในวันที่  ๑๔-๑๕  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๘ ณ  วัดไชยศรี  ต.  สาวะถี  อ.เมือง  จ.  ขอนแก่น  เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสสักการบูชาเป็นสิริมงคล  และตระหนักในการอนุรักษ์  ฟื้นฟู  และสร้างสรรค์ภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสานสืบไป

คาถาบูชาหลวงพ่อพระศรีฯ  ๕๐  ปี  มข.

ตั้งนะโม  ๓  จบ  (นะโม    ตัสสะ   ภะคะวะโต  อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ ฯ  ๓  จบ)กาเยนะ  วาจายะ  วะ  เจตะสา    มะนุสสะเทวาภิปูชิตัง   สิริฐานะวาปีตีเร  สุปะติฏฐิตัง  สิริปัญญาสะภูริฏฐานันติ  นาเมนะ  สุปากะฎัง  สิริมังคะละกัฎฐะมะยัง  พุทธะรูปัง  นะมามิหัง.  เอเตนะ  สัจจวัชเชนะ  สิริ  อายุ   จะ   วัณโณ  จะ  โภคัง  วุฑฒี  จะ  ยะสะวา  ภูริปัญญา  เจวะ   สัพพะสิทธี  จะ  ภะวันตุ  เม.

คำแปล

ข้าพเจ้าขอน้อมไหว้พระพุทธรูปที่สำเร็จด้วยไม้อันเป็นสิริมงคล  ที่ปรากฏด้วยดีโดยนามว่าหลวงพ่อพระศรีปัญญาสภูริฐาน  ซึ่งประดิษฐานไว้ดีแล้ว  ณ  ริมบึงสีฐาน  อันมนุษย์และเทวดาบูชาอย่างยิ่ง  ด้วยกาย  วาจาและใจ  ด้วยอำนาจแห่งสัจจะนั้น  ขอให้ศิริ  อายุ  วรรณะ โภคะ  ความเจริญ  ความเป็นผู้มียศ  และปัญญาอันยิ่งใหญ่เพียงดังแผ่นดิน  ตลอดจนความสำเร็จในกิจที่ชอบประกอบด้วยธรรมทั้งปวง  จงบังเกิดมีแก่ข้าพเจ้า]]>