ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

เชื่อมวิถีดั้งเดิมผสานความร่วมสมัยสู่การสร้างสรรค์การแสดงละครหุ่นสินไซ

ศูนย์วัฒนธรรมจับมือสาขาวิชาดนตรีและการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มข. และเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมจัดการแสดงเชิงสร้างสรรค์ร่วมสมัยในโครงการละครหุ่นสินไซร่วมสมัยปลุกใจเยาวชนขอนแก่นเพื่อเชื่อมวิถีดั้งเดิมร่วมกับแนวคิดปัจจุบัน ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับสาขาวิชาดนตรีและการแสดง คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรม จัดโครงการ ละครหุ่นสินไซร่วมสมัยปลุกใจเยาวชนขอนแก่น โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.เกรียงไกร กิจเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ เป็นประธานในพิธีเปิด ซึ่ง “โครงการละครหุ่นสินไซร่วมสมัยปลุกใจเยาวชนขอนแก่น” เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาภายใต้โครงการวิจัย “การวิจัยการแสดง: สร้างสรรค์งานวิจัยในสาขาศิลปะการแสดงไทยร่วมสมัย” ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยมีกิจกรรมทั้งด้านวิชาการและการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นร่วมสมัย อาทิ การเสวนาวิชาการ การสาธิตการทำหุ่นละคร และการแสดงละครหุ่นสินไซร่วมสมัย ได้รับความสนใจจากทั้งคณาจารย์ นักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรม นักเรียน นักศึกษา เครือข่ายภาคีด้านศิลปวัฒนธรรม และผู้ที่สนใจเข้าร่วมในกิจกรรมต่างๆ รวมถึงผู้ที่ร่วมชมการแสดงกว่า ๕๐๐ คน เมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๖๑ ณ โรงละครคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น [gallery td_select_gallery_slide="slide" ids="5443,5440,5448,5442,5449,5447,5446,5444"]   อาจารย์พชญ อัครพราหมณ์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “โครงการละครหุ่นสินไซร่วมสมัยปลุกใจเยาวชนขอนแก่น” เป็นการต่อยอดมาจากโครงการวิจัยเรื่อง “สินไซเด็กเทวดา – ม.ขอนแก่น : ฝึกทักษะชีวิตและความเข้าใจตนผ่านกระบวนการสร้างสรรค์การแสดงละครหุ่นร่วมสมัย” ภายใต้โครงการ “วิจัยการแสดง: สร้างสรรค์งานวิจัยในสาขาศิลปะการแสดงไทยร่วมสมัย” โดยการสนับสนุนของฝ่ายวิชาการ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งมี ศ.พรรัตน์ ดำรุง เมธีวิจัยอาวุโส สกว. จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยเป็นการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ที่มีศิลปิน นักศึกษาและเยาวชน ได้ทดลองออกแบบและสร้างสรรค์การแสดงละครหุ่นร่วมสมัยเรื่องสินไซ โดยในงานวิจัยได้มีการพัฒนารูปแบบการแสดงให้มีความร่วมสมัย มีการตีความใหม่ผ่านการเชื่อมโยงและสะท้อนถึงสังคมอีสานในปัจจุบัน โดยอาศัยศิลปะการแสดงละครหุ่นผสมผสานกับศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านอีสาน นำไปสู่การสร้างสรรค์สื่อเพื่อเสนอแก่นความคิดสู่ผู้ชมในชุมชน ทั้งนี้ยังได้รับเกียรตจากศิลปินพื้นบ้านอีสาน โดยเฉพาะ “สมบัติ ฉิมหล้า” ศิลปินมรดกอีสาน ประจำปี ๒๕๕๐ หมอแคนผู้ไร้ดวงตาบรมครูหมอแคนของชาวอีสาน ร่วมในการสร้างสรรค์การแสดงละครหุ่นดังกล่าว รวมไปถึงพ่อครูแม่ครูหมอลำพื้นบ้านที่มาช่วยพัฒนาและฝึกฝนศาสตร์หมอลำให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรม ผศ.ธรณัส หินอ่อน รองผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การแสดงละครหุ่นสินไซร่วมสมัย รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ที่อยู่ภายใต้โครงการวิจัยสร้างสรรค์งานวิจัยในสาขาศิลปะการแสดงไทยร่วมสมัยนี้เป็นการสร้างพื้นที่ให้กับนักศึกษาซึ่งเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีโอกาสเชื่อมกลับมาสู่วิถีการเรียนรู้แบบท้องถิ่น รวมถึงตระหนักและมองเห็นถึงคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมอีสานซึ่งอยู่เหง้าของเยาวชนในพื้นถิ่นอีสานทุกคน สร้างการสืบสานและต่อยอดต่อไปในอนาคต พร้อมศูนย์วัฒนธรรม ขอนแก่นได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในงานสร้างสรรค์ร่วมสมัยนี้ ทั้งนี้ได้มีการทดลองและสัญจรจัดแสดงในหลายพื้นที่ อาทิ เทศกาลหุ่นเยาวชนนานาชาติที่จังหวัดนครราชสีมา เทศกาลหุ่นโลกกาญจนบุรี รวมถึงจัดการแสดงในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โรงเรียนในชุมชน อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม และโรงเรียนภายในจังหวัดขอนแก่น ขอขอบคุณภาพจาก อาจารย์พชญ อัครพราหมณ์ และ ผศ.ธรณัส หินอ่อน]]>