ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

เชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน สืบสาน วัฒนธรรมสัมพันธ์

บทความโดย อรุณี  อุตอามาตย์ นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

การจัดงานเชิดชูเกียรติผู้ที่สร้างสรรค์และสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของท้องถิ่นอีสาน นับเป็นการสร้างความหมายต่อการรับรู้ของผู้คนในยุคปัจจุบันให้เห็นคุณค่าและความสามารถของผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นศิลปิน ตลอดจนนักวัฒนธรรมสาขาต่าง ๆ ที่สืบสานคุณค่าในภูมิปัญญาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

มหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัย ขอนแก่น ดำเนินการจัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี ๒๕๖๑ ภายใต้ชื่องาน “ศิลปินมรดกอีสาน สืบสาน วัฒนธรรมสัมพันธ์” ซึ่งจัดขึ้นในวันจันทร์ ที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๖๑ ดังมีรายชื่อผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติโดยแบ่งตามสาขา ดังนี้ “ศิลปินมรดกอีสาน ประจำปี ๒๕๖๑” มี ๔ สาขา รวมทั้งสิ้น ๙ ท่าน ดังนี้ อมรศิลปินมรดกอีสาน จำนวน ๒ ท่าน ได้แก่ ครูปิ่น ดีสม (ศิลปะการแสดง) และ ดร.พิมพ์ รัตนคุณสาสน์ (วรรณศิลป์) ด้านสาขาทัศนศิลป์ จำนวน ๑ ท่าน คือ รศ.สุวัฒน์ จิตต์ปราณีชัย (ภาพถ่าย) สาขาวรรณศิลป์ มี ๑ ท่าน คือ สังคม เภสัชมาลา (วรรณกรรมปัจจุบัน) และสาขาศิลปะการแสดง จำนวน ๕ ท่าน ได้แก่ อุไร ฉิมหลวง “นกน้อย อุไรพร” (หมอลำเรื่องต่อกลอน) กฤษณา วรรณสุทธิ์ (หมอลำกลอน) อรอุมา จันทรวงษา (หมอลำกลอน) บุญศรี ยินดี (นักแสดงภาพยนตร์) และบุดษา แถววิชา (หมอลำเรื่องต่อกลอน) ในส่วน “ผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์” มีผู้ได้รับการยกย่อง ๕ สาขา รวมทั้งสิ้น ๑๔ ท่าน และ ๑ กลุ่ม ดังนี้ สาขาเกษตรกรรม จำนวน ๓ ท่าน ได้แก่ นายอดิศร เหล่าสะพาน นายวิรัตน์ โพธิ์ศรีเรือง และนายถิน สีท้าว สาขาหัตถกรรม จำนวน ๑ ท่าน คือ กองมี หมื่นแก้ว สาขาวิสาหกิจชุมชน จำนวน ๑ ท่าน และ ๑ กลุ่ม ได้แก่ นายสว่าง สุขแสง และกลุ่มพรรณไม้ ส่วนสาขาศิลปกรรม จำนวน ๔ ท่าน ได้แก่ นายสมศักดิ์ มงคลวงศ์ (จิตรกรรม) พิทยา บุญลา (แกะสลัก) ศิลากร ทับทิมไสย (จิตรกรรมฝาผนัง) และนายสมบัติ ยอดประทุม (หนังประโมทัย) สาขาสื่อสารวัฒนธรรม จำนวน ๕ ท่าน ได้แก่ นางชนิดาภา มั่นสนธิ์ ดร.อำคา แสงงาม นายสีน้ำ จันทร์เพ็ญ นายวิเชียร สาละวัน “สนธยา กาฬสินธุ์” และ นายเจริญ สาดา

ดร.อำคา  แสงงาม ผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ สาขาสื่อสารวัฒนธรรม เล่าถึงความรู้สึกหลังจากที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติให้เป็นผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ว่า เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจสำหรับตนเองที่มีโอกาสได้รับการเชิดชูเกียรติ ซึ่งถือเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจที่ดีให้กับผู้ที่ทำงานเพื่อขับเคลื่อนสังคมด้วยความเสียสละ ซึ่งเคยเห็นภาพการมอบรางวัลจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้แด่ รศ.ดร.วีณา วีสเพ็ญ และมองว่าเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ในระดับภาคอีสาน การได้รับโอกาสในครั้งนี้ถือเป็นขวัญกำลังใจที่ดีเยี่ยมในการเป็นพลังภายในขับเคลื่อนงานพัฒนาสังคม ด้วยการเสียสละ ด้วยคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้สามารถดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง “การทำงานอยู่ในชุมชน บางครั้งเราต้องเจอปัญหา อุปสรรค ท้อถอย รู้สึกว่าโดดเดี่ยวเหมือนกับทำงานคนเดียว เมื่อได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติก็เกิดขวัญกำลังใจว่ายังมีคนเห็นงานของเราเกิดประโยชน์กับสังคมก็จะได้ตั้งใจทำงานให้ดีขึ้นเพื่อแผ่นดินไทยและความอยู่ดีมีสุขของชาวไทยสืบไป” ดร.อำคา  แสงงาม กล่าวเพิ่มเติมถึงการพัฒนาและต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดในรางวัลสาขาสื่อสารวัฒนธรรมว่า จากผลงานที่เราทำอยู่ในชุมชนหรือในท้องถิ่นหลาย ๆ หมู่บ้าน ในส่วนของผมนี้สามารถที่จะไปสร้างเครือข่ายการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว เอาการท่องเที่ยวนำไปสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟู ประเพณี วัฒนธรรมของเครือข่ายชุมชนบนทุ่งกุลาร้องไห้ สร้างพิพิธภัณฑ์ชุมชน เป็นพิพิธภัณฑ์ชุมเครือข่ายอัตลักษณ์ร่วมทุ่งกุลาร้องไห้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ สาขาหัตถกรรม นายกองมี  หมื่นแก้ว ได้เล่าความรู้สึกและการต่อยอดในสาขาหัตถกรรมของตนว่า ภูมิใจที่ตนเองได้เป็นส่วนหนึ่งที่สืบทอดภูมิปัญญามาจากรุ่นปู่รุ่นย่ามาจนถึงรุ่นตนเอง เราสามารถรักษาได้และต่อยอดให้มากกว่าคำว่ากระติบข้าว ไม้ไผ่หนึ่งลำเราจะมองจากโคนจรดปลาย เราจะนำมาใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุดให้ได้หมดทุกชิ้นส่วนของไม้ไผ่ นี่คือการมองอนาคตข้างหน้าของเรา       ด้าน นายอดิศร  เหล่าสะพาน ผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรม สัมพันธ์ สาขาเกษตรกรรม กล่าวว่า การทำงานเพื่อสังคมทำให้มีเครือข่ายทุกจังหวัดร่วม ๕ เครือข่ายขนาดใหญ่ มีครบทุกจังหวัด ครอบคลุมทุกอำเภอ โดยงานส่วนใหญ่ตอบสนองความต้องการของคนในท้องถิ่น สามารถนำไปขยายผลและนำไปปรับใช้ได้ นายอดิศร  เหล่าสะพาน ยังเล่าถึงการน้อมนำหลักปรัชญาของ    พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มาใช้โดยน้อมนำหลักของพ่อหลวง ให้คนทั่วโลกรู้ว่าทำแล้วสามารถทำให้คนมีความสุขได้ คำว่าความสุขมันคือองค์รวมของทุกเรื่อง “หลักของในหลวง ทุกอาชีพสามารถเอาไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ แต่ว่าคน ๆ นั้นพร้อมหรือยัง มีความศรัทธาหรือไม่ ถ้าไม่มีความศรัทธาทำอะไรไปก็ไม่ดี ต้องมีความศรัทธาก่อนเมื่อศรัทธามาแล้ว แรงบันดาลใจก็ตามมา มันมีพลังในการต่อสู้ให้ประสบความสำเร็จได้ และจะค่อยซึมซับไปเอง ผลสุดท้ายก็ทำให้ครอบครัว ชุมชน สังคม อยู่กันอย่างมีความสุข”

การจัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ นอกจากเป็นขวัญกำลังใจอย่างดีให้กับศิลปินผู้สร้างผลงานแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมอีสานให้คงอยู่ และสร้างความเข้มแข็งให้สังคมในเชิงวัฒนธรรม อีกทั้งยังเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ชนรุ่นหลังได้ศึกษาสืบไป

]]>