ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

ประเพณีบุญเดือน 3 บุญข้าวจี่สาวะถี จากความเชื่อสู่ความศรัทธา

โดย ประภัสสร โคตะมะ นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

ประเพณีบุญข้าวจี่บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จัดขึ้นเพื่อเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นักศึกษา บุคลากร และประชาชนทั่วไป สามารถมาร่วมทำกิจกรรมได้ เป็นการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่อยู่คู่กับชุมชนสาวะถีมาอย่างยาวนาน บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 200 ปีกว่า โดยมีราษฎรอพยพมาจากบ้านทุ่ม มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณ “โนนเมือง” ซึ่งเป็นที่สูงติดกับหนองน้ำ ต่อมาได้มีการตั้งวัดขึ้น หลังจากนั้นชาวบ้านได้มีการขุดสระน้ำรอบๆวัดเป็นจำนวนมากโดยได้ขุดสระที่ติดต่อกัน จึงเรียกติดปากว่า สระวัดถี่ ต่อมาได้แปลงชื่อเป็นสาวะถี ซึ่งเป็นชื่อบ้านและชื่อตำบลมาจนถึงปัจจุบัน หมู่บ้านสาวะถีอยู่ห่างจากตัวจังหวัดขอนแก่น 21 กิโลเมตร โดยการเดินทางใช้เส้นทางตามถนนมะลิวัลย์ สายขอนแก่น – ชุมแพ ถึง กิโลเมตรที่ 14 แล้วเลี้ยวขวาตามเส้นทางสาวะถีผ่านบ้านม่วงระยะทาง 7 กิโลเมตร ก็ถึงหมู่บ้านสาวะถี ซึ่งหมู่บ้านสาวะถีมีวัดที่สำคัญ ได้แก่ วัดไชยศรี เป็นวัดเก่าแก่มีโบสถ์ (ชาวอีสานเรียกสิม) “สิม” ในภาษาอีสานหมายถึงโบสถ์ มาจากคำว่า สีมา สิมมา หรือพัทธสีมา ที่ปรากฏในคำจารึกบนแผ่นหินที่ประกาศเจตนาของผู้สร้าง ปักไว้ด้านหลังสิม ซึ่งมีปรากฏอยู่ทั่วไปความหมาย ของสิม หมายถึงเขต หรืออาณาเขตที่กำหนดขึ้นเพื่อใช้ทำกิจกรรมในพระพุทธศาสนา เช่น เป็นเขตที่พระสงฆ์ใช้ประชุมทำสังฆกรรมบรรพชา และอุปสมบทพระภิกษุสงฆ์ที่เก่าแก่มาก อายุกว่าร้อยปี โดยสิมนี้ เดิมหลังคามุงด้วยแผ่นไม้ (เรียกแป้นเกล็ด ทำด้วยไม้เป็นคล้ายกระเบื้องในปัจจุบัน) และมีเอกลักษณ์ คือ หลังคามีปีกยื่นทั้งสองข้างแบบสถาปัตยกรรม อีสานดั้งเดิม แต่พอถึงปี พ.ศ. 2525 หลังคาได้ทรุดโทรมมาก หน้าฝนน้ำฝนรั่วลงภายในโบสถ์ ชาวบ้านจึงทำการรื้อและทำหลังคาใหม่ ด้วยความเข้าใจและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นตน จึงทำหลังคา เป็นแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้นมาก ส่วนฝาผนัง ทั้งด้านนอกและด้านใน ยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนัง (อีสานเรียก ฮูปแต้ม) ยังเห็นอย่างเด่นชัดมาก แม้จะผ่านมามากกว่าร้อยปีแล้วก็ตามที เสียงไก่ขันยามเช้าตรู่ พร้อมเสียงระฆังที่ดังมาจากวัดที่อยู่ใกล้ ๆ หอพัก และเสียงนาฬิกาที่เป็นเหมือนเพื่อนคู่กายที่คอยปลุกในยามเช้าของทุกวัน และวันนี้ก็เช่นเดียวกันกับทุก ๆ วัน ฉันรีบลุกจากที่นอนอันแสนอบอุ่นเพื่อไปอาบน้ำ และเดินทางไปยังวัดไชยศรี เพราะวันนี้เป็นอีกวันหนึ่งของทุก ๆ ปีที่ชาวบ้านสาวะถี จะมีบุญบุญข้าวจี่ และมีกิจกรรมต่าง ๆ โดยแบ่งเป็นกลุ่มฐานทั้งหมดแปดกลุ่ม เริ่มที่กลุ่มแรกคือ กลุ่มพิพิธภัณฑ์ กลุ่มที่สอง คือ โนนเมือง กลุ่มที่สาม คือ เหล่าพระเจ้า กลุ่มที่สี่ คือ ปู่ตา กลุ่มที่ห้า คือ จัดทำพานบายศรี กลุ่มที่หก คือ ข้าวจี่ กลุ่มที่เจ็ด คือ ฮูปแต้ม และกลุ่มสุดท้าย คือ หมอลำพื้นบ้าน การมีกิจกรรมให้ทำดังที่กล่าวมาข้างต้นไม่ได้แค่ความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว แต่ในกิจกรรมที่เราร่วมทำยังแฝงไปด้วยความรู้ ขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณี ของคนในชุมชนสาวะถี ฉันและเพื่อน ๆ ออกเดินทางตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า ถึงวัดไชยศรีประมาณแปดโมงเช้า ฉันและเพื่อน ๆ รีบไปจัดเตรียมโต๊ะลงทะเบียนเพื่อให้ทุกคนที่มางานวันนี้ได้มาลงทะเบียน บรรยากาศภายในวัดดูร่มรื่นเย็นสบาย เหมาะกับการทำกิจกรรมวันนี้มาก ๆ นักเรียนนักศึกษาต่างพากันวิ่งมาลงทะเบียนอย่างกระตือรือร้น พอลงทะเบียนเสร็จ พิธีกรประจำงานก็เรียกให้รวมกลุ่มเพื่อจะเข้าฐานการเรียนรู้ ฉันรู้สึกตื่นเต้นมากเพราะนี่คือครั้งแรกของฉันที่จะได้ทำกิจกรรมที่น่าท้าทาย พอแบ่งกลุ่มเสร็จกลุ่มที่ฉันจะได้พาน้องๆโรงเรียนบ้านสาวะถี และโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีฐานไปนั้นก็คือฐาน เหล่าพระเจ้า ฉันคิดว่าคงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แน่ๆฟังจากชื่อ ฉันและน้องๆเริ่มเดินทางไปยังฐานเหล่าพระเจ้า ซึ่งอยู่ห่างจากวัดไชยศรีประมาณสองกิโลเมตร หนทางไกลแต่ก็น่าตื่นเต้นเหมือนกันสำหรับฉัน พอถึงฐานเหล่าพระเจ้า ฉันก็เจอกับคนสูงอายุท่านหนึ่งซึ่งท่านน่าจะประจำฐานอยู่ที่นี้และเป็นปราชญ์ประจำเหล่าพระเจ้า ท่านได้เล่าประวัติความเป็นมาของเหล่าพระเจ้า ให้เด็กและฉันฟังว่ามีความเป็นมาอย่างไร

พ่อฝั้น ดาวสาวะ เล่าว่า ในสมัยก่อนโคกเหล่าพระเจ้าเป็นสถานที่ที่ปกคลุมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่นานาพันธุ์ ยังไม่มีชื่อเรียกสถานที่นี้ว่าเหล่าพระเจ้า เนื่องจากสาวะถีแต่ก่อนก็ยังไม่มีหมู่บ้านสาวะถีตามที่ เล่าขาลกันมา วันหนึ่งมีชาวบ้านทุ่มสามคน ทั้งสาวพากันเลี้ยงช้างที่โคกเหล่าพระเจ้า ขณะที่ทั้งสามท่านคนเลี้ยงช้างอยู่นั้น มีช้างตัวหนึ่งเกิดตกมัน วิ่งหนีเข้าไปในป่า ทั้งสามจึงพากันออกตามหา ในที่สุดก็ไปพบช้างตัวที่ตกมันยืนสงบอยู่ที่กลางโนนเมือง ช้างตัวนั้นยอมให้ทั้งสามจับ โดยไม่มีอาการตกมันแต่อย่างใด เหมือนมีสิ่งบันดาลให้เป็นไป เป็นที่น่าอัศจรรย์ของทั้งสามคนเป็นอย่างมาก เมื่อทั้งสามได้พิจารณาดูพื้นที่รอบโนนเมืองแล้ว มีหลายสิ่งที่ชี้ให้เห็นชัดว่าบริเวณนี้ในสมัยก่อนมีความเจริญรุ่งเรืองเพราะเห็นได้จากมีของเก่าแก่โบราณ ไม่ว่าจะเป็น ไห ถ้วย ชาม และเครื่องปั้นดินเผาอีกต่างๆมากมาย เมื่อทั้งสามคนได้พิจารณาและเสาะหาความเป็นมาของสถานที่ที่เรียกว่าโนนเมืองนี้ดีแล้ว ทั้งสามจึงเห็นว่า น่าจะตั้งเป็นบ้านเมือง จึงได้ชักชวนคนจากบ้านทุ่ม ให้อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานใหม่บริเวณโนนเมือง ซึ่งก็มีคนเห็นด้วยและหลั่งไหลมาตั้งบ้านเรือนบริเวณรอบ ๆ โนนเมือง และเรียกผู้มาตั้งถิ่นฐานใหม่แถบ โนนเมืองนี้ว่า ชาวบ้านเศรษฐี แต่ก็มีบางส่วนที่เรียกว่า บ้านสาวัดถี ต่อมาก็นิยมเรียกชื่อบ้านว่า บ้านสาวะถี หลังจากที่พ่อฟั่นเล่าถึงประวัติเสร็จแล้ว ตัวแทนนักเรียนกล่าวขอบคุณ และพากันเดินดูบริเวณรอบ ๆ เหล่าพระเจ้า

กิจกรรมในช่วงบ่ายจะเป็นการเข้าฐานเหมือนตอนเช้าแต่จะไม่ได้ออกนอกวัด ฐานจะอยู่ประจำจุดต่าง ๆ ภายในวัดไชยศรี ซึ่งฐานที่ฉันได้รับมอบหมายให้ไปประจำฐานก็คือ กลุ่มจัดทำพานบายศรี ซึ่งมีความสำคัญต่อการเรียนรู้และชาวบ้านสาวะถียังคงทำบานแบบดั้งเดิมโบราณ ซึ่งการทำพานบายศรีของชุมชนสาวะถี เป็นการทำด้วยความศรัทธาและเสียสละต่อพระพุทธศาสนา จะทำในโอกาสงานบุญของวัดหรือของคนในชุมชน ซึ่งการทำพานบายศรีชุมชนสาวะถีจะถ่ายทอดในการทำร่วมกัน จากรุ่นสู่รุ่น มาแต่สมัยโบราณ สิ่งที่ยังอยู่ไม่สูญหายคือทำด้วยความศรัทธาและเสียสละไม่หวังค่าตอบแทน

และในช่วงสุดท้ายของวันนี้ ในตอนเย็นจะมีการแสดงศิลปินพื้นบ้านอีสาน ประกอบไปด้วยสี่ชุดการแสดง คือ หนึ่ง การแสดงชุดเทิดพระเกียรติ ร.๑๐ โดยโรงเรียนนครขอนแก่น การแสดงชุดที่สอง โดยกลุ่มนักเรียนสินไซโมเดล การแสดงชุดที่สาม แสดงโดยวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ขอนแก่น และการแสดงชุดสุดท้ายคือ การแสดงของวงโปงลางสินไซ โดย คณะศิลปกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บรรยายกาศภายในงานเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ในค่ำคืนที่มีฝนโปรยปรายแต่ทุกคนก็อยู่จะงานเลิกไม่ทิ้งกัน ทำให้เห็นถึงความสามัคคีที่แฝงไปด้วยวัฒนธรรมอีสานของชุมชนสาวะถี ได้ทั้งความรู้และความสนุกสนานเพลิดเพลิน ได้รู้จักในสิ่งที่เราไม่เคยรู้มาก่อน นับว่าเป็นช่วงเวลาดีอีกเวลาหนึ่งที่จะอยู่ในความทรงจำตลอดไป อ้างอิง http://www.komchadluek.net/news/local/46408 https://www.kku.ac.th/news/v.php?q=0005444&l=th http://www.thaitambon.com/tambon/400108]]>