ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

พระพุทธรูป ไม้ ฝีไม้ลายมือ บรรพชนคนไท- อีสาน

โดย วิทยา วุฒิไธสง นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

พระพุทธรูปไม้อีสานเป็นสมบัติของบรรพบุรุษที่ได้จงใจจำหลักแกะเกลาตามความสามารถที่มีอยู่ ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์และต่อพระสงฆ์และพระสาวก อันเป็นเนื้อนาบุญ แรงศรัทธาได้แสดงออกมาด้วยงานพุทธศิลป์ ที่เรียกว่าพระไม้ อันทรงคุณค่า

พระพุทธรูปไม้ ถือเป็นสัญลักษณ์ ภาพแทนในความเลื่อมใสศรัทธาของชาวอีสาน ต่อการนับถือพุทธศาสนา  โดยสะท้อนคติ ความเชื่อ ความศรัทธาออกมาในรูปแบบต่างๆ มากมาย  “พระพุทธรูปไม้” ผ่านบริบท ภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวอีสาน รวมถึง ความเชื่อเรื่องวัสดุ พิธีกรรม ที่สะท้อนถึงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างแท้จริง(กานต์ กาญจนพิมาย. 2553) การสร้างพระไม้ในอีสานไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ามีประวัติความเป็นมาและการสร้างอย่างไร ใครเป็นผู้สร้างครั้งแรก เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารอ้างอิงชัดเจน รูปแบบพระไม้อีสานเมื่อเปรียบเทียบกับพระไม้ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะมีลักษณะใกล้เคียงกันมากจนแทบจะแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงไม่ได้ว่าเป็นสกุลช่างเดียวกัน นักวิชาการบางท่านได้ให้ความเห็นว่าพระไม้ในอีสานได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง โดยศิลปะแบบล้านช้าง แล้วแผ่ขยายอิทธิพลข้ามมายังฝั่งไทย จากการอพยพโยกย้ายก็ดีหรือจากการถ่ายโอนโดยทางเครือญาติก็ดี ในสมัยของเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณีครองราชย์ จึงได้อาราธนาพระสงฆ์จากอินทปัตนคร(กัมพูชา)พร้อมด้วยพระบาง พุทธศาสนาจึงได้เจริญรุ่งเรื่องขึ้นในอาณาจักรลาวล้านช้างสืบมา มีการสร้างงานศิลปะขึ้นมากมาย(สงวน  รอดบุญ.2526)  เช่นพระพุทธรูปไม้ในอีสานน่าจะมีการสร้างขึ้นหลังสมัยของพระเจ้าฟ้างุ้มเป็นแน่เพราะพระพุทธรูปไม้ทำเลียนแบบพระบางเป็นจำนวนมาก(ปางห้ามญาติ) เป็นปางประทับยืน  และเนื่องจากปางห้ามญาติเป็นปางประทับยืนไม่เหมาะกับวัสดุที่เป็นไม้ จึงมีการเปลี่ยนมาสร้างพระปางสมาธิและปางมารวิชัยกันอย่างแพร่หลายในดินแดนล้านช้างโดยเฉพาะในอีสานด้วย (นิยม วงศ์พงษ์คำ. 2545) พระไม้ในภาคอีสานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มช่างพื้นบ้านและกลุ่มอิทธิพลช่างหลวง โดยใช้กรอบรูปร่างขององค์พระ ความงดงามที่ปรากฏทางทัศนศิลป์ ความยากง่ายของการทำ และรายละเอียดขององค์ประกอบอื่นๆ กลุ่มช่างพื้นบ้าน หมายถึงผลงานของคนในท้องถิ่นโดยแท้จริง และ  กลุ่มช่างพื้นบ้าน ประเภทประยุกต์หมายถึงกลุ่มพื้นบ้านรุ่นหลังที่พยายามพัฒนางานจากกลุ่มพื้นบ้านบริสุทธิ์ โดยพยายามเลียนแบบช่างจากเมืองหลวงแต่ฝีมือไม่ละเอียดพอ ลักษณะพิเศษของกลุ่มช่างพื้นบ้านส่วนมากจะเป็นผลงานค่อนข้างเรียบง่ายการสลักลวดลายค่อนข้างหยาบไม่ซับซ้อนทั้งรูปร่างและเทคนิคการทำถือว่าเป็นลักษณะพิเศษของพระไม้พื้นบ้านบริสุทธิ์               กลุ่มอิทธิพลช่างหลวง พระไม้กลุ่มอิทธิพลช่างหลวง หมายถึงรูปแบบงานประติมากรรมที่ทำโดยช่างพื้นบ้าน แต่ได้รับอิทธิพลทางคติความเชื่อและรูปแบบการทำงานอย่างช่างหลวง หรือการเลียนแบบช่างหลวง  รูปแบบพระไม้กลุ่มนี้ รูปแบบพระไม้กลุ่มนี้ จึงมีรูปแบบงดงามตามคติอย่างเคร่งครัดเพราะช่างส่วนมากได้รับการฝึกอบรม ถ่ายทอดอย่างเป็นระเบียบแบบแผน งานจึงออกมาคล้ายงานในราชสำนักกอปรได้รับอิทธิพลจากทั้งเวียงจันทร์ หลวงพระบาง และบางกอก จึงทำให้งานที่ออกมาบางครั้งเป็นการผสมผสานระหว่างไทย-ลาว ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากสุโขทัยของสยามแต่ก็พบจำนวนน้อย สาเหตุที่ทำให้มีการสร้างพระพุทธรูปไม้  ในอีสานมีคำตอบมากมาย  เช่น
  • เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาโดยสร้างองค์พระแทนพระพุทธเจ้า
  • เพื่อผลานิสงส์ผลบุญ
  • อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
  • เพื่อเป็นสิ่งสักการบูชา-เพื่อปฏิบัติตามปณิธานของผู้อุปสมบทที่หวังเอาไว้
  • เพื่อสืบชะตาหรือต่ออายุให้กับผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับเคราะห์กรรม
ไม้ที่นิยมนำมาสร้างพระ ส่วนมากเป็นไม้มงคล ได้แก่ ไม้โพธิ์ มะขาม ยอป่า แก้ว จันทน์หอม จันทน์แดง เต็งรังประดู่ ยูง มะค่า งิ้ว ขนุน  ฯลฯผลนิสงค์ของการสร้างพระพุทธรูปไม้ มีผลให้เกิดพบพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ มีรูปร่างงาม มีสติปัญญา เฉลียวฉลาด เป็นที่รักของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นที่พึงใจ บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ เป็นผู้แกล้วกล้า ตายอย่างมีสติ เกิดในสวรรค์ ไม่ตกนรกตลอดแสนกัป ได้เป็นเจ้าแห่งประเทศราช (ชอบ ดีสวนโคก, 2545)

การแกะสลักไม้ให้เป็นพระพุทธเจ้าของชาวอีสานนั้น เป็นผลจากความเพียรพยายามจากแรงศรัทธาของบรรพบุรุษ ที่ได้สร้างสรรค์ด้วยความเรียบง่าย มุ่งหมายต่อประโยชน์ที่เกิดจากความพอเหมาะพอดีตามสภาพที่พึงมี  ก่อให้เกิดความสงบผาสุก ร่มเย็น เป็นผลแห่งศิลปะอันล้ำค่าหาที่เปรียบมิได้ ควรค่าแก่การเก็บรักษา เคารพ กราบไหว้ ภาคภูมิใจตราบชั่วกาลนานเพราะพระไม้เกิดจากลายมือของบรรพชนไทอีสาน

อ้างอิง ชอบ   ดีสวนโคก. พระไม้ลายมือบรรพชนคนไทอีสาน.ขอนแก่น: ศิริภัณฑ์ออฟเซ็ท,2545นิยม  วงศ์พงษ์คำ.พระไม้อีสาน .ขอนแก่น.โรงพิมพ์ศิริภัณ์ ออฟเซ็ท 2545กานต์  กาญจนพิมาย.2553 การศึกษาวิเคราะห์พระพุทธรูปไม้อีสานเชิงปรัชญา.วิทยานิพนธ์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์.มหาวิทยาลัยขอนแก่น.ขอนแก่นสงวน  รอดบุญ.พุทธศิลป์ลาว.กรุงเทพฯ : วิทยาลัยธนบุรี,2526]]>