ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วัดโพธิ์ชัย

วัดโพธิ์ชัย

ประวัติความเป็นมา

วัดโพธิ์ชัย ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ ชาวบ้านเรียกวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๐  การบริหารและการปกครอง มีเจ้าอาวาสเท่าที่ทราบนาม คือ รูปที่ ๑ พระหลักคำ พ.ศ.๒๓๗๐ -๒๓๗๘ รูปที่ ๒ พระวรรณ พ.ศ. ๒๓๙๐-๒๔๐o รูปที่ ๓ พระทุ่ง พ.ศ. ๒๕oo-๒๕๑๒ รูปที่ ๔ พระปุ่น พ.ศ. ๒๕๑๓-๒๕๑๙  รูปที่ ๕ เจ้าอธิการธาตรี  ธมฺมธารี  ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เป็นต้นมา

ที่ตั้ง

วัดโพธิ์ชัย ตั้งอยู่เลขที่ ๔๗ บ้านนาพึง ถนนด่านซ้าย-นาแห้ว หมู่ที่ ๑ ตำบลนาพึง อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ที่ดินตั้งวัดมีเนื้อที่ ๖ ไร่ ๔ งาน ๒  ตารางวา อาณาเขต ทิศเหนือประมาณ ๒ ส้น ๕ วา ๑๐ ศอก จดน้ำหวยโป่งค่าง และทุ่งนา ทิศใต้ประมาณ ๒๐ เส้น ๕ วา ๒ ศอก จดห้องสมุดประชาชน ถนนบ้านนาพึง บ้านนาพระ ทิศตะวันออกประมาณ ๓๐ เส้น ๖ วา ๘ ศอก จดบ้านนายกิ่ง ยศปัญญา บ้านนายสำรวล จันดาหาร ทิศตะวันตกประมาณ ๓๐ เส้น ๒ วา ๓ ศอก จดหมูบ้านนาพึง

อาคารเสนาสนะ

อาคารเสนาสนะประกอบด้วยอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ศาลาอเนกประสงค์ หอระฆัง ปูชนียวัตถุมีพระพุทธรูปฝนแสนหา วัตถุโบราณมี ฆ้อง ลูกเเก้วสัมฤทธิ์ปืน

วิหารเก่ามีฮูปแต้มอยู่ภายใน(ซ้าย)  อยู่ใกล้กับ สิม(ขวา)

รูปแบบสิม วัสดุและโครงสร้าง

ด้านหลังวิหาร สีหน้าเรียบง่ายไม่มีการตกแต่ง มีเสารับปีกนกโดยรอบ ด้านข้างของสิม สิมมีลักษณะเป็นสิมทึบมีมุขด้านหน้ารูปแบบนั้นมีความใหม่กว่าวิหาร ทั้งวิหารและสิมไม่มีช่อฟ้า

รายละเอียดส่วนประดับมีดังนี้

แขนนางปูนรูปพญานาค และหางหงส์ไม้ของสิมที่มีความคล้ายคลึงกับหางหงส์ของวิหาร

โหง่ของวิหาร และ หางหงส์ของวิหาร

มอมเฝ้าบันไดทางขึ้นวิหาร

ด้านข้างของวิหารมีหลังคาปีกนกยื่นออกมาและมีเสารับปีกนก (ภาพซ้าย)

สิมมีฮังผึ้งไม้แกะสลักรูปเทพนมลงสี มีเพียงด้านข้างสองด้าน ด้านหน้าไม่มี (ภาพขวา

ในบริเวณวัดมีหอพระไตรปิฎกที่มีความสูงสร้างด้วยไม้

ผนังด้านนอกวิหาร

ผนังด้านรีซ้ายมือองค์ประกอบ ภาพเริ่มตั้งแต่ลายหน้ากระดานตรงฐานกลีบบัวคว่ำขึ้นไปจนสุดขอบกำแพง เขียนเป็นลายประจำยามก้ามปูคล้ายกรอบภาพตรงส่วนล่างของภาพแต้ม พื้นผนังส่วนที่เป็นฉากหลังเป็นระนาบสีขาว กรรมวิธีอย่างเดียวกับภาพแต้มอีสานแบบพื้นบ้าน

สีที่ใช้ มีสีครามเป็นหลัก เหลืองรงสอดแซมด้วยสีเขียว ตัดเส้นด้วยสีดำ
สภาพปัจจุบัน อาณาบริเวณขององค์ประกอบภาพส่วนรวมโดนอาบด้วยฝุ่นดิน ทำให้บรรยากาศของภาพรวมเกิดความรู้สึกกว่าเป็นสีเอกรงค์ คล้ายกับสีดิน
คุณค่าของภาพผนังด้านนอกนั้นนอกจากคุณค่าทางด้านเนื้อหาสารที่ได้จากวรรณกรรมพื้นบ้าน เช่น สังข์ศิลป์ชัย กาละเกด แล้วยังโดดเด่นในภาพชีวิตชาวบ้าน ภาพรถไฟ จักรยาน การแต่งกายของเหล่าทหาร ข้าราชบริพารในราชสานัก รวมทั้งเทคนิคลีลาการใช้เส้น ช่างแต้มดูออกจะมีอิสระเสรี มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีความกล้าหาญตัดสินใจฉับพลันต่อการลงเส้นและสี

ฮูปแต้ม (จิตรกรรมฝาผนังอีสาน)

วิหารวัดโพธิ์ชัยนาพึง มีงานจิตรกรรมบนพื้นผนังทั้งสีภายในตัวอาคาร รวมทั้งพื้นผนังภายนอกเฉพาะผนังด้านรีทางทิศตะวันตก และผนังหุ้มกลองด้านหน้าทางทิศเหนือ ส่วนผนังภายนอกหลังองค์พระประธานและผนังด้านรีทางทิศตะวันออกไม่ปรากฏร่องรอยว่ามีงานจิตรกรรม
พื้นผนังด้านหน้าทางทิศเหนือ แม้ว่าจะเห็นเค้าเคยมีฮูปแต้มมาก่อน แต่เมื่อล่วงมาถึงปัจจุบัน ตกอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถจะอ่านได้ว่าเป็นภาพที่ว่าด้วยเรื่องอะไร อาจเป็นเพราะแต่เดิมวิหารเคยมีมุขด้านหน้าคลุมบันไดทางขึ้นตัวอาคารทั้งสองด้าน จะเป็นเพราะเหตุใดไม่แจ้ง มุขส่วนนั้นหายไป ทำให้ภาพบนฝาผนังโดนแดดและฝนชำรุดเสียหายเลือนรางจนจับเข้าไม่ได้
ผนังที่มีความเด่นเป็นพิเศษคือหนังหุ้มกลองด้านหน้าตรงข้ามพระประธาน อาณาบริเวณพื้นภาพกว้างใหญ่กว่าวัดอื่นใดในภาคอีสานที่มีงานจิตรกรรม โดยปกติแล้วฮูปแต้มในภาคอีสาน  มักจะนิยมเขียนบนผนังภายนอกหรือภายในสิม แทนที่จะเขียนประดับตกแต่งอาคารวิหาร เช่น วัดโพธิ์ชัยนาพึง บริเวณพื้นภาพของหัวหรือหน้าบันจะเห็นเป็นภาพอดีตพุทธเรียงไล่ลงมาจากยอดเป็นจำนวน ๘ ชั้น ภาพอดีตพุทธจึงมีลักษณะเป็นภาพซ้ำ (repetition) ตรงฐานแถวล่างสุดมีบาตรวางประดับอยู่ตรงฐานพระอดีตพุทธ ถัดลงมาเป็นภาพเหล่าเทวดา พระอินทร์มาเช่าพระมาลัย องค์ประกอบภาพรวมมีลักษณะทัศนียภาพแบบเส้นขนาน (parallel perspective) แสดงความสมดุลเพื่อประสงค์ให้เกิดคุณค่าแห่งความสง่างามอันกว้างใหญ่ของห้วงนภากาศ รวมทั้งบรรยากาศการถวายพระเพลิงพระพุทธองค์ ที่มีความโศกสลดรันทดใจของสรรพชีวิตที่มาเฝ้าแหนอย่างเนื่องแน่น

สีที่เด่นได้แก่ แสด เหลืองรง เขียว และดำ
สีแดงเป็นส่วนหนึ่งของจีวรพระอดีตพุทธและแท่นสีแท่นฐาน ช่างแต้มล้วงฉากหลังด้วยสีที่สดใส ซึ่งแตกต่างไปจากการเขียนภาพของช่างแต้มในเขตอีสานกลางที่ไม่นิยมการล้วงฉากหลัง
สีฉากหลังหลังคือสีคราม มีคุณค่าของสีต่างกันหลายระดับ ตั้งแต่สีครามเข้มไล่ไปจนถึงครามบวกขาว มีผลเป็นสีฟ้าลวดลายการตัดเส้นมีทั้งดำและแดง
ผิวกายของพระอดีตพุทธเป็นสีขาวนวล อันเป็นสีขาวที่เกิดจากการเตรียมพื้นผนังด้วยดินสอพอง
ภาพตัวสถาปัตยกรรมอันได้แก่ปราสาทเป็นสีเหลืองรงเข้ม และแดง ไม่มีการปิดทองคำเปลว
ฉากหลังพื้นภาพระหว่างพระอดีตพุทธแต่ละองค์ประดับด้วยลายช่อดอกไม้ สีขาาระหว่างฐานแท่นประทับก็มีดอกประจำยามประดับเพื่อมิให้ฉากหลังเกิดความว่างมากเกินไป ดูเป็นระเบียบคล้ายกับผลงานมัณฑนศิลป์

ด้านขวามือช่างแต้มใช้สีสดใส ฝีแปรงการแตะแต้มดูจะมีความนป็นอิสระ สีที่เด่นเป็นพิเศษคือสีน้ำตาลแดง หรือสีดินแดงเป็นสีฉากหลังของพื้นภาพ เป็นสีที่มีอาณาบริเวณของพื้นภาพส่วนรวมและยังเป็นสีจีวรพระอดีตพุทธซึ่งประทับอยู่บนพื้นระนาบเดียวกันตรงส่วนเหนือสุดขององค์ประกอบภาพ โดยใช้สีเหลืองรงเข้มเป็นสีฉากหลัง มีภาพบาตรวางอยู่ระหว่างพระอดีตพุทธแต่ละองค์พื้นระนาบเป็นสีเขียวอ่อนที่มีความใสและบางเบา สีเขียวอ่อนนี้ช่างแต้มใช้เป็นสีของใบไม้และส่วนของกระเบื้องตัวอาคาร
ส่วนผนังซ้ายมือหลังองค์พระประธานทั้งองค์ประกอบภาพและเทคนิคกร “วิธีแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด แลดูไม่ประสานสัมพันธ์กันจนทำให้เข้าใจไปว่าน่าจะเป็นช่างแต้มต่างฝีมือกัน นั้นยังรวมถึงภาพแต้มบนผนังด้านรีภายในช่องตัวอาคารซึ่งมีลักษณะเดียวกับงานจิตรกรรมฝาผนัง อีสานที่พบกันมาก คือ นิยมเขียนภาพบนพื้นระนาบผนังสีขาวไม่ล้วงพื้นฉากหลัง