วัดด่านม่วงคำ
ประวัติความเป็นมา
บ้านด่านม่วงคำตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๗ เป็นเผ่าผู้ไทกะตะ อพยพมาจาก บ.ป่าก้วย เมืองมหาชัย (ใกล้เมืองสวัณเขต) ประเทศลาว ในสมัยพระยาประจันต์ เจ้าเมืองสกลนคร ต่อมาได้แตกบ้านอพยพ ไปตั้งบ้านปลาโหล เขต อ.วาริชภูมิ สวนสิมหลังนี้ได้ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๔๓ สมัยเจ้าอาวาส ชื่อพระอาจารย์อ้วน มิได้ถึงแก่มรณภาพก่อนสิมเสร็จ) พ่อหลวย มูลเมืองแสน (เกิด พ.ศ. ๒๔๕๙) กรุณาเล่าว่า คนทำลวดลายใส่สิมหลังนี้คือ อาจารย์ไต (ชาวผู้ไท) สวนพระประธานนั้นมีผู้นำมาถวาย คือ ญาคูลี บ้านเซียงสือ เป็นพระไม้พระเกสร คือใช้ผสมผงว่านและเกสรดอกไม้ เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน คือ หลวงพ่อจำเริญ ปริชาโน
ที่ตั้ง
ตำบลด่านม่วงคำ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร
รูปแบบสิม วัสดุและโครงสร้าง
ฐานก่อด้วยดินดิบ (เรียกดินเปอะ) ผสมแกลบเป็นดินชั้นใน ส่วนชั้นนอก ใช้ปูนปะทายเพชร (หรือบางช่างเรียก “ซีหม่อง” เป็นสวนผสมของปูนทราย ยางบง และน้ำหนัง) เป็นปูนฉาบป้องกันฝนได้ทนทานพอสมควร ผนังทั้ง ๔ ด้านเป็นผนังไม้ตีทางตั้งทับแนว มีช่องหน้าต่าง ๒ บาน ๆ ละข้าง บันไดขึ้นด้านหน้ามีเพิ่งออกไปรับ ฐานพระประธาน ทำเป็นชั้นๆวางพระพุทธรูปไม้ ๒) หลายองค์ โครงหลังคาเป็นไม้ทั้งหมด หลังคาทรงจั่วชั้นเดียวมุงแป้นเกล็ด
ด้านหน้า ด้านข้างและด้านหลัง
รายละเอียดส่วนประดับมีดังนี้
หน้าบันทั้ง ๒ ด้านแกะไม้เป็นดอกทานตะวันกลม ๆ ประดับกระจกตรงกลาง ติดไว้ที่หน้าจั่วข้างละเกือบ ๒๐ ดวง สวนปั้นลม เป็นไม้ทำแอ่นงอนธรรมดาไม่มีโหง่เเละหางหงส์ เป็นที่น่าเสียดายว่าวัสดุที่ใช้ก่อฐานกำลังหมดสภาพเกิดร้าวแตกกระเทาะหลุด ส่วนผนังและเสาไม้นั้นก็ถูกปลวกกัดกินจนผุพังไปเห็นได้ชัดเจน สภาพโดยทั่วไปน่าวิตกว่าจะพังทำลายลงเสียในเร็ววันนี้โดยแน่แท้
คุณค่าของสิมหลังนี้ก็คือ เป็น สิมทึบที่เป็นไม้ซึ่งหาดูได้ยากกว่าสิมทึบที่ก่อด้วยอิฐถือปูน เป็นหลังกะทัดรัดมีทรวดทรงสมบูรณ์ในแง่ความเรียบง่าย สมถะในแนวทางของพระพุทธศาสนา มีลวดลายประดับบ้างตามสมควร ไม่อลังการมากเกินไปสมกับวิถีชีวิตผู้คนในภาคอีสาน จึงเห็นสมควรนำมากล่าวถึงไว้เพื่อเป็นสถาปัตยกรรมที่สอนใจลูกหลานชาว อีสานไว้ ณ ที่นี้
ขันเอวปูน
ขันเอวปูน