โดย วิทยา วุฒิไธสง นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
พระพุทธรูปไม้อีสานเป็นสมบัติของบรรพบุรุษที่ได้จงใจจำหลักแกะเกลาตามความสามารถที่มีอยู่ ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์และต่อพระสงฆ์และพระสาวก อันเป็นเนื้อนาบุญ แรงศรัทธาได้แสดงออกมาด้วยงานพุทธศิลป์ ที่เรียกว่าพระไม้ อันทรงคุณค่า
พระพุทธรูปไม้ ถือเป็นสัญลักษณ์ ภาพแทนในความเลื่อมใสศรัทธาของชาวอีสาน ต่อการนับถือพุทธศาสนา โดยสะท้อนคติ ความเชื่อ ความศรัทธาออกมาในรูปแบบต่างๆ มากมาย “พระพุทธรูปไม้” ผ่านบริบท ภูมิปัญญาท้องถิ่นชาวอีสาน รวมถึง ความเชื่อเรื่องวัสดุ พิธีกรรม ที่สะท้อนถึงความเลื่อมใสศรัทธาต่อพุทธศาสนาอย่างแท้จริง(กานต์ กาญจนพิมาย. 2553) การสร้างพระไม้ในอีสานไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ามีประวัติความเป็นมาและการสร้างอย่างไร ใครเป็นผู้สร้างครั้งแรก เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารอ้างอิงชัดเจน รูปแบบพระไม้อีสานเมื่อเปรียบเทียบกับพระไม้ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะมีลักษณะใกล้เคียงกันมากจนแทบจะแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงไม่ได้ว่าเป็นสกุลช่างเดียวกัน นักวิชาการบางท่านได้ให้ความเห็นว่าพระไม้ในอีสานได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง โดยศิลปะแบบล้านช้าง แล้วแผ่ขยายอิทธิพลข้ามมายังฝั่งไทย จากการอพยพโยกย้ายก็ดีหรือจากการถ่ายโอนโดยทางเครือญาติก็ดี ในสมัยของเจ้าฟ้างุ้มแหล่งหล้าธรณีครองราชย์ จึงได้อาราธนาพระสงฆ์จากอินทปัตนคร(กัมพูชา)พร้อมด้วยพระบาง พุทธศาสนาจึงได้เจริญรุ่งเรื่องขึ้นในอาณาจักรลาวล้านช้างสืบมา มีการสร้างงานศิลปะขึ้นมากมาย(สงวน รอดบุญ.2526) เช่นพระพุทธรูปไม้ในอีสานน่าจะมีการสร้างขึ้นหลังสมัยของพระเจ้าฟ้างุ้มเป็นแน่เพราะพระพุทธรูปไม้ทำเลียนแบบพระบางเป็นจำนวนมาก(ปางห้ามญาติ) เป็นปางประทับยืน และเนื่องจากปางห้ามญาติเป็นปางประทับยืนไม่เหมาะกับวัสดุที่เป็นไม้ จึงมีการเปลี่ยนมาสร้างพระปางสมาธิและปางมารวิชัยกันอย่างแพร่หลายในดินแดนล้านช้างโดยเฉพาะในอีสานด้วย (นิยม วงศ์พงษ์คำ. 2545) พระไม้ในภาคอีสานออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มช่างพื้นบ้านและกลุ่มอิทธิพลช่างหลวง โดยใช้กรอบรูปร่างขององค์พระ ความงดงามที่ปรากฏทางทัศนศิลป์ ความยากง่ายของการทำ และรายละเอียดขององค์ประกอบอื่นๆ กลุ่มช่างพื้นบ้าน หมายถึงผลงานของคนในท้องถิ่นโดยแท้จริง และ กลุ่มช่างพื้นบ้าน ประเภทประยุกต์หมายถึงกลุ่มพื้นบ้านรุ่นหลังที่พยายามพัฒนางานจากกลุ่มพื้นบ้านบริสุทธิ์ โดยพยายามเลียนแบบช่างจากเมืองหลวงแต่ฝีมือไม่ละเอียดพอ ลักษณะพิเศษของกลุ่มช่างพื้นบ้านส่วนมากจะเป็นผลงานค่อนข้างเรียบง่ายการสลักลวดลายค่อนข้างหยาบไม่ซับซ้อนทั้งรูปร่างและเทคนิคการทำถือว่าเป็นลักษณะพิเศษของพระไม้พื้นบ้านบริสุทธิ์ กลุ่มอิทธิพลช่างหลวง พระไม้กลุ่มอิทธิพลช่างหลวง หมายถึงรูปแบบงานประติมากรรมที่ทำโดยช่างพื้นบ้าน แต่ได้รับอิทธิพลทางคติความเชื่อและรูปแบบการทำงานอย่างช่างหลวง หรือการเลียนแบบช่างหลวง รูปแบบพระไม้กลุ่มนี้ รูปแบบพระไม้กลุ่มนี้ จึงมีรูปแบบงดงามตามคติอย่างเคร่งครัดเพราะช่างส่วนมากได้รับการฝึกอบรม ถ่ายทอดอย่างเป็นระเบียบแบบแผน งานจึงออกมาคล้ายงานในราชสำนักกอปรได้รับอิทธิพลจากทั้งเวียงจันทร์ หลวงพระบาง และบางกอก จึงทำให้งานที่ออกมาบางครั้งเป็นการผสมผสานระหว่างไทย-ลาว ซึ่งอาจได้รับอิทธิพลจากสุโขทัยของสยามแต่ก็พบจำนวนน้อย สาเหตุที่ทำให้มีการสร้างพระพุทธรูปไม้ ในอีสานมีคำตอบมากมาย เช่น- เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาโดยสร้างองค์พระแทนพระพุทธเจ้า
- เพื่อผลานิสงส์ผลบุญ
- อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
- เพื่อเป็นสิ่งสักการบูชา-เพื่อปฏิบัติตามปณิธานของผู้อุปสมบทที่หวังเอาไว้
- เพื่อสืบชะตาหรือต่ออายุให้กับผู้ป่วยหรือผู้ที่ได้รับเคราะห์กรรม
การแกะสลักไม้ให้เป็นพระพุทธเจ้าของชาวอีสานนั้น เป็นผลจากความเพียรพยายามจากแรงศรัทธาของบรรพบุรุษ ที่ได้สร้างสรรค์ด้วยความเรียบง่าย มุ่งหมายต่อประโยชน์ที่เกิดจากความพอเหมาะพอดีตามสภาพที่พึงมี ก่อให้เกิดความสงบผาสุก ร่มเย็น เป็นผลแห่งศิลปะอันล้ำค่าหาที่เปรียบมิได้ ควรค่าแก่การเก็บรักษา เคารพ กราบไหว้ ภาคภูมิใจตราบชั่วกาลนานเพราะพระไม้เกิดจากลายมือของบรรพชนไทอีสาน
อ้างอิง ชอบ ดีสวนโคก. พระไม้ลายมือบรรพชนคนไทอีสาน.ขอนแก่น: ศิริภัณฑ์ออฟเซ็ท,2545นิยม วงศ์พงษ์คำ.พระไม้อีสาน .ขอนแก่น.โรงพิมพ์ศิริภัณ์ ออฟเซ็ท 2545กานต์ กาญจนพิมาย.2553 การศึกษาวิเคราะห์พระพุทธรูปไม้อีสานเชิงปรัชญา.วิทยานิพนธ์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์.มหาวิทยาลัยขอนแก่น.ขอนแก่นสงวน รอดบุญ.พุทธศิลป์ลาว.กรุงเทพฯ : วิทยาลัยธนบุรี,2526]]>