ดร.พิมพ์ รัตนคุณศาสน์
ดร.พิมพ์ รัตนคุณสาสน์ เกิดวันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๕๖ ที่บ้านยางน้อย (ปัจจุบันตำบลยางน้อย) อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม แต่ได้ย้ายมาอาศัยอยู่ที่จังหวัดขอนแก่นตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ โดยเป็นครูที่โรงเรียนบ้านหนองผือ จังหวัดขอนแก่น และได้เรียนกลอนลำ ใช้นามปากกาว่า “วอน วรรัตน์” ซึ่ง ในขณะนั้นมีอายุได้ ๒๓ ปี นับว่าเป็นคนหนุ่มที่ประสบความสำเร็จจากอายุ ๒๓ – ๗๒ ปี เป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ ที่พ่อใหญ่พิมพ์ เป็น “ครู” ของหมอลำหลายต่อหลายคน งานประพันธ์นับร้อย ๆ ชิ้น ผลงานประพันธ์หลายชิ้น ได้รับรางวัลที่สำคัญมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลงาน กลอนลำพระเวส กลอนลำศรีปราชญ์ ลำกลอนเรื่อง เป้าหมาย ๖ ประการของหลักพัฒนา กลอนลำสามสถาบัน กลอนสรภัญญ์ บทสูดขวัญนักศึกษาใหม่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฯลฯ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๓๙ สิริอายุ ๘๓ ปี
ชีวิตส่วนใหญ่ของพ่อพิมพ์คลุกคลีอยู่ในวงการหมอลำ และแต่งกลอนลำให้ศิลปินมากมายไม่ว่าจะเป็น เคน ดาเหลา ทองคำ เพ็งดี บุญเพ็ง ไฝผิวชัย อังคณางค์ คุณไชย และ ป.ฉลาดน้อย จึงเป็นผู้รู้ที่สามารถให้คำตอบ เกี่ยวกับพัฒนาการของหมอลำได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นท่านยังช่วยสอนวิชาวรรณคดีอีสานที่คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และงานในตำแหน่งที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมและงานปริวรรตวรรณคดีโบราณของศูนย์วัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนเป็นหมอสูดขวัญและผูกแขนคู่เสี่ยวในงานเทศกาลไหมและประเพณีผูกเสี่ยว จังหวัดขอนแก่นในช่วงเริ่มแรก
ด้วยผลงานที่โดดเด่นเห็นประจักษ์เช่นนี้ ทำให้พ่อพิมพ์ได้รับยกย่องเป็นศิลปินพื้นบ้านดีเด่น จากทางสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๒๘ เป็นวิทยากรพิเศษของศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดขอนแก่น ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๕๒๗ – ๒๕๒๘ และในปีพุทธศักราช ๒๕๒๙ ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวรรณกรรมท้องถิ่น จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นคนแรกอีกด้วยตลอดชีวิตของ ดร.พิมพ์ รัตนคุณสาสน์ ได้สร้างผลงานการแต่งกลอนลำหลายร้อยชิ้น จนมีชื่อเรียกขานว่า “พิมพ์กวรศรีอีสาน” ที่ลูกหลานยังได้จดจำเอาไว้ แม้ท่านถึงแก่กรรมไปแล้ว แต่ผลงานที่ได้สร้างสรรค์ไว้ยังอยู่ในหัวใจของมิตรหมอแคนแฟนหมอลำ เป็นแรงบันดาลใจให้ลูกหลานได้สร้างสรรค์และสืบทอดผลงานอย่างต่อเนื่อง มหาวิทยาลัยขอนแก่นจึงยกย่องเชิดชูเกียรติให้ ดร.พิมพ์ รัตนคุณสาสน์ เป็นอมรศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ พุทธศักราช ๒๕๖๑ เพื่อเป็นเกียรติประวัติแก่ครอบครัวสืบไป