ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ซ้อนทับ “ศิลปะจากสิ่งที่ถูกมองข้าม”

บทความโดย ญาสุมินทร์ บัวสิงห์ นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

งานศิลปะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเกิดจากการถ่ายทอดความรู้ ความคิด ประสบการณ์และจินตนาการ นับเป็นการสื่อสารอีกอย่างหนึ่งโดยใช้สื่อในการถ่ายทอดผลงานเพื่อส่งไปยังผู้รับสาร

ปัจจุบันงานศิลปะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วไปตามยุคตามสมัย ทำให้งานศิลปะมีมากมายหลากหลายรูปแบบมากขึ้น ในการเขียนงานศิลปะนั้นไม่มีคำว่าถูกหรือผิด ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เสพสื่อ หรือมุมมองในการวิเคราะห์และตีความผลงานชิ้นนั้นว่าจะมองไปในทิศทางใด บางครั้งการมองภาพหนึ่งภาพ   ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะคิดหรือเห็นในสิ่งเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่างานศิลปะทุกชิ้นมีค่าหรืออาจไม่เกิดความหมายอะไรเลยก็ได้ ขึ้นอยู่ที่ว่าเราจะให้คุณค่ากับมันมากน้อยเพียงใด เราจะมองมุมไหนให้เข้าใจ หรือเข้าถึงหรือไม่ ขึ้นอยู่กับทัศนคติที่มีต่อผลงานชิ้นนั้นๆ

การจัดนิทรรศการซ้อนทับในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลัก คือ การนำเสนอผลงานที่เน้น  ให้ความสำคัญกับสิ่งที่ทุกคนมองข้าม ทั้งในด้านของวัสดุรอบตัวที่มีอยู่ในชีวิตประจำวันหรือวัตถุที่ทุกคนมองข้ามจนกลายเป็นสิ่งของเหลือใช้ ทำให้การจัดแสดงผลงานแต่ละชิ้นในครั้งนี้ค่อนข้างซับซ้อนและตีความ   ได้ยากเพราะเกิดจากการนำวัสดุที่มีรูปร่าง ประเภท และลักษณะของการใช้งานที่แตกต่างกันมาประกอบกัน ดังนั้นในการตีความของผลงานแต่ละชิ้น จึงต้องใช้ประสบการณ์และทัศนคติที่มีต่องานชิ้นนั้นจริงๆ จึงจะให้ความหมายของผลงานนั้นได้ แน่นอนว่าวัสดุที่นำมาประกอบกันแต่ละชิ้นมีความหมายในตัวมันเองมีประวัติ มีที่มาต่าง ๆ มากมาย                         

โดยการจัดนิทรรศการในครั้งนี้เป็นการรวมตัวของอาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ ได้แก่ อาจารย์เจด็จ ทองเฟื่อง อาจารย์บัญชา ควรสมาคม และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์รณภพ เตชะวงศ์ ซึ่งนับเป็นบุคคลผู้มีความเชี่ยวชาญในงานศิลปะเป็นอย่างดี การถ่ายทอดผลงานในครั้งนี้จึงนับเป็นการจัดแสดงผลงานที่ค่อนข้าง แหวกขนบของงานศิลปะ เมื่อชมผลงานก็จะเกิดคำถามในใจว่า “มันคืออะไร” การเกิดคำถามนี้เป็นการตอบโจทย์ให้กับการจัดนิทรรศการในครั้งนี้แล้วว่า “คุณเข้าถึง” การจัดงานในครั้งนี้อาจารย์แต่ละท่านได้ให้ความหมายของงานที่แตกต่างกันแต่ยังคงคอนเซ็ปต์เดียวกันคือการให้คุณค่ากับสิ่งที่ถูกมองข้าม

อาจารย์เจด็จ ทองเฟื่อง…

ได้เล่าถึงมุมมองในการแสดงผลงานในครั้งนี้ จุดเริ่มต้นมาจากการมีผลงานเป็นของตัวเอง   และได้รับทุนวิจัยของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นได้มาจากการลงพื้นที่ในชุมชนโบราณ เช่น บ้านเชียง บ้านปราสาท มีการจัดกิจกรรมเพื่อขอความร่วมมือจากชาวบ้านโดยมีวิธีการ คือ ให้ชาวบ้านนำสิ่งของเก่าที่เหลือใช้นำมาแลกของใหม่ จะเป็นสิ่งของแบบใดก็ได้ที่มีอยู่ในบ้านสามารถนำมาแลกเครื่องมือทางการเกษตรได้ ซึ่งในการจัดกิจกรรมนี้ นับเป็นส่วนสำคัญอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดผลงานแต่ละชิ้นและถือว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากกลุ่มชาวบ้าน ในส่วนของรูปแบบของผลงานจะออกมาในลักษณะสื่อผสมและวัสดุผสม เพราะผลงานบางชิ้นมีการใช้หลอดไฟ แสง ถ่าน ในการแสดงผลงานทำให้งานเกลายเป็นลักษณะของสื่อผสม ผลงานของอาจารย์จเด็จจะเน้นการให้ความหมายของชิ้นงาน ทุกชิ้นงานมีความหมายในตัวของมันเสมอรวมถึงประวัติและที่มาก็ล้วนมีคุณค่าในทุก ๆ ชิ้น สะท้อนทั้งวัฒนธรรมวิถีชีวิตของคนในอดีต ซึ่งนับได้ว่าเป็นผลงาน  ที่ไม่ใช่แค่มีคุณค่าสวยงามแค่ภายนอก แต่หากมองให้ลึกซึ้งมันมีความหมายมากกว่านั้นจริง ๆ

อาจารย์บัญชา ควรสมาคม…

ให้ความหมายของการจัดนิทรรศการซ้อนทับจากผลงานของตนเอง โดยสร้างขึ้นจากการรำลึกถึงบ้านเกิดของตนเองเป็นหลัก เน้นพูดถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมยุคใหม่ที่กำลังทับซ้อนทับธรรมชาติที่เป็นดั้งเดิม รูปแบบของผลงานเป็นลักษณะสื่อผสมที่เล่าเรื่องความเจริญที่เปลี่ยนผ่านไปอย่างรวดเร็ว หลงเหลือเพียงร่องรอยของความเป็นธรรมชาติในอดีต ความโดดเด่นผลงานคือมีการใช้เสียงในการประกอบการจัดแสดงเพื่อให้มองภาพได้ชัดเจนมากขึ้น เข้าถึงและเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง ได้สอดแทรกประสบการณ์ที่เคยได้ยินตั้งแต่ในอดีตมาผสมผสานเข้ากับผลงาน เพื่อให้องค์ประกอบของผลงานสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ผู้ช่วยศาสตราจารย์รณภพ เตชะวงศ์

ซ้อนทับ เป็นการจัดงานแสดงผลงานที่เกิดจากการนำเสนอเพื่อให้ความสำคัญกับสิ่งที่ไม่สำคัญ และเน้นย้ำให้เห็นถึงมุมมองของคนในปัจจุบันที่มักมองสิ่งที่อยู่เบื้องหลังมักจะไม่ได้รับความสำคัญเสมอ ตัวอย่างเช่น เวลาที่กล้องโฟกัสกล้องจะโฟกัสแค่ด้านหน้าเพื่อให้ชัดเจนแต่ในส่วนของพื้นหลังไม่สนใจเลยว่าจะเป็นอย่างไร ทำให้พื้นหลัง (background) หรือเหล่านั้นถูกมองข้าม รูปแบบของผลงานจะเน้นการใช้วัสดุจริงทั้งภาพถ่าย หนังสือ งานจิตรกรรม จะใช้ผลงานจริงของตัวเองในการนำมาสร้างสรรค์ ในส่วนของผลงานแต่ละชิ้นมีการสะท้อนแนวคิดหลักๆ คือ การให้ความสำคัญกับการไม่ให้ความสำคัญ เช่น รูปถ่ายใบเดียวมันเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญไม่เหมือนกัน เรามักจะดูส่วนที่มันสำคัญ คือ ส่งนของด้านหน้าแต่ส่วนที่อยู่ด้านหลังเรามักจะไม่ให้ความสนใจหรือละเลย มันก็เหมือนกับว่าบางสิ่งที่อยู่ในสังคมมีทั้งด้านหน้าและด้านหลัง เรามักจะให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่ด้านหน้าเท่านั้นทั้ง ๆ ที่อยู่ในเฟรมเดียวกัน ทำให้เห็นถึงความแตกต่างของคุณค่า     และความสำคัญจนกระทั่งนำไปสู่การจดจำเรามักจะจดจำสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าเสมอ

นิทรรศการ “ซ้อนทับ” OVER LAP ART EXHIBITION นั่นหมายถึงการนำสิ่งของหรือวัสดุตั้งแต่สองชิ้นขึ้นไปมารวมกันเพื่อทำให้เกิดความหมายใหม่ คล้ายกับการใช้หลักภาษาคือการนำคำสองคำที่คนละความหมายมารวมกันจนเกิดเป็นคำใหม่และมีความหมายใหม่ “ซ้อนทับ” เป็นการจัดนิทรรศการที่สะท้อนเพื่อเน้นให้เห็นถึงวัสดุแต่ละชิ้นว่ามีความหมายในหลายๆด้าน ทั้งในส่วนของวิถีชีวิต วัฒนธรรม สภาพสังคมทั้งในอดีตและปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทั้งนี้เพื่อให้คนที่เข้ามารับชมงานที่จัดแสดงได้เห็นแล้วตระหนักถึงคุณค่าของสิ่งที่เรามองข้ามไป จงอย่าลืมว่าสิ่งที่ไม่สำคัญอาจเป็นสิ่งที่สามารถเติมเต็มผลงานนั้น ให้สมบูรณ์แต่หากขาดสิ่งนั้นอาจทำให้ขาดความสมบูรณ์ก็ได้ จงให้ความสำคัญและเห็นคุณค่ากับทุกสิ่ง อย่ามองข้ามแต่จงให้คุณค่า…

]]>