ลิงค์ดูหนัง https://youtu.be/4rYwXcPRu48
ภาพสะท้อนความสัมพันธ์ไทย-ลาวผ่านงานวิจัยบนแผ่นฟิล์ม ที่จะกลายเป็นอีกก้าวของการพัฒนาอุตสาหกรรมภาพยนตร์ลุ่มน้ำโขง
เรื่องราวของ “ลาว” บนแผ่นฟิล์ม ที่ได้รับการอนุมัติและสนันสนุนจาก “กรมฮูปเงา” และ “สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ” กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ของ สปป.ลาว ให้สร้างขึ้น ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายยิ่ง สำหรับผู้กำกับภาพยนตร์มือใหม่ อย่าง รศ.นิยม วงศ์พงษ์คำ อาจารย์ประจำคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)
อะไรหรือ? ที่จุดประกายให้ “อาจารย์นิยม” ลุกขึ้นมาทำหนัง และเป็นหนังที่นักแสดงหลัก และโลเคชั่นหลัก เป็นของลาว โดยฝ่ายไทยออกทุนและดำเนินการสร้าง
จุดเริ่มหนัง “คูของข้อย” หรือ “ครูของข้าพเจ้า” นั้น สืบเนื่องมาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำบันทึกความร่วมมือ กับสถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ กรมวิจิตรศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวของลาว รวมสิบกว่าปีมาแล้ว
ก่อร่างสร้างโครง
สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ คือสถาบันที่จะผลิตบุคคลกรออกไปทำงานศิลปะ เช่น เช่นสาขาจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ เปรียบเทียบก็เหมือนมหาวิทยาลัยศิลปากรของไทย ซึ่งต่อมา สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติลาว อยากเปิดสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ โดยปัจจุบัน คณะศิลปกรรมฯ ม.ขอนแก่น มีสาขานี้อยู่แล้ว เพื่อผลิตบุคคลกรด้านการออกแบบ, ภาพยนตร์ และแอนิเมชั่น เพราะก่อนหน้านี้ ก็มีความร่วมมือกันทางด้าน สาขาจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ มาแล้ว ดังนั้น อีกสาขาหนึ่งที่จะร่วมมือกันได้ คือสาขาออกแบบนิเทศศิลป์ หรือทางนิเทศศาสตร์ จึงร่วมมือกันทำงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ตัวงานวิจัยก็คือ ภาพยนตร์ เพื่อที่จะทำเวิร์คช้อปร่วมกันกับสถาบันวิจิตรศิลป์กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น และพันธมิตรเครือข่ายคนทำหนังในภาคอีสาน
เรื่องทำหนังใหญ่ และหนังสั้นในประเทศลาว จะต้องขออนุญาต “กรมฮูปเงา” อยู่ภายใต้กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว เมื่อมีแนวคิดจะทำหนัง จึงเป็นเกิดเป็นสามประสานแตะมือกัน ระหว่าง สถาบันวิจิตรศิลปแห่งชาติ กรมวิจิตรศิลป์, กรมฮูปเงา กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และม.ขอนแก่น โดยหอภาพยนตร์อีสาน
“ผมเป็นหัวหน้าหอภาพยนตร์อีสานอยู่แล้ว มีพันธมิตรในอีสานเป็นกรรมการร่วม อย่าง อีสานช็อตฟิล์ม และมหาวิทยาลัยอื่นๆ มาช่วยกัน คุยกันว่า จะทำหนังร่วมกัน จนได้ข้อสรุปว่า เราจะพัฒนาร่วมกันไปสู่อาเซียน น่าทำเรื่องการสร้างคนเพื่อไปพัฒนาเรียนรู้มากที่สุด หรืออาชีพอะไรที่จะตอบโจทย์ตรงนั้น ก็เลยมารจบที่อาชีพครู” รศ.นิยม กล่าว
การวางพล็อตเรื่อง แบ่งหนังออกเป็น 3 องก์ ได้แก่ คำมั่นสัญญา อุดมการณ์ และความรัก
“องค์แรกเราพยายามสร้างฮีโร่ตัวใหม่ของลาว คือ ครูคำปุ่น จะทำให้เป็นฮีโร่ในศตวรรษนี้ เดิมฮีโร่ตัวเก่าของลาวและอีสาน จะเป็นสินไซ วรรณกรรมเอกของลาว แต่เมื่อเราจะเข้าสู่อาเซียน เราจะ สร้างฮีโร่ตัวใหม่ หวังให้เป็นไอดอล ของวัยรุ่น ของคนลาว ครูคำปุ่น เป็นนักพัฒนา เป็นผู้มีอุดมการณ์ และยึดมั่นในคำสัญญา”
เมื่อได้แนวคิดแล้ว จึงมาวางโครงเป็นเรื่องของคำปุ่น วัยเด็กเคยสัญญากันเพื่อนว่าจะกลับมาเป็นครู ปรากฎว่ามีเพื่อนรักมาตายไปก่อน จึงต้องทำตามสัญญากับเพื่อนที่ตาย องก์ที่สอง อุดมการณ์ คำปุ่นเป็นลูกชาวนา พ่อแม่เป็นคนมีวิสัยทัศน์ว่า ไม่อยากให้ลูกลำบาก พ่อไม่อยากให้ลูกเป็นชาวนา ให้ลูกตั้งใจเรียนหนังสือ มีความรู้ก็จะกลับมาพัฒนาบ้านเกิด ทำให้อุดมการณ์ตรงนี้ ได้รับการปลุกฝังมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งอาจทำให้คำปุ่นทำนาไม่เป็น หากินไม่ขึ้น แต่เป็นคนเรียนเก่ง มีอุดมการณ์รับใช้ท้องถิ่น รับใช้บ้านเกิด
“คำปุ่นมีโอกาสไปเรียนระดับสูง ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติของลาว มีโอกาสจะถูกส่งไปเรียนต่างประเทศ แต่เขาปฏิเสธ เพื่อจะกลับมารับใช้อุดมการณ์ของตัวเอง ตามคำสัญญาของเพื่อน และตามความตั้งใจของพ่อแม่” รศ. นิยม บอก
สายสัมพันธ์ข้ามโขง
แน่นอนว่า ภาพยนตร์คงต้องให้ครบรส คงจะขาดความรักไปไม่ได้ และเป็นความร่วมมือไทย-ลาว จึงสร้างความรัก ระหว่างคำปุนกับพรมพิลา เป็นตัวนำ มีตัวรองคือ แบงค์กับน้ำอุ่น เป็นตัวแทนไทยกับลาว หนังครูของข่อย ก็จะมีรสชาติ 3 อย่าง ความสดใสสมัยคำปุ่นเป็นเด็ก ในวัยนี้จะให้เห็นวิถีและอัตลักษณ์ของชุมชนลุ่มน้ำโขงร่วมกัน เช่น การทำมาหากินในวัยเด็ก การหาแย้ หากะปอม (กิ้งก่า) หรือการแหย่ไข่มดแดง แล้วค่อยๆ เข้มข้นขึ้นตามวัยด้วยอุดมการณ์
“หวังสร้างให้เป็นหนังที่คนลาวทุกคนต้องดู เพื่อกลายเป็นไอดอลตัวใหม่ คือครูคำปุ่น ในการก้าวสู่อาเซียน เป็นครูที่รักบ้านเกิดเมืองนอน ครูมีอุดมการณ์ ยอมทิ้งความรักของตนเองเพื่อสร้างประเทศชาติ” รศ. นิยม กล่าว
ถึงกระนั้น การเข้าไปถ่ายทำหนังที่ลาว นครหลวงเวียงจันทน์ไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าจะมีใบอนุญาตจากรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมและท่องเที่ยวแล้วก็ตาม รศ.นิยม บอกว่า ลาวแตกต่างจากไทย ดังนั้นบทเรียนที่ต้องเรียนรู้ร่วมกันว่า ก่อนที่จะเข้าไป จะต้องเรียนรู้เขาเข้าใจก่อน
“บางอย่างทำได้ในบ้านเรา แต่ทำไม่ได้ที่นั่น เราก็ไม่ต้องมานั่งตั้งคำถาม ถ้าเขาบอกว่าไม่ เราต้องไม่ ทันที นี่เป็นตัวอย่างที่เราเข้าไปทำงานในระบบการปกครองที่แตกต่างกัน ถ้าเป็นเรื่องชาวบ้านกับชาวบ้าน ชาวบ้านน่ารักมาก ไม่ต่างจากอีสานบ้านเรา เข้าถึงเข้าหาก็เรียบร้อย จนเราเกรงใจ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือของโรงเรียนที่เราไปตั้งกองถ่าย ชาวบ้านที่เขาเมตตาให้เราเรื่องโลเคชั่น”
ส่วนเรื่องงบประมาณก็ได้สนับสนุนจากหอภาพยนตร์อีสานของมข. จำนวน 5 แสนบาท ทำให้ต้องประหยัดทุกอย่างเท่าที่ทำได้ แม้แต่คนทำงานกว่า 20 คนไม่มีค่าตัว เพราะทำงานในฐานะคนที่รักในสิ่งที่อยากทำเหมือนกัน ส่วนเรื่องค่าตัวนักแสดงจากลาวก็เจรจาว่า หนังจะไปฉายถึงไหนยังไง นักแสดงบางคนไม่เอาค่าตัว แต่ก็ให้เป็นค่ารถค่าน้ำมัน
“ค่าตัวนักแสดงที่เป็นคำปุ่น เขาเป็นผู้ประกาศสถานีโทรภาพลาว เป็นคนมีชื่อเสียงในลาวระดับหนึ่ง ได้รับฉายา เป็น “พี่โดม” ของลาว เขาไม่ได้เรียกค่าตัว ก็ให้ช่วยกันหลักพันบาท ค่าขอบคุณที่มาช่วยงาน อย่างดาราผู้หญิงที่ เป็นคนลาว ก็เป็นค่าตัวเดียวกัน… ผมอยากให้เราอย่าไปสร้างค่าตัวแพงๆ อย่างบ้านเรา เพราะถ้าแพง คนทำหนังจนๆ อย่างเราจะลำบาก ซึ่งเงิน 5 แสน ลงไปถ่ายที่ลาวได้ 60 เปอร์เซ็นต์ เดิมคิดว่าจะเสร็จ แต่ก็ติดปัจจัยช่วงสงกรานต์”
ด้วยกระบวนการทำหนังเรื่องนี้นั้นเป็นงานวิจัยด้วย จึงมีการประสานของบกับฝ่ายวิจัยของมข.อีก 5 แสนบาท โดยหนังเรื่องนี้ น่าจะใช้งบประมาณ 1 ล้านบาทในเบื้องต้น ซึ่งหวังจะเป็นหนังใหญ่ที่จะได้คุณภาพ ไม่ได้เน้นธุรกิจ
“ความตั้งใจของเรามันเป็นหนังที่คนลาวทุกคนต้องดู คุยกับกรมฮูปเงาและสถาบันวิจิตรศิสป์ว่า การที่คนลาวทุกคนจะได้ดูก็คือทำซีดีแจก และฉายในโรงของลาวโดยไม่เก็บตั๋ว ถ้าเก็บก็เอาเงินที่ได้ไปทำประโยชน์ต่อ ส่วนจะมาฉายในไทยในรูปแบบไหนก็คงต้องคุยในเรื่องรายละเอียดต่อไป ซึ่งสถานีโทรทัศน์ เคเบิล เขายินดีที่เผยแพร่ เรายินดีให้ฉายฟรี เพราะเราตั้งใจทำหนังอุดมการณ์ไม่ใช่หนังธุรกิจ..
“เรายกให้เป็นหนังของลาว เป็นการทำหนังที่กำกับโดยคนไทย ผู้ช่วยกำกับที่มีทั้งไทยและลาว ธีมและพล็อทเรื่องของลาว ภาษาลาว มีดาราคนไทยสมทบบ้าง เราตั้งใจจะฉายในวันครูของลาว 17 กรกฎาคม ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง จะไปฉายตามโรงเรียนต่างๆ ..อยากให้คนไทยได้ชมกลิ่นอายของลาว” รศ.นิยม กล่าว
เล่าหลังเลนส์
อย่างไรก็ตาม ในมุมของทีมงาน อย่าง ผู้กำกับหนังสั้นมากรางวัล ปรีชา สาคร หรือ อ.อุ๋ย จากนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งเป็นผู้ช่วยผู้กำกับหนังเรื่องนี้ บอกว่า ถือว่าเป็นงานที่ค่อยข้างยากและเหนื่อยเหมือนกัน เพราะใช้พลังไปเยอะพอดู ทั้งพลังกาย และ พลังใจ นอกจากจะทำ Breakdown (ตารางถ่ายทำ) แล้ว ปัจจัยและปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นหน้ากองอยู่อย่างสม่ำเสมอ เช่น ความไม่พร้อมหลายๆ อย่าง นักแสดง โดยเฉพาะนักแสดงเด็กๆ ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองมาถ่ายทำแค่วันหรือสองวัน ซึ่งไม่พอ สถานที่ถ่ายทำเอาแน่ไม่ได้ มันทำให้เราต้องเบรกดาวน์รายวัน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อกองถ่าย เพราะทีมงานจะต้องรู้ก่อนว่า ถ่ายอะไร ที่ไหน ซีนไหน อุปกรณ์ประกอบฉากมีอะไรบ้าง
“ที่ผิดคาดคือ เราคิดว่าเราจะทำอะไรก็ได้ในหนังตามที่เราเคยชินในประเทศไทย หากแต่เราไปทำหนังที่ลาว คำพูดบางคำ การแสดงบางอย่าง ในหนังกลับทำไม่ได้ เนื่องจากคำที่เราใช้ การแสดงบางอย่างดังกล่าวค่อนข้างที่จะเป็นประเด็นที่บอบบาง และ เราก็ไม่แน่ใจว่าจะผ่านการเซ็นเซอร์หรือเปล่า เราจึงถ่ายไว้ 2 แบบ เผื่อเหลือเผื่อขาด ซึ่งมันทำให้เราเสียเวลาบ้าง”
ปรีชาบอกด้วยว่า หนัง หรือ ฮูปเงา ในภาษาลาว ถือว่าเป็นสิ่งใหม่ของคนลาวพอสมควร เนื่องจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในลาวไม่ได้เฟื่องฟูเหมือนไทย โรงภาพยนตร์ในเวียงจันทน์ก็มีน้อยมาก ชาวลาวต่างเสพสื่อของประเทศไทยผ่านจานดาวเทียม ภาพยนตร์จึงไม่ค่อยมีความสำคัญในชีวิตประจำวันสักเท่าไหร่
การเข้าไปทำหนังในลาวมีขั้นตอนที่ละเอียด ตั้งแต่การตรวจบทภาพยนตร์ การทำความเข้าใจ ว่า “อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้” หวังผลเชิงธุรกิจหรือไม่ เป็นเรื่องที่กรมฮูปเงาต้องถามถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้น หากแต่ภาพยนตร์เรื่องที่เรากำลังทำเป็นภาพยนตร์ ที่ไม่ได้มุ่งเน้นกำไร คือทำแล้วฉายให้ดูฟรี ทั้งระบบโรงฉาย และ แบบกลางแปลง เพราะทำความร่วมมือกัน อาจคุยกันง่ายขึ้น
“วันแรกที่มีการถ่ายทำ โลเคชั่น ในหมู่บ้านแถบริมแม่น้ำโขง ชาวบ้านยัง งงๆ กับสิ่งที่พวกเรา การประสานงานค่อนข้างเป็นไปได้ด้วยความยากลำบากพอสมควร นั้นก็หมายความว่า ชาวบ้านไม่เข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำ หากเราจะให้สถานที่ตรงไหน หยิบยืมอุปกรณ์ประกอบฉาก ดูเหมือน เงิน คือสิ่งเดียวที่จะตัดสินปัญหาในได้ทุกครั้งไป จวบจนเวลาผ่านไปร่วมๆ 1 สัปดาห์ ชาวบ้านเริ่มเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำว่า เรามาเพื่อทำให้ด้วยความบริสุทธิ์ใจเพราะหนังไม่ได้หวังผลกำไร และเราจะนำหนังมาฉายให้ชาวบ้านดูด้วย ทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นกับสิ่งที่กำลังทำ และให้ความร่วมมือทีดีขึ้นโดยไม่หวังสิ่งตอบแทนอย่างที่พวกเรากำลังทำอีกด้วย นับว่าเป็นภาพที่สวยงามทีเดียวที่ชาวบ้านกับทีมงานทำงานด้วยกันอย่างเข้าขากัน”
สำหรับมุมมองของ “ผู้กำกับภาพ” หนังครูของข้อย อย่าง นัท – ณัฐพงศ์ เขียวศรี ช่างภาพฝีมือดี บอกถึงการทำงานว่า ช่วงเวลาที่เราไปถ่ายทำ เป็นช่วงของงานปีใหม่ของคนลาว มีการเฉลิมฉลองและงานสังสรรค์ เกือบทุกหลังคาเรือน ทำให้คนมุง และเสียงรบกวนจากสิ่งแวดล้อมรอบข้าง สถานที่คิดว่าจะได้ถ่ายทำบางสถานที่ กลับไม่ได้ถ่ายทำ จึงต้องคิดและแก้ปัญหาสดหน้ากองถ่าย เพื่อที่จะให้งานถ่ายทำเดินต่อไปได้ ด้วยระยะเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด
“แต่ลาวยังคงมีความอุดมสมบูรณ์และงดงามตามธรรมชาติ เรื่องของอาหารการกิน โดยเฉพาะผัก ผลไม้ และสัตว์น้ำจืด ที่หากินได้ง่าย ระหว่างเดินทางจากที่พักไปกองถ่าย จะเห็นภาพความงามของทุ่งข้าวที่กำลังออกรวงและสวนผักริมทาง ในด้านของวิถีชีวิตยังมีความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย จะเห็นภาพคนคนเฒ่าคนแก่ สาวไหมทอผ้าอยู่ใต้ถุนบ้าน คนลาวมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ในทุกๆ เช้าจะเห็นภาพของคนในหมู่บ้านถือขันบักเบ็งมาไหว้พระ เป็นภาพที่หาดูได้ยากในเมืองไทยของเรา”
ทั้งหมดนี้ คือกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ที่พยายามฉายภาพของ “เพื่อนบ้าน” โดยคนของเขาและบ้านของเขา ผ่านมุมมองคนไทยอีสาน อย่างเข้าใจและเรียนรู้ ด้วยกระบวนการ “ภาพยนตร์” อันเป็นสื่อเชื่อมประสานเพื่อเปิดใจและเปิดประตูสู่อาเซียนด้วยกัน