ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

วิถีชุมชน วิถีบุญเดือน ๓

โดย สุดารัตน์ พิพิธกุล นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

บุญข้าวจี่จะนิยมทำกันในราวกลางเดือนหรือปลายเดือนสาม ซึ่งจะตรงกับวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันมาฆบูชา (เดือนสาม ขึ้น ๑๔ ค่ำ) ส่วนใหญ่จะกำหนดวันแรม ๑๓ ค่ำ และ ๑๔ ค่ำ เดือนสาม โดยมีตำนานเล่ากันมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลว่า วันหนึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปบิณฑบาตที่บ้านเศรษฐีปุณณ ขณะนั้นปุณณทาสี คนใช้ของเศรษฐีเจ้าของบ้านกำลังย่างข้าวเหนียวเพื่อรับประทานเอง ครั้นนางเห็นพระพุทธองค์ออกบิณฑบาต นางไม่มีปัจจัยสิ่งอื่นที่พอจะถวายได้ จึงเอาข้าวย่างก้อนนั้นใส่บาตรแก่พระพุทธองค์ เมื่อนางใส่บาตรไปแล้ว นางทาสีมีจิตพะวงว่า พระพุทธองค์จะไม่เสวย เพราะภัตตาหารที่นางถวายไม่ประณีต ข้าวย่างหรือข้าวจี่นั้นเป็นอาหารของชาวบ้านที่ค่อนข้างจะยากจน พระพุทธองค์ทราบวาระจิตของนางจึงรับสั่งให้พระอานนท์ ปูอาสนะลงตรงนั้น ให้ศีลและฉันภัตตาหาร ของนาง เมื่อฉันเสร็จแล้วทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดนาง ทำให้นางปลื้มปิติและตั้งใจฟังธรรมจนบรรลุโสดาปัตติผล ครั้นนางตายไปได้เกิดบนสวรรค์ด้วยอานิสงส์ของการให้ทานข้าวจี่ก้อนนั้น ดังนั้น ชาวอีสานจึงมีความเชื่อว่าหากทำบุญด้วยข้าวจี่จะได้ผลบุญมากหลาย เช่นเดียวกันกับนางปุณณทาสี การให้ทานด้วยข้าวจี่นั้น เป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า ความยากจนไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ด้วยความที่ภาคอีสานเป็นสังคมเกษตรกรรม อาชีพหลักของชาวอีสานส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ซึ่งจัดว่าเป็นสังคมพึ่งตัวเอง ที่ต้องช่วยตัวเองในเกือบทุกด้านมาโดยตลอด ชาวอีสานส่วนใหญ่จึงต้องแก้ปัญหาในการดำรงชีวิตในครอบครัว ในสังคมของตนตามมี ตามเกิด เท่าที่ธรรมชาติในท้องถิ่นจะอำนวยให้ วิวัฒนาการหรือพัฒนาการทางชีวิตและสังคม จึงค่อนข้างเชื่องช้าอยู่มากพอสมควร การเก็บรักษาข้าวให้อยู่ในสภาพดี ที่พร้อมจะนำมาปรุงอาหาร และแลกเปลี่ยนจึงมีความสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงความอยู่รอดของชีวิตทุกคนในครอบครัว รูปแบบของการดำเนินชีวิตของชาวอีสานส่วนใหญ่ ชอบบริโภคข้าวเหนียวเป็นอาหารหลัก ชอบใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย อุปนิสัย เป็นคนขยัน อดทนและช่างคิด จึงรวมเอาวิถีชีวิตและภูมิปัญญามาใช้ในการแปรรูปข้าว เมื่อถึงช่วงฤดูหนาวซึ่งเป็นช่วงที่ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จใหม่ ๆ และนำข้าวเปลือกมาสีเป็นข้าวสารนำมานึ่ง โดยธรรมชาติ ข้าวใหม่จะมีกลิ่นหอมน่ารับประทาน ขณะนั่งผิงไฟเพื่อความอบอุ่นของร่างกาย ก็ได้นำเอาข้าวเหนียวนึ่งมาปั้น โรยเกลือ ทาด้วยไข่ไก่ นำมาย่างไฟจากเตาถ่านให้เหลืองเกรียม หอมน่ารับประทาน จึงได้เรียกอาหารชนิดใหม่นี้ว่า “ข้าวจี่” มูลเหตุแห่งการทำบุญข้าวจี่ เมื่อถึงเดือนสามเป็นเวลาที่ชาวบ้านหมดภาระจากการทำงาน จึงร่วมกันทำข้าวจี่ถวายพระสงฆ์ [caption id="attachment_4983" align="aligncenter" width="421"] ขอบคุณภาพจาก – http://www.liekr.com/post_148146.html[/caption] วิถีบุญข้าวจี่ บุญข้าวจี่นั้นเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นในหลายพื้นที่ในแถบอีสาน เช่นเดียวกับ งานประเพณีบุญเดือน ๓ “สินไซบุญข้าวจี่ วิถีวัฒนธรรม” จัดขึ้นในวันที่ ๒๖ – ๒๘ มกราคม ๒๕๖๑ ณ วัดไชยศรี ตำบลสาวะถี จังหวัดขอนแก่น มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้เกิดความรักความสามัคคีของคนในชุมชน เป็นโอกาสอันดีที่ชาวชุมชนสาวะถี โดยวัดไชยศรี คณะกรรมการชุมชน และคนในชุมชนได้ยึดถือปฏิบัติประเพณีอันดีงามนี้อย่างต่อเนื่องสืบมา ซึ่งได้ต่อยอดและบูรณาการเข้ากับการเรียน การสอน พร้อมเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษา ได้เข้ามาเรียนรู้วิถีชุมชนจากฐานการเรียนต่าง ๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในเชิงวิชาการและศิลปวัฒนธรรม จะว่าไปแล้วครั้งนี้ก็เป็นครั้งแรกของฉันที่จะได้เรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ ของชุมชนแห่งนี้ ไปพร้อมกับน้อง ๆ ฐานการเรียนรู้แรกที่เราจะไปนั้นคือ ฐานการเรียนรู้กลุ่มเหล่าพระเจ้า

เส้นทางไปกลุ่มเหล่าพระเจ้า เส้นทางที่สองข้างทางเต็มไปด้วยทุ่งนา ที่ผ่านการเก็บเกี่ยว เดินบนถนนลูกรัง ผนวกกับอากาศที่ร้อนอบอ้าว แต่ทุกคนก็ตั้งหน้าตั้งตาเดินต่อไปจนถึงจุดมุ่งหมาย โดยมีไกด์จากชุมชนสาวะถีเป็นผู้นำทางให้กับเราในครั้งนี้ เมื่อถึงสถานที่ก็มีปราชญ์ชาวบ้านยืนรอต้อนรับพวกเรา และก็เป็นผู้ที่จะมาให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหล่าพระเจ้าแห่งนี้ ไม่รอช้า หลังจากนั่งพักกินน้ำเสร็จ ทุกคนก็พร้อมที่จะรับข้อมูลวิถีชุมชนแห่งนี้ โดยมีคุณพ่อปั้น ดาวสาวะ อายุ ๘๔ ปี เป็นผู้กล่าวต้อนรับและก่อนที่จะเล่าเรื่องราว พ่อปั้นได้บอกทุกคนมานั่งเพื่อทำความเคารพต่อสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ พร้อมกับให้ทุกคนขอพรเพื่อเป็นสิริมงคลกับชีวิต

พระพุทธรูปเก่าแก่ แห่งเหล่าพระเจ้า หลังจากทุกคนขอพรเสร็จพ่อปั้นได้เล่าเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ว่า บ้านสาวะถีเดิมเป็นป่าดงดิบ มีอายุยาวนานราว ๒๐๐ ปี ตำนานเล่าว่า มีปู่ ๓ คน มาตั้งถิ่นฐานเลี้ยงช้างอยู่บริเวณป่าทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ได้ประดิษฐานพระพุทธรูปหนึ่งองค์ ไว้เคารพบูชา วันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ช้างตกมัน วิ่งจากป่าทางทิศใต้ มาทางทิศเหนือ ปู่จึงวิ่งตามไปจนถึงเขตโนนเมือง ช้างหยุดและจับได้อย่างง่ายดาย ปู่ทั้ง ๓ เกิดความประหลาดใจ จึงขึ้นหลังช้างดูบริเวณโดยรอบทำให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ และได้ทราบว่าบริเวณนั้นเป็นเมืองเก่าที่เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน สำหรับเหล่าพระเจ้า เป็นสถานที่ ที่มีพระพุทธรูปอันเป็นตัวแทนพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ คนลาวและคนอีสานสมัยก่อนนิยมเรียกพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธรูปว่า “พระเจ้า” จึงเรียกสถานที่รวมกับมีพระพุทธรูปว่า “เหล่าพระเจ้า” ในกาลต่อมาชาวบ้านได้ช่วยกันบูรณปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปให้มีความสมบูรณ์ขึ้น โดยการสร้างฐานพระพุทธรูปทับพระพุทธรูป องค์เดิม เนื่องจากพระพุทธรูปองค์เดิมเศียรขาดจากเหตุการณ์ช้างตกมัน ตามที่มีการเล่าขาน สืบต่อกันมา ทุกคนฟังพ่อปั้นเล่าอย่างใจจดใจจ่อ พ่อปั้นยังเล่าอีกว่า เหล่าพระเจ้าเป็นสถานที่สำคัญที่ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือ และเชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์เป็นอย่างมาก เพราะมีเรื่องเล่าว่า ครั้งหนึ่งเคยเกิดไฟไหม้ในบริเวณนี้ ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรแต่กลับไม่ไหม้ที่เหล่าพระเจ้า อีกทั้งยังมีคนร้ายที่คิดจะขโมยเทวรูปไปแต่ก็ไม่สามารถทำได้ จึงทำให้คนในชุมชนเคารพและศรัทธาสถานที่ แห่งนี้ ในช่วงสงกรานต์ของทุก ๆ ปี ชาวบ้าน จะออกมาร่วมกันทำความสะอาดโดยรอบบริเวณ และทำพิธีสักการะ สรงน้ำพระพุทธรูปเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและหมู่บ้าน ทุกคนได้รับข้อมูลอย่างเต็มเปี่ยม และพร้อมที่จะไปฐานการเรียนรู้กลุ่มต่อไป

ฐานการเรียนรู้ต่อไปคือ ฐานการเรียนรู้กลุ่มปู่ตา ไกด์ประจำชุมชนบ้านสาวะถีพาเราเดินทางกลับเข้าไปในชุมชน สองข้างทางมีปู่ ย่า ตา ยาย ยืนรอเพื่อที่จะบริการน้ำดื่มให้พวกเราได้รับประทาน ความเป็นกันเอง ความมีน้ำใจของพ่อแม่ชุมชนบ้านสาวะถี กลับกลายเป็นความทรงจำที่จะทำให้เราไม่มีวันลืม เมื่อเดินมาถึงบริเวณกลุ่มปู่ตา ก็จะมีปราชญ์ชาวบ้านที่นั่งรอพวกเราเพื่อที่จะให้ความรู้เกี่ยวกับสถานที่แห่งนี้ ไม่รอช้าพวกเราทำความเคารพผู้อาวุโส แล้วเริ่มถามคำถามแรกเกี่ยวกับความเป็นมาของปู่ตาว่าเป็นมาอย่างไร คุณตาประจำกลุ่มปู่ตาเล่าว่า บริเวณปู่ตา หรือ อุ่มปู่ตาในสมัยก่อนจะมีต้นไม้ใหญ่เป็นจำนวนมาก ต้นไม้หนา เขียวขจีตลอดปี มีหนองน้ำตามธรรมชาติชื่อ “หนองน้ำอุ่มปู่ตา” แต่ในปัจจุบันเป็นที่ตั้งของที่ทำการเทศบาลตำบลสาวะถี ซึ่งปัจจุบันต้นไม้ใหญ่ไม่มีแล้ว เหลือแต่หนองน้ำเท่านั้น บริเวณอุ่มปู่ตาจะมีศาลปู่ตาตั้งอยู่

ศาลปู่ตา ตามความเชื่อ “ศาลปู่ตา” ก็คือศาลเจ้าอารักษ์ ที่ปกป้องหมู่บ้าน ถือเป็นเทวดาอารักษ์ของหมู่บ้านสาวะถี และทุกปีชาวบ้านสาวะถีจะมีประเพณี การไปสักการะปู่ตาเรียกว่า “เอาบุญอุ่มปู่ตา” การไปเอาบุญอุ่มปู่ตา คือการไปทำการบูชาซึ่งอารักษ์ของหมู่บ้านมีการแห่ดอกไม้ สรงน้ำ ศาลปู่ตา เพื่อเป็นสิริมงคลกับผู้คนในหมู่บ้านตามความเชื่อมาจากบรรพบุรุษโบราณ นอกจากนี้ยังมีการจุดบั้งไฟเพื่อเป็นการบูชาและเสี่ยงทายอีกด้วย

ความเชื่อมโยงวิถีชุมชน ก็มีความเกี่ยวเนื่องมาจากการบูชา ความเชื่อ ของคนในสมัยก่อนทำต่อ ๆ กันมาจนกลายเป็นประเพณีอีกอย่างที่ชาวชุมชนบ้านสาวะถียังคงรักษาไว้ เพื่อเป็นแบบแผนที่ดีให้กับลูกหลานในชุมชน ใกล้เวลาเที่ยงแต่เรายังเหลือฐานการเรียนรู้อีกสองฐาน ทุกคนจึงตั้งหน้าตั้งตาเดินต่อไปยังฐานการเรียนรู้กลุ่มโนนเมือง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกลุ่มปู่ตาเท่าไหร่ เราเดินลัดเลาะไปตามหนองน้ำ มีทุ่งนาเป็นทิวทัศน์ แดดที่ร้อนจ้าแต่ดีที่ยังมีลมพัดให้พวกเราได้มีแรงที่จะเดินต่อ ผนวกกับเวลาใกล้เที่ยง เสียงท้องร้องเป็นสัญญาณบอกชัดเจนว่าเริ่มหิวข้าว เดินไปได้สักพักเราก็พบกับปราชญ์ชาวบ้านที่รอต้อนรับพวกเรา ทุกคนหาที่นั่งที่ตนเองชอบเพื่อที่จะนั่งฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับโนนเมืองแห่งนี้ คำถามแรกจากน้องโรงเรียนบ้านสาวะถีพิทยาสรรคพ์ ถามเกี่ยวกับความเป็นมาที่นี้ และทำไมต้องเรียกว่าโนนเมือง ปราชญ์ชาวบ้านเล่าว่า โนนเมือง บ้านสาวะถีแห่งนี้ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของที่ตั้งหมู่บ้านปัจจุบัน ประมาณ ๔๐๐ เมตร ลักษณะเป็นป่าไม้พื้นที่สาธารณประโยชน์ มีต้นไม้น้อยใหญ่ปกคลุมเป็นจำนวนมาก มีเนินสูง มีลำห้วยตามธรรมชาติ กระหนาบข้างเป็นลักษณะครึ่งวงกลม โดยรอบมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติจำนวนมาก ในบริเวณโนนเมืองสันนิษฐานว่า โนนเมืองนี้คงจะเคยเป็นบ้านเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาก่อน ด้วยเหตุว่าลักษณะพื้นที่มีร่องรอย การสร้างวัดและสระน้ำหลายแห่ง ยังมีร่องรอยการพักอาศัยมีเศษอิฐ เตาเผาโบราณมากมาย มีการค้นพบเสมาหินโบราณ มีทั้งจำหลักภาพและไม่จำหลักภาพจำนวนมาก สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นวัดในสมัยก่อน อยู่บริเวณคนละฟากของลำห้วยหนองโง้ง ลำห้วยตามธรรมชาติที่ไหลผ่านโนนเมือง

นอกจากนั้นชาวบ้านที่ทำการเกษตร แถวนั้นยังมีการพบเครื่องใช้โบราณ อาวุธ พระเครื่อง กระดูกของคนในสมัยก่อน โดยเครื่องใช้โบราณที่ค้นพบได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านวัดไชยศรี และบางส่วนได้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น ส่วนพระเครื่องปราชญ์ชาวบ้านเล่าว่า ได้ยินมาจากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ประกอบร่องรอยการขุดค้นบริเวณอุ่มหมากป้อม บริเวณที่เชื่อว่าเป็นวัดในสมัยก่อน ส่วนอาวุธและเครื่องใช้บางส่วนในช่วงที่มีการขุดลอกลำห้วยนั้น ผู้รับเหมาได้เอาไปหมดโดยมีชาวบ้านบางคนได้พบเห็นบ้าง โดยพบเจอในช่วงการขุดลอกลำห้วยหนองโง้ง

นั่งฟังไป เพลินไป กับสายลมที่พัดผ่านแต่ก็ไม่สามารถต้านทานความหิวได้ เราทุกคนทำความเคารพท่านผู้ให้ความรู้กลุ่มโนนเมือง แล้วเดินลัดเลาะไปตามทุ่งนาเพื่อที่จะกลับไปวัดไชยศรี แต่เสียดายที่เวลาหมดเสียก่อนเราจึงไม่ได้ไปที่กลุ่มพิพิธภัณฑ์ ทุกคนตั้งหน้าตั้งตาเดินไปที่วัดเพื่อที่จะไปรับประทานอาหารเที่ยง เสียงเจี้ยวจ้าวระหว่างทางผ่านเข้าไปในหมู่บ้านแล้วก็ถึงวัดไชยศรี น้อง ๆ ต่อแถวรับอาหารเที่ยง นั่งรวมกันเป็นกลุ่มกินข้าวร่วมกัน ในวงข้าวมีการสนทนากันเรื่องการไปกลุ่มฐานการเรียนรู้เมื่อเช้า เพราะในช่วงบ่ายทางวัดไชยศรีได้จัดกิจกรรมภายในวัดขึ้น เป็นกลุ่มฐานการเรียนรู้เกี่ยวกับวิถีชุมชน ถึงช่วงบ่ายฉันได้ประจำอยู่ที่กลุ่มบายศรี น้อง ๆ แต่ละโรงเรียนแบ่งกลุ่มออกไปเป็น ๔ กลุ่ม เพื่อที่จะแยกกันไป โดยมีกลุ่มบายศรี กลุ่มหมอลำ กลุ่มข้าวจี่ และกลุ่มฮูปแต้ม ทุกคนแยกย้ายกันไปตามแต่ละกลุ่ม ฉันเป็นอีกคนที่ไม่ถนัดในเรื่องของการทำใบตอง ทำบายศรี ครั้งนี้อาจเป็นครั้งแรกที่จะได้เรียนรู้ไปพร้อมน้อง ๆ คุณแม่คุณยายในกลุ่มบายศรีได้แจกอุปกรณ์ให้ทุก ๆ คน และเริ่มสอนไปพร้อม ๆ กัน ทุกคนตั้งหน้าตั้งตาพับใบตองออกมาเป็นรูปทรงที่คุณยายได้สอน คุณยายบอกว่ามีความเชื่ออยู่ว่า ใครที่ทำพานบายศรีไปประกอบพิธี หากทำสวยชาติหน้าก็จะมีหน้าตาที่งดงาม มีบุญบารมีสูง จึงทำให้น้อง ๆ ตั้งใจทำกันเป็นพิเศษ นั่งทำไปเพลิน ๆ ก็หมดเวลาฐานการเรียนรู้ในช่วงบ่าย น้อง ๆ ทุกคนต้องไปรวมกันที่ศาลาเพื่อที่จะนำความรู้ที่ได้รับในวันนี้มาเขียน และส่งตัวแทนออกมานำเสนอ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของน้อง ๆ แต่ละโรงเรียน

กิจกรรมในงานบุญข้าวจี่ครั้งนี้ยังไม่หมดเพียงแค่นี้ในช่วงเย็นยังมีการแสดงต่าง ๆ เพื่อที่จะสร้างความบันเทิง สร้างความสนุกสนานให้กับคนในชุมชน และเช้าวันพรุ่งนี้จะมีการตักบาตรข้าวจี่ ซึ่งทางวัดไชยศรีและชุมชนสาวะถีได้ทำสืบต่อกันมาในทุก ๆ ปี สำหรับสิ่งที่ฉันได้รับในวันนี้ เป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจอย่างมาก วัฒนธรรมอีสาน สู่วิถีแห่งชุมชน รวมถึงความเชื่อต่าง ๆ ที่ชาวชุมชนวัดสาวะถีได้ทำสืบต่อกันมานั้น เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ของคนในชุมชนให้อยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือกัน รักใคร่กลมเกลียว เหนียวแน่น เช่นเดียวกับข้าวเหนียวในงานบุญ ทุกสิ่งที่ฉันได้รับในวันนี้จะคงอยู่ในความทรงจำของฉันตลอดไป…]]>