บทความโดย กาญจนาพร พองพรหม นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
ภาพโดย ณัฐวุฒิ จารุวงศ์ ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ยามเดือนแปดได้ลวงมา เข้าพรรษาเอาบุญใหญ่
ประเพณีสืบต่อไว้ บ่ให้จางดอกห่างหนี
ฮีตสิบสองเฮานี่นั่น มาฮวมกันสามัคคี
ให้เป็นศรีสวัสดี แก่ชีวีพี่น้องเอ้ย
ประเพณีการเข้าพรรษาเป็นพุทธบัญญัติที่พระภิกษุทุกรูปจะต้องปฏิบัติตาม หมายถึง การที่พระภิกษุจะต้องจำวัดแห่งใดแห่งหนึ่งตลอดระยะเวลาสามเดือนในฤดูฝน เริ่มตั้งแต่แรมวัน ๑ ค่ำ เดือน ๘ ไปจนถึง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี ห้ามไปค้างแรมที่อื่น เว้นแต่มีกิจจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ในสมัยพุทธกาล ฤดูฝนเป็นช่วงเวลาที่ชาวบ้านทำไร่ทำนา การที่พระภิกษุเทียวจาริกไปตามที่ต่าง ๆ ทำให้บางครั้งไปเหยียบย่ำต้นกล้าเสียหายเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงเกิดความไม่พอใจ ติติงประภิกษุเหล่านั้น สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเห็นควรอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์อยู่จำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่งเป็นระยะเวลาสามเดือนตลอดฤดูฝน เพื่อป้องกันความเสียหายต่อพืชผักของชาวบ้านและความลำบากในการเดินทางอันเนื่องมาจากสภาพอากาศ อีกประการหนึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญที่พระภิกษุจะได้มาอยู่ร่วมกัน ศึกษาพระธรรม-วินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงภูมิรู้ ต่อมาในช่วงเข้าพรรษา ได้กลายเป็นช่วงเวลาพิเศษที่พุทธศาสนิกชนใช้เป็นโอกาสถือสัจจะอธิฐานว่าจะทำความดี งดเว้นความชั่วและอบายมุขตลอดระยะเวลาการเข้าพรรษา เช่น งดการดื่มสุรา งดการพนัน งดการเที่ยวกลางคืน เป็นต้น [gallery td_select_gallery_slide="slide" ids="5486,5485,5484,5483,5482"] สำหรับกิจกรรมในวันเข้าพรรษาของชาวอีสานนั้น จะมีกิจกรรมเหมือนดังภาคอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นตักบาตร แห่เทียนพรรษา ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียน ถวายผ้าอาบน้ำฝน สบง จีวร และเทียนพรรษา แต่จะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ซึ่งต่างจากภาคอื่นนั่นก็คือการแห่เทียนพรรษาที่มีความงดงามและยิ่งใหญ่อลังการ ประเพณีแห่เทียนพรรษาที่มีชื่อเสียงและได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศนั่นก็คือประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ด้วยเอกลักษณ์ของการจัดขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่ การสลักเทียนที่ประณีตงดงาม มีการประกวดผลงานของช่างฝีมือซึ่งเป็นตัวแทนจากวัดต่าง ๆ หลายกลุ่ม ด้วยเหตุนี้จึงสามารถดึงดูดให้ผู้คนมาชื่นชมความสวยงามได้อย่างล้นหลาม ไม่เพียงแต่คนในพื้นที่เท่านั้น แต่รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศด้วย นับเป็นประเพณีที่สร้างเม็ดเงินสะพัดแก่จังหวัดอุบลราชธานีได้เป็นอย่างมาก นอกจากจังหวัดอุบลราชธานีแล้ว ในจังหวัดอื่น ๆ ของภาคอีสานก็ได้มีการจัดกิจกรรมประเพณีวันเข้าพรรษา เช่นจังหวัดนครพนม ได้มีการจัดกิจกรรมตักบาตร และนมัสการองค์พระธาตุพนมซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง จังหวัดสกลนครก็ได้มีการจัดขบวนแห่ต้นเทียนพรรษาที่งดงามไปถวายเป็นพุทธบูชาที่วัดพระธาตุเชิงชุมวรวิหาร และมีการจัดกิจกรรมกล่าวคำสัตย์ปฏิญาณตน ลด-ละ- เลิกเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งได้รับความร่วมมือจากพี่น้องชาวสกลนครอย่างล้นหลาม [gallery td_select_gallery_slide="slide" ids="5480,5481,5479"] สิ่งที่น่าสนใจของงานแห่เทียนพรรษาไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการด้านศิลปะที่ช่างฝีมือได้สลักลงไปบนต้นเทียน ซึ่งเป็นเรื่องราวพุทธประวัติในตอนต่าง ๆ แต่ในปัจจุบันยังได้มีการใส่เทคนิคพิเศษเพิ่มเติมให้รูปปั้นสามารถขยับเขยื้อนได้อีกด้วย นับว่าเป็นงานพุทธศิลป์ที่สวยงามและร่วมสมัย อีกประการหนึ่ง งานแห่เทียนพรรษายังสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตและเอกลักษณ์ของคนอีสาน นั่นก็คือความสุข ความสนุกสนาน เสียงเพลง เสียงดนตรี การฟ้อนรำที่ปรากฏอยู่ในขบวนแห่ นอกจากนั้นยังแสดงให้เห็นความสามัคคีร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนที่จะมาร่วมด้วยช่วยกันในการจัดงาน และสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อและแรงศรัทธาที่พุทธศาสนิกชนมีต่อพระพุทธศาสนาที่ส่งผ่านออกมาในรูปแบบของความทุ่มเท ร่วมแรงร่วมใจกัน การสนับสนุน และให้ความสำคัญต่อวันสำคัญของพุทธศาสนาของพุทศาสนิกชนอีกด้วย ชาวอีสานมีความเลื่อมใสศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาอย่างแนบแน่นมายาวนาน อีกทั้งความเชื่อในเรื่องบุญกรรมและอานิสงส์ของการทำบุญ โดยเฉพาะการทำบุญด้วยสิ่งที่ให้แสงสว่าง เชื่อว่าส่งผลให้มีชีวิต สติปัญญาสว่างไสว ด้วยเหตุนี้ชาวอีสานจึงให้การสนับสนุน ทำนุบำรุงศาสนาเสมอมา นอกจากนี้ การมีมรดกทางด้านศิลปวัฒนธรรมที่งดงามของชาวอีสาน ยังถูกผสานเข้ากับความเชื่อดังกล่าวได้อย่างลงตัว ทำให้เกิดเป็นประเพณีที่มีความงดงามและทรงคุณค่า เป็นที่น่าชื่นชม ควรค่าแก่การอนุรักษ์สืบทอดให้คงอยู่คู่กับคนอีสานต่อไป อ้างอิง บรรยากาศทำบุญวันอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา อีสานคึกคัก .ไทยรัฐออนไลน์ 2 ส.ค. 2555.สืบค้นเมื่อ 21/06/61. จาก: https://www.thairath.co.th/content/280762 วันเข้าพรรษา ประวัติความเป็นมาและข้อมูลของวันเข้าพรรษา.26 พ.ย. 56 .สืบค้นเมื่อ 20/06/61.จากhttps://guru.sanook.com/4160/]]>