บทความโดย นิสิตฝึกประสบการณืวิชาชีพ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เรียบเรียงโดย ณัฐวุฒิ จารุวงศ์ นักวิชาการโสตทัศนศึกษา ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
การเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเสริมคุณค่าและกำลังใจให้กับเหล่าศิลปินอีสานและขับเคลื่อนวัฒนธรรมผู้สร้างสรรค์ผลงานให้กับแผ่นดินอีสาน อีกทั้งเป็นการส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ เป็นแนวทางที่เปี่ยมด้วยพลังในการหยิบยกและต่อยอดสู่การสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดระยะเวลามากกว่า ๑๐ ปี ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานประกาศเชิดชูเกียรติและมอบโล่แด่ศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ เนื่องในโอกาสมหามงคลวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและวันอนุรักษ์มรดกไทย ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ ศูนย์วัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับเครือข่ายด้านศิลปวัฒนธรรมจัดขึ้นเพื่อเชิดชูศิลปินและนักขับเคลื่อนวัฒนธรรมของแผ่นดินอีสาน ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยปี ๒๕๖๑ ได้รับเกียรติจาก ดร.สมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นผู้นำกล่าวคำถวายอาเศียรวาทราชสดุดีและคำถวายชัยมงคล พร้อมด้วยเหล่าศิลปิน และแขกผู้มีเกียรติที่ร่วมเป็นเกียรติในพิธีแห่งเกียรติยศ ณ โรงละครคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ศิลปินและนักวัฒนธรรมที่ได้รับการเชิดชูเกียรติมีทั้งสิ้น ๒๓ ท่าน ๑ กลุ่ม ซึ่ง ๑ ในความภูมิใจทั้ง ๒๔ รายชื่อ เป็นนางเอกหมอลำผู้เป็นตำนานและมีชื่อเสียงที่สุดท่านหนึ่งในอีสาน เจ้าของและผู้ก่อตั้งคณะหมอลำที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในอีสาน “นกน้อย อุไรพร” เจ้าของคณะหมอลำเสียงอีสาน “แม่นก” เป็นคำที่แฟนคลับเรียกกันอย่างติดปาก หมอลำผู้นี้มีนามจริงว่า “อุไร ฉิมหลวง” หรือชื่อในวงการ “นกน้อย อุไรพร” ผู้นำคณะหมอลำบ้านเลขที่ ๕๕๕ ได้รับการเชิดชูให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปการแสดง (หมอลำเรื่องต่อกลอน) แม่นกได้เล่าความรู้สึกอย่างเป็นกันเองพร้อมสำนวนภาษาอีสานว่า ฮู้สึกดีใจ ภูมิใจ และมีความปลื้มปิติยินดี ในการได้รับการเชิดชูให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน เป็นรางวัลสูงสุดในชีวิตศิลปินหมอลำ ขอบคุณศูนย์วัฒนธรรมและคณะกรรมการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ได้คัดเลือก และให้โอกาส เป็นการให้กำลังใจ คนทำงานศิลป์ “วงเสียงอีสานก่อตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๙ ตลอดระยะเวลา ๔๓ ปี ได้สร้างสรรค์ผลงานหมอลำหลากหลายแนว แม่บ่ได้คาดหวังว่าสิได้เป็นศิลปินมรดกอีสาน แต่สิ่งที่เฮ็ด ได้สำนึกตลอดเวลาว่าเป็นคนอีสาน หมอลำเป็นมรดก เป็นมูนมังของคนอีสาน เฮาต้องสืบสานและถ่ายทอดให้ลูก ให้หลาน ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักและเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมอีสาน” “แม่นก” เพิ่มเติมว่า การที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดงานนี้ขึ้นมา เป็นการต่อยอดและให้กำลังใจ นับจากมื้อนี้ที่แม่ได้รับโล่รางวัลศิลปินมรดกอีสาน และขอปวารณาตนจะทำหน้าที่ศิลปินมรดกอีสานให้ดีที่สุด เพื่อสืบสานและถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมอีสานให้ลูก ๆ หลาน ๆ ได้รู้จักคุณค่าของหมอลำอีสานต่อไป นอกจากตำนานหมอลำผู้ก่อตั้งคณะเสียงอีสานแล้ว ยังมีอีกหนึ่งตำนานหมอลำกลอนของชาวอีสาน ที่มีวาดลำไพเราะ และเปี่ยมด้วยไหวพริบ ผสานกับการนำบริบททางสังคมถ่ายทอดในรูปแบบและศาสตร์ของหมอลำ คือ “หมอลำกฤษณา บุญแสน” นางกฤษณา วรรณสุทธิ์ หรือในวงการรู้จักในนาม “หมอลำกฤษณา บุญแสน” ได้รับการยกย่องให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำกลอน) กล่าวถึงการได้รับการเชิดชูเกียรติในครั้งนี้ว่า รู้สึกดีใจอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมองเห็นคุณค่าของหมอลำ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคุณค่าและหยิบยกให้เห็นถึงความสำคัญของมรดกทางวัฒนธรรม พร้อมจะพยายามถ่ายทอดศาสตร์นี้ให้กับลูกหลาน พัฒนา ปรับปรุงให้เกิดแนวทางแห่งการอนุรักษ์ สร้างความสำคัญของศาสตร์หมอลำให้คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงคุณค่าต่อไป “แม่รู้ฮู้สึกดีใจและภูมิใจหลาย ที่ทางมหาลัยขอนแก่นได้มอบสิ่งที่มีค่าต่อชีวิตหมอลำ ที่ได้รับรางวัลศิลปินมรดกอีสานในครั้งนี้ถือว่าเป็นเกียรติแก่อาชีพและวงศ์ตระกูลของแม่ ดีใจและขอบคุณทางมหาวิทยาลัยที่เห็นควมสำคัญ และส่งเสริมให้อนุรักษ์มรดกอีสานของเฮาไว้ ในอนาคตแม่กะสิพยายามส่งเสริม ปรับปรุง อยากให้ลูก ๆ หลาน ๆ รู้จักหมอลำ ลำกลอน หมอลำกลอนย้อนยุค หมอลำร่วมสมัย รางวัลนี้เป็นรางวัลที่คุณแม่ภาคภูมิใจที่สุดในชีวิต อนาคตข้างหน้าสิเป็นจั่งได๋กะอยู่ที่ ลูก ๆ หลาน ๆ แต่แม่มั่นใจว่ามรดกอีสานของเฮาคงสิบ่เสื่อมถ้าลูก ๆ หลาน ๆ เห็นควมสำคัญ”งานเชิดชูเกียรติมรดกอีสาน สืบสานวัฒนธรรมสัมพันธ์ เป็นงานประกาศเชิดชูเกียรติและสร้างกำลังใจให้ศิลปินในการสืบสานและอนุรักษ์ศิลปวัฒธรรมอีสาน ศิลปินทุกท่านที่ได้รับโล่เชิดชูเกียรติล้วนเป็นบุคคลที่ได้รับการคัดสรรแล้วว่ามีคุณสมบัติเพียบพร้อม เหมาะสมที่ได้รับการประกาศยกย่องเชิดชู เพื่อเป็นแบบอย่างและเพื่อเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นหลัง
]]>