ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

การลำและการฟ้อนสาละวัน

ลำสาละวัน (Lam Salavan) เป็นศิลปะการแสดงด้านการขับร้องอันเป็นวัฒนธรรมของชนเผ่าลาวลุ่ม ในดินแดนลุ่มน้ำโขงอีกประเภทหนึ่ง โดยจะพบอย่างแพร่หลายในแถบภาคใต้ของ สปป.ลาว โดยเฉพาะในพื้นที่ แขวงสาละวัน จนได้ชื่อว่า ลำสาละวัน การลำสาละวัน มีด้วยกันสองทางการขับร้อง คือ สาละวันพันทอง และสาละวันเซโปน การลำสาละวัน กำเนิดมาจากการลำพิธีกรรมลงข่วงเพื่อบูชาผีฟ้า ผีไท้ ผีแถน อันเป็นคติความเชื่อของคนท้องถิ่น ต่อมาการลำสาละวัน เป็นที่นิยมจนถูกประยุกต์ให้มาเป็นการแสดงในงานบุญประเพณี รื่นเริง การลำมีหลายรูปแบบ ทั้งลำคนเดียวและลำแบบตอบกระทู้ เกี้ยวพาราสีระหว่างชาย-หญิง การฟ้อนก็ได้นำท่าทางการฟ้อนประกอบการลำสาละวันในยุคดั้งเดิม มาประยุกต์ให้เข้าจังหวะ ในยุคต่อมา ลำสาละวัน เป็นที่นิยมของชาวลาวโดยทั่วไป และ แพร่ขยายเข้ามายังฝั่งไทย ได้มีการประยุกต์จังหวะเข้ากับดนตรีสากลหรือแม้กระทั่งเอาทำนองลำมาทำเป็นเพลงลูกทุ่ง ซึ่งในยุคดั้งเดิมนั้น ใช้เพียงแคน กลอง ฉาบ และซอ ต่อมาความนิยมชมชอบของผู้คนประกอบกับทำนองลำที่สนุกสนาน จึงได้มีการประยุกต์ท่าฟ้อน มาเป็นการฟ้อนลำวงลาว ในปัจจุบันการฟ้อนแบบดั้งเดิมจะไม่ค่อยมีท่าแปลกใหม่เท่าใดนัก ผู้ฟ้อนมักจะแอ่นตัว วาดมือและแขน พร้อมยกขาตามจังหวะ กองศิลปกร ศูนย์กลาง (กรมนาฏศิลป์ของลาว) สปป.ลาว ได้นำเอาการลำและการฟ้อนสาละวัน มาประดิษฐ์เป็นท่ารำและชุดการแสดงในเวลาต่อมา ด้วยความนิยมและความมีเสน่ห์ของการลำและการฟ้อนสาละวัน จนทำให้ศิลปะแขนงนี้แพร่หลายเข้ามา  ในประเทศไทย โดยเฉพาะในแวดวงดนตรีและนาฏศิลป์พื้นบ้าน ได้เอาการลำและท่าฟ้อนมาประยุกต์ตามแบบฉบับของสำนักตน แต่ก็ยังคงทำนองและท่าฟ้อนหลักๆ ตามต้นฉบับไว้เช่นเดิม ในฐานะที่การแสดงลำและฟ้อนสาละวัน เป็นวัฒนธรรมร่วมที่มีความหมายความสำคัญ จึงเหมาะสมอย่างยิ่งที่ลำและฟ้อนสาละวันจะได้รับการอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่คู่พี่น้องสองฝั่งโขงสืบต่อไป   ผู้ให้ข้อมูล ๑) อาจารย์ภูเงิน บัวสี อดีตรองหัวหน้าแผนกแถลงข่าว วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว แขวงจำปาศักดิ์ สปป.ลาว และท่านยังมีถิ่นฐานเดิมอยู่แขวงสาละวัน ๒) อาจารย์โสพา อินทะวงสา รองหัวหน้าวารสารวรรณศิลป์และผู้รับผิดชอบกำกับ สโมสรวัฒนธรรมสินไซ กระทรวงแถลงข่าว วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว ๓) นางฉวีวรรณ พันธุ (ดำเนิน) ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง ประจำปี ๒๕๓๖]]>