ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

พระพุทธรูปไม้ ผลงานศิลปะเพื่อชีวิต ของบรรพบุรุษชาวอีสาน

โดย ผศ.ชอบ  ดีสวนโคก / ประภัสสร โคตะมะ พิมพ์และเรียบเรียง

พระพุทธรูปพระไม้เป็นสมบัติของบรรพบุรุษที่ได้จงใจจำหลักแกะเกลาตามความสามารถที่มีอยู่  ด้วยศรัทธาอันแรงกล้าหาที่เปรียบมิได้ต่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์และต่อพระสงค์สาวกขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอันเป็นเนื้อนาบุญ  แรงศรัทธาที่ได้แสดงออกมานั้นได้ถูกทำลายลงทีละน้อยตามกาลเวลาทั้งด้วยความจงใจของมนุษย์บ้าง ทั้งจากการกระทำของลมฝนดินฟ้าอากาศตามธรรมชาติบ้าง ความรู้สึกสำนึกในคุณค่าของพวกเราปัจจุบันที่มีต่อรอยแรงศรัทธาของบรรพชนในผลงานชิ้นนี้ได้ลดลงและจะเลือนหายไปในที่สุด  สำนักศิลปวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น  ได้มองเห็นสภาพปัญหาที่มีอยู่และจะเป็นไปในอนาคต ในเรื่องนี้จึงกำหนดทำโครงการเก็บรวบรวมศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเพื่อทำความเข้าใจแนวทางในการที่จะกระทำการอนุรักษ์ผลงานของบรรพบุรุษไม่ให้ถูกทำลาย  เพื่อความภาคภูมิใจของอนุชนสืบไปบทความนี้ต้องการเสนอข้อมูลที่ได้เก็บรวบรวมศึกษาเบื้องต้นเท่านั้นไม่ได้มุ่งเสนอในฐานะเป็นผลงานด้านปติมากรรมไม่ได้เสนอในฐานะเป็นผลงานด้านประวัติศาสตร์แต่อย่างใด ความเป็นมาของพระพุทธรูปไม้อีสาน พระพุทธรูปไม้พบได้ในทุกจังหวัดของภาคอีสานทั้ง 19 จังหวัดการสร้างพระพุทธที่แกะสลักด้วยไม้นั้นภาคอีสานไม่สามารถชี้ชัดได้ว่ามีความเป็นมาอย่างไร  ใครเป็นผู้สร้างขึ้นครั้งแรก  ชื่อประวัติพระพุทธรูปปางต่าง ๆ ที่กรมการศาสนาจัดพิมพ์  เมื่อ พ.ศ.2525 ได้กล่าวถึงพระพุทธรูปปางห้ามแก่นจันทน์  อันแสดงว่าได้มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นเป็นครั้งแรก  และเป็นการสร้างพระพุทธรูปที่แกะสลักด้วยไม้แก่นจันทน์เป็นครั้งแรกซึ่งมีใจความว่า “เมื่อพระบรมศาสดาเสด็จขึ้นไปจำพรรษา  แสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดาในเทวนิภพ ณ พระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์  เป็นเหตุให้พระเจ้าปัสเสนทิโกศลได้ห่างเหินจากพระบรมศาสดาเป็นเวลานาน มิได้พบเห็นพระบรมศาสดาเป็นเวลาแรมเดือนความเคารพรักได้กระตุ้นเตือนพระทัยให้ทรงระลึกถึงพระกมลรำพึงรัฐจวนอยู่มิได้ขาดด้วยพระองค์มีพนะชนม์เป็นสหชาติเสมอด้วยพระชนม์ของพระบรมศาสดา  จึงได้รับสั่งให้เจ้าพนักงานหาท่อนไม้แก่นจันทน์หอมอย่างดีมาแล้วโปรดให้ช่างไม้ที่มีฝีมือแกะเป็นรูปพระพุทธรูปปางประทับนั่งมีพระรูปโฉมโนมพรรณงามละม้ายคล้ายพระบรมศาสดา  แล้วโปรดให้อัญเชิญพระไม้แก่นจันทน์นั้นมาประดิษฐานยังพระราชนิเวศน์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับมาแต่ก่อน  พอบรรเทาความอารมณ์ได้สบายพระทัยยามเมื่อทอดพระเนตร  ครั้นภายหลังเมื่อพระบรมโลกเชฏฐ์เสด็จกลับจากสรวงสวรรค์แล้วเสด็จมาพระนครสาวัตถีอีกพระราชาสิบดีปัสเนทิโกศลได้ทูลอาราธนาสมเด็จพระทศพลให้เสด็จไปยังพระราชนิเวศน์เพื่อให้พระบรมโลกเชฎฐ์ได้ทอดพระเนตรพระไม้แก่นจันทน์หอมแม้เหมือนพระรูปดั่งเนรมิตซึ่งได้โปรดให้นายช่างประดิษฐ์จำลองขึ้นเป็นอนุสรณ์ครั้นสมเด็จพระพุทธชินวรเสด็จถึง  ซึ่งพระราชสถานเป็นพระราชนิเวศน์  ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานสถานพระไม้แก่นจันทน์นั้น  พระไม้แก่นจันทน์นั้นก็ทำเหมือนเสมือนหนึ่งว่ามีจิตรู้จักปฏิสันถารกิจที่ควรต้องลุกขึ้นถวายความเคารพพระบรมศาสดาได้ขยับพระองค์เขื่อนเลื่อนลงจากพระแท่นที่ประทับ ครั้นนั้นพระมหามุนีจึงได้ยกพระหัตถ์ซ้ายขึ้นห้ามพร้อมด้วยตรัสว่า  เอวังนิสีทะถะ  ขอพระองค์จงประทับนั่งอยู่นั้นแล” ครั้นสิ้นกระแสพระพุทธานุญาตพระไม้แก่นจันทน์ก็ลีลาศขึ้นประทับนั่งยังพระแท่นเดิมนั้นพระเจ้าปัสเสนทิโกศลทรงประสบความอัศจรรย์  ก็ทรงโสมนัสเลื่อมใสอัศจรรย์ในพระบารมี  ได้ทรงอาราธนาพระชินสีห์พุทธเจ้า  พร้อมด้วยพระสงฆ์สาวก  เสวยพระกระยาหารบิณฑบาตในพระราชนิเวศน์  ท้าวเธอได้เสด็จอังคาสด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ด้วยความเคารพเป็นอันดี  ครั้นเสร็จภารกิจแล้วพรุพุทธองค์ก็ถวายพระพร  พระภิกษุสงฆ์สาวกเสด็จกลับไปประทับยังพระเชตานาราม พระพุทธจริยาวัตร  ตอนทรงยกพระหัตถ์ห้ามพระไม้แก่นจันทน์นั้น  เป็นนิมิตมูลเหตุให้สร้างพระพุทธรูปที่เรียกว่า  ปางห้ามแก่นจันทน์  (กรมการศาสนา 2525 : 181 – 183) ความเข้าใจข้างต้นชี้ว่า  มีการสร้างพระพุทธรูปด้วยแก่นไม้จันทน์ขึ้นเป็นครั้งแรกในระหว่างพรรษาที่ 7 ที่พระพุทธเสด็จจำพรรษาที่ปัญฑุกัมพลลีลาอาสน์ใต้ร่มไม้ปาริชาติในดาวดึงส์สวรรค์  เพื่อเสด็จพระอริยธรรมโปรดพระพุทธมารดา หลักฐานที่พูดถึงพระพุทธรูปไม้อีกเรื่องหนึ่งคือ  หนังสือชื่อ  ความเป็นจริงที่ไม่อาจลบล้างได้ที่สุดของโลกในแผ่นดินจีน  เขียนโดย หลูเฉิงเบี่ยน  แปลโดยพิมพมาศ  หนังสือเรื่องนี้กล่าวว่าในวัดเฉิงเต๋อผู่หนิงที่มลฑลเหอเป่ยเป็นที่ประดิษฐานพระโพธิสัตว์กวนอิมที่แกะสลักจากไม้สูงราวตึก 5 ชั้นคือ  สูง 22.28 เมตร  หนัก 110 ตัน  มือแต่ละข้างแบออกและมีพื้นที่พอให้คนขึ้นนั่งหรือนอนได้อย่างสบาย ๆ บนเศียรพระยังมีพระพุทธรูปสูง 1.4 เมตรกล่าวกันว่าเป็นทรงพระพุทธรูปแกะสลักที่ใหญ่ที่สุดในโลก  ในมือแต่ละมือของพระโพธิสัตว์กวนอิมถืออาวุธไม่ซ้ำกัน 42 ชนิด  พระเนตรทั้ง 45 คู่  แวววาว  พระพักตร์แจ่มใสชาวบ้านเรียกกันทั่วไปว่าพระโพธิสัตว์พันมือพันตา จากบันทึกประวัติของพระองค์นี้กล่าวไวัว่าได้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1755 ใช้ไม้ชนิดต่างๆ กว่าร้อยลูกบาศก์เมตร เวลาสร้างจะสร้างแก่นไม้กลางตัวองค์พระก่อนและตั้งแกนรอบๆอีก 14 แกนด้วย แต่ละแก่นจะตรึงกันไว้ด้วยแท่นไม้หนาสองชั้นประกอบเป็นโครงร่างและนำไม้ที่แกะสลักลายเสร็จแล้วมาประกอบกับโครงร่างจากนั้นใช้ผ้าม่านกาวและแลคเกอร์ตกแต่งให้เห็นลวดลายละเอียดขึ้นแล้วจึงลงสีสันและปิดทอง ผลงานที่ปรากฏออกมาแสดงถึงฝีมือและเทคนิค ทั้งพลังความคิดอันเยี่ยมยอดของช่างไม้จีนโบราณได้อย่างดียิ่ง หลักฐานที่กล่าวข้างต้นบอกให้ทราบถึงงานช่างฝีมือที่มีการแกะสลักพระพุทธรูปไม้ที่ได้มีการพัฒนาเป็นอย่างดีซึ่งชี้ให้เห็นว่ามีการแกะสลักพระพุทธรูปไม้มาช้านานจนเกิดความชำนาญ งานช่างประติมากรรมที่เกี่ยวกับการแกะสลักพระพุทธรูปไม้อีสานนั้นเป็นศิลปะที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะล้านช้างหรือลาวซึ่งกล่าวกันว่าชนเชิดลาวได้นับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยที่อยู่ในประเทศจีนในสมัยแผ่นดินขุนหลวงลีเมา (พ.ศ.612) อยู่นครงายลาวอนาจักรหนองแสงแล้วเป็นพระพุทธศาสนาแบบมหายานภายหลังได้จางหายไปเพราะรู้จักนับถือกันอยู่เฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงเท่านั้นส่วนประชาชนทั่วไปคงนับถือผีสางเทวดาผีฟ้าผีแถนอยู่จนกระทั่งถึงรัชสมัยของพระเจ้าฟ้า แหล่งหล้าธรณีขึ้นครองราชย์จึงได้อาราธนาพระสงฆ์จากอินทปัตนคร (กัมพูชา) พร้อมด้วยพระบางและประชาชนนำพระพุทธศาสนาเข้าสู่ล้านช้างเมื่อ พ.ศ.1902 พระพุทธศาสนาจึงเจริญรุ่งเรืองขึ้นในอาณาจักล้านสืบมา  มีการสร้างงานศิลปะขึ้นมากมาย (จำนง  ทองประเสริฐ 2514 : 261 – 267) พระพุทธไม้ที่พบในลาวหน้าจะได้รับได้รับอิทธิพลและมีการแกะสลักขึ้นภายหลังสมัยการปกครองของพระเจ้าฟ้างุ้มเป็นแน่ เพราะพระพุทธรูปไม้ที่ทำเลียนแบบพระบางเป็นจำนวนมากเป็นพระปางห้ามญาติเนื่องจากปางห้ามญาติเป็นพระประทับยืนไม่เหมาะกับวัสดุที่เป็นไม้จึงมีการเปลี่ยนมาสร้างพระปางสมาธิและมารวิชัยกันอย่างแพร่หลายในภายหลังรวมถึงภาคอีสานด้วย ที่บ้านโคกกลาง  ตำบลขวาไร่  อำเภอโกสุมพิสัย  จังหวัดมหาสารคาม  ได้มีการสร้างพระพุทธรูปไม้โดยช่างฝีมือชาวบ้านมาตั้งแต่ พ.ศ.2441 พร้อมกับสร้างสิมโดยการนำของหลวงปู่สังฆราชแม้ปัจจุบันนี้อบาสกวัดตาลเรียง  บ้านโคกกลางแห่งนี้ยังเป็นช่างแกะสลักพระพุทธรูปไม้ให้กับชาวบ้านผู้ต้องการและใส่ใจในบุญกุศลอยู่ต่อมา (น้อย  ดรหมื่นนอ เป็นผู้ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2531)

กำเนิดพระพุทธรูป พระพุทธรูปถือเป็นเจดีย์  (สิ่งอันเป็นที่ตั้งแต่งการเคารพบูชา) ประเภทหนึ่งในจำนวนเจดีย์สี่ประเภทคือ  ธาตุเจดีย์  บริโภคเจดีย์  ธรรมเจดีย์และอุเทสิกเจดีย์  รูปสลักอันเกี่ยวกับพระพุทธประวัติก็ดี  จัดว่าเป็นอุเทสิกเจดีย์ (สมพร  อยู่โพธิ์ 2514 : 2) พุทธเจติสถานพบสร้างขึ้นครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย  ครั้งกษัตริย์วงศ์โมริยะองค์ที่สามขึ้นครองราชย์  ประมาณ พ.ศ.270 – 311 ได้ทรงสร้างขึ้นหลายแห่ง  ในระยะนี้ไม่นิยมสร้างพระพุทธรูปขึ้นเคารพ  ทำแต่รูปอย่างอื่น  เป็นเพียงสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าดังเช่นที่ปรากฏอยู่ใน       สาญจิสกูป  (กรมการศาสนา 2525 : 3) การสร้างรูปพระพุทธองค์ (ที่เป็นรูปมนุษย์) เป็นฝีมือของช่างแคว้นคันธารราฐเมื่อราว พ.ศ.370 ชาวกรีกหรือโยนกได้ถือรูปแบบเคารพเดิมที่เป็นเทพเจ้าของตนที่เคยทำมาประดิษฐ์สร้างพระพุทธรูปขึ้นเมื่อพวกเขาได้หันมานับถือศาสนาพุทธ  กับที่เป็นฝีมือช่างเมืองมถุรา  ต่อมาก็เป็นช่างเมืองอมราวดีในอินเดียใต้  บางแห่งบอกว่าพระพุทธรูปถูกสร้างขึ้นครั้งแรกในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะ  ผู้ครองราชย์ระหว่าง  พ.ศ.662 – 760 เป็นฝีมือช่างกรีกโรมัน (สมพร  อยู่โพธิ์ 2514 : 2) ภายหลังต่อมาได้มีการสร้างพระพุทธอย่างแพร่หลายกระจายทั่วไป  จนเกิดการเรียนพระพุทธรูปตามพุทธจริยาวัตรตอนต่าง ๆ ในพุทธประวัติเรียกว่า “ปาง” มากมายในดินแดนที่นับถือพุทธศาสนา  กล่าวคือ
  • ในแคว้นคันธาระ พบพระพุทธรูปปางสมาธิมารวิชัย  ปฐมเทศนาอุ้มบาตรประทานอภัย  ประทานพร  มหาปฏิหาริย์  ปรินิพพาน  ลีลา
  • ในอินเดีย พบพระพุทธรูปปางตรัสรู้เทศนา  มหาปฏิหาริย์ทรมาน  พญาวานรปรินิพพาน  ลีลา  ทรมานช้างนาฬาคีรี
  • ในศรีลังกา พบพระพุทธรูปปางสมาธิ  ปรินิพพาน  รำพึงลีลา  ประทานอภัย
  • ในสมัยทวารวดี พบพระพุทธปางเทศนา  สมาธิ  มารวิชัยมหาปาฏิหาริย์  ปรินิพพาน  บรรทม  ลีลา  ประทานอภัยประทานพร  โปรดสัตว์
  • ในสมัยศรีวิชัย พบพระพุทธรูปปาง  มารวิชัย  สมาธิ  นาคปรก  ปรินิพพาน  ประทานอภัย  ลีลา
  • ในสมัยลพบุรี พบพระพุทธรูปปาง  นาคปรก  มารวิชัยสมาธิ  ปรินิพพาน  ประอภัย
  • ในสมัยเชียงแสน พบพระพุทธรูปปาง  มารวิชัย  สมาธิอุ้มบาตร  ประดิษฐานรายพระบาท  ไสยา  นั่งห้องพระบาทลีลา  เปิดโลกประทับยืน  ถวายเนตร
  • สมัยสุโขทัย พบพระพุทธรูปปาง  ไสยา  ลีลา  ประทานอภัยมารวิชัย  ถวายเนตร  สมาธิประทานพร  ประทับยืน
  • สมัยอยุธยา พบพระพุทธรูปปาง  ไสยา  มารวิชัย  สมาธิประทานอภัย  ป่าเลไลยก์  ลีลา  ประทับยืน
  • สมัยรัตนโกสินทร์ พบพระพุทธรูปปาง  มารวิชัย  สมาธิ  ประทานอภัย  ไสยาขอฝน  ประทานพระ (กรมการศาสนา 2525 : 13 – 15 ) ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย  พบพระพุทธรูปที่แกะสลักด้วยไม้เป็นปางสมาธิ  มารวิชัย  ห้ามญาติประทับนั่งหย่อนพระบาท  ปิดทวาร (ตา) นาคปรกประทับยืน  แบบตราประทับ  พระภคโต  สมาธิแฝด (สมาธิพระปฤษฎางค์ติดกัน) พระเจ้าห้าพระองค์ (เขาควาย) เป็นต้น
เครื่องมือและอุปกรณ์การสร้างพระพุทธรูปไม้ การแกะสลักสร้างพระพุทธรูปด้วยไม้นิยมใช้เครื่องมือพื้นบ้านที่สำคัญเช่น  มีดโต้  มีดตอก  สิ่ว  เลื่อยเล็ก  เหล็กซี (เจาะ) ตะไบ  ง้อง (เหล็กข้อศอก) ครั่ง  น้ำมันยาง  ขี้ซี (ชัน) ยางน้ำเกี้ยง (ลัก) ขมิ้น  หรือว่านหอม (สายพันธุ์ใหญ่  เป็นผู้ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2533 และน้อย  ดรหมื่นนอ  เป็นผู้ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2531) วัสดุ (ไม้) ที่นิยมนำมาแกะสลักสร้างพระพุทธรูป ไม้ที่นิยมนำมาสร้างพระพุทธรูปไม้ในอีสานส่วนใหญ่นิยมไม้มงคล  ได้แก่  ไม้โพธิ์  มะขาม  มูกเกี้ย  ยอป่า  แก้ว  จันทน์หอม  จันทน์แดง  เต็งรัง  ประดู่  ยูง  ขะยุง  มะค่า  งิ้ว  ส้มกบ  แตงแซง  ขนุน  (น้อย  ดรหมื่นนอ  เป็นผู้ให้ข้อมูล  เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2531 และสายพันธุ์ใหญ่  เป็นผู้ให้ข้อมูลเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2538) สาเหตุที่ทำให้สร้างพระพุทธรูปไม้ จากการสอบถามผู้สูงอายุหลายคนในจังหวัดภาคอีสานได้คำตอบมากมายกล่าวคือ
  • เพื่อเป็นการสืบทอดพระพุทธศาสนาโดยสร้างองค์พระไม้แทนพระพุทธเจ้า
  • เพื่อผลานิสงส์ผลบุญ
  • เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว
  • เพื่อเป็นสิ่งสักการบูชา
  • เพื่อปฏิบัติตามปณิธานของผู้อุปสมบทที่หวังเอาไว้
  • เพื่อสืบชะตาหรือต่ออายุให้กับผู้ป่วยหรือผู้ได้รับเคราะห์กรรม
ผลนิสงส์ของการสร้างพระพุทธรูป มีผลทำให้พบพระพุทธเจ้าทุกพระองค์  (พุทเธ  ปะสะวะติ  ชาเต) มีรูปร่างงาม (สาธุรูโป) มีสติปัญญา  เฉลียวฉลาด (ปัญญาสัมปันโน) เป็นที่รักของเทวดีและมนุษย์ทั้งหลาย (ปีโย  เทวะมะนุสสานัง) เป็นที่พึ่งใจ (มะนาโป) บริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ (โภคะสัมปันโน) เป็นผู้แกล้วกล้า (วิสาระโท) ตายอย่างมีสติ (อะสัมมุณโหกาลัง  กะโรติ) เกิดในสวรรค์ (สัคคัง อุปัชชะติ)  ไม่ตกนรกตลอดแสนกัป (กัปปานิสะตะรหัสสานิ  ทุกคะติง  โส  นะ  คัจฉะติ) ได้เป็นเจ้าประเทศราช (อิสสะโรรัฏฐานัง  ฐิโต) (น้อย  ดรหมื่นนอ  เป็นผู้ให้ข้อมูล  เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2531)

ขั้นสุดท้ายของการสร้างพระพุทธรูปไม้ของชาวอีสาน การแกะสลักไม้ให้เป็นพระพุทธเจ้าที่เรียกว่า  พระพุทธรูปไม้นั้นยังไม่ถือว่าสมบูรณ์ถูกต้องเสียทีเดียว  ต้องประกอบพิธีปลุกเสกเบิกเนตร  ชาวอีสานเรียกว่า “เบาะตา” หรือ “บ่อตา” คือนิมนต์พระสงฆ์อย่างน้อย 5 รูป  มาทำพิธีตั้งโต๊ะหมู่บูชา  ปูลาดอาสนะเพื่อพระสงฆ์นั่งเหมือนเจริญพระพุทธมนต์โดยทั่วไปนั่นเอง  นำพระพุทธรูปมาวางไว้ที่พานกระหย่อง  โยงด้วยสายสิญจน์จากพระพุทธรูปมาเวียนประทับษิณรอยพานพระพุทธรูปไม้  แล้วโยงต่อมายังพระสงฆ์จัดเครื่องสักการบูชาที่เรียกว่า “คาย” อันประกอบด้วยขัน 5 หรือขัน 8 น้ำหอมหรือเหล้ากลั่น  และกระเทียมหรือขมิ้น  จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย  แล้วพระสงฆ์เริ่มสวดว่า      นะโมตัสสะ  ภะคะวะโต อะระหะโต  สัมมาสัมพุทธัสสะ (3 จบ) แล้วสวดต่อไปว่า  สะหัสสะเนตโต  พุทโธ  ทิพพะจักขุง  วิโสธะยิง (3 จบ) ก็ได้แล้วต่อด้วยพระพุทธคุณ  พระธรรมคุณ  พระสงฆคุณ  อิติปิโส  ภะคะวาฯ สวากขาโตฯ สุปะฏิปันโนฯ จนจบแล้วขึ้นด้วยถวายพรพระบทพาหุสหัสไปจนจบลงด้วย  ภะวะตุ  สัพพะสังฆานุภาเวนะ  สะทา  โสตถี  ภะวันตุ เตฯ  ขณะที่พระสงฆ์กำลังสวดบท  สะหัตสะเนตโต  หรือจักขุงอุทธะปาทินั้นพระสงฆ์รูปที่เป็นประธาน  หรือหัวหน้าสวดจะนำหัวกระเทียมหรือหัวขมิ้นขีดถูไปมาที่พระเนตรของพระพุทธรูปไม้ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา  พระพุทธรูปมีกี่องค์ก็ทำเช่นนั้นจนครบทุกองค์ก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์พิธีกรรมดังกล่าว  ภายหลังชาวบ้านนิมนต์พระที่เป็นที่เคารพนับถือของชาวบ้านเพียงรูปเดียวมาประกอบพิธีให้ก็เป็นอันสำเร็จ  นำไปกราบไหว้บูชาได้  บางแห่งนิยมนำพระพุทธรูปไม้ไปเข้าพิธีการบวชนาคก็เป็นอันเสร็จสมบูรณ์เช่นกันที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นผลงานแห่งความเพียรพยายามจากแรงศรัทธาของบรรพบุรุษ  ได้สรรค์สร้างด้วยความเรียบง่ายมุ่งหมายต่อประโยชน์ที่เกิดจากความพอเหมาะพอดีตามสภาพที่พึงมี  พึงเป็นได้ก่อนให้เกิดความสงบผาสุก  ร่มเย็นเป็นผลแห่งศิลปะอันล้ำค่าหาที่เปรียบมิได้  ควรค่าแก่การเก็บรักษาเคารพ  กราบไหว้เพื่อให้เกิดความผาสุก  ภาคภูมิใจไปตราบชั่วกาลนานเพราะพระไม้เกิดจากลายมือของบรรพชนไทยอีสาน อ้างอิง
  1. Wooden Buddha in ESAN
2. เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการ  พระไม้ลายมือบรรพชนไทอีสาน วันที่ 23 สิงหาคม 2545 ณ ห้องประชุม 1101 คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยขอนแก่น  สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น]]>