โดย อรุณี อุตอามาตย์ นิสิตฝึกประสบการณ์วิชาชีพ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
คนอีสานมีวัฒนธรรมเป็นของตนเอง วัฒนธรรมถูกสร้างขึ้นให้มีลักษณะเฉพาะตามวิถีชีวิตที่แสดงออกถึงความเจริญงอกงามของคนอีสาน ซึ่งถือเป็นมรดกของสังคมเพราะวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่มนุษย์ได้รับมาจากบรรพบุรุษหรือถ่ายทอดให้แก่อนุชนรุ่นหลังจนเป็นวิถีของสังคม คนอีสานมีวัฒนธรรมประจำชาติและประจำท้องถิ่นมาแต่โบราณกาล จนถือเป็นฮีตเป็นคองต้องปฏิบัติสืบกันมาจนเป็นประเพณี เฉกเช่นเดียวกันกับชุมชนสาวะถี ที่มีศิลปวัฒนธรมประเพณีที่ดีงามปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน บ้านสาวะถี ตำบลสาวะถี อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เกิดขึ้นเมื่อประมาณ ๒๐๐ ปีเศษ โดยมีราษฎรอพยพมาจากบ้านทุ่ม มาตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณโนนเมืองซึ่งเป็นที่สูงติดกับหนองน้ำ ต่อมาได้มีการตั้งวัดขึ้น หลังจากนั้นชาวบ้านได้มีการขุดสระน้ำรอบ ๆ วัดเป็นจำนวนมากโดยได้ขุดสระที่ติดต่อกัน จึงเรียกติดปากว่าสระวัดถี่ ต่อมาได้แปลงชื่อเป็นสาวะถี โดยมีวัดไชยศรีเป็นศูนย์กลางยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นแหล่งสะสมภูมิปัญญาวัฒนธรรม ซึ่งวัดไชยศรีเป็นวัดเก่าแก่มีโบสถ์หรือที่ชาวอีสานเรียกว่าสิมที่เก่าแก่ อายุกว่าร้อยปีเศษ โดยสิมนี้เดิมหลังคามุงด้วยแผ่นไม้ และมีเอกลักษณ์ คือหลังคามีปีกยื่นทั้งสองข้างแบบสถาปัตยกรรมอีสานดั้งเดิม แต่พอถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๕ หลังคาได้ทรุดโทรม หน้าฝนน้ำฝนรั่วลงภายในโบสถ์ ชาวบ้านจึงทำการรื้อและทำหลังคาใหม่ ด้วยความเข้าใจและความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในสถาปัตยกรรมท้องถิ่นตน จึงทำหลังคาเป็นแบบสถาปัตยกรรมรัตนโกสินทร์ ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้นมาก ส่วนฝาผนังทั้งด้านนอกและด้านในยังคงมีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะภาพจิตรกรรมฝาผนังหรือฮูปแต้ม ในการจัดกิจกรรมสินไซบุญข้าวจี่ วิถีวัฒนธรรมอีสาน ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและชุมชนสัมพันธ์ สำนักวัฒนธรรม ร่วมกับวัดไชยศรี ชาวชุมชนสาวะถี และเครือข่ายการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรม จึงร่วมกันสืบสานประเพณี ศิลปวัฒนธรรมอันดีของชาวอีสานให้เป็นไปตามรอยฮีต ๑๒ คอง ๑๔ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นสำนึกในภูมิปัญญาวัฒนธรรมของตนเองสู่ภูมิปัญญาบูรณาการ นำทุนทางวัฒนธรรมไปสร้างสรรค์ผลงานกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่น และอนุรักษ์ฟื้นฟูศึกษาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายโดยมีวัดไชยศรีเป็นศูนย์กลางในการจัดกิจกรรม โดยแบ่งเป็น ๘ ฐานการเรียนรู้ เช้าและบ่าย โดยในแต่ละฐานจะมีวิทยากรของหมู่บ้านที่ให้ความรู้เกี่ยวกับฐาน ดังนี้ ฐานพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์เดิมเป็นอาคารเรียนของนักเรียนโรงเรียนบ้านสาวัตถีราษรังสฤษฎิ์ ตามความต้องการของผู้อำนวยการโรงเรียน ที่เห็นว่าอาคารไม้นี้มีความเก่าเพราะจำนวนนักเรียนที่ลดน้อยลงจึงตัดสินใจมาทำเป็นพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสิ่งของที่นำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์นั้น ไม่ได้จัดซื้อแต่อย่างใด แต่มาจากชาวบ้านซึ่งนำของเก่าที่ตนมีอยู่มาบริจาคให้ เนื่องจากอยากมีส่วนร่วมเพื่อการพัฒนา ซึ่งสิ่งของที่จัดแสดงนั้นเป็นอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ที่ชาวบ้านชุมชนสาวะถีใช้ประโยชน์ และมีเรื่องราวที่น่าสนใจที่คนในชุมชนสามารถเป็นคนถ่ายทอดให้นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมได้รับรู้ โดยในพิพิธภัณฑ์แบ่งออกเป็น ๓ ห้อง ห้องแรกเป็นห้องที่บอกเล่าเรื่องราวขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน ที่ปฎิบัติสืบต่อกันมาซึ่งแสดงถึงความเป็นกลุ่มชนเก่าแก่และเจริญรุ่งเรืองมานาน เป็นเอกลักษณ์ของชาติและท้องถิ่นที่เรียกว่า ฮีตสิบสอง และมีอุปกรณ์ของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันจัดแสดง ห้องที่สองเป็นอุปกรณ์และเครื่องมือเกี่ยวกับการทอผ้า, อุปกรณ์การประมง, อุปกรณ์การเกษตร และห้องที่สามเป็นเรื่องราวของวรรณกรรมสินไซ ฐานโนนเมือง เดิมเป็นเมืองเก่า เมื่อประมาณ ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว มีคนอพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณโนนเมือง ซึ่งพื้นที่บริเวณโนนเมือง เป็นพื้นที่สูง มุมโค้งล้อมรอบ มีกลุ่มคนจากหลายจังหวัดอพยพเข้ามาอยู่โนนเมืองเพื่อรับจ้าง และในโนนเมืองเก่ามีศาลปู่ตาเก่าแก่ซึ่งเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านมีความเชื่อว่าศาลแห่งนี้มีผีบรรพบุรุษที่ดูแลท้องนาไม่ให้มีใครมาทำอะไรที่ไม่ดีได้ ซึ่งในอดีตพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สาธารณะที่ชาวบ้านสามารถเข้ามาบริหารจัดการ ใช้เป็นที่พักผ่อนได้เนื่องจากเป็นพื้นที่ลานกว้าง ฐานเหล่าพระเจ้า ปัจจุบันเหล่าพระเจ้าเป็นสถานที่ที่มีการจัดการกันเองในระบบชาวบ้าน เมื่อมีงานประจำปีจะมีการทำความสะอาดและมีคนมากราบไหว้ เป็นสถานที่ที่มีพระพุทธรูปอันเป้นตัวแทนพระพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ คนลาวและคนอีสานสมัยก่อนนิยมเรียกพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธรูปว่า “พระเจ้า” จึงเรียกสถานที่รวมกับมีพระพุทธรูปว่า “เหล่าพระเจ้า” ต่อมาชาวบ้านได้ช่วยกันบูรณะปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปให้มีความสมบูรณ์ขึ้น โดยการสร้างฐานพระพุทธรูปทับพระพุทธรูปองค์เดิม เนื่องจากพระพุทธรูปองค์เดิมเศียรขาดจากเหตุการณ์ช้างตกมันตามที่มีการเล่าขานสืบต่อกันมา ฐานปู่ตา อดีตสถานที่แห่งนี้เป็นป่าดงดิบและเป็นที่ที่เงียบสงบเหมาะกับการจะตั้งศาล ชาวบ้านจึงได้ช่วยกันสร้างศาลขึ้นมา ชาวบ้านมีความเชื่อว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือวิญญาณมาอาศัยอยู่ ถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้านที่ดูแลคุ้มครองชาวบ้านให้พ้นจากภัยพิบัติให้อยู่สุขสบายปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ และชาวบ้านยังได้มาขอพรและบนบานศาลกล่าวอีกด้วย ฐานบายศรี บายศรีเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมาช้านานตั้งแต่สมัยโบราณ ซึ่งวัสดุในการทำบายศรีที่สำคัญคือใบตอง โดยในฐานก็จะให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ลงมือทำบายศรีด้วยตนเอง ฐานข้าวจี่ การทำข้าวจี่ต้องใช้ข้าวเหนียว นึ่งให้สุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนทาเกลือเคล้าให้ทั่ว เอาไม้เสียบย่างไฟเหมือนไก่ย่าง เมื่อข้าวสุกเกรียมแล้วก็เอาไข่ซึ่งตีไว้แล้วทาแล้วย่างซ้ำอีกกลายเป็นไข่เคลือบข้าวเหนียว เสร็จแล้วถอดไม้ออกแล้วเอาน้ำอ้อยหรือน้ำตาลที่เป็นก้อนยัดใส่แทนกลายเป็นข้าวเหนียวยัดไส้ ซึ่งการจี่ข้าวจะทำเป็นประเพณีทุกปี เรียกว่าบุญข้าวจี่ เป็นงานบุญประเพณีของชาวอีสานที่กระทำกันในเดือนสาม จนเรียกว่าบุญเดือนสาม บุญข้าวจี่เป็นบุญประเพณีสำคัญที่มีกำหนดอยู่ในฮีตสิบสอง บุญข้าวจี่นิยมทำกันในราวกลางเดือนหรือปลายเดือนสาม คือภายหลังการทำบุญวันมาฆบูชา ฐานฮูปแต้ม ฮูปแต้มเป็นจิตรกรรมฝาผนังด้านในโบสถ์ของวัดไชยศรี เป็นการเขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้า เรื่องพระเวสสันดรชาดก สินไซหรือสังข์ศิลป์ชัย ภาพเทพ บุคคลและสัตว์ต่าง ๆ ส่วนผนังด้านนอกเป็นการเขียนภาพนรกเจ็ดขุม เรื่องพระเวสสันดรชาดก สินไซ และภาพทหารยืนเฝ้าประตู ถึงแม้เวลาจะผ่านมากว่าร้อยปีแล้วก็ตาม และแม้จะมีบางส่วนเลือนหายไปตามกาลเวลาบ้าง แต่ถือว่าฮูปแต้มของที่นี่ยังคงมีความชัดเจนและสวยงามอยู่มาก ฐานหมอลำ หมู่บ้านสาวะถีมีศิลปวัฒนธรรมอีสานอีกอย่างหนึ่งนั่นคือหมอลำ ซึ่งหมอลำเป็นรูปแบบของเพลงลาวโบราณในประเทศลาวและภาคอีสานของประเทศไทย สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายอย่าง ตามลักษณะทำนองของการลำ เช่น ลำเต้ย ลำพื้น ลำกลอน ลำเรื่อง ลำเรื่องต่อกลอน ลำซิ่ง มีการสืบทอดให้แก่เด็กและเยาวชนสาวะถีเพื่อให้หมอลำคงอยู่คู่ชุมชนสาวะถีสืบไป กิจกรรมในตอนกลางคืนเป็นการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากกลุ่มเครือข่าย ในชุดการแสดงสินไซโมเดล และวงโปลลางสินไซ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทุกคนที่เข้าร่วมชมการแสดงนอกจากจะได้รับความบันเทิงแล้วยังได้รับความรู้ศิลปวัฒนธรรมอีสานที่แฝงอยู่ในชุดการแสดงอีกด้วย ศิลปวัฒนธรรมของชุมชนสาวะถี ที่มีทั้งโบสถ์โดยด้านในนั้นป็นฮูปแต้มสินไซ ซึ่งเป็นโบราณสถานที่เป็นมรดกของชาวอีสาน มีศิลปะการแสดงหมอลำ และรวมถึงวิถีชีวิตที่แสดงถึงความเป็นอีสานโดนแท้ จึงทำให้เป็นลักษณะเฉพาะที่แสดงออกถึงความเจริญงอกงามด้านศิลปวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งล้วนเป็นมรดกล้ำค่าที่ควรค่าแก่การรักษาให้คงอยู่สืบไป]]>