เกษา พิมสำราญ
นายเกษา พิมสำราญ หรือนามปากกา เกษา เกษแก้ว เกิดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๘๕ ปัจจุบันอายุ ๗๓ ปี ภูมิลำเนา บ้านหนองแคน อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนชุมชนบ้านหนองแคน จังหวัดร้อยเอ็ด
หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ นายเกษา พิมสำราญ ได้บรรพชาเป็นสามเณรเพื่อร่ำเรียนวิชาความรู้ทั้งทางโลก และทางธรรม สอบไล่ได้นักธรรมตรี จึงได้ลาสิกขาออกมาช่วยเหลือครอบครัว ได้เริ่มเรียนลำครั้งแรกจากการชักชวนของอาจารย์เสวียน พลคร จากนั้นจึงได้ชักชวนผู้สนใจการเรียนลำที่เป็นคนรุ่นเดียวกันมาเรียนประมาณ ๒๐ คน และเชิญอาจารย์จากที่อื่นมาสอนให้ โดยเรียนลำกันที่ศาลาวัด เรียนกันแบบตัวต่อตัวกับอาจารย์ผู้สอน ไม่มีเครื่องเสียง ไม่มีดนตรี เรื่องแรกที่ได้เรียนลำก็คือ “แม่นาคพระโขนง” เมื่อลำได้ชำนาญมากขึ้นจึงได้ออกรับงานตามเทศกาล งานบุญต่าง ๆ ทั้งในหมู่บ้านหนองแคนเอง และหมู่บ้านใกล้เคียง
นายเกษา พิมสำราญ เป็นผู้ที่มีปฏิภาณไหวพริบ สามารถลำแทนในบทของพระเอกได้ หากพระเอกเจ็บป่วยหรือไม่สามารถมาลำได้ จนเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้รับชมรับฟัง และจากการสั่งสมประสบการณ์ในการลำมาอย่างยาวนาน ทำให้นายเกษา พิมสำราญ สามารถประพันธ์กลอนลำให้กับ สมาชิกในวงที่ยังไม่มีกลอนลำได้ใช้ลำในฉากต่าง ๆ อาทิ กลอนพระเอกเกี้ยวกับนางเอก กลอนเดินป่าชมนก ชมไม้ และกลอนเต้ยเวลาออกฉากเข้าฉาก เป็นต้น
จากการสั่งสมประสบการณ์การเป็นหมอลำมานานหลายปี ผนวกกับได้เคยร่ำเรียนศึกษาภาษาบาลี และประวัติตำนานนิทานต่าง ๆ จนแตกฉานชำนาญ ทำให้สามารถประพันธ์กลอนลำในเรื่องราวต่าง ๆ ทั้งวรรณคดีโลก และวรรณคดีธรรม โดยเฉพาะประพันธ์กลอนลำให้กลับหมอลำเรื่องต่อกลอนคณะต่าง ๆ ทั่วภาคอีสาน ทั้งในอดีตและปัจจุบันกว่า ๒๐ คณะ อาทิ “ฟ้าใหม่สีคราม” “หงส์ฟ้ามหาราช” “เพชรโพนทอง” “แฮ้งคอคำ” “บัวริมบึง” “เดือนเพ็ญ อำนวยพร” “สาวน้อยเพชรบ้านแพง” “ระเบียบวาทะศิลป์” และ “ประถมบันเทิงศิลป์” เป็นต้น โดยได้ประพันธ์กลอนลำให้กับหมอลำคณะต่าง ๆ เพื่อใช้ลำเรื่องต่อกลอนกว่า ๔๐ เรื่อง อาทิ สาวเวียงจันทน์สะอื้น, สาวจันทร์กั้งโกบ, นางหมาขาว, พระสังข์ทองเงาะป่า, ลีลาวดี, รักนี้มีกรรม, แก้วหน้าม้า และท้าวก่ำกาดำ เป็นต้น
นอกจากความรู้ความสามารถในการประพันธ์กลอนลำ นายเกษา พิมสำราญ ยังได้ใช้ความรู้ทางด้านวรรณศิลป์ในการประพันธ์คำขวัญเทิดพระเกียรติ เพลงกล่อมลูก และคำผญาสุภาษิต และประพันธ์กลอนลำให้กับหน่วยงานองค์กรต่าง ๆ โดยไม่คิดค่าตอบแทน นายเกษา พิมสำราญ (เกษา เกษแก้ว) จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ (ประพันธ์กลอนลำ) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป