สุริยพงศ์ กาลวิบูลย์
นายสุริยพงศ์ กาลวิบูลย์ หรือ หยาด นภาลัย ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ ตำบลแชแล อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๙๐ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๓ รวมอายุ ๖๓ ปี เป็นบุตรคนเล็ก ของคุณพ่อเสมา และคุณแม่อ่อนจันทร์ กาลวิบูลย์ นายสุริยพงศ์ กาลวิบูลย์ สมรสกับคุณพัชรีย์รัตน์ (อุไร) กาลวิบูลย์ มีบุตรด้วยกัน ๒ คน คนแรกเป็นผู้ชาย ชื่อ ปุณณรัตน์ กาลวิบูลย์ (น้องท็อป) คนที่ ๒ เป็นผู้หญิง ชื่อ ชมพูนุช กาลวิบูลย์ (น้องเชอรี่) หยาด นภาลัย ชื่อจริง “หยาดฟ้า กาลวิบูลย์” ต่อมาเปลี่ยนเป็น “สุริยพงศ์ กาลวิบูลย์” มีอาชีพทำนา มีพี่น้องร่วมกัน ๑๘ คน หยาด นภาลัย เป็นคนสุดท้อง สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ จากโรงเรียนอุดรพิทยานุกูล จังหวัดอุดรธานี
นายสุริยพงศ์ กาลวิบูลย์ เริ่มเข้าสู่วงการเพลงเมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๘ ไปสมัครอยู่กับวงดนตรี “จุฬารัตน์” ของครูมงคล อมาตยกุล โดยให้ทำหน้าที่แบกกลองในวง ซึ่งเป็นหน้าที่หลักของนักร้องในอดีตทุกคน อยู่รุ่นเดียวกับ “พนม นพพร” “สรวง สันติ” และอีกหลายคน ระหว่างที่อยู่กับวง “จุฬารัตน์” นอกจากแบกกลองแล้วยังแต่งเพลงด้วย โดยใช้นามปากกาว่า “หยาด นภาลัย”
ปี พุทธศักราช ๒๕๑๔ ย้ายไปอยู่กับวงดนตรี “เพ็ญศรี พุ่มชูศรี” อยู่ได้ไม่นานก็ยังไม่มีผลงานเพลงเป็นของตัวเอง จึงลาออก จากประสบการณ์เรียนรู้จากครูเพลงจึงทำให้มีความสามารถในการร้องและแต่เพลงเองได้ จึงได้ทำเพลงชุดแรกในชีวิตขึ้นมีทั้งหมด ๔ เพลง เพลงแรกที่บันทึกเสียง ชื่อเพลง “วันพระไม่มีหนเดียว” โดยใช้ชื่อการร้องในครั้งนั้นว่า “ประสพชัย กาลวิบูลย์” แต่เพลงแรกในชีวิตของเขาก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนถึงปี พุทธศักราช ๒๕๑๔ จึงประสบผลสำเร็จในการทำเพลง “ลำน้ำพอง” โดยใช้ชื่อในการร้องใหม่ว่า “นรินทร์ พันธนาคร” ผลงานเพลงนี้ถือว่าเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงมากขึ้น หลังจากนั้นก็แต่งเพลง “สาวน้ำพองสะอื้น” ให้ “ดาวใจ ไพจิตร” ซึ่งเป็นนักร้องกำลังโด่งดังในขณะนั้นมาร้องแก้กัน ปรากฏว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แฟนเพลงให้การต้อนรับ ชื่อของ “นรินทร์ พันธนาคร” จึงเป็นที่รู้จักของแฟนเพลงคอลูกกรุงทั่วประเทศ ต่อมาก็มาทำชุด “หนองหารวิมารร้าง” แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หลังจากนั้น ชื่อเสียงของเขาก็เงียบหายไป
ปี พุทธศักราช ๒๕๒๕ หยาด นภาลัย กลับมาดังอีกครั้ง ด้วยการนำเอาเพลงเก่ามาร้องใหม่ในรูปแบบเพลง “อมตะเงินล้าน” มีเพลง “ลำน้ำพอง” และบทเพลงเก่าที่เคยดังมาก่อนแล้วมาทำใหม่ ดนตรีใหม่ โดยให้ “หนุ่ม ภูไท” ผู้เรียบเรียงเสียงประสาน และใช้ชื่อในการร้องว่า “หยาด นภาลัย” ซึ่งเป็นชื่อที่เคยใช้สมัยอยู่กับวงดนตรี “จุฬารัตน์” ปรากฏว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เพลงชุดนี้ได้รับความนิยมมากที่สุดเท่าที่เคยทำเพลงมา ชื่อของ “หยาด นภาลัย” จึงครองใจแฟนเพลงมาจนถึงทุกวันนี้
ปี พุทธศักราช ๒๕๔๐ กลับมาทำเพลงชุด “กล่อมกรุง” โดยนำเพลงของ “ชรินทร์ นันทนาคร” มาร้องทั้งชุด มีเพลง “เรือนแพ” “ท่าฉลอม” “แสนแสบ” และอีกหลายเพลงจนประสบผลสำเร็จและได้รับความนิยมอีกครั้ง ผลงานเพลงบางส่วนที่ หยาด นภาลัย แต่งและร้องไว้นั้นได้รับการบันทึกเสียงและเผยแพร่เป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ตั้งแต่ปี พุทธศักราช ๒๕๑๔ เป็นต้นมาจนถึงปี พุทธศักราช ๒๕๔๐ ผลงานทั้งหมดของ หยาด นภาลัย แสดงให้เห็นความรู้ความสามารถและความเพียรพยายามสร้างสรรค์สาระความบันเทิงแสดงออกผ่านบทเพลงลูกกรุง การขับร้องน้ำเสียง ที่มีเสน่ห์นุ่มลุ่มลึกของ หยาด นภาลัย มีความไพเราะน่าฟัง ฟังแล้วเกิดความสุขใจเป็นอย่างยิ่งบทเพลงมีเนื้อหาสาระที่สะท้อนวิถีสังคมและวัฒนธรรมไทยในแต่ละยุคสมัยได้อย่างเข้าใจและเข้าถึง นับว่าเป็นประโยชน์อย่างแท้จริง นอกจากนั้นยังเป็นผู้ที่ถ่ายทอดให้คำปรึกษาชี้แนะแนวทางสั่งสอนสร้างลูกศิษย์สืบทอดบทเพลงลูกกรุงเอาไว้ประดับวงการอีกหลายท่านอาทิ นิตยา นภาลัย และพร นภาลัย เป็นต้น
จากการทำงานหนักในสร้างสรรค์บทเพลงเพื่อความสุขความบันเทิงให้แก่สังคมมาเป็นระยะเวลายาวนานในปี พุทธศักราช ๒๕๔๑ ความเครียดกับปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้น ทำให้ นายสุริยพงศ์ กาลวิบูลย์ หรือ “หยาด นภาลัย” ต้องล้มป่วยลง และกลายเป็นอัมพฤกษ์ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนวาระสุดท้ายของชีวิต และได้ถึงแก่กรรมเมื่อ วันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๕๓ ผลงานเพลงที่แต่งและร้องเอาไว้มีไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ เพลง นับเป็นประโยชน์และทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่งต่อสังคมและประเทศชาติ ทิ้งไว้แต่เพียงมรดกเพลงให้คนรุ่นหลังได้คิดถึงและศึกษาเรียนรู้
จากเกียรติคุณในการสร้างสรรค์และขับร้องบทเพลงลูกกรุงที่ผ่านมาจนเป็นที่ยอมรับ และถือเป็นแบบอย่างที่ดีแก่สังคมและประเทศชาติ นายสุริยพงศ์ กาลวิบูลย์ หรือ “หยาด นภาลัย” แห่งวงการเพลงลูกกรุงของไทย แม้นท่านจะจากไปแล้ว แต่สมควรที่จะได้รับการเชิดชูเกียรติ รางวัลศิลปินผู้สร้างสรรค์ “อมรศิลปินมรดกอีสาน” สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกกรุง) พุทธศักราช ๒๕๖๒ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป