ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สมคิด สอนอาจ (ประติมากรรมเทียนพรรษา)

สมคิด สอนอาจ

นายสมคิด สอนอาจ หรือเป็นที่รู้จักกันดี คือ ช่างสมคิด สอนอาจ เกิดเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ เกิดที่บ้านโนนม่วง ตำบลวาริน อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิต วิชาเอกศิลปศึกษา วิทยาลัยครูอุบลราชธานี

ครูสมคิด สอนอาจ เป็นศิลปินพื้นบ้านอีสาน ที่ได้ชื่อว่าเป็นช่างเทียนที่มีฝีมือเป็นที่ยอมรับในระดับสูงของจังหวัดอุบลราชธานี ครูสมคิด สอนอาจ ต้องใช้ระยะเวลากว่า ๕๐ ปี ในการสร้างและสั่งสมองค์ความรู้ เริ่มต้นด้วยการนำความรู้และประสบการณ์ทางด้านการช่างฝีมือที่ได้รับการถ่ายทอดจากบิดา คือ นายทองดี สอนอาจ ซึ่งเป็นครูคนแรก พ่อของท่านมีความสามารถด้านช่างหลายสาขา เช่น ช่างไม้ ช่างปูน ช่างทอง ช่างเขียน และช่างแกะสลักทำให้ครูสมคิดได้ฝึกปฏิบัติจากประสบการณ์จริง ผนวกกับความรู้ทางด้านศิลปะจากครู คือ อาจารย์มานะ ทองสอดแสง อาจารย์ใหญ่โรงเรียนศิลปะไทย ที่ได้ถ่ายทอดความรู้ให้ครูสมคิด เช่น เทคนิคสีน้ำ สีน้ำมัน โดยเฉพาะลายไทย ทำให้ครูสมคิดจดจำนำมาใช้ประโยชน์ในอาชีพช่างฝีมือด้านศิลปะสาขาเฉพาะ คือ การเป็นช่างเทียน

ครูสมคิด สอนอาจ เกิดและเติบโตมาในชนบท เป็นผู้นำทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในสายเลือด มาผสานและบูรณาการองค์ความรู้จากอาจารย์มานะ จนได้รับโอกาสและความไว้วางใจให้เป็นผู้จัดทำต้นเทียน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาครูสมคิดได้ทุ่มเทความรู้ความสามารถ ลองผิดลองถูก ค้นคว้า หาความรู้อยู่เสมอ จนกระทั่งคิดค้นงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน และสามารถยึดเป็นหลักวิชาการเป็นช่างเทียน ประเภทติดพิมพ์จนได้รับการยอมรับและยกย่องจนถึงปัจจุบัน นอกจากนั้นครูสมคิด ยังได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาองค์ความรู้ และมอบเป็นมรดกทางสายเลือดให้กับบุตรทั้ง ๔ คน จนทำงานแกะเทียนแทนได้ และยังถ่ายทอดมรดกนี้ไปสู่โรงเรียนต่าง ๆในที่สุดโรงเรียนสามารถแกะเทียนได้เอง นับเป็นผลงานที่ภาคภูมิใจและแสดงถึงการมีส่วนร่วมของคณะครู นักเรียน และคนในชุมชนวันนี้ครูสมคิดยังมิหยุดคิด หยุดสร้างสรรค์ ครูสมคิดได้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์เยาวชนแกะสลัก ติดพิมพ์ เทียนพรรษา จังหวัดอุบลราชธานี สำหรับเยาวชนและผู้สนใจทั่วไป เพื่อให้ภูมิปัญญาการทำต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานีเป็นมรดกของท้องถิ่นและชาติสืบไปผลงานการสร้างสรรค์งานต้นเทียนของครูสมคิดและจังหวัดอุบลราชธานี ล้วนมีคุณค่ายิ่งใหญ่ทั้งทางด้านพุทธศาสนา ประเพณีและภูมิปัญญาอีสาน เพื่อถวายเป็นพุทธศิลป์ พุทธบูชา ต้นเทียนพรรษาทั้งประเภทมัดรวมติดลาย แกะสลัก และประเภทติดพิมพ์จำนวนกว่า ๕๐ ต้น ที่ครูสมคิดได้ประดิษฐ์คิดค้นขึ้น ล้วนเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ คิดใหม่ ทำใหม่ ไม่ยึดติดขนบดั้งเดิม จนผลงานที่ออกสู่สายตาสาธารณชนได้รับความสนใจจากสื่อทุกแขนง และได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศ และ รางวัลชมเชย เป็นประจำทุกปี

ผลงานของครูสมคิด สอนอาจ ล้วนสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองจังหวัดและประเทศชาติ อีกทั้งยังเป็นการสืบทอดพุทธศาสนาผ่านงานศิลปะ และก่อให้เกิดสุนทรียะทางใจ ครูสมคิดยังเป็นต้นแบบให้แก่เยาวชนที่จะสืบสายธารงานช่างต่อไป ครูสมคิด สอนอาจ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรมเทียนพรรษา) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป