ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สร้างสติให้สมบูรณ์แบบเป็นทางที่ดีแห่งการพ้นทุกข์ ใน “บำเพ็ญบุญบารมีบนวิถีชาวพุทธ” ครั้งที่ ๖๒

ฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ศูนย์วัฒนธรรม เครือข่ายองค์การนักศึกษา ชมรมพุทธศาสน์และประเพณี ชมรมสมาธิและศีลธรรม ร่วมจัดกิจกรรม “บำเพ็ญบุญบารมีบนวิถีชาวพุทธ” ครั้งที่ ๖๒ เมื่อวันศุกร์ ที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๓ ณ พุทธศิลป์สถาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเกียรติจาก ผศ.เขม เคนโคก รักษาการแทน ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย คณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมกิจกรรมอย่างคับคั่ง โดยเมตตาแสดงธรรมโดย “พระอาจารย์สาคร อริโย” เจ้าอาวาสวัดป่าภูเม็งทอง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น

“พระอาจารย์สาคร อริโย” เมตตาแสดงธรรมเทศนาสรุปใจความสำคัญได้ดังนี้ สิ่งสำคัญของการดำเนินชีวิตคือ “สติ” ดังธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้คือ โพชฌงค์ ๗ ประกอบด้วยธรรมของการตรัสรู้มี ๗ ประการ ประกอบด้วย ๑) สติ หรือ สติสัมโพชฌงค์ เป็นความระลึก มีสำนึกพร้อม จิตใจจดจ่อกับสิ่งที่ปฏิบัติในขณะนั้น นำไปสู่การสร้างสติให้สมบูรณ์แบบ ๒) ธัมมวิจยะ (ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์) ให้แสวงหาหรือเฟ้นหามุ่งมั่นแห่งธรรม มีความสอดส่องธรรม มั่นเพียรและระลึกอยู่ตลอดเวลา ๓) วิริยะ (วิริยสัมโพชฌงค์) เป็นความเพียรให้มาก ทำให้มาก เช่นการศึกษาเล่าเรียนจนจบการศึกษาเป็นความเพียรอีกอย่างหนึ่ง สู่การพ้นทุกข์และการละอกุศล และการเจริญกุศล ๔) ปีติ (ปีติสัมโพชฌงค์) มีความอิ่มอกใจอิ่มใจ มีความยินดีในสิ่งต่างๆ ๕) ปัสสัทธิ (ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์) ความสงบกายใจ และนำไปสู่สติและสมาธิในที่สุด ๖) สมาธิ (สมาธิสัมโพชฌงค์) ความตั้งมั่น จิตแน่วแน่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่สร้างกุศลในใจ และ ๗) อุเบกขา (อุเบกขาสัมโพชฌงค์) เป็นการวางใจให้เป็นกลาง เห็นในสิ่งที่เป็นไปตามเป็นจริงของธรรมชาติและโลก ทำให้โดยรวมแล้วธรรมะ ทำให้เกิดสติ และนำไปสู่ความเพียรในที่สุด เมื่อปฏิบัติและยึดถือแแล้วสิ่งต่างๆ ล้วนสอดคล้องและเอื้อเฟ้อซึ่งกันและกัน เป็นทางที่ดีแห่งการพ้นทุกข์

[gallery td_select_gallery_slide="slide" ids="9234,9230,9225,9233,9226,9232,9231,9229,9228,9227"]

สำหรับกิจกรรม “บำเพ็ญบุญบารมีบนวิถีชาวพุทธ” กำหนดจัดต่อเนื่องเป็นประจำในทุกวันศุกร์สุดท้ายของเดือน เพื่อเป็นการอนุรักษ์ สืบสาน และสร้างคุณค่าศาสนา ศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาเล็งเห็นความสำคัญของการทำนุบำรุงพุทธศาสนากิจกรรมภายในงานประกอบด้วย การทำวัตรสวดมนต์เย็น เจริญภาวนา และฟัง ธรรมเทศนา พร้อมร่วมกราบไหว้พระศรี ๕๐ ปี มข. พระพุทธรูปไม้ที่มีหน้าตักใหญ่สุดในอีสาน รวมถึงการร่วมปล่อยปลาสร้างกุศล สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร.๐ ๔๓๒๐ ๒๖๖๓ ภายใน ๔๒๓๐๑, ๔๔๘๙๓ (กำหนดการจัดกิจกรรมอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความเหมาะสม)

ข่าว : ณัฐวุฒิ จารุวงศ์
ภาพ : ธนัชชา สีสองชั้น / ณัฐวุฒิ จารุวงศ์

]]>