ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ภูมิศาสตร์กายภาพและวัฒนธรรม

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน มีชื่อเรียกกันตามลักษณะของภูมิประเทศว่าที่ราบสูงโคราช (Khorat Plateau) เพราะมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทีราบสูงโดยเริ่มจากบริเวณที่สูง และภูเขาทางทิศใต้และทิศตะวันตก ไปจนจรดแม่น้ำโขงทางตอนเหนือและตะวันออกโดยมีเทือกเขาภูพานเป็นแนวคั่นตามธรรมชาติ ทำให้ภูมิประเทศของภูมิภาคนี้แบ่งออกเป็นแอ่งที่ราบขนาดใหญ่ 2 แอ่ง ที่ราบตอนบนมีชื่อเรียกว่า  “แอ่งสกลนคร” และที่ราบตอนล่างเรียกว่า  “แอ่งโคราช”  ได้มีการค้นพบร่องรอยการตั้งถิ่นฐานของผู้คนมาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยมีแม่น้ำโขง แม่น้ำมูล แม่น้ำชี   เป็นเส้นทางติดต่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในภูมิภาคและชุมชนภายนอก ดังปรากฏหลักฐานการดำรงชีพและการตั้งถิ่นฐานของคนโบราณ มาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน ดังปรากฏหลักฐานเช่น ภาพเขียนตามผนังถ้ำและเพิงผา เครื่องมือหินกะเทาะ  รวมทั้งชุมชนโบราณที่กระจายอยู่ตามเขตลุ่มน้ำต่างๆ ทั้งแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช

 

ลักษณะทางกายภาพ

ภาคอีสานเป็นที่ราบสูงแบบแอ่งแผ่นดินตื้น (Shallow Basin) เรียกกันโดยรวมว่า ที่ราบสูงโคราช(Khorat Plateau)  มีรูปร่างคล้ายถ้วยเป็นแอ่งอยู่ตรงกลาง  ลาดเอียงจากทางตะวันตกไปทางตะวันออก บริเวณชายขอบเป็นภูเขาสูง พื้นที่ส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยหิน  มีชั้นหินกรวดมน หินดินดาน และเกลือหิน แทรกอยู่เป็นตอนๆ  จากลักษณะทางธรณีวิทยาและอายุของหิน ทำให้ทราบว่าแผ่นดินอีสานอยู่ในช่วงตอนปลายของมหายุคเมโสโซอิก  ที่ราบสูงแห่งนี้เป็นที่ราบสูงขนาดใหญ่ของทวีปเป็นแอ่งทีมีการทับถมของตะกอน  บางช่วงได้ยุบจมลง เป็นทะเลตื้น ๆ และเมื่อน้ำทะเลระเหย จึงตกตะกอนเป็นชั้นของเกลือหินแทรกอยู่ทั่วทั้งบริเวณที่ราบ

ต่อมาในมหายุคซีโนโซอิก เกิดการบีบตัวของเปลือกโลกทำให้เกิดรอยเลื่อนของเปลือกโลกขึ้นทางด้านตะวันตกและด้านใต้ของภาค  เป็นเทือกเขาเพชรบูรณ์  ดงพญาเย็น  สันกำแพง  และพนมดงรัก ขณะเดียวกันตอนกลางของที่ราบก็เกิดการโค้งตัวขึ้นเป็นสัน จากทิศตะวันตกเฉียงเหนือไปยังทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเทือกเขาภูพานแบ่งแอ่งที่ราบต่ำตอนกลางของภาคออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่อยู่ตอนเหนือเรียกว่า “แอ่งสกลนคร” ส่วนที่อยู่ทางใต้เรียกว่า “แอ่งโคราช”

1.แอ่งโคราช

พื้นที่ราบเป็นแอ่งแผ่นดินขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ใน 4 ส่วนของภาคอีสานทั้งหมด  ถือว่าเป็นที่ราบกว้างที่สุดของประเทศไทยมีความสูงโดยเฉลี่ย 120-170 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง  พื้นที่ตรงกลางแอ่งเป็นที่ราบลุ่มต่ำ  มีแม่น้ำมูล แม่น้ำชี  เป็นแม่น้ำสายหลักที่ระบายน้ำออกจากขอบที่ราบของแอ่ง ที่ราบแอ่งโคราชนี้ครอบคลุมพื้นที่ด้านตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ  มหาสารคาม  ร้อยเอ็ด  กาฬสินธุ์  ยโสธร  อำนาจเจริญ  ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานีทางด้านตะวันออก  ล้อมรอบด้วยเทือกเขาเพชรบูรณ์  ดงพญาเย็น  สันกำแพง  พนมดงรัก  และเทือกเขาภูพาน

2.แอ่งสกลนคร

พื้นที่เป็นแอ่งที่ราบที่อยู่ทางตอนเหนือของภาค  มีขนาดเล็กกว่าแอ่งโคราชมาก โดยมีความสูงเฉลี่ยอยู่ในระดับ 140 – 180 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง  แม่น้ำที่สำคัญที่สุดคือ  แม่น้ำสงคราม  ที่ราบแอ่งสกลนครนี้ครอบคลุมพื้นที่ในเขตจังหวัดอุดรธานี  หนองคาย  สกลนครนครพนม   ลักษณะภูมิประเทศที่สำคัญของแอ่งสกลนคร  คือ มีหลุมแอ่งที่มีลักษณะเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่  เช่น หนองหานหลวง สกลนคร และหนองหาน กุมภวาปี   อุดรธานี  เป็นต้น

 

ภูมิประเทศของแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช

  1. ภูมิประเทศแบบโคกสูงสลับแอ่ง ลักษณะภูมิประเทศโดยทั่วไปจะมีเนินเขาเตี้ย ๆซึ่งในภาษาถิ่นเรียกว่า โคก หรือ โพน สลับกับแอ่งที่ลุ่มซึ่งอาจมีน้ำขังอยู่เป็นหนอง  บึง ขนาดต่าง ๆ กันไปลักษณะเช่นนี้เกิดจาก  การพังทลายของหินอันเนื่องมาจากลมฟ้าอากาศ การกระทำของน้ำ และเกิดจากการละลายของเกลือหินใต้ดินโดยการกระทำของน้ำใต้ดิน ทำให้พื้นดินยุบตัวเป็นแอ่งใต้ดินของภาคอีสานมีชั้นของเกลือหินอยู่ถึง 3 ชั้น ตั้งแต่ระดับตื้น  30-40   เมตรจนถึงระดับลึก  800  เมตรขึ้นไป  ในบางแห้งมีชั้นหินเกลือไปอัดแน่นทำให้พื้นผิวดินปูดสูงขึ้นกลายเป็นเนินดิน จากลักษณะภูมิประเทศที่เป็นโคกสลับแอ่งนั้น   ทำให้เกิดผลสำคัญ  2  ประการต่อภาคอีสาน  คือจะมีแหล่งน้ำตามธรรมชาติกระจายอยู่ทั่วไปจำนวนมากแต่ในขณะเดียวกันการมีชั้นของหินเกลือจำนวนมากทำให้เกิดปัญหาภาวะดินเค็มก่อให้เกิดผลเสียทางการเกษตรและเป็นอุปสรรคต่อการใช้น้ำทั้งบนดินและน้ำใต้ดิน
  1. ภูมิประเทศแบบที่ราบลุ่มน้ำ เป็นลักษณะภูมิประเทศซึ่งเกิดจาก  การกระทำของลำน้ำที่กัดเซาะทางด้าน ข้างและเกิดการทับถมในแนวดิ่งจนทำให้ที่ราบในแอ่งทั้งสองมีลักษณะราบเรียบมากแทบไม่มีความลาดชันจึงเกิดอุทกภัยในพื้นที่เขตนี้เสมอ บริเวณที่ราบลุ่มน้ำในแอ่งโคราชประกอบด้วยที่ราบลุ่มแม่น้ำชี  ในเขตจังหวัดขอนแก่น  มหาสารคาม  ร้อยเอ็ด  และยโสธร  กับที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล ในเขตจังหวัดนครราชสีมา  บุรีรัมย์  สุรินทร์  ศรีษะเกษ  และ อุบลราชธานี   เป็นที่ราบลุ่ม แบบน้ำท่วมถึงและแบบลานตะพักน้ำ ที่ราบลุ่มแม่น้ำมูล – ชี  จะเป็นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ เป็นแอ่งกระทะ มีเนื้อที่กว้างขวาง  ลักษณะแม่น้ำจะไหลโค้งตวัดไปมาและมีลักษณะภูมิประเทศที่เป็นแม่น้ำลัดทางเดินเกิดเป็นทะเลสาบขนาดเล็กกระจายอยู่ทั่วไปในเขตที่ราบลุ่ม  และในฤดูฝนจะมีน้ำท่วมทั่วทั้งบริเวณที่ราบ  สำหรับที่ราบลุ่มน้ำในแอ่งสกลนครเป็นที่ราบลุ่มน้ำเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไปตามลำน้ำต่าง ๆ  เช่น ที่ราบแม่น้ำสงคราม ซึ่งเป็นที่ราบที่สุดในเขตแอ่งสกลนคร  เป็นต้น  เขตแอ่งสกลนครนี้มีลักษณะภูมิประเทศพิเศษ  คือ  เป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำท่วมถึง ซึ่งมีทางระบายน้ำติดต่อกับทะเลสาบเล็ก ๆ มากมาย ที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วบริเวณแอ่งสกลนคร ในช่วงฤดูแล้งและจะกลายเป็นทะเลสาปขนาดใหญ่  ในช่วงฤดูฝนกลายเป็นแหล่งการประมงที่สำคัญอย่างยิ่งในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

 

แร่ประเภทต่างที่พบในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  1. แร่พลวง(Antimony) พบแหล่งแร่นี้แห่งเดียวที่บ้านสะอาด ตำบลน้ำลาย อำเภอเมือง จังหวัดเลย ประโยชน์ของพลวง   คือ ใช้ในการทำโลหะผสม ผสมตะกั่ว ทำแผ่นแบตเตอรี่ผสมตะกั่วและดีบุกในการทำตะกั่วตัวพิมพ์และโลหะบัดกรีบางชนิด  ใช้ในส่วนประกอบของกระสุนปืน ใช้ในอุตสาหกรรมไม้ขีดไฟ อุตสาหกรรมทำยาง ทำผ้า ทำผ้าทนไฟ และอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบ
  2. แร่แบไรต์(Barite) จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีปรากฏว่า พบแหล่งแร่แบไรต์ในท้องที่ 2 จังหวัด คือ จังหวัดเลยและอุดรธานี  ในจังหวัดเลยพบที่บ้านหินขาว  อำเภอเชียงคาน  บ้านนาค้อ อำเภอปากชม  บ้านห้วยพอด  และบ้านตีนผา  ในจังหวัดอุดรธานี พบที่บ้านนาดีอำเภอนากลาง แต่ไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับปริมาณแร่ที่ค้นพบประโยชน์ของเเร่แบไรต์  ส่วนมากนำมาทำโคลนผง (Drilling mud) ซึ่งใช้ในการเจาะสำรวจ น้ำมันหรือน้ำบาดาล ใช้ในอุตสาหกรรมทำแม่สีและเนื้อสี  อุตสาหกรรมแก้วและยาง ผ้าน้ำมัน  กระดาษน้ำมันและพลาสติก   ใช้บดทำยาสำหรับรับประทานก่อนทีจะทำการเอ็กซเรย์ตรวจกระเพาะและลำใส้ ใช้เป็นตัวเติม (Filler) ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ใช้ในอุตสาหกรรมฟอกหนังทำแป้งผัดหน้าเป็นต้น
  1. แร่ทองแดง(Copper) แหล่งแร่ทองแดงในภาคนี้มีอยู่หลายแหล่งด้วยกัน คือ แหล่ง “ช่องเขาประตูตีหมา อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น แหล่งจันทึก อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา แหล่งภูหินเหล็กไหล และแหล่งภูอ่าง ซี่งอยู่ทางใต้ของภูหินเหล็กไฟอีกด้วย  นอกจาก 3 บริเวณใหญ่ข้างต้นแล้ว  กรมทรัพยากรธรณีเคยสำรวจพบแหล่งแร่ทองแดงที่อำเภอสังคม  จังหวัดหนองคาย  เช่นกัน ประโยชน์ของแร่ทองแดง  นำมาถลุงเอาโลหะทองแดงเพื่อใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ  เช่น ในการทำอุปกรณ์ไฟฟ้า  สายไฟฟ้า  อุปกรณ์เครื่องวิทยุ  โทรทัศน์  โทรเลข  โทรศัพท์  เครื่องกลจักร  เครื่องยนต์  ตลอดจนเครื่องมือวิทยาศาสตร์  และอาวุธยุทโธปกรณ์ต่าง ๆ  ใช้ทำโลหะผสมหลายหลายชนิด เช่น   ทองบรอนซ์ ทองเหลือง เป็นต้น
  1. แร่รัตนชาติ(Gemstone) ส่วนใหญ่ที่พบเป็นพลอยตระกูลโครันดัม หรือกากกะรุน  แหล่งพลอย  ในจังหวัดศรีสะเกษ พบที่อำเภอกันทรลักษณ์เป็นพลอยสีน้ำเงินและพลอยสีเขียว  นอกจากพลอยที่พบแล้วยังมีแร่ที่เกิดอยู่ร่วมกัน ได้แก่ โกเมน  นิลตะโก และเพทาย  แหล่งพลองในเขตอำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี พบบริเวณห้วยตะแอก  บ้านด่าน  บ้านโดนยาง   บ้านโคกสะอาด  บ้านตาโกย  บ้านตากเกา  บ้านดอนโมก  และบ้านหนองคุม  บริเวณดังกล่าวอยู่ติดกับแหล่งอำเภอกันทรลักษณ์  พลอยที่ขุดได้ส่วนใหญ่เป็นเพทายนอกจากนี้ยังมีรายงานการพบแร่รัตนชาติที่  ห้วงภูผาลำดวน  อำเภอเดชอุดม  จังหวัดอุบลราชธานีอีกด้วย ประโยชน์ของแร่รัตนชาติ  นอกจากจะใช้เป็นเครื่องประดับทีมีค่าแล้ว  ยังนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ อีก เช่น  พลอยน้ำเงินใช้ในอุตสาหกรรมทำนาฬิกา ขนาดเล็ก  นอกจากนี้ยังใช้ในการเป็นกากติดใบมีดสำหรับลับของแข็งมาก  และทำกระดาษทราย  ผ้าขัดเพทายทีป่นเป็นผงใช้ในการทำเครื่องถ้วย  ชาม ทำทรายแบบ ทำอิฐทนไฟ สำหรับเตาถลุงอลูมิเนียม และทำแก้ว โลหะใช้ในเครื่องปฎิกรณ์ปรมาณู และในโลหะผสมหลายชนิด
  1. แร่ยิปซัม(Gypsum) พบที่บ้านโนนแจง อำเภอขามสะแกแสง นครราชสีมา และที่อำเภอวังสะพุง  จังหวัดเลย แร่ยิปซัมหรือที่เรียกกันว่า  เกลือจืดมักมีสีขาว  สีเทา  สีเหลือง  สีแดงปนน้ำตาล  เนื่องจากมีมลทินอาจมีรูปร่างเป็นผลึก เป็นเสี้ยนหรือเป็นเม็ดคล้ายเม็ดทรายเนื้อแร่อ่อนขูดเป็นรอยได้ง่าย ลักษณะของแหล่งแร่มักเกิดเป็นชั้น ๆ ประโยชน์ของแร่ยิปซัมใช้ในการทำปูนซีเมนต์ ปูนพลาสเตอร์ แผ่นยิปซั่มบอร์ด  ทำแป้งนวล  ชอล์ก  ทำปุ๋ย  กระดาษ ดินสอสี  ยาง
  1. แร่ตะกั่ว-สังกะสี(Lead-Zinc) แร่ตะกั่วและสังกะสี ในภาคอีสานพบในบริเวณภูขุม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ประโยชน์ของตะกั่ว-สังกะสีใช้ผสมโลหะได้มากมาย หลายชนิด ตะกั่วใช้ในการตะกั่วบัดกรี กระดาษตะกั่วห่ออาหาร บุหรี่ ท่อน้ำ แผ่นตะกั่ว ตัวพิมพ์ กระสุนปืน ฟิวส์ไฟฟ้า แผ่นกั้นรังสีในเครื่องปรมาณู และทำสี ส่วนสังกะสีนั้น ส่วนใหญ่ใช้ในการเคลือบแผ่นเหล็ก ทำสังกะสีมุงหลังคา กระป๋องบุเปลือกในของถ่านไฟฉาย ใช้หล่อส่วนต่าง ๆ ของชิ้นส่วนในรถยนต์ เช่น คาร์บูเรเตอร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังใช้ในการทำยารักษาโรค และใช้ประโยชน์ทางด้านเคมี
  2. ถ่านหินลิกไนต์(Lignite) ที่สำรวจพบมีอยู่ที่อำเภอสหัสขันธ์ และกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม ที่เขาละมั่ง อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา และอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร ประโยชน์ของถ่านหินที่สำคัญที่สุด คือ ใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผาไหม้ แทนถ่านไม้และน้ำมัน ใช้แทนถ่าน อัดเพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในการหุงต้ม และอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำแก๊สในการหุงต้ม นอกจากนี้ยังใช้ในการทำปุ๋ยเคมี ชนิดแอมโมเนียมซัลเฟต และปุ๋ยยูเรีย
  1. แร่แมงกานีส(Manganese) พบที่บริเวณห้วยพาง ห้วยกกห้า ห้วยม่วง ห้วยซวก และปากชม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เป็นแมงกานีสชนิดที่ใช้ทำแบตเตอรี่ จึงได้เริ่มการทำเหมืองแร่แมงกานีส ขึ้นเป็นแหล่งแรกของประเทศ ผลิตแร่เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่
  2. แร่ฟอสเฟต(Phosphate) แหล่งที่พบคือตำบลหนองงิ้ว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ประโยชน์ของแร่ฟอสเฟตส่วนใหญ่ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ใช้ในการทำปุ๋ย นอกจากนั้นก็เอามาใช้ประโยชน์อื่น ๆ เช่น ทำอาหารสัตว์ผงซักฟอก วัสดุไฟฟ้า อุปกรณ์การขัดถู ยาฆ่าแมลง ยาสีฟัน ยารักษาโรค ไม้ขีดไฟ อุปกรณ์การขัดถู ยาฆ่าแมลง ยาสีฟัน ยารักษาโรค ไม้ขีดไฟและใช้ในการทำวัตถุระเบิด
  1. แร่เอมเมอรี่และแร่ซิลลิมาไนต์(Emery and Silimanite) พบครั้งแรกในประเทศไทย ที่บริเวณบ้านโนนสาวเอ้และบ้านบุบอีปูน ตำบลตะขบ อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ประโยชน์ของแร่เอมเมอรี่ที่สำคัญคือใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องขัดถู เช่น อุตสาหกรรมทำเครื่องโม่ เครื่องสีข้าว หินเจียรนัย หินลับมีด หินขัดพื้นคอนกรีต กระดาษทรายผสมน้ำยาเคมีเพื่อนำมาใช้ทำเป็นน้ำยาขัดเงาต่าง ๆ นอกจากนี้แล้วเอมเมอรี่ชนิดละลายยังนำมาใช้ในการขัดกระจกให้เป็นกระจกฝ้าและชนิดที่ละเอียดเป็นผงแป้งและมีความบริสุทธิ์สูงใช้ในการขัดแนตาขัดเลนส์ได้อีกด้วย มีผู้นิยมนำเอมเมอรี่ที่บดแล้วผสมในคอนกรีตทำพื้นเฉลียงบันไดและถนนที่ลาดชันเพื่อป้องกันการลื่นประโยชน์ของแร่ซิลลิมาไนต์ใช้ในอุตสาหกรรมทำอิฐทนไฟชนิดทนความร้อนสูง และเนื่องจากคุณสมบัติทนความร้อนได้สูงถึง 1810 องศาเซลเซียส จึงใช้ประโยชน์ในการทำเครื่องมือเครื่องใช้ที่ทนความร้อนสูงอื่น ๆ ด้วย เช่นทำเครื่องปั้นดินเผาชนิดพิเศษ เครื่องถ้วยชาม เครื่องเคลือบต่าง ๆ อุปกรณ์เคมีและไฟฟ้า
  1. แร่ยูเรเนียม(Uranium) แหล่งแร่ยูเรเนียมในหินทราย สำรวจพบเป็นแหล่งแรกในชั้นหินทรายชุดพระวิหารยุคจูแรสสิค ในบริเวณประตูตีหมาและได้ตั้งชื่อตามสถานที่ที่พบว่า “แหล่งยูเรเนียมประตูตีหมา” แหล่งแร่ดังกล่าวอยู่ในบริเวณแอ่งภูเวียง ด้านทิศตะวันตก ใกล้ ๆ กับขอบด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ราบโคราชในเขตบ้านหนองขาม ตำบลเขาน้อย อ.ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น
  2. ปิโตรเลียม(Petroleum) กรมทรัพยากรธรณีได้ร่วมสำรวจกับผู้เชี่ยวชาญทาด้านปิโตรเลียมหลายครั้งพบว่าภาคอีสานบางบริเวณเคยเป็นแหล่งสะสมอินทรียสารตัวต้นกำเนิดของปิโตรเลียมมาก่อนประกอบกับผลการวิเคราะห์ตัวอย่างยืนยัน่าจำนวนอิทรียสารดังกล่าวมีคุณสมบัติต่อการกลั่นให้เกิดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ชั้นหินส่วนบนที่ปิดทับหินตัวต้นกำเนิดปิโตรเลียมประกอบด้วยหินทรายที่มีความพรุนมากปิดทับด้วยหินดินดาน ยุคจูแรสสิกซึ่งสามารถเป็นหินกักเก็บและหินปิดกั้นปิโตรเลียมตามลำดับ บางส่วนของชั้นหินยุคเพอร์เมียนและชั้นหินยุคไทรแอสสิกกล่าวมาแล้วมีหินทรายและหินดินดานลักษณะกักเก็บและปิดกั้นปิโตรเลียมเช่นกัน นอกจากนี้ความหนาของชั้นหินจากหินตัวต้นกำเนิดจนถึงผิวดินมีความหนามากที่สุดถึง 5000 เมตร แสดงถึงการสะสมตัวทับถมอันยาวนานทำให้เกิดความร้อนและความดันในธรรมชาติรวมกับความร้อนภายในโลก ประกอบกับแบคทีเรียและตัวเร่งปฏิกิริยาเคมีแปรสภาพอินทรีย์สารให้เป็นน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติแล้วเคลื่อนตัวไปกักเก็บในชั้นหินที่มีความพรุนในโครงสร้างเหมาะสมตามแรงการเปลี่ยนแปลงของผิวโลก
  3. ชั้นหินทรายและหินปูนยุคเพอร์เมียน มีปิโตรเลียมที่เกิดจากหินปูนอายุเดียวกัน
  4. ชั้นหินทรายยุคจูแรสสิกหรือไทรแอสสิก กักเก็บปิโตรเลียมที่เกิดจากหินชั้น ยุคไทรแอสสิกหรือยุคเพอร์เมีย สำหรับโครงสร้างที่เหมาะสมต่อการกักเก็บปิโตรเลียมที่แปลความหมายจากข้อมูลที่ได้จากการบินสำรวจความเข้มสนามแม่เหล็กในชั้นหินและจากการวัดความไหวสะเทือนของชั้นหินแล้ว ได้แก่โครงสร้างกุฉินารายน์ซึ่งมีแนวแกนทิสตะวันตกเฉียงเหนือ-ทิสตะวันออกเฉียงใต้อยู่ทางเหนือ ของอำเภกุฉินารายณ์จังหวัดกาฬสินธุ์มีแนวแกนทิศทางเดียวกับโครงสร้างแรกอยู่ระหว่างอำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์และอำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ด นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างอื่น ๆ อีกไปทางเหนือของเทือกเขาภูพานและโครงสร้างใหญ่อีกอย่างน้อย 3 โครงสร้างในพื้นที่สัมปทานของบริษัทเอสโซ่ปัจจุบัน
  1. แร่ทองคำ(Gold) ทองคำที่พบเกิดจากการสะสมตัวตามดินโดยการพัดพามาของน้ำคล้ายกับการเกิดแบบลานแร่ แหล่งที่สำรวจพบมีอยู่ที่บริเวณภูถ้ำพระ อำเภอเมือง จังหวัดเลย และที่บ้านคำด้วง อำเภอบ้านผืน จังหวัดอุดรธานีเป็นแร่ทองคำที่เกิดร่วมกับแร่ทองคำขาวแต่ไม่ทราบปริมาณที่แน่นอนประโยชน์ของทองคำใช้เป็นหลักประกันค่าของธนบัตร ทำเหรียญกษาปณ์ ทำเครื่องประดับใช้ผสมโลหะอื่น ๆ เป็นโลหะผสมใช้ในการทันตกรรม เครื่องมือวิทยาศาสตร์และวงจรไฟฟ้า เป็นต้น
  1. แร่เหล็ก(Iron, Ferrous) แหล่งแร่เหล็กในจังหวัดเลย ตัวอย่างเช่น ที่ ภูอ่าง ภูโคก ภูขุนทอง และภูหินเหล็กไฟ แหล่งแร่เหล็กในอำเภอเชียงคานที่ภูยาง ภูซาง ภูเฮียะ ภูแก้วใหญ่และภูเหล็กบ้านธาตุนอกจากนี้ยังมีที่อำเภอวังสะพุง ที่บ่ออีเลิดและป่าเป้า
  2. เกลือหิน(Rock-salt) แหล่งเกลือหินที่พบในภาคอีสานส่วนมากเป็นผลจากการเจาะบ่อน้ำบาดาลในหินกลุ่มโคราชมีบริเวณกว้างขวางมาก ครอบคลุมพื้นที่ในแอ่งสกลนครประมาณ 19,500 ตารางกิโลเมตรและในแอ่งโคราช 37,300 ตารางกิโลเมตรปริมาณเกลือหินสำรองที่ได้จากการเจาะหลุมทดลองต่าง ๆ ในภาคนี้คาดว่ามีประมาณ 4,700 ล้านตัน และคาดว่า ปริมาณของเกลือหินในภาคนี้จะมีปริมาณมหาศาลถึง 2 ล้านล้านตัน ซึ่งจะได้จากแหล่งใหญ่ ๆ 7 แหล่งด้วยกันคือ แหล่งชัยภูมิ แหล่งตลาดแก แหล่งมหาสารคาม แหล่งบำเหน็จณรงค์ แหล่งอุบล แหล่งกุลาร้องไห้ แหล่งอุดร-หนองคาย ประโยชน์ของเกลือหินที่เกี่ยวข้องกับการอุตสาหกรรมคือใช้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเคมีภัณฑ์และกรดต่าง ๆ ที่ใช้ในงานหัตถกรรม ใช้เป็นส่วนประกอบในการแยก หลอมและถลุงแร่ในกิจการโลหะกรรม ใช้ในกิจการอุตสาหกรรมเคมีต่าง ๆ เช่น ทำสบู่ ย้อมสี ฟอกหนังทำยาป้องกันฟันผุ ซีเมนต์ ทำระเบิด เครื่องเคลือบ ฟอกผ้า และกระดาษ อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา อุตสาหกรรมแก้วอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นและตู้เย็น นกจากนี้ยังใช้เป็นอาหาร ทำปุ๋ย ยากำจัดศัตรูพืช ยาฆ่าแมลงต่าง ๆ ใช้ในการประกอบยารักษาโรคและทางทันตกรรม เป็นต้น
  1. เกลือโพแตช(Topash) การสำรวจแร่โพแตชในภาคนี้ได้เริ่มสำรวจเมื่อ พ.ศ.2517 และพบแร่โพแตชที่อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี จากการสำรวจของกรมทรัพยากรธรณี พบวาภาคนี้มีชั้นเกลือหินและแร่โพแตชอยู่มากมาย ซึ่งจะทำรายได้ให้แก่บริเวณนี้มากกว่าแร่ชนิดอื่น ๆ ดังนั้นรัฐบาลจึงนโยบายที่จะสนับสนุนการสำรวจแร่เกลือหินและแร่โปแตชในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอันดับแรก ผลจากการเจาะสำรวจแร่โพแตชและเกลือหินที่ได้ดำเนินตลอดมาจากหลุมเจาะทั้งหมด 131 หลุม รวมความลึก 130378 ฟุต ทั้งในแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร แร่โพแตชที่พบมากทั้ง 2 แอ่งคือ แร่คาร์นัลไลท์ส่วนแร่ซิลไวท์นั้นพบเป็นหย่อม ๆ ประโยชน์ของแร่โพแตชที่สำคัญคือทำปุ๋ย อุตสาหกรรมเคมีต่าง ๆ อุตสาหกรรมเครื่องปั้นดินเผา เครื่องแก้ว ย้อมสี ฟอกหนัง ทำสบู่ ไม้อัด อุปกรณ์ถ่ายภาพ

โขง สงคราม ชี มูล แม่น้ำแห่งวิถีชีวิต

แม่น้ำ เป็นเส้นทางแห่งวิถีชีวิตและบ่อเกิดแห่งอารยธรรม อีสานมีลำน้ำและแม่น้ำสายสำคัญ อันเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตและเป็นต้นกำเนิดแห่งวัฒนธรรม อันสืบเนื่องมายาวนานในภูมิภาคนี้ โดยมีแม่น้ำสายสำคัญอันประกอบไปด้วย แม่น้ำสงคราม แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำโขง

ลักษณะทางอุทกวิทยาของภูมิภาคอีสาน สัมพันธ์กับแม่น้ำโขง เนื่องจากระบบการระบายน้ำออกจากพื้นที่ เป็นลำห้วยและแม่น้ำที่สัมพันธ์กับแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง จากลุ่มแม่น้ำภายในไหลลงสู่แม่น้ำโขง มีแม่น้ำมูลเป็นสาขาสำคัญที่สุด  และมีแม่น้ำชีเป็นสาขาสมทบของแม่น้ำมูล ส่วนทางตอนบนมีแม่น้ำสงครามเป็นสาขาที่สำคัญ  พื้นที่ต้นน้ำของภาคอีสานมีอยู่ด้วยกัน 3 เขตคือ

  1. เขตสันปันน้ำของเทือกเขาด้านตะวันตก เป็นต้นกำเนิดสำคัญของแม่น้ำมูลและชี
  2. เขตสันปันน้ำของเทือกเขาทางด้านใต้ เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำมูล
  3. เทือกเขาภูพาน เป็นแหล่งต้นน้ำของทั้งแอ่งสกลนครทางตอนบนและแอ่งโคราชทางตอนล่าง โดยลำน้ำในแอ่งโคราชไหลลงสู่แม่น้ำชี ส่วนน้ำในตอนบนแอ่งสกลนครไหลลงสู่แม่น้ำสงคราและแม่น้ำโขงโดยตรง

 

แม่น้ำในภาคอีสาน

  1. แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำนานาชาติที่มีความยาวถึง 4,590 กิโลเมตร นับเป็นอันดับ 10 ของโลก และมีปริมารน้ำมากเป็นอันดับ 6 ของโลก ไหลผ่านดินแดนของประเทศต่าง ๆ เป็นเส้นกั้นพรมแดนตามธรรมชาติ ระหว่างจีน พม่า ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แม่น้ำโขงแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ แม่น้ำโขงตอนบนในเขตประเทศจีน พม่า และลาว และแม่น้ำโขงตอนล่างในเขตประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม นอกจากความสำคัญทางด้านภูมิศาสตร์ สังคม และเศรษฐกิจแล้ว แม่น้ำโขงยังมีความสำคัญต่อคุณค่าทางจิตใจของชุมชนตลอดทั้งสองฝั่งโขง เป็นบ่อเกิดอารยธรรมของคนหลายเชื้อชาติในแถบลุ่มน้ำแห่งนี้ แนวความคิด ปรัชญา โลกทัศน์ คติความเชื่อ ตลอดจนวัฒนธรรมประเพณีที่คลายคลึงกันสะท้อนออกมาในรูปกรให้ความเคารพนับถือแม่น้ำ เช่น ความเชื่อในเรื่องของพญานาค และพิธีกรรมในการจับปลาบึก ที่คล้ายคลึงกันตั้งแต่สิบสองปันนา พม่า ล้านนา จนถึงไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม แม่น้ำโขงตอนบนมีต้นกำเนิดจากเทือกเขาในเขตที่ราบสูงทิเบต บริเวณเทือกเขาทังกลา บนยอดเขาทังกลาที่ระดับความสูงกว่า 16,700 ฟุตจากระดับน้ำทะเลปานกลาง เรียกเป็นภาษาพื้นเมืองว่า ดเซซู แม่น้ำโขงช่วงนี้มีลักษณะแคบและตื้นไหลเชี่ยว ผ่านโกรกเขาและซอกหินที่สูงชัน กว้างเพียงแค่ 100 เมตร ไหลลงมาขนานกับแม่น้ำสาละวินและแม่น้ำแยงซีเกียง สู่เขตมณฑลเสฉวน และแคว้นสิบสองปันนา จากนั้นจึงเริ่มค่อย ๆ กว้างออกและมีชื่อว่าแม่น้ำลานฉางหรือเก๋าลุง ในช่วงนี้แม่น้ำจะค่อย ๆ ลดระดับลงเรื่อย ๆ ทุก 400 ฟุตต่อ 1 องศาละจิจูด ซึ่งลักษณะพิเศษของแม่น้ำโขง แต่ยังคงมีกระแสน้ำเชี่ยวและแคบอยู่จึงไม่ได้ใช้สำหรับการคมนาคมมากนัก จากนั้นไหลลงสู่ทางใต้ เป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างพม่าและลา และลงมาถึงสามเหลี่ยมทองคำ (สบรวก) ที่อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงรายและเข้าสู่บริเวณแม่น้ำโขงตอนล่าง แม่น้ำโขงตอนล่างจะค่อย ๆ กว้างออกเพราะมีแม่น้ำสาขาจำนวนมากทั้งในเขตไทยและลาวไหลลงสู่แม่น้ำโขงในบริเวณนี้จึงมีความกว้างและกระแสน้ำที่เหมาะสมกับการคมนาคมแต่มีอุปสรรคสำคัญคือ เกาะแก่งต่าง ๆ ที่ขวางอยู่กลางลำน้ำจำนวนมาก จากนั้นจะไหลเข้าสู่ลาวที่อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงรายและวกกลับออกมาเป็นเส้นกั้นพรมแดนไทย-ลาวอีกครั้งที่อำเภอเชียงคานจังหวัดเลย ผ่านหนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำเภออำนาจเจริญไปจนถึงอำเภอโขงเจียม จ.อุบลราชธานี ซึ่งยาวมากกว่า 850 กม. รวมระยะทางที่เป็นเส้นกั้นพรมแดนไทย-ลาวทั้งสิ้นประมาณ 95 กิโลเมตร แม่น้ำโขงช่วงนี้มีความกว้างขวางมากอยู่ในช่วงประมาณ 800-1200 เมตร กว้างที่สุดที่จังหวัดอำนาจเจริญและในเขตจังหวัดมุกดาหารประมาณ 2,300-26,000 เมตร และไหลค่อนข้างเอื่อย ในช่วงหน้าแล้งจะมีปริมาณน้ำน้อยลงแห้งจนกระทั่งเป็นดอนหรือหาดทรายกลางลำน้ำและบางแห่งสามารถเดินข้ามได้ดอนและชายหาดเหล่านี้เป็นแหล่งเพาะปลูกที่สำคัยของเขตริมแม่น้ำโขงเพราะเป็นดินที่อุดมสมบูรณ์จากการตกตะกอนของแม่น้ำ และผลผลิตที่ได้จากบริเวณดอนเหล่านี้จะมีราคาสูงมากกว่าที่อื่น ๆ จากนั้นแม่น้ำโขงจะไหลลงสู่ทะเลจีนใต้บริเวณปลายแหลมญวนห่างจากเมืองโฮจิมินห์ซิตี้ประมาณ 85 กิโลเมตร

แม่น้ำสายสั้น ๆ ที่ไหลลงสู่ระบบแม่น้ำโขงโดยตรงซึ่งส่วนใหญ่อยู่ทางตอนบนของภาค ได้แก่

– แม่น้ำเลย มีต้นกำเนิดที่ภูกระดึง จ.เลย ไหลลงแม่น้ำโขงที่ อ.ปากชม

– แม่น้ำเหือง ซึ่งเป็นเส้นกั้นพรมแดน ไทย-ลาว ในเขตจังหวัดเลย

– ห้วยหลวง ในเขตจังหวัดอุดรธานีและหนองคาย

– แม่น้ำก่ำ ซึ่งมีต้นกำเนิดจากหนองหาน จังหวัดสกลนคร ไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่จังหวัดมุกดาหาร

  1. แม่น้ำมูล เป็นสาขาที่สำคัญที่สุดของแม่น้ำโขง มีต้นกำเนิดอยู่ระหว่างเขาวงกับเขาละมั่งในเขตเทือกเขาสันกำแพงในเขตจังหวัดนครราชสีมา เป็นแม่น้ำที่มีความยาวมากที่สุดในเขตภาคนี้คือ ยาว 641 กิโลเมตร มีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 70,100 ตร.กม. วางตัวขนานกับแนวเขาพนมดงรักแม่น้ำมูลเป็นแม่น้ำ ที่มีความลาดชันน้อยมากคือตลอดระยะความยาวของแม่น้ำจะลดระดับลงเฉลี่ย 52 เมตร หรือ 16 เซนติเมตร ต่อระยะทาง 1 กิโลเมตรเท่านั้นทำให้ที่ราบลุ่มในเขตแม่น้ำมูลถูกน้ำท่วมอยู่เป็นประจำทุกปี เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำออกได้ทันกับปริมาณความจุของน้ำ อีกทั้งบริเวณที่ลุ่มน้ำยังมีชั้นหินดินดนลูกรังอยู่ทำให้น้ำไม่สามารถซึมได้อีกด้วย สาขาของแม่น้ำมูลที่สำคัญได้แก่ ลำตะคอง ลำจักราช ลำแซะ ลำพระเพลิง ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ลำปลายมาศในเขตจังหวัดบุรีรัมย์ ลำชีและลำน้ำเสียวในจังหวัดสุรินทร์ ห้วยทับทัน ห้วยสำราญ ในเขตจังหวัดศรีสะเกษ ลำเซบก ลำเซบาย ลำโดมใหญ่ และลำโดมน้อยในเขตจังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งแม่น้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำมูลในเขตจังหวัดยโสธรด้วยแม่น้ำมูลไหลลงสู่แม่น้ำโขงในเขตอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี
  1. แม่น้ำชี เป็นแม่น้ำที่มีความยาวเป็นอันดับที่สองของภาคมีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 55,100 ตร.กม. มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างแห้งแล้ง ปริมาณของน้ำในแม่น้ำชีจึงมีไม่มากนัก ได้น้ำจากสาขาสำคัญทางเหนือเป็นส่วนใหญ่ คือ ลำน้ำพอง กับลำน้ำปาว ลำน้ำพองเป็นสาขาที่สำคัญที่สุดของแม่น้ำชี มีความยาว 275 กิโลเมตร มีความสำคัญทางด้านเศรษฐกิจสูง โดยเฉพาะหลังจากการสร้างเขื่อนอุบลรัตน์ ส่วนลำน้ำปาวนั้นแม่น้ำสาขาที่สำคัญเป็นอันดับสองของแม่น้ำชีมีความยาว 236 กิโลเมตร มีต้นน้ำอยู่บริเวณเทือกเขาภูพาน และหนองหานกุมภาปี ส่วนสาขาสำคัญอื่น ๆ ของแม่น้ำชี ได้แก่ ลำน้ำพรมในเขตชัยภูมิ ลำน้ำยังในเขตกาฬสินธุ์
  1. แม่น้ำสงคราม เป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญที่สุดของภาคอีสานตอนบนมีต้นน้ำในเขตเทือกเขาภูพานมีพื้นที่ลุ่มน้ำประมาณ 20,411 ตร.กม. มีความยาว 420 กิโลเมตร ตลอดสองฝั่งของแม่น้ำ โดยเฉพาะในเขตสกลนครและนครพนมจะมีลักษณะเป็นทุ่งหญ้าและเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงทันทีที่มีฝนตกและมีระดับน้ำสูงขึ้นกลายเป็นทะเลสาปเล็ก ๆ จำนวนมากเป็นแหล่งทำการประมง ที่สำคัญมากที่สุดของภาคอีสาน ลำน้ำสาขาที่สำคัญได้แก่ ลำน้ำอูน ซึ่งมีกำเนิดอยู่บนเทือกเขาภูพาน ความยาวประมาณ 270 กิโลเมตร

 

แหล่งน้ำอื่นๆในภาคอีสาน

แหล่งน้ำผิวดิน

แหล่งน้ำผิวดินของภาคอีสานมีค่อนข้างมาก เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ ที่เป็นโคกสลับกับแอ่งและปริมาณน้ำฝนที่ตกอยู่ในระดับปานกลางถึงสูงมาก จึงมีแหล่งน้ำผิวดินปรากฎอยู่ทั่วไปในภาคอีสานแต่ปริมาณน้ำที่ไหลบ่าและท่วมอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตที่ราบลุ่มตลอดจนคุณภาพของดินที่กักเก็บน้ำได้ต่ำ มีอัตราการสูญเสียน้ำสูง ทำให้น้ำผิวดินในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักแห้งขอดในช่วงฤดูแล้ง ประกอบกับการที่ป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารถูกทำลายลงไปมาก จึงทำให้ภาคอีสานต้องประสบปัญหาภัยแล้งมากกว่าภูมิภาคอื่นของประเทศ

 

แหล่งน้ำใต้ดิน

มีความสำคัญอย่างมากในปัจจุบันเพราะเป็นหนทางในการแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งของภาคอีสาน การสำรวจแหล่งน้ำใต้ดินทำอยู่ 2 ชั้นด้วยกันคือ

  1. ชั้นน้ำใต้ดินระดับพื้นเป็นชั้นที่ได้รับน้ำจากการแทรกซึมของน้ำในช่วงต้นฤดูฝน สามารถขุดพบได้โดยการขุดบ่อแบบธรรมดาของชาวบ้าน ซึ่งน้ำใต้ดินชั้นนี้จะไวต่อความแห้งแล้งสูง เมื่อฝนหยุดตกน้ำก็จะค่อย ๆ แห้งไปด้วย
  2. ชั้นน้ำใต้ดินระดับลึก หรือน้ำบาดาลอยู่ในชั้นหินระดับลึก การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำน้อย แม้ว่าจะอยู่ในฤดูแล้งก็ตามแต่ทว่าแหล่งน้ำใต้ดินประเภทนี้ต้องขุดลึกมากและต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งต้องสำรวจกันอย่างละเอียดถึงปริมาณน้ำและชั้นหินเกลือใต้แผ่นดินด้วยเพราะการสูบน้ำอาจทำให้ดินทรุดและไปละลายชั้นเกลือหิน ทำให้คุณภาพน้ำไม่ดีกลายเป็นน้ำเค็ม และอาจทำให้ดินมีความเค็มสูงมากขึ้นกว่าเดิม

 

ลักษณะป่าไม้โดยทั่วไป 

ป่าไม้ในภาคอีสานมีอยู่หลายประเภทปนกัน ขึ้นเป็นแนวต่อเนื่องกันไป มีไม้ชนิดต่าง ๆ ขึ้นสลับกันไปไม่แน่นอน มีลักษณะของการผสมผสานลักษณะสำคัญของดินในภาคนี้เป็นดินปนทรายจึงขาดความอุดมสมบูรณ์และไม่กักเก็บน้ำ มีอัตราการชะล้างพังทะลายของดินสูง ทำให้ป่าที่ถูกทำลายไปไม่สามารถคืนสภาพดั้งเดิมได้ทันและกลายสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรมกระจัดกระจายอยู่ทั่วทั้งภาค ส่งผลต่อปัญหาเรื่องน้ำและระบบอุทกวิทยาเป็นอย่างมาก

 

ประเภทของป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  1. ป่าแดง(Dry Dipterocrap Forest) เป็นป่าที่พบมากที่สุดในเขตภาคอีสาน คือ มากกว่าร้อยละ 50 ของป่าในภาคนี้ป่าแดงอาจเรียกว่า ป่าโคก ป่าแคระหรือป่าเต็งรัง ซึ่งสามารถเจริญเติบโตได้ดีในเขตนี้ เนื่องจากดินสามารถระบายน้ำดี และมีการผุพังของศิลาแลงสูง มีกรวดเป็นดินลูกรัง มีความชื้นในดินน้อย ลักษณะป่าจะโปร่ง มีแสงแดดส่งลงมาถึงพื้นดิน ข้างล่างและมีหญ้าคา ไม้ไผ่ ไม้พุ่มหนา พันธุ์ไม้ที่พบมากได้แก่ ยางแดง พลวง เหียง รัง มะค่า แต้ รกฟ้า เต็งตานี ฯลฯ มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และชีวิตประจำวันของชาวบ้านค่อนข้างสูง
  2. ป่าเบญจพรรณ(Mixed Deciduoust Forest) พบได้บริเวณเทือกเขาของภาคจะมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับป่าดิบแล้ง ซึ่งมักพบอยู่ร่วมกันเสมอ ป่าเบญจพรรณเป็นป่าไม้ผลัดใบแบ่งออกเป้นป่าเบญจพรรณชื้นและป่าเบญจพรรณแล้ง ซึ่งจำแนกตามปริมาณน้ำฝนรายปี ถ้าสูงในระดับ 1,270-2,030 มม. ต่อปี จะเป็นป่าเบญจพรรณชื้น ถ้าอยู่ในระดับต่ำกว่า 1,270 มม. ต่อปีจะเป็นป่าเบญจพรรณแล้ง พันธุ์ไม้ที่พบจะมีลำต้นสูงใหญ่กว่าป่าแดง เช่น สีเสียด ตะเคียน ราชพฤกษ์ รกฟ้า ประดู่ อ้อยช้าง มะเกลือ ยางเสี้ยน ตะแบกใหญ่ ตะแบกเกรียบ เป็นต้น มีคุณค่าทางเศรษฐกิจและชีวิตประจำวันของชาวบ้านสูงเช่นเดียวกัน
  3. ป่าทุ่ง(Savanna Forest) เป็นป่าเสื่อมโทรมที่เกิดจากการเผา ทำลายป่า และจะมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบันเนื่องจากการทำไร่เลื่อนลอย ป่าชนิดนี้จะมีทุ่งหญ้าสลับกับไม้เตี้ย ๆ กระจายไปทั่ว ดินเป็นลูกรังปนทรายไม่อุดมสมบูรณ์ ทุ่งกุลาร้องไห้ ก็คือป่าทุ่งที่หมดสภาพกลายเป็นทุ่งหญ้าไปแล้วนั่นเอง
  4. ป่าดิบชื้น(Tropical Evergreen Forest) มีอยู่ในเขตเทือกเขาทางตะวันตก ตอนกลางและตอนใต้ของเทือกเขาภูพาน ประกอบด้วยต้นไม้ขนาดกลางเป็นส่วนใหญ่ มีไผ่ขึ้นแทรกอยู่ทั่วไป พันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยาง ตะเคียน-ทอง สยา มะค่าโมง พยุง ตะแบก เป็นต้น อาจพบว่าอยู่ผสมกับป่าดิบ-แล้ง และมีไม้ผลผลัดใบ ขึ้นแทรกซึ่งเป็นลักษณะป่าดิบชื้น ที่แตกต่างจากป่าดิบชื้นในภาคอื่น ๆ
  1. ป่าดิบแล้ง(Dry Evergreen Forest) เป็นป่าแบบมรสุมชื้นพบได้ในเขตนครพนม เทือกเขาภูพาน มีปริมาณไม่มากนักอาจพบตาม หุบเขาเตี้ย ๆ จนถึงบริเวณที่สูงราว 1,000 เมตร อยู่ใกล้กับธารน้ำมีความเขียวชะอุ่มตลอดปี ทั้งที่อาจมีปริมาณน้ำฝนแค่ 1,500-2,000 มม.ต่อปี เท่านั้น พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอย่างหนาแน่น เช่น ยาง ยางหลวง ตะเคียนหิน ตะเคียนน่อง หว้า ข่อย ไทร มะกอก งิ้ว แต้ว กะเบา และมีไม้เลื้อยและเถาวัลย์ขึ้นมากในระดับล่าง
  2. ป่าดิบเขา(Hill Forest, Lower montane Forest เขาพบบนภูเขาสูง 1,000 เมตรขึ้นไป พันธุ์ไม้เป็นตระกูลก่อเช่น เดือย ก่อขาว ก่อน้ำ พญาไม้ จำปีป่า ก่อเลือด ก่อแป้น ก่อสีเสียด หว้า กำยาน เป็นต้น มีไม้สนเขาขึ้นปะปน มีเฟิร์น มอส และพืชเล็กขึ้นระดับล่าง พบในเทือกเขาทางตะวันตกเป็นส่วนใหญ่
  3. ป่าสนเขา(Coniferous Forest) ในประเทศไทยจะพบอยู่สองชนิด คือ สนสองใบและสนสามใบ เป็นสนน้ำมัน พบในเขตค่อนข้างแห้งแล้งและเทือกเขาสูงในระดับ 700-1,000 เมตรขึ้นไป จะขึ้นปะปนกับป่าแดง หรือป่าอื่น ๆ บ้าง แต่โดยทั่วไปจะพบว่าอยู่โดด ๆ ไม่มีพันธุ์มีอื่นปะปน มีคุณค่าทางเศรษฐกิจในแง่ของการทำน้ำมันสนและชันสน