ประยูร ลาแสง
ประยูร ลาแสง (พระไม้) เกิดเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๐๐ ที่บ้านชัยพัฒนา บ้านเลขที่ ๑๐ หมู่ ๑๐ ตำบลเก่างิ้ว อำเภอพล จังหวัดขอนแก่นสำเร็จการศึกษาทางด้านภาษาไทยทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท
ประยูร ลาแสง สนใจใฝ่หาความรู้ด้านอักษรอีสานทั้งอักษรไทน้อย และอักษรธรรม จากสถาบันที่ศึกษาและจากบิดาได้ถ่ายถอดวรรณกรรมพื้นบ้านอีสานจากใบลานไว้เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังสนใจวิชาโหราศาสตร์ไทย ศึกษาฝึกฝนตนเองในด้านการแต่งบทกวี บทผญา กลอนลำ บทการแสดงแสงสีเสียงและกำกับการแสดง รวมทั้งสามารถใช้คอมพิวเตอร์ในการผลิตสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษาไว้จำนวนมาก
ผลงานช่วงต้น ๆ ส่วนใหญ่เป็นประเภทบทกวี และบทเพลง แล้วนำความสามารถพิเศษเหล่านี้มาใช้พัฒนาการสอนวิชาภาษาไทย ทั้งสอนศิษย์ในการแต่งร้อยกรอง แต่งเพลงขึ้นใช้เป็นสื่อการสอนทุกระดับ จนพัฒนาขึ้นไปแต่งให้นักร้องอาชีพโดยผลงานเพลงที่สร้างชื่อเสียงให้กับวงคนด่านเกวียน คือ เพลง‘ชาวนาลัย’ วงโฮป คือ เพลง ‘นารอนาง’ ‘บ้านในฝัน’ ส่วนเพลงดังที่ประกอบภาพยนตร์เรื่องเกิดมาลุยคือเพลง ‘สายสัมพันธ์’ และเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่องมนต์รักทรานซิสเตอร์คือเพลง ‘ดอกลา’ ทำให้ได้รับรางวัลครูภาษาไทยดีเด่น จากกองวรรณคดีและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี ๒๕๓๐ และบทกวี ‘พอดี’ และ ‘คว้า’ ได้รับรางวัลดีเด่นและชมเชย จากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ ปี ๒๕๓๗ และ ๒๕๓๘ ตามลำดับ ปี ๒๕๕๑ ได้รับคัดเลือกเป็นนักกลอนตัวอย่างภาคอีสาน จากสมาคมนักกลอนแห่งประเทศไทยฯ จากนั้นได้ผลิตผลงานด้านการแต่งผญา-แต่งกลอนลำในโอกาส ต่าง ๆ จนถึงบทการแสดงแสงสีเสียง และสื่อประเภทมัลติมีเดียจำนวนมาก โดยเฉพาะผลงานถ่ายทอดวรรณกรรมพื้นบ้านจากใบลาน เรื่อง กำพร้าไก่แก้ว(หอมฮู) นกกระจอก กำพร้าผีน้อย ปฐมมูลปฐมกัป เป็นต้น
จากการสร้างสรรค์ผลงาน ทางด้านศิลปวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภูมิรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แสดงออกมาในผลงานทั้งบทเพลง บทกวี ผญา และกลอนลำ เป็นผู้ที่นำเอาความรู้ความสามารถที่เล่าเรียนมาพัฒนาต่อยอดสร้างเป็นผลงานเพื่อพัฒนาวิชาชีพ ‘ครูภาษาไทย’ จนสามารถสร้างตนเองและลูกศิษย์ให้ประสบความสำเร็จทางด้านวรรณศิลป์เป็นจำนวนมาก หนึ่งในจำนวนนั้นที่เกิดแรงบันดาลใจจากครูกวีคนนี้ก็คือ กวีรางวัลซีไรต์ประจำปี ๒๕๕๖ (อังคาร จันทาทิพย์ ) ในหมู่นักอนุรักษ์คำประพันธ์ท้องถิ่น (ผญา) ประยูร ลาแสง นับว่าเป็นผู้หนึ่งที่อนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นผ่านทางภาษาอีสานได้อย่างลุ่มลึกรุ่มรวย นอกจากนี้ยังได้นำความรู้ความสามารถเหล่านั้นมาประยุกต์พัฒนาสู่งานศิลปะร่วมสมัยด้านอื่น ๆ จำนวนมาก อาทิ การแต่งเพลง เพลงประกอบภาพยนตร์ เพลงประกอบการแสดงเวที การเขียนบทการแสดง แสง สี เสียง และงานสื่อมัลติมีเดียเพื่อการศึกษาอีกจำนวนมาก
ผลงานหลากหลายดังกล่าว ได้แสดงให้เห็นถึงความทุ่มเทมุ่งมั่น อุดมการณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปวัฒนธรรมผ่านงานวรรณศิลป์ เพื่อรับใช้ชาติภูมิและจรรโลงความดีงามให้เกิดแก่สังคม ไม่ว่ายุคสมัยจะผ่านไปอย่างไร แต่ผลงานเหล่านี้ยังเป็นความงาม ความดี ความจริง ที่จะเป็นคุณูปการต่อสังคมสืบไป นายประยูรลาแสง (พระไม้) จึงสมควรได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ (วรรณกรรมร่วมสมัย) ประจำปีพุทธศักราช๒๕๕๗ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป