ประติมากรรมอีสาน
ธาตุอีสาน Taad I-San (Northeast Buddhist Holy Stupa)
ธาตุและพระธาตุเป็นภาษาถิ่นของอีสาน ใช่เรียกอนุสาวรีย์หรือสิ่งก่อสร้างที่บรรจุอัฐิธาตุของผู้ตาย มีความหมายเช่นเดียวกับสถูปหรือเจดีย์ในภาษาภาคกลาง ธาตุ หมายถึงที่บรรจุกระดูกของบุคคลสำคัญธรรมดาสามัญ นับแต่ชาวบ้านไปจนถึงเจ้าเมืองและพระสงฆ์องค์เจ้าโดยทั่วไป พระธาตุถูกสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานเฉพาะพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสันพุทธเจ้า หรือพระอรหันต์เท่านั้น ความโดดเด่นของรูปแบบมักแสดงออกตรงส่วน”ยอดธาตุ” มากกว่าส่วนอื่น
พระธาตุ รูปแบบของพระธาตุ สามารถจำแนกได้เป็น 6 กลุ่มดังนี้
- กลุ่มฐานต่ำ เช่น พระธาตุศรีสองรัก อ.ด่านซ้าย จ.เลย สร้างเมื่อ พ.ศ. 2103
- กลุ่มฐานสูง เช่น พระธาตุพนม(องค์ก่อนบูรณะต่อเติม พ.ศ.2483) อ.ธาตุพนม จ.นครพนม
- กลุ่มเรือนธาตุทำซุ้มจรนำ ยอดธาตุมีปลี 4 ทิศ เช่น องค์พระธาตุวัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.ยโสธร
- กลุ่มเรือนธาตุทำซุ้มจรนำ ยอดธาตุบัวเหลี่ยม เช่น พระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย
- กลุ่มยอดธาตุ 8 เหลี่ยม ตัวอย่างเช่น พระธาตุ 8 เหลี่ยมองค์หนึ่งในวัดพระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย ธาตุก่องข้าวเหนียว ในวัดทุ่งสะเดา บ.สะเดา อ.เมือง จ.ยโสธร
- กลุ่มย่อมุม 72 บัลลังก์เรือนธาตุ 8 เหลี่ยม ยอดพระธาตุทรงระฆังคว่ำ ตัวอย่างเช่น พระธาตุย่อเหลี่ยมองค์ใหญ่(รัตนฆราเจดีย์) ในวัดพระธาตุบังพวน อ.เมือง จ.หนองคาย พระธาตุย่อเหลี่ยมองค์เล็ก ในวัดพระธาตุบังพวน อีก 1 องค์ พระธาตุวัดกลาง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ซึ่งทางวัดได้ก่ออิฐปิดหมดแล้วทั้งองค์
พระธาตุศรีสองรัก
พระธาตุพนม
“ธาตุ” ในครั้งแรกนิยมใช้ไม้จึงเรียกว่า “ธาตุไม้” โดยใช้ไม้ถากให้เป็นท่อน 4 เหลี่ยมจตุรัส กว้างยาวไม่เกินด้านละ ๓๐ ซม. แล้วตกแต่งบัวหัวเสาให้วิจิตรพิสดาร ต่อมาได้พัฒนามาใช้การก่ออิฐถือปูน ซึ่งสามารถทำได้ใหญ่โตและแข็งแรงยิ่งขึ้น เรียกว่า “ชะทาย” ซึ่งทำขึ้นจากปูนขาวผสมทราย ยางบงและน้ำหนังเป็นตัวประสาน
ธาตุปูน จำแนกออกได้ตามความสำคัญของผู้ตายดังนี้
- ธาตุปูนบุคคลสามัญ ได้แก่ ธาตุใส่กระดูกของชาวบ้านธรรมดาทั่วๆไป มักทำขนาดไม่สูงใหญ่มีทั้งแบบเรียบ และปั้นปูนประดับเป็นลวดลายบริเวณเรือนธาตุ
- ธาตุปูนบุคคลสำคัญ ได้แก่ ธาตุของนายบ้าน กำนัน ครูใหญ่ หรือ บุคคลที่เป็นที่เคารพนับถือในหมู่บ้าน ตลอดจน ธาตุของเจ้าเมืองหรือลูกหลานผู้สืบทอดในวงศ์ตระกูล การก่อสร้างธาตุให้บุคคลเหล่านี้จะประณีตแตกต่างกว่าธาตุของบุคคลสามัญ
- ธาตุปูนพระสงฆ์ ได้แก่ ธาตุของพระเถระผู้ใหญ่ เจ้าอาวาส ญาคูหรือญาท่าน เป็นต้น มักก่อสร้างสูงใหญ่มีความซับซ้อนมากขึ้น ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ดูเด่นเป็นสง่าในวัด รองมาจาก “พระธาตุ”
นอกจากรูปแบบของ “ธาตุ” และ “พระธาตุ” แล้วยังมีรูปแบบของ “บือบ้าน” หรือ “หลักบ้าน” (ส่วนมากทำด้วยไม้) ของอีสานที่มีลักษณะใกล้เคียงกับ “ธาตุไม้” ของสามัญชน ต่างกันแต่ว่าไม่มีช่องบรรจุอัฐิเท่านั้น นับเป็นศิลปกรรมพื้นบ้านอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ธาตุไม้และธาตุปูน Taad Mai (Wooden Taad) and Taad Poon (Masonry Taad)
ธาตุไม้ คือการนำแท่งไม้ ๔ เหลี่ยมจัตุรัสขนาดประมาณ ๑๕-๒๕ ซม. ความสูงไม่จำกัดมาประดิษฐ์เป็นที่บรรจุอัฐิของสามัญชนนับเป็นงานพื้นฐานในเชิงช่าง เป็นมูลเหตุแห่การสร้างงานสถาปัตยกรรมประเภทอนุสาวรีย์ในโอกาสต่อมา
ธาตุปูน เป็นธาตุที่ทำด้วยปูน ไม่ใช้โครงเหล็ก เป็นงานฝีมือช่างที่พัฒนารูปแบบมาจากธาตุไม้ โดยมีองค์ประกอบของฐานธาตุ เรือนธาตุ และยอดธาตุ การบรรจุอัฐินั้นนิยมบรรจุในเรือนธาตุเป็นส่วนใหญ่ ธาตุปูนนิยมสร้างสำหรับบุคคลสามัญ บุคคลสำคัญ ตลอดจนเจ้านายและพระสงห์
ข้อมูลจากห้องอีสานนิทรรศน์ หอศิลปวัฒนธรรม ม.ขอนแก่น
พระไม้อีสาน (ข้อมูลจาก พระไม้อีสาน รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ)
ความเป็นมาของพระไม้ในภาคอีสาน
การสร้างพระไม้ในอีสานไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่ามีประวัติความเป็นมาและการสร้างอย่างไร ใครเป็นผู้สร้างขึ้นครั้งแรก เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่เป็นเอกสารอ้างอิงชัดเจน จากการศึกษารูปแบบพระไม้อีสานเมื่อเปรียบเทียบกับพระไม้ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะมีลักษณะใกล้เคียงกันมากจนแทบจะแยกขาดจากกันโดยสิ้นเชิงไม่ได้หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นสกุลช่างเดียวกันที่ไดรับและแลกเปลี่ยนอิทธิพลซึ่งกันและกัน นักวิชาการบางท่านได้ให้ความเห็นว่าพระไม้ในอีสานได้รับอิทธิพลมาจากฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง โดยศิลปะแบบล้านช้าง แล้วแผ่ขยายอิทธิพลข้ามมายังฝั่งไทย จากการอพยพโยกย้ายก็ดีหรือจากการถ่ายโอนโดยทางเครือญาติก็ดี
จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ได้กล่าวอ้างสนับสนุนแนวความคิดข้างต้นดังกล่าวคือ ชนชาติลาวได้นับถือพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยอยู่ในจีนในสมัยแผ่นดินขุนหลวงลีเมา (พ.ศ. ๖๑๒) อยู่ในนครงายลาว อาณาจักรหนองแสงแล้ว เป็นพุทธศาสนาแบบมหายาน ภายหลังได้จางหายไปเพราะแพร่หลายอยู่ในชนชั้นสูงเท่านั้นในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ยังนับถือผีฟ้า ผีแถน จนกระทั่งพระเจ้าฟ้างุ้มขึ้นครองราชย์จึงได้นำพุทธศาสนาเข้ามาสู่อาณาจักรล้านช้างใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๒ นับจากนั้นพุทธศาสนาจึงได้เจริญรุ่งเรืองสืบมา
นักวิชาการเชื่อว่าพระไม้ในอีสานแรกเริ่มเดิมที่น่าจะเกิดขึ้นภายหลังสมัยการปกครองของพระเจ้าฟ้างุ้มและน่าจะเริ่มจากการทำพระพุทธรูปประทับเป็นยืนเลียนแบบพระบาง ซึ่งพระเจ้าฟ้างุ้ม ได้อัญเชิญมาจากเมืองอินทปัตนคร (กัมพูชา) ต่อมาจึงได้แพร่กระจายความเชื่อสู่สามัญชน
เนื่องจากพระไม้ประทับยืนค่อนข้างทำได้ยากและไม่เหมาะสำหรับช่างพื้นบ้าน จึงเปลี่ยนมาสร้างพระไม้ประทับนั่งปางต่างๆ แทน ดังนั้นจึงพบเห็นพระไม้ประทับนั่งมากกว่าประทับยืน
ความเชื่อเกี่ยวกับการทำพระไม้ของคนอีสาน
คนอีสานอันหมายรวมทั้งชาวบ้าน ช่างแกะสลักและพระสงฆ์มีความเชื่อในการทำพระไม้หลายประการดังนี้
- เพื่อผลานิสงส์ผลบุญแก่คนสร้างและช่างในอานิสงส์ ภายภาคหน้าและการเกิดในดินแดนของพระศรีอาริยเมตไตย
- เพื่อเป็นพระพุทธบูชา เมื่อช่างแกะแล้วคนอีสานมักนำพระไม้ของตนเองรวมทั้งพระอื่นๆ เข้าพิธีพุทธาภิเษกเพื่อให้พระพุทธปฏิมากรที่สร้างมีความศักดิ์สิทธิ์และนำไปกราบไหว้บูชาแทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
- เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาสร้างแทนองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า
- เพื่อต่ออายุและสืบชะตาให้กับผู้ป่วยหรือเพื่อสะเดาะเคราะห์ต่างๆ
- เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบุพการีและญาติมิตรผู้ล่วงลับ
- เพื่อสร้างพระพุทธแทนตนของพระผู้บวชใหม่ (เพื่อยืนยันและเป็นสักขีพยานในการเข้าสู่เพศบรรพชิตของตน)