ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ทอง ล้อมวงศ์ (หัตถกรรมทองเหลือง)

ทอง ล้อมวงศ์

นายทอง ล้อมวงศ์ 14 เมษายน พุทธศักราช 2468 ที่บ้านปะอาว ต.หนองขอน จ.อุบลราชธานี สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนบ้านปะอาว นอกจากประกอบอาชีพหลักคือการทำนาตามบรรพบุรุษเหมือนกับคนทั่วไปแล้ว เด็กขายของกับมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นช่างหล่อทองเหลือง สืบทอดเจตนารมผู้เป็นปู่ ผู้ที่ได้เชื่อว่ามีความสามารถในวิชาหล่อทองเหลืองฝีมือดีที่สุดของบ้านปะอาวสมัยนั้น

นายทอง ล้อมวงศ์ จึงเริ่มต้นการเรียนรู้วิชาช่างหล่อทองเหลืองอย่างจริงจัง โดยมีปู่เป็นผู้ถ่ายทอดทั้งการออกแบบ การแกะลวดลาย จนมีความชำนาญและมีประสบการณ์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันเป็นวิชาที่ไม่มีในตำรา แต่เป็นการสืบทอดจากตัวบุคคล ซึ่งต้องแสวงหาความรู้และประสบการณ์จากการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริงจนมีความสามารถมาเป็นลำดับ สามารถพัฒนาต่อยอดผลงานขึ้นจากในอดีต จนเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไป ทำให้งานทองเหลืองเป็นที่นิยมอีกครั้ง

จากนั้นเป็นต้นมา ด้วยความรู้ความสามารถในงานหัตถกรรมช่างทองเหลือง ท่านได้ถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้อง เริ่มต้นจากในครอบครัว จนมีความชำนาญจากนั้นขยายไปยังเพื่อนบ้านที่สนใจในหมู่บ้านปะอาวที่เข้ามาเรียนและทำงานร่วมกัน จนกระทั้งมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับมีลูกศิษย์ลูกหามาขอมาเรียนรู้ด้วยจำนวนมาก จนทำให้ท่านได้รับการยกย่องเป็นปราชญ์ในด้านหล่อทองเหลืองของชุมชน และของจังหัดอุบลราชธานี ผลจากความทุ่มเทดังกล่าวทำให้ท่านได้รับการยกย่องจากสำนักงานคณะกรรมการมหาบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อีกด้วย

นายทอง ล้อมวงศ์ เสียชีวิตเมื่อปีพุทธศักราช 2546 ด้วยวัย 78 ปี ซึ่งผลงานของท่าน ทั้งการอนุรักษ์และพัฒนาขบวนการหล่อทองเหลืองของบ้านปะอาว ได้เป็นคุณูปการ่อชาวอีสานทั้งมวล ส่งผลให้ภูมิปัญญาการหล่อทองเหลือง เป็นมูนมรดกตกทอดถึงอนุชนรุ่นหลังให้ได้สืบต่อไป

นายทอง ล้อมวงศ์ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (หัตถกรรมทองเหลือง) เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2550 จากสำนักวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น