ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

สุนทร ไชยรัตนโชติ (สุนทร ชัยรุ่งเรือง) (ศิลปะการแสดง – ลำกลอน)

สุนทร ไชยรัตนโชติ

นายสุนทร ไชยรัตนโชติ หรือที่รู้จักกันในนาม หมอลำสุนทร ชัยรุ่งเรือง เกิดเมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๘๑ ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๗ สิริอายุรวม ๖๕ ปี เป็นบุตรของ นายอ้ม ไชยสมคุณ (ฉายาหมอลำนายอ้มคมขวาน) และ นางทองหมุน บุตรคำโชติ(ฉายาหมอลำทองหมุน ลืมแลง) เริ่มเรียนหมอลำลำกลอนจากบิดา-มารดาเมื่อปี ๒๔๙๓ ซึ่งขณะนั้นอายุได้ ๑๓ ปี นายสุนทรสามารถท่องจำกลอนลำจนจบหลักสูตรได้ภายในเวลา ๑ เดือน โดยที่ลูกศิษย์ของมารดา ๕๐ คน ยังต้องใช้เวลาเรียนถึง ๑ ปี จึงจะจบหลักสูตร ต่อมาเมื่อปี ๒๔๙๕ ได้เข้าไปประกอบอาชีพที่จังหวัดสุพรรณบุรีและจดทะเบียนเป็นบุตรบุญธรรมของ นายบุญ -นางทึ้ม แก้วสระเสน ปี ๒๕๑๓ นายสุนทรและครอบครัวได้อพยพครอบครัวมาประกอบอาชีพอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ จนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต ชื่อของสุนทร ไชยรัตนโชติ หรือ หมอลำสุนทร ชัยรุ่งเรือง เป็นที่รู้จักในฐานะหมอลำชื่อดังชาวมหาสารคาม นักแต่งกลอนลำ ที่มีคารมเฉียบคมในสำนวนภาษาอีสาน สามารถหยุดความคิดผู้ฟังให้มีอารมณ์คล้อยตามได้ราวปาฏิหาริย์และเป็นกวีหมอลำชั้นครู ที่ได้รับความยกย่องนับถือจากบรรดาลูกศิษย์อย่างมากมายจนกระทั่งถึงปัจจุบัน

ด้วยพรสวรรค์ที่ปรากฏให้เห็นตั้งแต่ในวัยเยาว์ และพรแสวงในการฝึกฝนการขับร้องกลอนลำ เด็กชายสุนทร ไชยรัตนโชติ ในวัย ๑๒ ปี ก็ได้เริ่มแสดงบนเวทีเป็นครั้งแรก ได้ค่าตัว ๒๕ บาท โดยแสดงตั้งแต่ ๒๑.๐๐ -๐๖.๐๐ น. ของวันรุ่งขึ้น และเริ่มได้รับงานแสดงมากขึ้นในเวลาต่อมา เริ่มจากการแสดงหมอลำอยู่ในบริเวณเขตบ้านเกิด เช่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น จนกระทั่งย้ายไปที่จังหวัดสุพรรณบุรี ก็ได้รับเชิญให้ไปแสดงหมอลำที่จังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงอยู่เป็นประจำ แต่ชีวิตของการเดินสายแสดงหมอลำของหมอลำสุนทร ชัยรุ่งเรือง ก็ต้องหยุดลงชั่วคราว เมื่อในปีพุทธศักราช ๒๕๐๐ นายสุนทร ไชยรัตนโชติ ได้ขึ้นทะเบียนทหารที่จังหวัดสุพรรณบุรี และถูกเกณฑ์ทหารไปกรมการกองทหารสื่อสาร กรุงเทพมหานคร ในช่วงนี้เองเป็นช่วงเวลาที่ได้เข้าสู่วงการวิทยุครั้งแรก ออกอากาศครั้งแรก ที่สถานีวิทยุ วปก.๑ สื่อสาร รายการรวมภาค ๓ ภาค จนเริ่มมีชื่อเสียง คนรู้จักไปทั่วกรุงเทพฯ และในบางท้องถิ่นที่รับคลื่นวิทยุได้ จนกระทั่งปลดจากทหาร จึงเริ่มมีลูกศิษย์ลูกหามาสมัครเรียนด้วย ซึ่งนายสุนทรเอง ก็ได้รับลูกศิษย์มาเรียนด้วยกัน ๕ คน และแสดงอยู่ที่ภาคกลาง โดยได้พักอาศัยอยู่ที่บ้านภรรยา ต่อมาในปี ๒๕๐๔ ก็ได้มีโอกาสขึ้นไปอุปสมบทเพื่อทดแทนค่าน้ำนมมารดา โดยได้จำพรรษาที่วัดสุวรรณสาละวัน บ้านน้ำสวย จังหวัดหนองคาย ขณะอุปสมบทเป็นพระก็ได้ร่ำเรียนพระปาฏิโมกข์ย่อ เรียนพุทธประวัติ ๒๙ ปริเฉท มงคลทีปนี บารมี ๓๐ ทัศ จนจบทุกอย่างใน ๑ พรรษา เมื่อสึกแล้วก็ได้ลำงานกฐินในเขตจังหวัดหนองคายจนหมด จึงลากลับบ้านภรรยาที่จังหวัดสุพรรณบุรี ต่อมาได้เข้าร่วมแสดงกับคณะหมอลำสุนทราภิรมย์ โดยเป็นถึงตัวนำของคณะ ในปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ ได้ลำประกวดที่โรงหนังรีวิวเฉลิมชาติ และได้รับรางวัลชนะเลิศ ซึ่งเป็นรางวัลชนะเลิศการประกวดครั้งแรกในชีวิต ของ นายสุนทร ไชยรัตนโชติ

ด้วยผลงานอันเป็นเลิศและสร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่สังคมหลายผลงาน สุนทร ไชยรัตนโชติ หรือที่รู้จักกันในนามของ หมอลำสุนทร ชัยรุ่งเรืองจึงนับเป็นบุคคลสำคัญของภาคอีสานผู้เจนจัดและมากด้วยฝีไม้ลายมือในการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสาน และยังเป็นศิลปินผู้บุกเบิกการแสดงกลอนลำเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ นานัปการ เพื่อสังคม ซึ่งได้มีหมอลำรุ่นหลัง ๆ กว่าร้อยละ๘๐ ได้นำผลงานของท่านไปใช้ด้วยความเคารพและนับถือในฝีมือการประพันธ์อันยอดเยี่ยม อาทิ ราตรี ศรีวิไล, สังวาลย์น้อย ดาวเหนือ, สมพงษ์ มาพร และท่านอื่น ๆ อีกมากมาย และถึงแม้ว่าท่านจะล่วงลับจากโลกนี้ไปเมื่อ ๑๐ ปีแล้วก็ตาม แต่ผลงานของท่านทั้งหลายยังคงสถิตอยู่ในดวงใจของชาวอีสานและสังคมไทยมาโดยตลอด กลายเป็นมรดกและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าและเป็นอมตะอยู่เหนือกาลเวลา อย่างไม่มีวันรู้ลืม

ด้วยเกียรติคุณในการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสานกลอนลำ การสร้างสรรค์ผลงานการประพันธ์เพลงลูกทุ่งอย่างหลากหลาย ตลอดจนการอุทิศตนเพื่องานสังคมมาโดยตลอดทั้งชีวิตของการเป็นศิลปินกลอนลำ และปฏิภาณกวีชั้นครูที่บรรดาหมอลำนักแสดงรุ่นใหม่ได้ให้การเคารพ นับถือ นายสุนทร ไชยรัตนโชติ หรือหมอลำสุนทร ชัยรุ่งเรือง จึงสมควรได้รับการเชิดชูเกียรติยกย่องเป็นศิลปินมรดกอีสานผู้เป็นอมตะ รางวัลอมรศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ลำกลอน) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป