ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าวศูนย์ศิลปวัฒนธรรม

ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ ได้จัดโครงการสานสัมพันธ์เครือข่ายนักศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ครั้งที่ 7

มข.มอบรางวัลเชิดชูเกียรติ ศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี ๒๕๖๘
วันอังคารที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๘ รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานในงานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสานและผู้ผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี และวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี ๒๕๖๘ โดยมี รศ.ดร. นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัยขอนแก่น นายวรศักดิ์ วรยศ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปวัฒนธรรม ศิลปินแห่งชาติ ศิลปินมรดกอีสาน ผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ สื่อมวลชน และผู้มีเกียรติจำนวนมากเข้าร่วมในงาน ซึ่งในปีนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติ อมรศิลปินมรดกอีสาน ศิลปินมรดกอีสาน และผู้มีผลงานดีเด่น ด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ จำนวน ๒๙ รายและ ๑ องค์กร ณ ห้องประชุมออดิทอเรียม อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
รศ.นพ. ชาญชัย พานทองวิริยะกุล ประธานในพิธี พร้อมด้วย รศ.ดร.นิยม วงศ์พงษ์คำ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำถวายความเคารพและกล่าวคำถวายอาเศียรวาทราชสดุดี เพื่อเป็นการน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี มีการลำถวายพระพรโดย ดร.ฉวีวรรณ พันธุ ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๓๖ แคน โดย นายพงศธร อุปนิ (อ้น แคนเขียว)
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระปรีชาสามารถในหลากหลายด้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์ และดนตรีไทยซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริมและให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศเป็นเอนกอนันต์ จากพระมหากรุณาธิคุณ พระอัจฉริยภาพ และพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมอันโดดเด่นนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน”
ในพิธีมอบรางวัล ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ ตัวแทนศิลปินมรดกอีสานประจำปี ๒๕๖๘ กล่าวแสดงความรู้สึกว่า “ไม่ว่าจะเป็นคนอีสาน คนไทย ชาวขอนแก่น หรือชาวภูไท แต่ศิลปะและวัฒนธรรมของมนุษย์ในสังคมจะเป็นตัวบ่งชี้อัตลักษณ์ว่าพวกเราคือใคร ที่สำคัญศิลปินไม่ได้ทำงานเพื่อแข่งขันกับใคร แต่ทำขึ้นมาในมิติของวิถีและลีลาชีวิตของมนุษย์ในสังคม ฉะนั้นศิลปะและวัฒนธรรมจึงมีหน้าที่บอกว่าพวกเราคือใคร”
สำหรับผู้ได้รับโล่เชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน ประจำปี ๒๕๖๘ มีดังนี้
อมรศิลปินมรดกอีสาน มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ ๑ ท่าน ได้แก่ นายเลิศ ศรีโชค (ประพันธ์เพลงลูกทุ่ง)
สาขาทัศนศิลป์มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ ๒ ท่าน ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุรสิทธิ์ เสาว์คง (จิตรกรรมไทยร่วมสมัย) และผู้ช่วยศาสตราจารย์คเณศ ศีลสัตย์ (จิตรกรรมร่วมสมัย)
สาขาวรรณศิลป์มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ ๒ ท่าน ได้แก่ ศาสตราจารย์ศุภชัย สิงห์ยะบุศย์ (วรรณกรรมร่วมสมัย) และนายชูเกียรติ ฉาไธสง (วรรณกรรมร่วมสมัย)
สาขาศิลปะการแสดง มีผู้ได้รับการเชิดชูเกียรติ ๑๐ ท่าน ได้แก่
* นายจรัส ลาดนอก (หมอลำจรัส ลิ้นระนาด, ลำกลอนทำนองพุทไธสง)
* นางทุมมา ปะกิระเณย์ (หมอลำปทุมทิพย์ ศรีทอง, ลำเรื่องต่อกลอนทำนองกาฬสินธุ์)
* นายสุวิทย์ สารเงิน (อ้ายเซียงจ่อย หมอลำไทเลย, ลำแมงตับเต่าไทเลย)
* นายภักดี พลล้ำ (ลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่น)
* นายสุพัฒน์ บัวนุภาพ (หมอลำสุพัฒน์ เสียงทอง, ลำกลอนทำนองขอนแก่น)
* นายยิ่งยง บัวงาม (ยิ่งยง ยอดบัวงาม, ขับร้องเพลงลูกทุ่ง)
* นางอำนวย จันโทสึ (เดือนเพ็ญ อำนวยพร, ตลกลูกทุ่งอีสาน)
* นายปรมินทร์ พุทธโคตร (อาวแท็กซี่, ลูกทุ่งหมอลำ)
* นางปุณณภา แก้วไทรเลิศ (รสริน จันทรา, นักแสดง)
* นายชัยบดินทร์ สาลีพันธ์ (ฟ้อนภูไทเรณู)
สำหรับผู้ได้รับรางวัลผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรมสัมพันธ์ประจำปี ๒๕๖๘ มีดังนี้
สาขาอุตสาหกรรมและหัตถกรรม ได้แก่ นางเสงี่ยมจิต จันทร์บุญ (ผ้าทอลายขิด)
สาขาการแพทย์หรือเภสัชกรรมแผนไทย นวดไทย หรือสปา ได้แก่ นายพรมมา จันทะแสน (แพทย์แผนไทย)
สาขานิเวศวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ นายจีระศักดิ์ ตรีเดช
สาขาผู้ประกอบการชุมชน กลุ่มชุมชน หรือวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ นายสวาท อุปฮาด (ธุรกิจภูมิปัญญาอาหารอีสาน)
สาขาศิลปกรรม มี ๖ ท่าน ได้แก่
* นายสังคม ทองมี (ทัศนศิลป์)
* นางทองปน แทนสา (หมอลำทองปน จันทร์คำภา, ลำกลอนทำนองพุทไธสง)
* นางนันทนา การเกษม (หมอลำนันทนา แก้วเสด็จ, ลำกลอนประยุกต์, ตลกหมอลำ)
* นายสมนึก ชื่นนิรันดร์ (ยายหวึ่ง ใจเกินร้อย, ตลกหมอลำ)
* นายพีรพัฒน์ สวัสดิ์มูล (พี สะเดิด, ขับร้องเพลงลูกทุ่ง)
* นายพงศพร อุปนิ (อ้น แคนเขียว, ดนตรีพื้นบ้านอีสาน แคน)
สาขาภาษาและวรรณกรรม มี ๒ ท่าน ได้แก่ พระครูวิเวกธรรมธารี (พวงพิด ธมฺมธโร, วรรณกรรมพุทธศาสนา) และ นายเมตต์ เมตต์การุณ์จิต (ภาษาถิ่นโคราช)
สาขาศาสนาและประเพณี ได้แก่ พระพิพัฒน์วชิราคม วิ. (เจริญ ฐานยุตฺโต)
สาขาอาหารและโภชนาการ ได้แก่ นายสุทธิพงษ์ สุริยะ (ออกแบบอาหาร)
สาขาสื่อสารวัฒนธรรม ได้แก่ นิตยสารรายเดือน “ทางอีศาน”
งานเชิดชูเกียรติศิลปินมรดกอีสาน สืบสานวัฒนธรรมสัมพันธ์ในครั้งนี้ ปิดท้ายด้วยการแสดงจากศิลปินมรดกอีสานและผู้มีผลงานดีเด่นวัฒนธรรมสัมพันธ์ ประจำปี ๒๕๖๘ พร้อมการแสดงขับร้องเพลงลูกทุ่งหมอลำ โดย หมอลำสมจิตร บ่อทอง
โดยรางวัลศิลปินมรดกอีสานได้เริ่มมอบรางวัลให้กับศิลปินผู้สร้างสรรค์งานศิลปะมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ จนถึงปัจจุบันรวมระยะเวลากว่า ๒๐ ปี โดยจะมอบรางวัลให้กับศิลปินที่มีผลงานโดดเด่นทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับประเทศซึ่งจะต้องสร้างสรรค์ผลงานมาไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี และปัจจุบันยังสร้างสรรค์ผลงานเพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับศิลปินและเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้สืบสานส่งเสริมอัตลักษณ์วัฒนธรรมของอีสาน
สามารถดาวโหลด ชมภาพเพิ่มเติมได้ที่ >> https://kku.world/yjpkth