ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ระพินทร์ พุฒิชาติ (น้าซู) (เพลงเพื่อชีวิต)

ระพินทร์ พุฒิชาติ

นายระพินทร์ พุฒิชาติ เกิดเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๖ ปัจจุบันอายุ ๖๒ ปี เกิดที่

ตำบลฟ้าหยาด อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร นายระพินทร์ พุฒิชาติ มีชื่อเล่นเดิมว่า ต้อย หรือที่แฟนคลับเรียกกันทั่วไปว่า น้าซู ส่วน ชื่อซู เป็นชื่อที่เขาอยู่วงสองวัยครั้งแรก จนถึงปัจจุบัน เป็นนักร้อง นักแต่งเพลง นักดนตรีเพื่อชีวิต เคยเป็นสมาชิกวงสองวัย ต่อมาได้ร่วมกับศักดิ์สิทธิ์ เชื้อกลาง ก่อตั้งวงกะท้อน และวงซูซู ปัจจุบันดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาเครือข่ายศิลปินเพื่อชีวิต

ซูซูมีสตูดิโออัลบั้มชุดแรก คือ “สู่ความหวังใหม่” ในปี พ.ศ.๒๕๓๒ โดยมี ยืนยง โอภากุล รับหน้าที่โปรดิวเซอร์ร่วมแต่งเพลง กีตาร์โซโล่ และช่วยร้องเป็นบางเพลง และยังได้ เรืองยศ พิมพ์ทอง นักเรียบเรียงเสียงประสานจากอาร์เอสเข้าร่วมวงอีกแรงหนึ่งในตำแหน่งมือคีย์บอร์ดบันทึกเสียง (ไม่ปรากฏหน้าตาบนปกเทป) โดยเปิดตัวด้วยเพลง “อับดุลเลาะห์”เป็นเพลงที่กล่าวถึงการดำรงชีวิตของผู้คนในชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกี่ยวพันถึงโครงการฮารับปันบารู แต่เพลงที่โด่งดังมากที่สุดกลับเป็นเพลง “บ่อสร้างกางจ้อง” ที่สร้างชื่อเสียงอย่างสุดขีดให้กับวงรวมถึง ทอม ดันดี ผู้ขับร้อง ทำให้จังหวะสามช่า

กลับมาคึกคักจนกลายเป็นเพลงตลาดไปในขณะนั้นในปี พ.ศ.๒๕๓๓ ได้ออกอัลบั้มชุดที่สอง คือ “ปะการังไปไหน” โดยได้เพิ่มสมาชิกเข้ามาสร้างสีสันด้วยเสียงเครื่องเป่าคือ สมบัติ พรหมมา มือแซ็กโซโฟนจากวงลาโคนิคส์ และ ต่อศักดิ์ จันทร์กลัด ในตำแหน่งคีย์บอร์ด (ภายหลังเปลี่ยนเป็นสุริยันต์ ซื่อสัตย์ จากวงมิติ) มีเพลงดังคือ “มยุรา” ซึ่งร้องโดย ทอม ดันดี โดยเป็นเพลงที่กล่าวถึงความในใจที่มีต่อ มยุรา เศวตศิลา ดาราและพิธีกรตลอดกาล โดยมยุราได้แสดงมิวสิกวีดิโอด้วยในบทบาทพิธีกร จากนั้นซูซูมีผลงานเพลงตามมาอีกหลายชุด มีการเปลี่ยนแปลงสมาชิกอยู่หลายครั้ง แต่มีสมาชิกที่ยืนหยัดอยู่คนเดียว คือ น้าซู ส่วน ทอม ดันดี ได้แยกตัวเป็นศิลปินเดี่ยว มีผลงานแสดงภาพยนตร์และละครหลายเรื่อง

นายระพินทร์ พุฒิชาติ ถือเป็นต้นแบบของนักร้อง นักดนตรี และนักแต่งเพลงที่นำเอาดนตรีพื้นบ้านแบบอีสานไปใส่ในการแสดงดนตรี พร้อมทั้งเป็นบุคคลที่สามารถนำเอาความเป็นอีสาน ทั้งวิถีชีวิตศิลปวัฒนธรรมไปเผยแพร่ในรูปแบบดนตรี เพื่อชีวิตได้จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้างอีกด้วย นายระพินทร์ พุฒิชาติ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (เพลงเพื่อชีวิต) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๙ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติ สืบไป