ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ (ดนตรีพื้นบ้าน โหวด)

ทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์

นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์เกิดเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม พุทธศักราช 2498 ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในครอบครัวของนักดนตรีพื้นบ้าน จึงได้มีโอกาสคลุกคลีอยู่ในวงดนตรีมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ส่งผลทำให้เกิดความสนใจในเครื่องดนตรีทุกประเภท ทั้ง พิณ แคน โปงลาง รวมถึงโหวด จึงได้เรียนรู้จากคนใกล้ชิดในครอบครัวบ้างจาดนักดนตรีอาชีพบ้าง จนสามารถพัฒนาทักษะ เชิงชั้นการดนตรีอีสานขึ้นอย่างต่อเนื่องในเครื่องดนตรีแทบทุกชนิด ซึ่งสามารถนำมาเล่นร่วมกับ พิณ แคน และโปงลาง

ในช่วงพุทธศักราช 2519 นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์เริ่มตั้งวงดนตรีเล็กๆ ขึ้นในหมู่บ้าน โดยการรวมญาติพี่น้องสานตระกุลมาร่วมเล่น ในนามวง “ โหวดเสียงทอง” ซึ่งเป็นวงดนตรีพื้นบ้านของจังหวัดร้อยเอ็ดที่นำมาเสนอศิลปะพื้นบ้าน ทั้งที่เป็นแบบอนุรักษ์นิยม ผสมกับความทันสมัยตามค่านิยมในขณะนั้นความโด่งดังของคณะโหวดเสียงทอง ซึ่งมีนายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ เป็นผู้บรรเลงโหวด ทำให้เป็นที่รู้จักไปทั่วจังหวัดร้อยเอ็ดและจังหวัดใกล้เคียงและยังส่งให้ท่านได้เป็นผู้ถ่ายทอดศิลปะดนตรีในด้านนี้ในสถาบันการศึกษาชั้นนำของภาคอีสาน อาทิ วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด และมหาวิทยาลัยสารคาม รวมทั้งได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษในสถาบันกลางหลายแห่ง นอกจากนั้น ความชำนาญพิเศษในการบรรเลงโหวดของนายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ทำให้โหวดกลายเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นสัญลักษณ์ของจังหวัดร้อยเอ็ดในเวลาต่อมาและได้รับการเชื้อเชิญนำผลงานเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ อาทิ บันทึกเทป บรรเลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งก็ส่งผลให้ตัวท่านได้รับชื่อเสียงมาขึ้นตามลำดับ และได้เดินทางไปแสดงฝีมือในการบรรเลงดนตรีอีสานในต่างประเทศมากว่า 10 ประเทศ จนกระทั่งปัจจุบันท่านยังทำหน้าที่ ขับเคลื่อนวัฒนธรรมด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานอันทรงคุณค่าต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์นับเป็นบุคคลตัวอย่างทางด้านวัฒนธรรมที่น่ายกย่องท่านหนึ่งเนื่องจากเป็นผู้มีความรู้มีความสามรถในการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านอีสาน ในระดับสูงหลายประเภทเช่น พิณ แคน โปลง และโหวด เป็นต้น นับว่าเป็นผู้ทำหน้าที่สืบสาน ถ่ายทอด เผยแพร่และพัฒนา วัฒนธรรมทางด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานให้คงอยู่เป็น มูงมัง แห่งบรรพชน ส่งผลสู่ลูกหลานในยุคต่อไป

นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ จึงได้รับการเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง ( ดนตรีพื้นบ้าน โหวด ) ประจำปีพุทธศักราช 2550 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น