ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ดนตรี ภูมิปัญญา และเทคโนโลยี

ดนตรีและการแสดงของชาวอีสานเกี่ยวข้องกับกิจกรมที่เป็นพิธีกรรม การละเล่นและกิจกรรมนันทนาการ ดนตรีและการแสดงของชาวอีสานยังสะท้อนถึง โลกทัศน์ การดำเนินชีวิตและการปรับตัวกับสภาพแวดล้อม
ดนตรีและการแสดงของชาวอีสาน มีลักษณะตามท้องถิ่นและการผสมผสานกับวัฒนธรรมที่อยู่ใกล้เคียง เช่นชุมชนอีสานตอนบนมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวัฒนธรรมกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ส่วนชุมชนอีสานทางตอนล่างมีความใกล้ชิดและผสมผสานกับวัฒนธรรมเขมร

หมอลำ
ความเป็นมาของหมอลำ
หมอลำในภาคอีสานมีความหมายถึงผู้เชี่ยวชาญในการขับร้องรวมถึงการแต่งกลอนและการแสดงออกทางนาฎศิลป์ “หมอ” ในภาษาอีสานหมายถึง ผู้เชี่ยวชาญในทางใด ทางหนึ่ง ส่วน “ลำ” เป็นลักษณะนามเข้าใจว่ามาจากลำไม้ไผ่ ซึ่งบรรจุจารึกบทกลอน หนังสือผูกในสมัยโบราณ

หมอลำพิธีกรรม หมอลำนอกจากจะเป็นศิลปะการขับร้องและแสดงเพื่อความบันเทิงแล้ว ยังนำไปใช้ในการประกอบพิธีกรรมโดยมีจุดหมาย เพื่อติดต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ผีแถนหรือผีฟ้า เพื่อลงมาเยียวยารักษาไข้ ซึ่งพบได้ทั่วไปในเขตภาคอีสาน โดยจะมีชื่อเรียกต่างกันออกไป เช่น หมอลำผีฟ้า หมอเหยา

หมอลำกลอน หมอลำกลอนเป็นการแสดงที่เป็นความบันเทิง ใช้เป็นมหรสพในงานบุญมงคลและอวมงคล ผู้ลำ หรือหมอลำ ต้องเป็นผู้ที่ท่องจำกลอนลำไว้เป็นจำนวนมาก และจะเลือกสรรนำกลอน ลำบทใดมา ลำก่อนหลังก็ได้ แต่ต้องใช้ปฏิภาณประยุกต์ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในการโต้ตอบกับคู่ลำและสามารถดึงดูดและกระตุ้นความสนใจของผู้ฟังให้ติดตามได้ตลอดเวลา

การแสดงลำกลอนมีชนิดการแสดงอยู่หลายลักษณะ เช่น
– ลำเกี้ยว: หมอลำคู่ชาย หนึ่งหญิงหนึ่ง
– ลำโจทย์แก้: จะใช้ชายคู่ หญิงคู่หรือชาย หญิงก็ได้
– ลำสามเกลอ: จะใช้หมอลำชายสามคนร่วมกัน
– ลำเชิงชู้: จะใช้หมอลำชายสองหญิงหนึ่งหานักดนตรีหรือเครื่องดนตรี ประกอบจะใช้เพียงซอเป็นเครื่องบรรเลงแทนปี่และใช้โนตีกำกับจังหวะ

เพลงโคราช
เพลงโคราช เริ่มเล่นตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด สันนิษฐานว่าประยุกต์มาจากการเล่นเจรียงของชาวเขมรผสมผสานกับการเล่นเพลงฉ่อยทรงเครื่องของภาคกลาง แต่ใช้คำโคราชบ้างคำไทยบ้าง ประกอบเป็นเพลง เพลงโคราชในระยะแรกจะเล่นแบบเพลงก้อม ซึ่งเป็นเพลงสั้น ๆ โต้ตอบกัน เพลงโคราชมีทั้งแบบการเล่น เป็นพิธีการ (หมอเพลง) เพื่อฉลงอในงานต่าง ๆ และการเล่นของชาวบ้านในยามว่าง เพื่อความสนุกสนาน เช่น การลงแขก ไถนา เกี่ยวข้าวเครื่องดนตรีที่สำคัญในอีสาน

แคน
แคน เป็นเครื่องดนตรีประเภทเครื่องลม ชนิดที่มีลิ้นอิสระ เสียงแคน เกิดจากการเป่าหรือดูดกระแสลมผ่านลิ้นแคน แคนเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมแพร่หลายที่สุดของชาวอีสานมาตั้งแต่โบราณและถือว่าแคน เป็นสัญลักษณ์ของชาวอีสาน ไม่มีหลักฐานว่าแคนเกิดขึ้นเมื่อใด ใครเป็นผู้คิดค้น หากไม่มีหลักฐานจากลอยสลักขวานทำด้วยสำริดสมัยวัฒนธรรมดองซอน ทำให้เชื่อว่าแคนได้เกิดขึ้นมาหลายพันปีแล้ว
แคนเป็นเครื่องดนตรีที่มีความไพเราะ การเป่าจะใช้มือทั้งสองข้าง บังคับเสียงทำให้เสียงแคนที่ออกมานั้นมีทั้งทำนองและเสียงประสาน เสียงสอดแทรกแสดงถึงอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ อย่างสมบูรณ์ และเมื่อได้หมอแคนผู้มีความชำนาญเป่าตาม “ลาย” (ทำนองพื้นบ้านอีสาน) ก็ยิ่งเพิ่มความไพเราะจับใจมากยิ่งขึ้น

โปงลาง
โปงลาง เป็นเครื่องดนตรีประเภทตีเคาะทำนอง มีลักษณะคล้ายระนาดในดนตรีไทย ลูกโปงลางจะทำจากไม้เนื้อแข็ง นิยมใช้ไม้มะหวด ยิ่งได้ไม้มะหวดยืนตายจะได้เสียงดีเป็นพิเศษ นิยมใช้ไม้ขนาดใหญ่ประมาณท่อนแขนแล้วนำมาถากกลึงตบแต่งเจาะรูสำหรับร้อยลูกระนาด 2 รู เทียบระดับเสียงตามเสียงแคนมี 5 เสียง คือ โด เร มี ซอล ลา โดยเริ่มที่เสียงต่ำไปจนถึงซอลสูง รวมทั้งหมด 12 ลูก เวลาเล่นให้แขวนเป็นแนวเฉียงทำมุมประมาณ 30-45 องศากับพื้นให้ลูกใหญ่เสียงทุ้มอยู่ด้านบนแล้วเรียงลำดับลงมาเรื่อย ๆ ในสมัยโบราณเวลาเล่นผู้เล่นจะผูกปลายด้านหนึ่งของผืนโปงลางไว้กับเท้าผู้เล่น ใช้ผู้เล่นโปงลางผืนเดียวพร้อมกันทีละ 2 คน คนหนึ่งเรียก “หมอเคาะ” ทำหน้าที่เคาะทำนองเพลง อีกคนหนึ่งเรียก “หมอเสิบ” ทำหน้าที่เคาะเสียงประสานและทำจังหวะ โดยอยู่ทางขวามือของหมอเคาะ การบรรเลงโปงลางจะบรรเลงได้ทั้งบรรเลงเดี่ยวและบรรเลงรวมวงกับเครื่องดนตรีอื่น ๆ เช่น แคน พิณ ซอ เป็นต้น ทำนองเพลงที่ใช้จะบรรเลงเพลงพื้นบ้านตามลายแคน เพลงไทยเดิม เพลงลาว และเพลงสากลที่มีสากลเสียงเพนทาโทนิก ( pentatonic scale)

พิณ
พิณ หรือ ซุง เป็นเครื่องดีดประเภทมีสาย จำพวกเดียวกับ ซึง กระจับปี่ จะเข้ ใช้บรรเลงได้ทั้งทำนองเพลงและประสานเสียงเป็นเครื่องดนตรีที่นิยมแพร่หลายในภาคอีสานรองจากแคน พิณพื้นเมืองของภาคอีสานทำจากไม้ซุงท่อนเดียว ทำให้บางท้องถิ่นเรียกว่า ซุง ไม้ที่นิยมทำพิณ คือ ไม้ขนุน เพาะถาด สิ่วได้ง่าย ให้เสียงเพะสดใส ขนาดของพิณจะขึ้นอยู่กับขนาดของท่อนไม้ และความต้องการของผู้ทำ สันนิษฐานว่าพิษเป็นเครื่องดนตรีที่ได้รับอิทธิพล จากวัฒนธรรมของอินเดียสมัยโบราณ แล้วดัดแปลงให้เข้ากับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวอีสาน ทั้งด้านความประณีต การประดิษฐ์ และการตกแต่งวัสดุที่ใช้ในการทำพิณเป็นวัสดุที่มีในท้องถิ่น ในส่วนของการบรรเลงพิณจะบรรเลงได้ทั้งเดี่ยวและรวมกับเครื่องดนตรีที่มีระดับเสียงครบ 7 เสียง ตามระดับเสียงสากล จึงให้สามารถบรรเลงได้ทั้งเพลงพื้นบ้านอีสาน ลายแคนต่าง ๆ เพลงไทยเดิม และเพลงสากล

โหวด
โหวด เป็นเครื่องเป่าเปิดไม่มีลิ้นทำด้วยไม้ลูกแคน (ไม้กู่แคน) เสียงจะเกิดจากกระแสลมที่ผ่านไม้กู่แคน แคนขนาดลิ้นยาวแตกต่างกันตามระดับเสียงสูงต่ำของไม้กู่แคน ซึ่งนำมาติดอยู่รอบ ๆ แกนกลาง แกนกลางจะทำด้วยไม้ไผ่ติดไม้กู่แคน ด้วยขี้สูด (ขันโรง) โหวดเส้นจะประกอบด้วยไม้กู่แคน 6-9 ลำ เวลาเป่าจะหมุนไปรอบ ๆ ปาก เลือกเป่าเสียงตามต้องการ โหวดเป็นเครื่องดนตรีที่มีมาตั้งแต่โบราณ ซึ่งจะมีการเล่นสะแนโหวด เป็นการละเล่นอย่างหนึ่งของชาวอีสาน โดยผู้เล่นจะทำเป็นบ่วง 2 บ่วง รวบชายรวมกัน คล้องส่วนหัวและส่วนหางของโหวด แล้วแกว่งเป็นรูปวงกลมรอบ ๆ ตัว เสียงโหวดจะดัง “แงว แงว” เรียกว่า การแงวโหวด พอแงวเสร็จก็จะปล่อยบ่วงโหวดให้ลอยไปในอากาศ เสียงดัง “โว โว” เรียกว่าการทิ้งโหวดเป็นตัวตัดสิน ปัจจุบันมีการพัฒนาโหวดให้เป็นเครื่องดนตรีเล่นได้ครบ 7 เสียง เสียงตามระดับเสียงสากล นำมาเล่นรวมวงกับเครื่องดนตรีชนิดอื่น

กลองเส็ง
กลองเส็ง หรือ กลองกิ่ง เป็นกลองสองหน้า หุ่นกลองทำด้วยไม้ขึงหน้าด้วยหนังวัว ดึงหน้าด้วยเชือกหนัง เวลาตีจะมีเสียงดังมาก ในสมัยโบราณใช้เป็นกลองดึกตีให้สัญญาณการรบต่อมาเมื่อบ้านเมืองสงบศึกชาวบ้านนำมาใช้ตีแข่งกันเรียกว่า เส็งกลอง (เส็ง ในภาษาอีสานแปลว่า การแข่งขัน) นิยมบรรเลงเพื่อความบันเทิง ประชันขันแช่ง เอาชนะกันโดยมีกรรมการเป็นผู้ตัดสินชี้ขาด มักตีในงานบุญต่าง ๆ โดยเฉพาะบุญบั้งไฟ บุญสงกรานต์และตีประกอบฟ้อนในขบวนแห่ต่าง ๆ

กลองกันตรึม
กลองกันตรึม หรือ โทน เป็นกลองสองหน้า ทำด้วยไม้ขึงด้วยหนัง ใช้ในการตีประกอบวง ที่เรียกว่าวงกันตรึม มาจากเสียงดังโจะพรึม พรึม ชาวบ้านจึงพากันเรียก โทนที่ตีประกอบในวงกันตรึมว่า กลองกันตรึม

วิถีชีวิต – ความเชื่อ

อีสานเป็นสังคมเกษตรกรรมมีความผูกพันกับธรรมชาติอย่างใกล้ชิดและสืบทอดกันมายาวนาน ทั้งการสั่งสมความคิด ภูมิปัญญา ศรัทธาและความเชื่อในหลายรูปแบบ เช่น ความเชื่อในเรื่องบุญ-บาป ขวัญ-วิญญาณ เทวดา-ผีและสิ่งลึกลับอื่น ๆ

ผีฟ้า ผีแถน
ชาวอีสานเชื่อว่าผีฟ้าหรือผีแถบเป็นเจ้าแห่งผีเป็นผู้สร้างโลกและสรรพสิ่งต่าง ๆ ขึ้นมาในตำนานเรื่องขุนบรมได้กล่าวถึงการดำเนิดโลกมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายว่า เมื่อขุนบรมลงมาครองเมืองได้ 9 ปีเกิดเครือเขากาดขึ้นในบริเวณกลางสระน้ำและไชชอนไปตามต้นไทรใหญ่จนบดบังแสงอาทิตย์ทำให้โลกอยู่ในความมืด เดือดร้อนถึงผีแถนหรือแถนฟ้าคื่น ผู้ส่งให้ขุนไล ขุนใยและแม่ย่าง่ามลงมาตัดเครือเขากาดพร้อมกับให้แถนชี แถนสิ่วเจาะผลน้ำเตาปุ้ง (ผลน้ำเต้าขนาดใหญ่) 2 ผล ทำให้มนุษย์สัตว์สิ่งของพืชพันธุ์ต่าง ๆ หลั่งไหลออกมาจากน้ำผลน้ำเต้าปุ้งนั้น กล่าวกันว่าผีฟ้าจะคอยช่วยเหลือมนุษย์เมื่อยามประสบภัยพิบัติ และเป็นผีที่อยู่ในระดับสูงกว่าผีชนิดอื่น ๆ ชาวอีสานทุกท้องถิ่นจึงนับถือผีฟ้ากันอย่างจริงจัและมีพิธีกรรมเกี่ยวข้องกับผีฟ้าหลายลักษณะ เช่น การทำบุญบั้งไฟเดือนหก เป็นต้น

แถน เป็นคำเรียกโดยความหมายรวมหมายถึง เทวดา ซึ่งมีอยู่หลายระดับ แถนที่เป็นใหญ่หรือแถนหลวงนั้นเชื่อกันว่าเป็นพระอินทร์ ผีฟ้าหรือผีแถนมักจะมีเชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ เช่น ผีหลวง ผีไท้ ผีไทเทิง แถนแนน แถนคอ แถนเคาะ แถนชั่ง แถนเถือกหรือฟ้าแถน เป็นต้น ซึ่งชื่อดังกล่าวมักจะมีความหมายโดยนัยที่เกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตของชุมชนนั้น ๆ ด้วย เช่น

แถนแนน เป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตและส่งมนุษย์ให้มาเกิดในโลก

แถนเคาะ เป็นแถนที่ทำให้เกิดการเจ็บไข้ได้ป่วยบันดาลให้เกิดเคราะห์ร้ายหรือภัยพิบัติแก่มนุษย์

แถนแม่นาง ทำให้มนุษย์เติบโต บันดาลให้มีน้ำนมเลี้ยงทารก เป็นต้น

พญานาค
ตามตำนานอุรังคธาตุ กล่าวถึงพญานาคสองตัวอาศัยอยู่ที่หนองแส ประเทศจีนเกิดผิดใจกันเรื่องแบ่งปันอาหารทำให้สู้รับกันเพื่อครองความเป็นใหญ่อยู่ถึงเจ็ดปีสร้างความเดือดร้อนไปทั่วทั้งมนุษย์ สัตว์และเทวดา
เมื่อพระอินทร์ทราบเรื่องจึงตรัสให้หยุดรบกัน และมีเทวราชโองการว่าให้นาคทั้งสองสร้างแม่น้ำออกจากหนองแสกันคนละสาย พญาสุทโทธนาคขุดดินเป็นคลองลึกผ่านเทือกเขาบ้างอ้อมโค้งภูเขาบ้าง จนถึงตอนใต้จังหวัดหนองคายเกิดหลงทิศจึงย้อนขึ้นไปทางเหนือ และวกกลับเกิดเป็นบึงขนาดใหญ่ขึ้นเรียกว่า “บึงโขงหลง” หรือบึงของหลงปัจจุบัน คือท้องที่อำเภอบึงโขงหลง จังหวัดหนองคาย โขงน่าจะมาจากคำว่าโค้ง นอกจากนี้ยังได้เรียก สหาย คือ พญาชีวายนาคและพญาธนมูลนาคมาช่วยขุดคลองที่พญาชีวายนาคขุดได้ กลายเป็นแม่น้ำชีในเวลาต่อมา ส่วนคลองที่พญาธนมูลนาคมาช่วยขุดกลายเป็นแม่น้ำมูล แม่น้ำ 3 สายที่เป็นแม่น้ำสายหลักของชาวอีสานและเชื่อกันว่า แม่น้ำทั้งสามสายยังคงเป็นที่อยู่ของพญานาคและการเกิดบั้งไฟพญานาคด้วย เมื่อสร้างแม่น้ำโขงเสร็จแล้วพญาสุทโธนาคจึงไปเฝ้าพระอินทร์ ณ ดาวดึงส์ทูลขอพระอินทร์ว่าตัวข้าเป็นเชื้อชาติพญานาคถ้าจะให้อยู่ในโลกมนุษย์นานก็ไม่ได้ ขอขึ้นลงระหว่างบาดาลและโลกมนุษย์ 3 แห่ง และทูลถามถึงพื้นที่ที่แน่นอนว่าจะให้ครอบครอง ณ ที่ใด พระอินทร์จึงกำหนดให้มีรูปพญานาค 3 แห่ง คือ ที่ธาตุหลวง นครเวียงจันทร์ ที่หนองคันแท และที่พรหมประกายโลก (คำชะโนด)

พญานาค การสร้างเมืองชาวเมืองหนองคายและชาวเวียงจันทร์ยังมีความเชื่อกันว่าเวียงจันทร์ยังมีความเชื่อกันว่าเวียงจันทร์และเวียงคำ (ตำบลเวียงคุกจังหวัดหนองคาย) นั้น พญานาคเป็นผู้สร้างในตำนานว่าท้าวจันอ้วยส่วย (พุงป่อง) พ่อค้าจากเมืองศรีโคตรบูรณ์ขึ้นมาค้าขายที่นี้และจับเอี่ยน (ปลาไหล) ได้แต่เกิดสงสารเลยปล่อยปลาไหลนั้นไปกลายเป็นพญาสุวรรณนาคและเสกให้เป็นคนรูปร่างงามสร้างเมืองจันทบุรี (เวียงจันทร์) ให้ครองเมืองและสมรสกับนางอิน ส่วนธิดาพ่อค้าคำบางอภิเษกเป็นพญาจันทบุรีประสิทธิศักดิ์ (บุรีจันอ้วยส่วย) เจ้าเมืองจันทบุรีทั้งเรียกบริวารมาปกปักษ์รักษาด้วยรวม 14 คน เมืองที่พญานาคสร้างมีล้างสอง หนองสาม สามสี่ ศรีห้า (ศรีห้า คือ ศรีเมือง 5 แห่งได้แก่ นาเหนือ นาใต้ พานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ หาดทรายพ่อหลำแล หาดทรายหน้าโรงแรมล้านช้างและตุตำ ตำบลเวียงคุก จังหวัดหนองคาย)
นอกจากนี้คนอีสานยังเชื่อว่าพญานาคเป็นสัญลักษณ์ทางน้ำและสัญญลักษณ์แห่งพลัง ซึ่งคุ้มครองป้องกันอันตรายได้

หมอลำผีฟ้า
การลำผีฟ้า คือการรักษาผู้ป่วยของชาวอีสาน โดยผู้ลำจะทำหน้าที่คล้ายเป็นร่างทรงเพื่อติดต่อให้ผีมาช่วยเหลือเยียวยารักษาไข้ให้กับผู้ป่วย การอยู่กับผีโดยการลำรักษาเป็นวิธีการที่ชาวบ้านชอบมาก นอกจากจะได้มีการรวมญาติแล้วยังมีการร้องรำทำเพลงกันอย่างสนุกสนานด้วยการลำรักษา แบ่งเป็น 2 ระดับ คือ

1. ลำทรง การรักษาด้วยลำทรงเป็นวิธีการแรกชาวบ้านเลือกผีให้เจ็บป่วยด้วยการลำส่องดูว่าเป็นผีที่อยู่ในโลกมนุษย์ เช่น ผีเมือง ผีภู ผีป่า ผีตาแฮก ผีเชื้อ ผีบ้าน ผีปู่ตา ผีน้ำ หรือไม่?………… หัวหน้าคณะลำทรงจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยของคนไข้มาเข้าทราง จากนั้นจะให้ลูกน้องเป็นผู้ถาม เช่น ถามว่าเจ้าเป็นผีอะไร?….. มาจากไหน?…. มาทำให้คนไข้เจ็บป่วยด้วยเหตุใด?… หรือญาติพี่น้องไปทำผิดอันใด ผีที่มาเข้าทรงก็จะบอกว่าทำผิดอันใด และต้องทำการขอขมาอย่างไร เครื่องเซ่นไหว้มีอะไรบ้าง ….

2. ลำผีฟ้า การรักษาด้วยการลำผีฟ้ามีอยู่ 2 สาเหตุ คือรักษาด้วยลำทรงแล้วไม่หายเนื่องจากผีต่าง ๆ ไม่ยอมรับการขมาจำต้องเชิญผีฟ้ามาช่วยรักษาเยียวยา เพราะผีฟ้ามีอิทธิฤทธิ์มากกว่า อีกสาเหตุหนึ่งคือเมื่อลำส่องดูแล้วปรากฎว่าอาการเจ็บป่วยนั้นเป็นการผิดต่อผีฟ้าก็จะเข้าทรางอัญเชิญผีฟ้ามารักษาการรักษาด้วยผีฟ้าจงแก่กล้ากว่าลำทรง นอกจากนี้ยังต้องมีข้อห้าม (ขะลำ) มากมาย เช่นห้ามใครมายืมหรือขอสิ่งขอในบ้าน เป็นต้น

ผีปู่ตา
ชาวอีสานเชื่อกันว่าผีปู่ตาเป็นวิญญาณของบรรพชนประจำหมู่บ้านและชุมชนจะร่วมกันสร้างศาลปู่ตาหรือชาวอีสานเรียกว่าตูบตาปู่ ขึ้นประจำทุกหมู่บ้านผีปู่ตาจะคอยคุ้มครองสมาชิกทุกคนในหมู่บ้านรวมไปถึงสัตว์เลี้ยง นอกจากนี้ยังเชื่อว่าผีปู่ตาสามารถแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหารย์ดลบันดาลให้สิ่งที่ชาวบ้านปรารถนาเป็นจริงอีกด้วย
ตูบปู่ตาจะต้องสร้างบนพื้นที่ที่เป็นเนินสูงโนนโคกหรือดอนซึ่งน้ำท่วมไม่ถึง มีสภาพป่าไม้ หนาทึบ ร่มครึ้ม มีสัตว์ป่าชุกชนหลากหลายพันธุ์ เสียงร้องของสัตว์ประสานกับเสียงเสียดสีของต้นไม้ ทำให้เกิดบรรยากาศที่น่าสะพรึงกลัวเพื่อทำให้บริเวณศาลปู่ตา ดอนปู่ตาหรือดงปู่ตาดูขลังและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้นศาลปู่ตาหรือตูบตาปู่ที่นิยมสร้างมี 2 ลักษณะคือ
1.ใช้เสาหลักเพียงต้นเดียวเหมือนศาลพระภูมิทั่ว ๆ ไปแล้วสร้างเป็นเรือนยกบนปลายเสา
2. ใช้เสาสี่ต้นแล้วสร้างโรงเรือนหรือศาลให้มีขนาดเล็กหรือใหญ่ตามต้องการ โดยทั่วไปจะสร้างให้มีห้องโถงเพียงห้องเดียว ภายในเป็นที่สำหรับวางสิ่งของเครื่องใช้ที่จำเป็นและวัสดุที่แกะสลักจากไม้หรือรูปปั้นตามความเชื่อว่าเป็นสิ่งที่ปู่ตาต้องการ เช่น รูปปั้น คน สัตว์บริวาร เป็นต้น ส่วนด้านหน้าตูบหรือศาลมักสร้างให้มีชานยื่นออกมาเพื่อเป็นที่ตั้งวางเครื่องบูชาและเครื่องเซ่นไหว้
พิธีบ๋า (จังหวัดเลยเรียกบะหรือบะบน) การบ๋าเป็นการให้ของตอบแทนแก่ผีปู่ตา กล่าวคือ ถ้าผีปู่ตาสามารถบันดาลอะไรตามที่ชาวบ้านคนใดคนหนึ่งหรือทั้งหมู่บ้านต้องการได้ชาวบ้านจะให้เหล้า ไก่แก่ ผีเจ้าปู่ เป็นต้น

เฒ่าจ้ำ เป็นตัวแทนของชุมชนในการติดต่อสื่อสารกับผีปู่ตาหรือรับบัญชาจากผีปู่ตามาแจ้ง แก่ชุมชนตลอดจนมีหน้าที่ ดูแลบริเวณที่อยู่อาศัยหรือดำเนินกิจการด้านพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับผีปู่ตา เฒ่าจ้ำ อาจเรียกได้หลายชื่อแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กระจ้ำ ขะจ้ำ เฒ่าประจำเจ้า-จ้ำ หรือ จ้ำ เป็นต้น

หมอธรรม
ชาวอีสานเชื่อว่าทุกสิ่งทุกอย่างมีผีเป็นผู้ดูแลการทำสิ่งใดต้องมีการบอกล่าวก่อน ในอดีตมักจะรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยแพทย์แผนโบราณคือยาพื้นบ้านเชื่อว่าสามารถรักษาโรคทางกายได้ทุกอย่าง ถ้ารักษาด้วยยาพื้นบ้านไม่หาย ชาวบ้านเชื่อกันว่ามีผีมาเข้าจะต้องรักษาด้วยวิธีการพูดจากับผี การอยู่ธรรมเป็นการรักษาอาการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง โดยการอาศัยธรรมเข้ามาขับไล่ผีทุกอย่างชนิด

การอยู่ธรรม คือ การปฏิบัติธรรมถือศีลมีหมอธรรมเป็นผู้ดูแลรักษา หมอธรรมจะใช้ด้ายมลคง ผูกแขน แล้วสวดมนต์เสกเป่าน้ำให้ดื่ม พร้อมทั้งพูดจาอบรมสั่งสอนต่าง ๆ นานา แต่ชาวบ้านมักไม่นิยมเลือก การอยู่ธรรมเพราะมีข้อห้าม (ขะลำ) และความเคร่งครัดในการประพฤติธรรมอยู่มาก

ขวัญ
ขวัญมีความหมายอยู่ 2 ประการ คือ
1. ขวัญมีลักษณะเป็นรูปธรรม หมายถึง ผมหรือขนที่ขึ้นเวียนเป็นก้นหอยมีทั้งคนและสัตว์
2. ขวัญเป็นนามธรรม เป็นสิ่งที่มองไม่เห็น ไม่มีตัวตน แต่เชื่อว่าเป็นสิ่งที่มีพลัง และอำนาจอย่างหนึ่งอยู่ในร่างกาย สามารถหลบหนีไปได้ดังที่เคยได้ยินว่าขวัญหาย ขวัญหนี เป็นต้น แต่สามารถเรียกกลับมาได้เช่นกัน เชื่อกันว่าถ้าขวัญอยู่กับตัวของผู้ใดผู้นั้นก็จะมีความสุขกายสบายใจ ไม่เจ็บไม่ไข้ ถ้าขวัญหนีหายไปจะเกิดอันตรายแก่คนผู้นั้นได้
ดังนั้น จึงเกิดความเชื่อว่า ขวัญ เป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นของคนทุกคนเกิดพิธีกรรมต่าง ๆ ที่จะทำให้ขวัญอยู่กับตัวตลอด ดังจะเห็นได้ว่าทุกช่วงชีวิตตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งเข้าสู่วัยชราจะมีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับขวัญอยู่เสมอ อาทิ การทำขวัญแรกเกิด ทำขวัญเดือน โกนจุก บวชนาค แต่งงาน การสร้างบ้านปลูกเรือน การแยกเสาเอก วางศิลาฤกษ์ เป็นต้น และตลอดจนทำขวัญผู้ที่เพิ่งหายป่วยหรือรอดพ้นอันตรายกลับมา การได้รับตำแหน่งใหม่เลื่อนขั้น การกลับสู่บ้านเกิดเมืองนอนหรือแม้แต่การจะเดินทางไกลไปอยู่ต่างถิ่น นอกจากนี้ยังมีการทำขวัญในโอกาสพิเศษ อาทิเช่น การต้อนรับแขกผู้มาเยือนหรือสู่ขวัญสิ่งของเครื่องใช้ เช่น เรือล้อ เกวียน รถยนต์ ปืน เป็นต้น

วิธีชีวิตที่เกี่ยวกับการดำรงชีพ

อาชีพ
ดินในภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นดินปนหินทรายและดินแดง ซึ่งเก็บความชุ่มชื้นได้น้อย มีความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอาหารพืชต่ำและบางแห่งมีเกลือปนอยู่ นอกจากนี้อีสานยังประสบภาวะแห้งแล้งอยู่เสมอ เนื่องจากมีปริมาณฝนตกน้อย ดังนั้นอาชีพหลักของชาวอีสานจึงขึ้นน้อย สภาพภูมิประเทศ ทรัพยากร ดิน น้ำและแร่ธาตุ อาชีหลักแต่ดั้งเดิมของชาวอีสานแบ่งได้เป็น 2 อาชีพคือ อาชีพเกษตรกรรม เช่น การทำนาข้าว การทำไร่มันสำปะหลัง การทำเกลือสินเธาว์ และอาชีพการทำประมงน้ำจืด

การเกษตรกรรม
พืชที่ปลูกมากในภาคอีสาน ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง ปอแก้ว การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม เป็นต้น
ข้าว
ประชาชนในภาคอีสานยืดการทำนาเป็นอาชีพหลักข้าวที่ปลูกมีทั้งข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ปลูกกระจายอยู่ทั่วไปทุกจังหวัด ปริมาณข้าวที่ได้จะแตกต่างกันไปตามปริมาณน้ำฝนในแต่ละปี จังหวัดที่มีการทำนาได้ดี ได้แก่จังหวัดที่อยู่ริมแม่น้ำโขง และถึงแม้ในบางจังหวัดจะมีปริมาณฝนต่ำกว่า1,750 มิลลิเมตรแต่ก็ยังสามารถปลูกข้าวได้ผลดีเช่นกัน ทั้งนี้อาจเพราะมีพันธุ์ข้าวมากกว่า 2,500 ชนิด มีการปรับปรุงคัดเลือกเพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับสภาพของแต่ละท้องที่ปริมาณข้าว ที่ได้นอกจากจะเก็บไว้กินแล้วยังมีผลผลิตเหลือส่งไปขายต่างประเทศอีกด้วย พันธุ์ข้าวที่มีชื่อเสียงของภูมิภาคนี้คือ ข้าวหอมมะลิ
ลักษณะการทำนาแบ่งตามภูมิประเทศ
1. การทำนาโคกหรือนาเขิน หมายถึง นาที่ตั้งอยู่ในที่ดอนหรือที่โคกไม่สามารถนำน้ำจากการชลประทานหรือเหมืองฝายไปใช้ได้ ต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว ส่วนใหญ่ปลูกข้าวไร่
2. การทำนาลุ่ม หมายถึง นาในที่ลุ่ม สามารถนำน้ำจากเหมืองฝายหรือชลประทานมาใช้ได้ นิยมปลูกข้าว นาดำหรือนาหว่านน้ำตม
3. การทำนาหนอง คือนาที่ตั้งอยู่ในหนองน้ำหรือที่ลุ่มลึกหรือที่เคยเป็นหนองน้ำแต่ตื้นเขินแล้วพื้นที่ลักษณะนี้นิยมปลูกข้าวนาหว่าน หรือนาหว่านน้ำตม

มันสำปะหลัง
เมื่อประมาณ 12-14 ปีทีผ่านมามันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ทำรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรในภาคอีสานและสามารถนำรายได้เข้าสู่ประเทศเป็นอันดับสองรองจากข้าว มันสำปะหลังเป็นพืชที่ชอบอากาศร้อนจึงปลูกได้ดีในระหว่างละติจูด 25 องศาเหนือและ 25 องศาใต้ ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่เกิน 3,000 ฟุตเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายทนความแห้งแล้งได้ดีกว่าพืชที่ให้แป้งชนิดอื่น ๆ ต้องการน้ำเพื่อตั้งตัวหลังการปลูกเท่านั้น จึงเหมาะกับภาคอีสาน ซึ่งมีปริมาณและการกระจายของฝนไม่แน่นอน ปัจจุบันเกษตรกรนิยมที่จะปลูกมันสำปะหลังกันมาก เพราะมีต้นทุนในการผลิตต่ำ ปลูกง่ายและไม่ต้องการการดูแลมากนัก ส่งผลผลิตเข้าโรงงานได้ง่ายและเก็บเกี่ยวได้ตลอดทุกฤดูกาล

เกลือสินเธาว์
คนอีสานนิยมใช้เกลือสินเธาว์ทำปลาเค็ม ปลาร้า ปลาเจ่า เพราะทำให้ปลาไม่เน่าเร็ว กลิ่นไม่เหม็นเหมือนใช้เกลือทะเล รสไม่เค็มมาก ราคาก็ถูกกว่า ฉะนั้นในแหล่งที่มีดินเกลือหรือน้ำเค็มชาวบ้านจึงทำนาเกลือกันเป็นล่ำเป็นสัน บางแห่งมีการให้เช่าพื้นที่ทำนาเกลือ คิดค่าเช่าเป็นไร่ต่อเดือน โดยเริ่มทำตั้งแต่เดือนพฤษภาคมไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน การทำเกลือสินเธาว์นี้มีมาหลายชั่วอายุคนแล้วและก่อนลงมือทำเกลือจะมีประเพณีเรียกขวัญเกลือ หรือทำพิธีบายศรีก่อน (คล้ายกับการทำขวัญข้าวในภาคอื่น ๆ) โดยทุกครอบครัวจะทำไก่ต้ม 1 ตัว สุรา 1 ขวด ถ้าไม่มีอะไรเลยก็ให้ข้าวเหนียว 1 ปั้น พร้อมดอกไม้ ธูปเทียน วางบนศาลเพียงตาที่ตั้งขึ้นบวงสรวงไหว้วอนขอให้เกลือขึ้นมาก ๆ

การทำเกลือสินเธาว์
แหล่งเกลือหรือที่เรียกว่า เนินเกลือหรือโป่งเกลือจะสังเกตเห็นได้ง่ายคือ จะขึ้นเป็นขุยขาว ๆ ชาวบ้านจะใช้ไม้ขุดรวมเป็นกอง ๆ ไว้เมื่อได้ดินปนเกลือมาแล้ว ก็จะนำมาใส่รางไม้ลักษณะคล้ายลำเรือที่ขุดเตรียมไว้กว้างยาวตาม แต่ขนาดไม้โดยเจาะรูไว้กลางลำ 1-4 รู ใช้ตอกหรือซัง-ข้าวมัดเป็นวงกลมครอบรูไว้ เสร็จแล้วใช้กะลามะพร้าวหรือทำแผ่นไม้เป็นวงกลมครอบทับอีกทีหนึ่ง แล้วเอาแกลบข้าวใหม่ ๆ โรยให้ทั่วท้องรางไม้อีกชั้นหนึ่ง เสร็จแล้วเอาดินเกลือที่ขนมานั้นใส่บนแกลบเหยียบให้แน่นเหลือระดับดินไว้ประมาณ 1 คืบ แล้วจึงเอาน้ำจากบ่อน้ำเค็มที่ขุดเตรียมไว้ใส่บนดินเกลืออีกครั้ง รูที่ใต้ไม้ท้องรางนั้นใช้ไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 คืบ จุกเข้าไว้โดยใช้ผงยาวไม้บงกรุไว้พอให้น้ำเกลือไหลผ่านลักษณะจะคล้ายกระดาษกรอง ให้น้ำเกลือไหลลงภาชนะรองรับ เมื่อได้เพียงพอแล้วก็นำเอาน้ำเกลือนั้นไปต้ม

การต้มเกลือ
ใช้สังกะสีตัดทำเป็นกะทะหรือถาดบันกรีเรียบร้อย สำหรับต้มเตาต้มบางแห่งใช้อิฐก่อเป็นเตาหรืออาจจะขุดหลุมเป็นเตาแล้วใช้เหล็กพาดไว้ 3-4 อัน เพื่อรับน้ำหนักเตานี้อาจขุดลึกลงไปในชั้นดินหรือก่อพูนขึ้นเป็นรูปเตาก็ได้มีความกว้างประมาณ ½ เมตร ยาวประมาณ 1 เมตรให้พอดีกับถาดสังกะสีก่อไฟข้างใต้เตาแล้วเอาน้ำเกลือที่กรองมาได้ใส่ลงไปให้เต็มถาด สังกะสีนั้นต้มไปจนน้ำเหลืองวดเป็นเม็ดเกลือใช้เวลาต้มประมาณ 1-2 ชั่วโมง วันหนึ่ง ๆ จะต้มได้ประมาณ 4-6 ถาดสังกะสี ถาดหนึ่งจะได้เกลือประมาณ 3-20 กิโลกรัมขึ้นอยู่กับขนาดของถาดที่ต้ม

การทำประมง
สำหรับคนอีสานน้ำเป็นแหล่งผลิตอาหารที่สำคัญ ปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่มีความสำคัญมากกว่าสัตว์น้ำประเภทอื่น ๆ สัตว์น้ำที่เป็นอาหารสามารถพบได้โดยทั่วไปนับตั้งแต่บริเวณท้องนาเมื่อเวลาหน้าน้ำจะพบสัตว์น้ำต่าง ๆ มากมาย ในบริเวณห้วยหนอง คลอง บึงและแม่น้ำสายต่าง ๆ ปลาที่พบตามแหล่งน้ำได้แก่ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาหมอ ปลาขาว ปลาไหล แหล่งน้ำที่มีขนาดใหญ่จะพบปลาขนาดใหญ่และหลายชนิดกว่าในคูคลองเล็ก ๆ เช่น ปลาในบริเวณแม่น้ำมูล แม่น้ำชี หรือแม่น้ำโขง
อีสานมีเครื่องมือจับปลาที่มีลักษณะไม่แตกต่างกันมานัก เครื่องมือที่พบเห็นเสมอ ๆ คือ เบ็ด สุ่ม แห ไซ ตุ้ม เครื่องมือจับสัตว์น้ำเหล่านี้ทำด้วยไม้ไผ่หรือหวายนำมาเหลาประกอบเข้าด้วยกัน ผู้สูงอายุตามหมู่บ้านจะเป็นผู้สานเครื่องมือหาปลาเหล่านี้ เครื่องมือหาปลาแต่ละประเภทนั้นจะแสดงออกถึงลักษณะการหาปลาและชนิดของปลาบริเวณนั้น ๆ ได้

เครื่องมือจับปลาสามารถแบ่งตามลักษณะเป็น 3 ชนิด คือ
1. เครื่องมือดักปลาซึ่งต้องใช้เวลารอคอยและบางชนิดต้องมีเหยื่อล่อ ได้แก่ อีจู้ ตุ้ม ลอบ ไซ ยอ ซ่อน เป็นต้น
2. เครื่องมือจับปลาซึ่งใช้จับได้ทันที โดยไม่ต้องรอคอย เช่น สุ่ม ฉมวก เป็นต้น
3. เครื่องมือจับปลาซึ่งใช้ในการกักปลาไว้ ได้แก่ ข้องชนิดต่าง ๆ และกระพร้อม เป็นต้น
ปลาที่จับได้มักนำไปประกอบเป็นปลาร้ามากกว่าอาหารชนิดอื่น ๆ โดยชาวบ้านจะนำปลาตัวเล็ก ๆ มาคลุกเคล้าเข้ากับเกลือหมักดองใส่ไหไว้

พาหนะที่ใช้ในการจับสัตว์น้ำ
การจับสัตว์น้ำบริเวณน้ำลึกหรือบริเวณแหล่งน้ำขนาดใหญ่ เช่น ลำน้ำโขง มูล ชี หนองหาน ชาวบ้านจำเป็นต้องมีเรือเพื่อใช้เป็นพาหนะ ในการเดินทางและบรรทุก เครื่องมือ เครื่องใช้ในการจับสัตว์น้ำ และยังใช้บรรทุกสัตว์น้ำกลับมายังบ้านเรือน เรือ ของชาวบ้าน ที่มีใช้อยู่ตามลำน้ำต่าง ๆ ในภาคอีสานพอจะแยกออกได้เป็น 2 ประเภท ตามวิธีการสร้างเรือ คือ เรือขุดและเรือต่อ

แหล่งประมงในภาคอีสาน
แหล่งประมงในภาคอีสานมักจะอยู่ในแหล่งน้ำของแอ่งโคราชและแอ่งสกลนคร เช่น แม่น้ำมูล แม่น้ำชี และสาขาแม่น้ำสงคราม เช่น ที่หนองหาน จ.สกลนคร ในปัจจุบันนี้เริ่มมีการเพาะเลี้ยงปลาตามแหล่งน้ำต่าง ๆ มากขึ้น จังหวัดที่มีการเพาะเลี้ยงปลามาก ได้แก่ จ.สกลนคร ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี ส่วนมากนิยมเลี้ยงปลาหมอเทศ ปลาไน ปลานิลและปลาจีน ซึ่งทางราชการเป็นผู้แจกพันธุ์

ปัจจัยในการดำรงชีวิต

ปัจจัยสี่: อาหาร
สังคมอีสานเป็นสังคมเกษตรกรรมและกสิกรรมแบบดั้งเดิม วิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติอย่างแนบแน่น มีการเก็บของป่า ล่าสัตว์ ปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เพื่อยังชีพภายในครอบครัว อีสานมีสภาพภูมิอากาศที่ผันแปรอยู่เสมอ เช่น ฤดูฝนก็จะมีฝนตกมากจนเกินความต้องการ แต่ในฤดูแล้งน้ำกลับแห้งขอดจนแทบจะไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค
ปลาเป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่หาได้ง่ายในฤดูน้ำหลาก แต่ก็ขาดแคลนในช่วงฤดูแล้ง คนพื้นเมืองจึงหาวิธีการที่จะเก็บรักษาปลาไว้เพื่อให้มีกินได้ตลอดปี โดยการนำปลามาหมักกับเกลือสินเธาว์ที่สามารถผลิตได้เองในท้องถิ่น ปลาที่ได้จากการหมักเกลือนี้เรียกว่า “ปลาแดก” ปลาแดกเป็นอาหารประจำของท้องถิ่น และใช้เป็นส่วนผสมสำคัญในการประกอบอาหารคาวแทบทุกชนิด เช่น แกงอ่อม แกงป่า ป่น แจ่ว ลาบ ก้อยและอื่น ๆ รวมทั้งส้มตำ
ส่วนอาหารประเภทผักพื้นบ้านก็มีอยู่มากมายหลายชนิดและยังมีคุณสมบัติเป็นสมุนไพรอีกด้วย คนอีสานนิยมปลูกผักพื้นบ้านไว้ในบริเวณที่อยู่อาศัยและตามไร่นาเพื่อเก็บผัก ดอก ผลและยอดของไม้ป่าต่าง ๆ มารับประทาน
นอกจากนี้สัตว์ต่าง ๆ เช่น กบ แย้ ไข่มดแดงและแมลงต่าง ๆ ตลอดจนดักแด้ยังสามารถนำมาประกอบอาหารได้อีกด้วย

กรรมวิธีในการปรุงอาหาร
ชาวอีสานดำเนินชีวิตความเป็นอยู่แบบเรียบง่าย ดังนั้นการกินอยู่จึงไม่ใคร่พิถีพิถันมากนัก การปรุงอาหารจะไม่ซับซ้อนและมีเครื่องเทศน้อยชนิด ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อดับกลิ่นคาวของอาหาร เช่น ตะไคร้ หอม กระเทียม หรือเพื่อเพิ่มรสชาติให้อาหาร เช่น พริกชนิดต่าง ๆ หรือเพิ่มความกลมกล่อม เช่น เกลือ น้ำปลา น้ำปลาแดก เป็นต้น

กรรมวิธีปรุงอาหารอีสานอาจแบ่งประเภทหลัก ๆ ได้ดังนี้
1. การทำให้สุกโดยการต้ม
1.1 อ่อม คือการปรุงอาหารให้สุกโดยการใช้น้ำปริมาณน้อยต้มให้เดือด โดยใช้ไฟค่อนข้างแรงเครื่องปรุงประกอบด้วยพริกสด หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ ที่โขลกจนละเอียด ผักหลากหลายชนิดที่ใช้เป็นพื้นได้แก่ มะเขือ ใบชะพลู ต้นหอม ยอดตำลึง ผักกาด ผักชีลาว หรือผักอื่น ๆ เท่าที่หาได้มาปรุงกับเนื้อสัตว์ เช่น ไก่ หมู เนื้อวัว ปลาและอื่น ๆ อ่อมจะมีรสจัดทั้งเค็มและเผ็ด อาหารที่นำมาเป็นองค์ประกอบหลักจะกลายเป็นชื่อ “อ่อม” ชนิดนั้น เช่น อ่อมไก่ใส่หัวหอมหรือจะเรียกเฉพาะชื่อเนื้อสัตว์ที่จะนำมาประกอบอาหารก็ได้ เช่น อ่อมเนื้อ อ่อมกบ เป็นต้น
1.2 แกง ลักษณะทั่วไปคล้ายอ่อม กล่าวคือเป็นการปรุงอาหารให้สุกโดยใช้น้ำเป็นองค์ประกอบหลัก มีการใช้เครื่องเทศของทางอีสานและที่จะขาดเสียไม่ได้คือใบแมงลักหรือ “ผักอีตู่” วิธีการปรุงก็เหมือนแกงของภาคกลางทั่วไป แต่ใช้น้ำปลาแดกเป็นตัวปรุงรส
1.3 ต้ม เป็นแกงอย่างหนึ่งของภาคอีสาน ใช้เกลือและน้ำปลาแทนน้ำปลาแดก ต้มจะเน้นเฉพาะอาหารที่สด ๆ ที่ได้จากสัตว์ต่าง ๆ ไม่นิยมตัดหรือหั่นอาหารให้เป็นชิ้นหรือถ้าหั่นก็เป็นชิ้นโต ๆ รสชาติจะออกเค็มและเปรี้ยวจัด ซึ่งได้จากพืชที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น ใบมะขามอ่อน ผักติ้ว ยอดกระเจี๊ยบ และมดแดง เป็นต้น
อาหารประเภทต้ม มักจะปรุงกันที่บริเวณไร่นาหรือแหล่งที่ได้อาหารนั้นมาใหม่ ๆ เช่น ลงปลา ที่สระกันทั้งหมู่บ้านก็จะต้มกินกันที่นั่นเลย ข้อที่สังเกตระหว่างแกงกับต้มก็คือ แกงจะใส่ใบแมงลัก น้ำปลาแดกและมีรสเค็ม ในขณะที่ต้มจะไม่ใส่เครื่องปรุงประเภทนี้ แต่จะเน้นไปทางรสเปรี้ยวและไม่นิยมเติมพริกหรือเนื้อสัตว์ที่นิยมนำมาทำต้ม ได้แก่ ปลาประเภทต่าง ๆ งู (โดยเฉพาะงูสิงห์) ไก่ เป็น เป็นต้น

2. การทำให้สุกด้วยความร้อนจากไฟโดยตรง
2.1 ปิ้ง คือการทำอาหารให้สุกโดยใช้ไอความร้อนจากถ่านไฟที่ร้อนจัด กล่าวคือจะต้องนำอาหารวางไว้บนภาชนะ เช่น ไม้ โดยการทำเป็นไม้เสียบหรือวางตรงกลางระหว่างไม้ 2 ชิ้นมัดหัวท้าย ที่เรียกว่า “หีบ” แล้วนำไปอังไอความร้อนจากถ่ายไฟให้สุก
2.2 ย่าง น่าจะเป็นการถนอมอาหารมากกว่า จุดประสงค์เพื่อให้น้ำในอาหารระเหยออกมาหมด สามารถเก็บอาหารไว้ให้ได้นานวัน โดยปกติจะนิยมทำเฉพาะอาหารจำพวก ปลา กบ เขียด ซึ่งมีมากในฤดูฝนเป็นช่วงที่หาแดด เพื่อถนอมอาหาร โดยการตากได้ยากการย่างจะต้องใช้ไฟอ่อน ๆ ย่างอาหารที่ต้องการจนอาหารเหลือง กรอบ และจะไม่มีการใส่เกลือเพื่อเพิ่มรสเหมือนการปิ้ง
2.3 จี่ เป็นลักษณะการทำอาหารให้สุก โดยการวางอาหารนั้นบนถ่านไฟที่ร้อน อาหารจะสุกโดยการวางอาหารนั้นบนถ่านไฟที่ร้อนอาหารจะสุกโดยตรงจากถ่านไฟ การจี่จะต้องคอยระมัดระวังเรื่องอาหารจะไหม้ก่อนสุก ดังนั้นจะต้องมีการพลิกกลับอาหารอยู่บ่อย ๆ เพื่อให้อาหารสุกทั่ว

3. การทำให้สุกโดยผ่านภาชนะตัวนำ
3.1 หมก คือ ทำอาหารให้สุกโดยการใช้ใบตองห่ออาหารที่ปรุงเสร็จ แล้วนำไปอังเหนือถ่านไฟอ่อน ๆ ให้สุกดี การหมกใช้วัสดุอื่นที่หาได้แทนใบตองก็ได้ ที่นิยมได้แก่ ใบทองกราว ใบยอ
3.2 อ๋อ อู่ เอาะ เป็นการทำอาหารให้สุกโดยการผ่านภาชนะตัวนำประเภทโลหะหรือภาชนะอื่น ๆ เช่น หม้อดิน มีลักษณะผสมระหว่างหมกและอ่อม กล่าวคือ ขณะที่หมกใช้ใบตองเป็นภาชนะตัวนำ ความร้อนให้สุก และอ่อมใช้ความร้อนจากน้ำเดือด อ๋อ ก็ใช้น้ำเดือดแต่มีปริมาณน้อยกว่าและต่างกัยหมกตรงที่ไม่พิถีพิถันในการปรุงรสก่อนและทำให้สุกวิธีง่าย ๆ คือการนำอาหารที่จะปรุงลงไปในหม้อเติมน้ำนิดหน่อยพอไม่ให้อาหารไหม้ติดภาชนะเติมเกลือ พริกสุดทุกและใบแมงลัก (อีตู่) ปิดฝาภาชนะให้ติดกับอาหารหรือใช้ใบตองปิดอาหารก่อนแล้วค่อยปิดฝาก็ได้ จากนั้นจึงนำภาชนะไปอังไฟอ่อน ๆ จนกว่าอาหารจะสุก

4. การประกอบอาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ
4.1 ลาบ เป็นการปรุงอาหารเพื่อรับประทานที่ไม่ได้เน้นการบริโภคสุกอย่างเดียว แต่ที่นิยมบริโภคกันคือ แบบดิบ ๆ วิธีการทำคือนำอาหารมาสับเป็นชิ้น ๆ ให้ละเอียด จากนั้นปรุงรสด้วยน้ำปลาแดก น้ำปลา น้ำมะนาว ข้าวคั่ว พริกป่น หอม สะระแหน่ ผักชีฝรั่ง หั่นฝอย มักปรุงรสจัดมีทั้งการลาบอาหารที่ได้จากพืช เช่น เห็ด (ลาบเห็ดกระด้าง) และลาบที่ได้จากสัตว์ เช่น นก วัว กุ้ง ปลา หอย ส่วนใหญ่ลาบที่นิยมบริโภคดิบ เช่น ลาบวัว ลาบปลา (นิยมทั้งสุกและดิบ) และบริโภคสุก เช่น ลาบนก ลาบเป็ด ลาบไก่ ลาบหอย ลาบแย้ และลาบกะปอม เป็นต้น
4.2 ก้อย มีลักษณะทั่ว ๆ ไปเหมือนกับลาบแต่ต่างตรงที่ก้อยไม่นิยมใส่ข้าวคั่วในขณะที่ลาบใส่ข้าวคั่วและเน้นการสับอาหารเป็นชิ้นโต ๆ หรือหั่นเป็นชิ้น ๆ ก้อยเป็นอาหารที่ดิบมากกว่าลาบเพราะสับชิ้นโตกว่าหรือไม่สับเลย ในบางครั้งสัตว์ที่นิยมนำมาทำก้อย เช่น ปลาซิวตัวเล็ก ๆ ปลาตะเพียน กุ้ง เป็นต้น
ก้อยบางชนิดก็ใส่ข้าวคั่ว เช่น ก้อยกุ้ง โดยนำกุ้งสด ๆ มาเติมเครื่องปรุงเมื่อถูกเครื่องเทศที่ร้อนแรงกุ้งจะกระโดดหนีเพื่อเอาชีวิตรอด ดังนั้นจึงมักเรียกว่า “ก้อยกุ้งเต้น” ซึ่งจะอร่อยถูกปากคนอีสานมาก ข้อสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือก้อยจะมีรสจัดกว่าลาบ

5. การประกอบอาหารประเภทน้ำพริก
5.1 ป่น เป็นการปรุงอาหารโดยนำอาหาร ที่ผ่านการต้มกับน้ำปลาแดกจนสุกดีแล้ว และนำเครื่องเทศที่ผ่านการต้มพร้อมกับอาหาร ซึ่งมักจะเป็นพริกสด หอมโขลก รวมกันจากนั้นเติมน้ำร้อนซึ่งเป็นน้ำต้มอาหารผสมกับปลาแดกในตอนแรก แล้วปรุงรสโดยเติมมะนาว มะกอกตามใจชอบเวลาบริโภคจะมีผักต่าง ๆ มารวมเป็นเครื่องเคียง เช่น ผักกาด แตงกวา ถั่วฝักยาว อาหารประเภทป่นที่นิยมมากได้แก่ ปลากบ เขียด กุ้ง เป็นต้น
5.2 แจ่ว มีลักษณะทั่วไปคล้ายป่นแต่เน้นการใช้พริกเป็นองค์ประกอบหลักหรือการแกะเนื้อปลาย่างลงป่นบ้าง แต่ไม่ใช้ปลาต้มลงโขลกรวมกับพริกแห้ง อาจใช้พริกคั่ว พริกสด หรือพริกสดจี่จนสุกแล้วก็ได้วิธีการ ทำแจ่ว มีมากมายหลายประเภท เช่น
5.2.1 แจ่วแห้ง คือ การใช้พริกแห้งตำให้ละเอียดหรือใช้พริกป่นเติมกับน้ำปลาแดกและบีบมะนาวก็ได้เป็นแจ่วที่ทำได้ง่ายที่สุด
5.2.2 แจ่วบักพริกดิบ สามารถทำได้ 2 วิธี คือ นำพริกดิบมาแล้วโขลกรวมกับหัวหอม เติมน้ำปลา และน้ำปลาแดก บีบมะนาวปรุงรสหรืออีกวิธีหนึ่ง คือใช้พริกและหอมจี่ไฟให้สุกก่อน แล้วนำมาโขลกรวมกัน อาจเติมมะเขือเทศจี่ลงไปด้วยเพื่อเพิ่มรสชาติให้ดียิ่งขึ้น
5.2.3 แจ่วบองหรือปลาแดกบอง หรือแจ่วปลาแดกบอง แจ่วประเภทนี้มีวิธีทำยุ่งยากที่สุด แต่เก็บไว้รับประทานได้นาน วิธีการคือ นำปลาแดกสับโขลกรวมกับพริกคั่ว หอมคั่ว ตะไคร้หั่นฝอย อาจเติมมะขามเปียก หรือมะเขือเทศจี่ลงไปด้วยก็ได้แล้วแต่บ้านไหนจะพลิกแพลงสูตรไปตามความพอใจ

6. การประกอบอาหารประเภทซุป
เป็นกรรมวิธีการปรุงอาหารประเภทผักอย่างหนึ่งที่ต้องนำผักไปต้มลวก หรือผักสดนำไปหั่นให้เป็นชิ้น ๆ พร้อมกับเติมเครื่องเทศที่ผ่านการโขลกเรียบร้อยแล้วลงไป จากนั้นเติมน้ำร้อนลงไปพอเหมาะจะได้อาหารที่ข้นเติมหอมและสะระแหน่ เพื่อชูรสผักที่นิยมใช้ ได้แก่ ขนุน มะเขือเห็ดกระด้าง ผักติ้ว (แต้ว) แตงร้าน (แตงค้าง) ฟักทอง เป็นต้น

7. การประกอบอาหารประเภทตำ เป็นการประกอบอาหารโดยการใช้เครื่องเทศพวก พริก กระเทียม ลงโขลกรวมกันแล้วนำผักที่ต้องการปรุงซึ่งหั่น ฝานหรือตัดเป็นชิ้น ๆ แล้วเติมลงปรุงรสด้วยน้ำปลาแดก มะนาว มะเขือเทศ ตามใจชอบอาหารประเภทตำที่พบเห็นได้บ่อย คือ ตำแตง ตำมะละกอ ตำกล้วย ตำเหมี่ยง (เมี่ยง) ตำลูกจันทร์ ตำถั่ว ตำมะยม

การถนอมอาหาร
การถนอมอาหารคือวิธีการที่จะเก็บอาหารไว้ให้นานและไม่ให้อาหารเน่าเสีย สำหรับชาวอีสานมีวิธีการถนอมอาหารตั้งแต่สมัยโบราณที่สืบทอดกันมา เช่น การตากแห้ง การดอง การหมักเกลือ การกวน การถนอมอาหารด้วยวิธีการเหล่านี้ทำได้ทั้งพืชและสัตว์ อาหารที่นิยมรับประทานและเก็บไว้นานคือ
1. เนื้อเค็ม (ชิ้นแห้ง) เนื้อเค็มมี 2 ชนิด เนื้อเค็มแผ่นบาง ๆ และเนื้อเค็มเป็นเส้นยาว เรียกว่า “ซิ้นหลอด”
2. ส้มหมู (ซิ้นส้ม) หรือที่เรียกว่า แหนม นิยมห่อกับใบมะยมอ่อน รับประทานได้ทั้งใบมะยม
3. ไส้กรอก ภาคอีสานจะนิยมรับประทานไส้กรอกอยู่ 2 ชนิด คือ ทำด้วยเนื้อวัว และเนื้อหมู เก็บไว้ประมาณ 2-3 วันจะเกิดรสเปรี้ยว
4. เค็มบักนัด (เค็มสัปปะรด) ทำจากปลาปึ่งกับสับปะรดออกรสเค็มของปลารสเปรี้ยวของสับปะรดรับประทานกับผักสด หรือจะนำมาปรุงเป็นน้ำพริกทรงเครื่องหรือทำหลนคล้านหลนเต้าเจี้ยว
5. หม่ำ มี 5 ชนิด
5.1 ใช้เนื้อวัดบดละเอียดใส่ในไส้วัวหรือกระเพาะปัสสาวะของวัว
5.2 ตับ บดให้ละเอียดใส่ในไส้วัว
5.3 เนื้อวัวผสมตับ ลักษณะการบิเหมือนกัน คือบดให้ละเอียดแล้วอัดใส่ในไส้วัว เวลารับประทานจะนำมาทอดย่างหรือคั่ว ใส่พริกสด หอมแดงสด ตะไคร้ ใบมะกรูด หรือจะปรุงรสด้วยมะนาวให้เปรี้ยว รับประทานกับผักสด
6. แจ่วบอง จัดเป็นน้ำพริกแห้ง เครื่องปรุงได้แก่ พริกสด กระเทียม พริกแห้ง หอมแดงแห้ง ข่า ตะไคร้ เผาให้สุก (อีสานจะเรียกหมกให้สุก) ปลาย่างให้แห้ง โขลกให้ละเอียด แล้วจึงนำมาปรุงรสกับปลาแดกต้มสุก มะขามเปียก (เครื่องปรุงทุกชนิดต้องทำให้สุกจะเก็บไว้ได้นาน)
7. ลาบปลาแดก ใช้ปลาแดกที่เป็นตัว เช่น ปลาช่อน ปลาปึ่ง ปลาอีตู๋ เอาแต่เนื้อมาสับพร้อมกับพริกสด กระเทียม ข่า ตะไคร้ เผาให้สุกสับให้ละเอียดนำมาปรุงกับน้ำมะนาวและใบมะกรูดหั่นฝอย (เครื่องพริกสด กระเทียม ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูดจะไม่เผาก็ได้)
8. ปลาส้ม นิยมนำปลาตะเพียน ปลาสูด ปลานวลจันทร์ ปลาอีตู๋ ที่สด ขูดเกล็ดออกหมักกับเกลือและข้าวเหนียวนึ่งคั้นให้เข้ากัน แล้วหมักเอาไว้ในไหปิดไว้ไม่ให้อากาศเข้า

อาหารท้องถิ่นที่นิยม
ผัก
ผักพื้นเมืองอีสานที่นิยมรับประทานส่วนมาก ใช้ทำเครื่องเคียงกับอาหารชนิดอื่น หรือบางพวกใช้ปรุงรส
1. ผักกระโดน ผักกระโดนบก ผักกระโดนน้ำ
2. ผักเม็ก
3. ผักติ้ว
4. ใบย่านาง
5. ผักกะหย่า
6. ผักแขยง
7. ผักผำ
8. ผักแว่น
9. ผักแพงพวย
10. ผักกาด
11. สายบัว
12. ผักตังส้ม
13. ดังขม
14. ผักบ่อ
15. ขนุนอ่อน (หมากหมี่)
16. ใบขี้เหล็ก
17. ใบชะพลู (อีเลิด)
18. ผักชะอม (ผักขา)
19. ผักปลัง
20. ผักชีฝรั่ง
21. ผักชีลาว
22. ผักแผ่ว
23. ยอดฟักทองอ่อน
24. ใบมะยมอ่อน
25. ดอกข่า
26. ผักหูเสือหรือใบสาบเสือ
27. ผักกาดฮิ่น
28. มะละกอดิบ (หมากหุ่ง หรือ บักหุ่ง)
29. มะขามยอดอ่อน
30. มะกอกยอดอ่อน
31. เห็ด มีเห็ดละโงก เห็ดไค เห็ดถ่าน เห็ดดิน เห็ดน้ำหมาก เห็ดผึ้ง
32. หน่อไม้ เช่น ไผ่ไล่ ไผ่ป่า ไผ่ตง

ปลา
ภาคอีสานเป็นภูมิภาคที่มีเนื้อที่กว้างใหญ่ นอกจากนั้นยังประกอบด้วยแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง ตลอดทั่วทั้งภูมิภาค ในฤดูฝนจะมีน้ำมากและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาพันธุ์ ปลาเป็นอาหารให้คุณค่าโปรตีนที่สำคัญต่อวิถีชีวิตของชาวอีสานมาแต่โบราณ
1. ปลาบึก เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เนื้อมากแข็ง หนังหนานำมาประกอบอาหารประเภท ลาบ ก้อย ผัดเผ็ด เอาะ พบมากในแม่น้ำโขง
2. ปลาโจก ตัวโตพอสมควรมีเกล็ดมีก้างมาก เป็นปลาที่ชาวอีสานนิยมรับประทาน เพราะอร่อย รสหวาน มัน เนื้อนุ่ม นำมานึ่งจิ้มน้ำพริกและนึ่งทรงเครื่อง ต้มยำ ลาบ ก้อย
3. ปลานาง (เป็นปลาเนื้ออ่อน) ตัวยาวแบนเล็กน้อย รสมัน เนื้อนุ่ม นำมาประกอบอาหารประเภททอด ต้ม ปิ้ง นึ่ง ผัด เอาะ
4. ปลาสวาย เป็นปลาตัวที่ยาวใหญ่ สีขาว ตรงแก้มไม่มีจุดสีดำ เนื้อสีเหลือง รสมันและมีกลิ่นคาวมากนำมาทำปลาส้ม ปลาแดก
5. ปลาปึ่ง ลำตัวสีดำขาวตะกั่วคล้ายปลาสวาย ต่างกันที่แก้มมีจุดสีดำ รสมัน (เหมือนปลาเทโพ) นำมาทำเค็มหมากนัก ห่อหมก ปลาแดก ลาบ เอาะ
6. ปลาคัง คล้ายปลากดแต่มีหัวใหญ่กว่าสีเขียวเข้ม เนื้อสีขาวนุ่ม ซึ่งนำมาประกอบอาหาร ประเภทลาบ ต้ม เอาะ
7. ปลาค้าว ลำตัวแบน ยาว สีดำ ขาว เนื้อสีขาวนุ่ม จะนำมาประกอบอาหารประเภท ลาบ ต้ม เอาะ
8. ปลาเผาะ ลำตัวและเนื้อจะมีสีขาวนำมาทำห่อหมก หรือนึ่งจิ้มน้ำพริก
9. ปลากด คล้ายปลาคังแต่หัวจะเล็กกว่า เนื้อสีขาวนุ่ม ลำตัวสีดำหรือสีเหลืองนำมาประกอบอาหารประเภทต้มส้มหรือลาบ ปิ้ง
10. ปลาแข้ มีลำตัวใหญ่และหัวใหญ่แต่หางเล็ก ลำตัวลายเหลืองดำ มีเนื้อสีเหลือง มีกลิ่นคาว นำมาประกอบอาหารประเภทลาบ
11. ปลาขบ มีลำตัวและหัวแบน เนื้อและลำตัวมีสีขาว นำมาประกอบอาหารประเภทลาบ
12. ปลาแขยง ตัวเล็ก คล้ายปลากด สีเหลือง นำมาประกอบอาหารประเภททอด ตากแห้ง
13. ปลาอีตู๋ เป็นปลามีเกล็ด ลำตัวสีดำอมน้ำตาล ตัวใหญ่ นำมานึ่งจิ้มน้ำพริก ลาบ ทำปลาส้ม ปลาแดก
14. ปลาหมู มีลำตัวแบนและมีขนาดเท่านิ้วมือ หัวแหลม มีเขียวคล้ายหมูป่า ตัวสีขาว แดง ฟ้า หางสีแดงส้ม เนื้อมีนสมัน นำมาประกอบอาหารประเภท ต้ม ปิ้ง ทอด เอาะ
15. ปลาหลด ตัวดำ ยาวประมาณ 3-5 นิ้ว ปากแหลม หางมีจุดสีดำ นำมาประกอบอาหารประเภททอด ย่าง ปิ้ง ต้มส้ม
16. ปลาหลาด มีตัวและขนาดเดียวกับปลาหลด มีลายสวยเหมือนงู นำมาประกอบอาหารประเภท ปิ้ง ทอด ต้มยำ ต้มส้ม
17. ปลาปาก (ตะเพียน) ตัวขนาดกลาง เกล็ดสีขาวดำมีก้างมาก นิยมใช้ทำส้มปลา

แมลง
ชาวอีสานมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย อยู่ง่าย พืชผักหรือสัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติทั่วไปในท้องถิ่น สามารถนำมาประกอบเป็นอาหารได้ โดยเฉพาะแมลงที่มีอยู่หลายชนิดนั้น เป็นสัตว์ให้โปรตีนสูง ส่วนมากจะนำมาปรุงด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น การคั่วเกลือ นำมาเป็นอาหารเสริในประเภทแกงและอ่อม ซึ่งปัจจุบันความนิยมได้แพร่หลายไปสู่ท้องถิ่นอื่น ๆ แมลงที่นิยมรับประทาน ได้แก่
1. แมลงกินูน
2. มดแดง และ ไข่มดแดง
3. ดักแด้ไหม
4. ต่อ แตน
5. แมลงตับเต่า หรือ ด้วงดิ่ง
6. แมลงเหนียง
7. แมลงกุดจี่ หรือ ด้วงขี้ควาย
8. แมลงงำ หรือ แมลงโป้งเป้ง หรือ ตัวอ่อนแมลงปอ
9. แมลงเม่า
10. จิโป่ม จิ้งโก่ง หรือจิ้งหรีดตัวโต
11. จักจั่น
12. ตั๊กแตนชนิดต่าง ๆ ตั๊กแตนหนวดยาวหรือแมงมัน ตั๊กแตนตำข้าวหรือแมงนบ
13. แมลงกอกหรือด้วงหนวดยาว

ปัจจัยสี่: ที่พักอาศัย
ที่พักอาศัยของชาวอีสาน
รูปแบบที่พักอาศัยของชาวอีสานเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่เกิดจากการสั่งสมและถ่ายทอดรูปแบบการก่อสร้างที่พักอาศัยให้เหมาะสมกับสภาทางภูมิศาสตร์และการใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน จนเกิดเป็นแบบแผนและมีคติยึดถือจนกลายเป็นความเชื่อ จารีต ประเพณี ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในชีวิต ถ้าหากจะจำแนกประเภทของที่พักอาศัยของคนชาวอีสาน โดยใช้เกณฑ์อายุการใช้งาน (ชั่วคราว กึ่งถาวรและถาวร) ซึ่งแต่ละประเภทจะมีลักษณะและการใช้วัสดุที่แตกต่างกันเป็นเครื่องบ่งชี้อายุการใช้งาน อาจจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ

1. ที่พักอาศัยประเภทชั่วคราว
ที่พักอาศัยประเภทนี้จะใช้เฉพาะบางฤดูกาล เช่น เถียงนาหรือเถียงไร่ที่พักอาศัยประเภทนี้จะยกพื้น สูงเสาทำจากไม้จริง หรือ ไม้ไผ่ โครงไม้ไผ่ หลังคามุงหญ้า พื้นไม้ ไผ่สับฟากฝาเปิดโล่ง

2. ที่พักอาศัยประเภทกึ่งถาวร
ที่พักอาศัยประเภทกึ่งถาวรอาจจำแนกออกได้เป็น 2 ประเภท คือ
2.1 เรือนเหย้า (เรือน ภาษาอีสาน หมายถึง บ้าน) หรือ เหย้า เป็นเรือนขนาด 2 ห้องเสา สำหรับคู่สามี-ภรรยาที่แยกเรือนออกจากครอบครัวพ่อแม่ เนื่องจากธรรมเนียมไม่นิยมอยู่ร่วมกันหลายครอบครัวในเรือนหลังเดียวกัน เรือนเหย้ามักสร้างอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับเรือนของพ่อแม่ เพื่อใช้เป็นที่อยู่ระหว่างที่กำลังสร้างฐานะ ส่วนประกอบของเรือนมีเพียง 2 ห้อง คือห้องนอนและห้องเอนกประสงค์
2.2 ตูบต่อเล้า เป็นการสร้างเกยหรือเทิน (เพิง) ต่อออกมาจากเล้าข้าว (ยุ้งข้าว) มีขนาดตามความยาวของเล้าข้าวประมาณ 2-3 ช่วงเสา วัสดุที่ใช้เป็นวัสดุประเภทเดียวกับใช้สร้างเรือนเหย้า ตูบต่อเล้าเป็นที่อยู่อาศัยชั่วระยะเวลาหนึ่งของสามีภรรยาที่เพิ่งออกเรือน แต่ยังไม่พร้อมที่จะสร้างเรือนเหย้าหรือว่าเรือนใหญ่ได้ เมื่อสามารถสร้างเรือนเหย้าหรือเรือนใหญ่ได้ตูบต่อเล้าก็จะกลายเป็นสถานที่เก็บวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตร หรือเป็นที่นั่งเล่นพักผ่อนต่อไป

3. ที่พักอาศัยประเภทถาวร
ที่พักอาศัยประเภทถาวรจะมีโครงสร้างเป็นไม้จริง (เรือนเครื่องสับ) รูปทรงสี่เหลี่ยมไต้ถุนสูงหลังคาทรงจั่ว เสาเป็นเสากลมหรือเสาเหลี่ยม ฝาเป็นฝาไม้ไผ่สายลายคุปหรือฝาไม้กระดาน (ฝาแอ้มแป้น) ที่พักอาศัยประเภทถาวรนี้อาจจำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ

3.1 เรือนเกย หรือเรือนใหญ่ต่อเกยมีส่วนประกอบสำคัญคือ
3.1.1 เรือนใหญ่ เป็นเรือนขนาด 3 ช่วงเสาหันด้านข้างไปทางทิศตะวันออก ตะวันตก (ปลูกเรือนล่องตะวัน) ตีฝากั้นปิดทึบทั้ง 4 ด้าน ฝาเรือนทางด้านหลังเจาะช่องขนาดกว้าง 1 ศอกยาว 1 ศอก เพื่อให้ลมและแสงสว่างเข้าสู่เรือนเรียกว่า “ป่องเอี้ยม” เจาะประตู 2 หรือ 3 ประตู
ตามช่วงเสาด้านตรงข้ามแบ่งพื้นที่ใช้ประโยชน์ในตัวเรือนออกเป็น 3 ส่วน คือ
– ห้องเปิง ตั้งอยู่ริมด้านหัวเรือนของเรือนใหญ่เป็นส่วนที่วางหิ้งสักการะบูชาผีบรรพบุรุษ ผีเรือนและหิ้งพระ หรือบางครั้งอาจใช้เป็นห้องนอนของลูกชาย ห้องเปิดอาจเรียกชื่อว่าห้องผีหรือห้องพระก็ได้
– ห้องกลาง เป็นห้องที่อยู่ในช่วงเสาส่วนกลางเรือนใช้เป็นห้องนอนของพ่อ แม่และเก็บสิ่งของที่มีค่า
– ห้องส้วม จะตั้งอยู่ริมด้านท้ายเรือนของเรือนใหญ่ ตรงข้ามกับห้องเปิดงใช้เป็นห้องนอนของลูกสาวหรือห้องนอนของลูกสายกับลูกเขยหลังแต่งงาน
3.1.2 เกย หรือบ้านโล่ง เป็นชานที่มีหลังคาคลุม มีลักษณะเป็นการต่อชานออกมาทางด้านหน้าของเรือน มีหลังคาคลุมพื้นเป็นไม้กระดานด้านข้าง อาจเปิดโล่งหรือกั้นฝา และพื้นเกยจะมีระดับต่ำกว่าพื้นเรือนใหญ่ ใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่าง ๆ ในครอบครัว เช่น รับประทานอาหาร รับรองแขกพักผ่อน อิริยาบททำบุญเลี้ยงพระ ทำพิธีสู่ขวัญ ฯลฯ
3.1.3 ชานแดด เป็นการต่อชานออกมาจากทางด้านหน้าเปิดโล่งทั้งด้านบนและด้านข้าง พื้นชานแดดจะลดระดับลงมาจากเกยใช้เป็นสถานที่พักผ่อนยามเย็น เป็นที่รับประทานอาหาร หรือวางผลิตผลทางการเกษตร พื้นที่ส่วนหนึ่งมักสร้างเป็นร้านเพื่อตั้งโอ่งน้ำสำหรับดื่ม เรียกว่า “ร้านแอ่งน้ำ”
3.1.4 เรือนไฟ หรือเรือนครัวเป็นส่วนที่ประกอบอาหารเป็นตัวเรือนขนาด 2 ช่วงเสาต่ออกมาจากชานแดดด้านข้างทิศท้ายเรือน ฝาเรือนไฟจะนิยมทำเป็นฝา โปร่งเพื่อระบายอากาศเรือนไฟอาจมีชานมนเป็นที่ตั้งโอ่งน้ำสำหรับประกอบอาหารและล้างภาชนะ

3.2 เรือนโข่ง ลักษณะของเรือนประเภทนี้จะประกอบด้วยเรือนใหญ่และเรือนโข่ง (เรือนน้อย) ตั้งอยู่ตรงข้าม อาจตั้งชิดติดกันเป็นเรือนจั่วแฝดเชื่อมติดกันด้วยฮางริน (รางน้ำ) ระหว่างหลังคาเรือนทั้งสองหลังหรือตั้งอยู่ห่างกัน แต่เชื่อมด้วยชานก็ได้เรือนโข่งมีขนาดเล็กและหลังคาต่ำกว่าเรือนใหญ่เล็กน้อย มีห้อง 2-3 ห้อง มักกั้นฝาเพียง 3 ด้าน เปิดโล่งด้านที่หันเข้าหาเรือนใหญ่ เรือนโข่งมีโครงสร้างเป็นเอกเทศจากเรือนใหญ่ สามารถรื้อไปปลูกใหม่ได้ทันที ใช้ประโยชน์เช่นเดียวกับเกย อาจมีชานแดดหรือเรือนไฟต่อออกทางด้านข้างของเรือน

3.3 เรือนแฝดเรือแฝด จะประกอบด้วยเรือนใหญ่และเรือนอีกหลัง หนึ่งที่เรียก เรือน-แฝด มีรูปร่างประโยชน์ใช้สอยเหมือนกับเรือนโข่งต่างกันตรงที่ลักษณะโครงสร้างของเรือนแฝด คือทั้งขื่นและคานจะฝากไว้กับตัวเรือนใหญ่ พื้นเรือนอาจเสมอกันหรือลดระดับจากเรือนใหญ่ก็ได้ ฝาของเรือนแฝดจะทำให้มีขนาดใหญ่หรือลำลองกว่าฝาเรือนใหญ่ ฝาด้านที่หันเข้าหาเรือนใหญ่จะเปิดโล่งเชื่อมกับชาน แดดออกสู่เรือน ไฟเรือนชนิดนี้มักจะเป็นเรือนของผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจดี
ปัจจัยสี่: เครื่องนุ่มห่ม
การทอผ้า
การทอผ้าเป็นหัตถกรรมพื้นบ้านของชาวอีสานที่ถือเป็นหน้าที่ของสตรีที่จะใช้เวลาว่างการเก็บเกี่ยว มาทอผ้าสำหรับนำมาใช้ในครอบครัวหรือประเพณีต่าง ๆ ชาวอีสานรับอิทธิพลของธรรมชาติรอบข้างมาใช้เป็นศิลปะในการทอผ้าลายต่าง ๆ เทคนิคและกรรมวิธีการผลิตผ้าไหมและผ้าฝ้ายเป็นขั้นตอน ที่เกิดจากการผสมผสานประสบการณ์เทคโนโลยีพื้นบ้านที่สืบต่อกันมาเป็นเวลานานโดยรูปแบบของผ้า เรียกตามเทคนิคการทอ เช่น ผ้าขิด ผ้ามัดหมี่ ล้วนมีความสัมพันธ์กับผ้าทอในดินแดนใกล้เคียง เช่น ลาวและกัมพูชา ทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนความรู้ในการให้รูปแบบเทคนิค และลวดลายการทอผ้าแก่กัน อันเป็นผลมาจากการอพยพเคลื่อนย้ายของผู้คนจากประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มชนที่ตั้งหลักแหล่งอยู่ปัจจุบันทำให้รูปแบบของผ้าอีสานมีความหลากหลายและผสมผสานจนออกมาเป็นรูปแบบเฉพาะท้องถิ่น จนเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาค

การเตรียมเส้นไหม
การเตรียมเส้นไหมไปมัดหมี่ให้เป็นลวดลาย
1. การเตรียมเส้นเครือ: จะนำไหมที่แกว่งแล้วไปคันหูก โดยใช้หลักเฝือ เพื่อกำหนดความยาวตามต้องการ เมื่อได้เส้นไหมยาวตามต้องการแล้วจึงนำไปย้อมสีตากให้แห้งนำไปสืบหูกเพื่อเตรียมทอเป็นผ้า
2. การเตรียมเส้นตำ: นำไหมที่แกว่งแล้วไปแกว่งเพื่อทำเป็นฝอย แล้วย้อมสีตามให้แห้ง นำไปกวักเข้าอักและปั่นหลอดใส่กระสวย สำหรับตำหรือพุ่งเป็นผืนผ้า
3. การเตรียมเส้นตำ (เส้นหุ่ง) ที่มัดหมี่เป็นลวดลาย: การมัดหมี่เป็นการมัดหรือผูกเส้นไหมให้เป็นลวดลายต่าง ๆ วิธีการเริ่มจากการนำเส้นไหมที่แกว่งแล้วทำเป็นฝอย แล้วนำไปใส่โฮงหมี่ (หลักมัดหมี่) เมื่อมัดเสร็จแล้วปลดออกจากโฮงหมี่ไปย้อมสี (ส่วนที่มัดสีจะไม่ติด) ผู้ย้อมจะใช้น้ำสีแต้มให้เป็นสีตามต้องการนำไปตากให้แห้งกวักเข้าอัก เพื่อปั่นหลอดร้อยหลอดเรียงตามลำดับก่อนหลัง ห้ามสลับกันนำไหลอดไปใส่กระสวยเป็นเส้นพุ่งทอเป็นผืนผ้าต่อไป

การเตรียมเส้นฝ้ายเพื่อทอ
1. การเตรียมเส้นตำ: กลุ่มเส้นตำจะมีทั้งเส้นตำที่เป็นสีพื้นและเส้นตำที่เป็นมัดหมี่หรือมัดย้อม เส้นตำที่มัดหมี่หลังบ่าและฟอกเรียบร้อยแล้วจะนำไปใส่โฮงหมี่ และมัดลวดลายตามที่ต้องการ เสร็จแล้วไปย้อมสีตามต้องการแล้วจึงแกะเชือกที่มัดออกแล้วนำมากางใส่กงเพื่อปั่นด้ายจากกงใส่อีกเรียกว่า “การกวัก” จากนั้นจึงปั่นด้ายจากอักใส่หลอดโดยดึงปลายด้านหนึ่งพันกับหลอดไม้เล็ก ๆ สอดอยู่ที่แกนของเหล็กในหมุนมือหมุน ให้เหล็กไนหมุนเพื่อปั่นด้ายเข้าหลอด เรียกว่า “การปั่นหลอด” สำหรับเส้นตำที่เป็นเส้นพื้นหลังจากบ่าและฟอกจึงนำมากวักและปั่นหลอด
2. การเตรียมเส้นสำหรับเข็นเป็นเส้นเครือ: หลังจากผ่านการบ่าและฟอกแล้วนำมาย้อมใส่กงและปั่นจากกงใส่อัก เรียกว่า “การกวัก” เช่นเดียวกันเมื่อได้เส้นฝ้ายจากการกวักฝ้ายอยู่ในอีกแล้วนำอัก 2 อันมาคัน เรียกว่า “การคันหูก” เพื่อกำหนดเส้นเพื่อจะทำเป็นเส้นเครือ ทำคัดต้องคันด้าย 2 เส้นพร้อมกัน ถ้าต้องการให้หนาให้ใส่สี่เส้นจะใส่เส้นเดียวไม่ได้เพราะต้องใช้เป็นเส้นบนเส้นล่าง เมื่อเตรียมเส้นด้ายเรียบร้อยแล้วให้พันเส้นด้ายคล้องไปตามหลักแต่ละหลักเผือจากล่างไปถึงบนสุดแล้วพันเส้นด้ายกลับมาทางเดิม ด้านล่างตรงนี้เป็นจุดสำคัญไขว้เส้นด้ายให้เป็นเส้นบนเส้นล่าง ซึ่งจะนำไปสืบเข้ากับเขาและฟืมต่อไป เมื่อได้จำนวนเส้นครบพอกับฟืมแล้วจึงถอดด้ายออกจากหลักเผือเพื่อเก็บนำไปสืบหูกต่อไปเรียกด้านที่คันแล้วว่า “เครือหูก” จากนั้นนำด้ายนี้ไปใส่ในช่องพันฟืม โดยนำเส้นแต่ละเส้นผูกต่อกันกับเส้นด้ายที่มีอยู่แล้ให้แนบแน่น และครบทุกส้น

ลายมัดหมี่
มัดหมี่ คือ การย้อมฝ้ายหรือไหมก่อนนำไปทอโดยขึงเส้นไหมเข้ากับโฮงหมี่ แล้วใช้เชือกมัดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีให้แน่นตามลวดลายที่ต้องการแล้วนำไปย้อมสี เมื่อแก้ออกส่วนที่มัดจะเป็นสีขาว ถ้าต้องการมากขึ้นต้องนำไปมัดทับสีเดิม เรียกว่า “โอบ” เว้นไว้เฉพาะที่ต้องการให้เป็นสี การมัดหมี่ต้องอาศัยการคำนวณด้วยความชำนาญ เพื่อให้ลายที่มัดออกมาสวยงาม การมัดหมี่ในประเทศไทยจะมัดเฉพาะเส้นพุ่งเท่านั้น

อุปกรณ์ในการมัดหมี่ “โฮง”
โฮง หรือโฮงหมี่ถือหลักสำหรับใส่ด้ายหรือไหมสำหรับมัดหมี่ให้เป็นลวดลาย
ลายผ้ามัดหมี่ เป็นลายผ้าที่แสดงถึงแรงบันดาลใจจากสิ่งรอบข้างและธรรมชาติใกล้ตัว เช่น สัตว์ พืช และสิ่งประดิษฐ์ จากการสำรวจพอจะแบ่งคัดเลือกลายมัดหมี่ออกเป็นแม่ลายพื้นฐาน 7 ลาย คือ
1.หมี่ข้อมี 2 ชนิด คือ หมี่ข้อตรง หวี่ข้อหว่าน
2. หมี่โดมมี 2 ชนิด คือ หมี่โดมห้า หมี่โดมเจ็ด
3. หมี่มัดจับ (หมี่หมากจับ)
4. หมี่กงน้อย มี 2 ชนิด หมี่กงน้อยห้า หมี่กงน้อยเจ็ด
5. หมี่ดอกแก้ว
6. หมี่ในไผ่

ผ้าจก คือการควัก เส้นไหมหรือเส้นฝ้าย ขึ้นมาจากข้างล่างสอดสลับเป็นลวดลายตามต้องการโดยใช้ขนแม่นคล้ายทอสลับกับการปัก คือ ต้องอาศัยความชำนาญมากลวดลายของผ้าจกคล้ายกับลายขิด แต่ละขิดแต่ละหน่วยไม่อาจทำลายสีสลับกันได้ เพราะใช้เส้นพุ่งเส้นเดียวตลอดในแต่ละครั้ง แต่ละหน่วยแต่ละลายจึงทำได้เพียงสีเดียว ส่วนลายจกจะทำสีลายสลับกันได้ ต้องการสีอะไรตรงไหนก็สอดไหมสีนั้นลงไป แล้วควักขึ้นมา จากนั้นกระแทกด้วยฟืมให้แน่นผ้าจกส่วนมากชอบทำเป็นผ้าสไบ (ผ้าเบี่ยง) ที่รู้จักกันดี ได้แก่ ผ้าแพรวา ของกาฬสินธิ์ นอกจากนั้นยังนิยมทำเป็นลายตีนซิ่น

ผ้าแส่ว คือ ผ้าที่ใช้เก็บรักษาและสืบทอดลวดลายนั้น โดยจะทำลวดลายตัวอย่างเก็บรวมกันไว้ในผ้าฝ้ายสีขาวขนาดกว้างประมาณ 40 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร แต่จะไม่กว้างหรือยาวเกินไป เพราะสะดวกในการกางดูลายและเก็บรักษา

ลวดลายผ้าจกนั้น โดยเฉพาะผ้าแพรวามีความโดดเด่นและลักษณะพิเศษโดยได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมและะรรมชาติ ส่วนใหญ่จะทอลายหลักใหญ่ ๆ เพียง 4-5 ลายเท่านั้น เช่น ลายดอกกระบวนเอง ลายกิ่ว ลายใบ-บุ่นหว่าน ลายพันมหา ลายนาคหัวจุ้ม และลานนาคหัวจุ้มสองแขน

ลายผ้าขิด
ผ้าขิด มีอุปกรณ์ที่สำคัญคือไม่เก็บขิดทำให้เกิดลวดลายโดยการสะกิดเส้นด้ายเส้นยืนขึ้นเป็นระยะตามลวดลายที่กำหนดทั้งนี้คำว่า “ขิด” มีความหมายเช่นเดียวกับคำว่าสะกิดในภาคกลาง ลักษณะลายของผ้าขิดจะเป็นแบบลายเรขาคณิตที่เกิดจากการเว้นช่องของเส้นด้ายโดยยกเส้นยืนตามจังหวะที่ต้องการเว้น เพื่อให้เส้นพุ่งเดิน การวางเส้นยืนที่ห่างไม่เท่ากันจะทำให้เกิดลาย โดยใช้ไม้เก็บขิดงัดซ้อนเส้นด้ายไปด้วยขณะที่ทอการทอผ้าขิดถือเป็นการทอผ้าที่ทำให้เกิดลวดลายสำเร็จอยู่ในกี่ลักษณะที่ผ้าขิดมักเป็นการทดลายซ้ำ ๆ กันตลอดความกว้างของผ้านิยมทอเป็นสไบหรือผ้าเบี่ยงและทำเป็นตัวหรือตีนซิ่น ในผ้าสไบช่างที่มีฝีมือสามารถประดิษฐ์ลวดลายต่าง ๆเช่น ลายรูปคน ช้าง หงส์ สิงห์ ได้อย่างสวยงาม

ลายผ้าขิดที่ใช้ในโอกาสต่าง ๆ
– ขิดดอกขิด: ใช้ในงานบุญ งานบวชนาค
– ขิดลายตะเภาหลงเกาะ: ใช้ในบวชนาค
– ขิดแมงเงา: ใข้รับแขกที่บ้าน
– ขิดทัง: ใช้สำหรับสงฆ์มาทำบุญบ้าน
– ขิดขอ: ใช้แต่งห้องรับแขก
– ขิดดอกแก้ว: ใช้ไหว้ผู้ใหญ่
– ขิดกาบใหญ่: ใช้ไหว้ผู้ใหญ่
– ขิดกาบน้อย: ใช้แต่งห้องลูกเขย
– ขิดดอกจันทร์: ใช้ในงานสงกรานต์
– ขิดดอกงูเหลือม: ขิดหมากโม ขิดประแจนไช ขิดแมงงอด: ใช้ในบ้าน
– ขิดโมกระหย่อย: ใช้ปูแท่นบูชา

ลายผ้าขิด มักจะเป็นรูปทรงเรขาคณิต จุด สี่เหลี่ยม หรือเส้นตรงมี 4 ลักษณะคือ
– จุด ไม่กำหนดเป็นรูปทรงอาจจะทอกระจายหรือต่อเนื่องประกอบลวดลายอื่น ๆ
– เส้นตรง คือ การเรียงจุดให้เป็นแถวทั้งแนวนอนและแนวตั้ง
– สามเหลี่ยม มีทั้งแบบทึบทอกลวงหรือโปร่ง
– สี่เหลี่ยม นิยมใช้สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน ผืนผ้า หรือสี่เหลี่ยมด้านเท่า
– ลายผสม ลายขิดที่เป็นลายของแพรวา เช่น ลายพันมหาอุ้มหงส์ ลายนาคสี่แขน ลายช่อขันหมาก ลายดาวไต่เครือ
ชาวบ้านในแทบทุกพื้นที่ของภาคอีสานจะทอผ้าไว้ใช้เอง โดยใช้ฝ้ายและไหมเป็นวัตถุดิบที่สำคัญ ผ้าที่ทอไดจะนำมาใช้เป็นเครื่องนุ่มห่มและเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ในพิธีกรรมของชาวบ้านเอง หรือแม้แต่พิธีกรรมทางพุทธศาสนา ในครั้งอดีตยังใช้เป็นเครื่องแลกเปลี่ยนตามแต่โอกาสและวาระเป็นส่วยหรือเครื่องบรรณาการ เพื่อยกเว้นการเกณฑ์แรงงานของหัวเมืองใหญ่ การทอผ้าที่ใช้ในโอกาสที่สำคัญ เป็นการแสดงถึงฝีมือ ความละเอียด ความอดทนและจินตนาการของผู้ทอ รวมทั้งความเฉลียวฉลาดในการนำวัตถุดิบจากธรรมชาติมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งในการใช้งานและความสวยงาม ดังนั้นผลิตผลจากการทอผ้าจึงเป็นเครื่อวัดคุณสมบัติของผู้หญิงในสังคมอีสานถึงความพร้อมที่จะเป็นภรรยาที่ดีในอนาคต ด้วยเหตุนี้ผู้หญิงจึงได้รับการถ่ายทอด ความรู้เรื่องการทอผ้าโดยผ่านระบบครอบครัวอย่างต่อเนื่อง

ประเภทของผ้าในวิถีชีวิตของชาวอีสาน

1. ผ้าในวิถีชีวิต เป็นผ้าที่ใช้กันตามปกติ เช่น
– ผ้าซิ่น เป็นผ้านุ่งของผู้หญิงทอด้วยไหมหรือฝ้าย จะใช้นุ่งในทุกโอกาสขณะที่อยู่บ้านหรือออกไปธุระนอกบ้านทำงานในไร่นา ใช้เป็นผ้านุ่งอาบน้ำ เป็นชุดนอน นุ่งเวลามีงานเทศกาล หรือไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งนี้ก็จะเลือกใช้ผ้าซิ่นแบบต่าง ๆ ตามแต่โอกาสและวาระ
– ผ้าโสร่ง เป็นผ้านุ่งของผู้ชายทอด้วยผ้าไหม้หรือผ้าฝ้ายเป็นลวดลายต่าง ๆ ใช้ในทุกโอกาสเหมือนผ้านุ่งของผู้หญิง ทั้งนี้แล้วแต่ประเภทของงาน
– ผ้าอีโป้ หรือผ้าขาวม้าจัดเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ โดยปกติแล้วผู้ชายจะใช้โพกหัวขณะทำงานในไร่นา ผูกเอวหรือพาดบ่า แต่ก็เห็นผู้หญิงใช้กันทั่วไป เช่น เป็นผ้าคลุมหน้าเวลาจะออกทำงานกลางแจ้ง หรือจะใช้มัดออกเวลาอยู่บ้าน เป็นต้น
– ผ้าแพรเบี่ยง เป็นผ้าที่ผู้หญิงหรือผู้ชายใช้พาดหรือสะพายบ่าเวลาไปร่วมทำบุญ ผ้าชนิดนี้มีการทออย่างวิจิตรบรรจง ด้วยการขิดหรือจก
– ผ้าอู่ เป็นผ้าผืนใหญ่ลักษณะเหมือนผ้าแพรหรือผ้าขาวม้า ส่วนใหญ่ทอด้วยผ้าฝ้าย ใช้ผูกเป็นเปลให้เด็กนอน
– ผ้าสมมา เป็นผ้าที่ฝ่ายหญิงนั้นตั้งใจทออย่างประณีต เพื่อมอบเป็นของกำนัลแก่ญาติฝ่ายชายและตัวเจ้าบ่าวในวันแต่งงาน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของการเป็นแม่ศรีเรือนที่ดีในอนาคต และเพื่อให้ญาติฝ่ายชายเกิดความรักใคร่เอ็นดู
– ผ้าคลุมศพ เป็นผ้าที่ใช้ห่อศพของคนตายก่อนนำไปเผา ทอด้วยฝ้ายหรือผ้าไหม บางทีจะใช้ผ้าเก่าที่เคยเป็นสมบัติของผู้ตาย บางทีจะใช้ผ้าใหม่ที่ทออย่างประณีต เวลาเผาจะเอาผ้าออกแล้วนำผ้านั้นไปถวายพระ

2. ผ้าที่ใช้ในพิธีกรรม เป็นผ้าที่ใช้ในพิธีกรรมของชาวบ้านที่มีความเกี่ยวโยงกับความเชื่อเรื่องโชคลาง เช่น
– ผ้ายันต์ ที่พบเห็นจะเป็นการใช้จีวรเก่าของพระสงฆ์ ผ้าขาว หรือผ้าแดงมาขีดเขียนอักษรและนำมาบูชา เพื่อสนองตอบความเชื่อเรื่องโชคลางต่าง ๆ เช่น ให้ทำมาค้าขึ้น ให้สอบเป็นเจ้าเป็นนายได้ หรือแม้กระทั่งกันภูติผีปีศาจต่าง ๆ มารบกวน
– ผ้าเอ้บั้งไฟ เป็นผ้าไหม้หรือผ้าฝ้ายที่ทออย่างประณีตด้วยการจกหรือขิด ใช้คล้องคอพญานาคบนองค์บั้งไฟ เพื่อความสวยงาม ซึ่งจะเป็นผ้าที่ดูโดดเด่นที่สุดในขบวนแห่บั้งไฟของชาวอีสาน
– ผ้าที่ใช้ถวายพร้อมเชิงบาตรกราบ เป็นผ้าฝ้ายที่ย้อมด้วยขมิ้นเหลืองผืนกระทัดรัด ซึ่งพระสงฆ์ใช้รองเวลารับของถวายจากฆราวาสที่เป็นหญิง โดยพระสงฆ์จะจับชายผ้าอีกด้านเวลารับ

3. ผ้าในพิธีทางพุทธศาสนา เป็นผ้าที่ใช้ประกอบในพิธีกรรมทางพุทธศาสนา เช่น
– ผ้าผะเหวด เป็นผ้าฝ้ายทอพื้นสีขาว หากเป็นการทออย่างหยาบ ๆ อาจมีการลงแป้งเพื่อปิดรอยสานเส้นใยผ้าและเพื่อสะดวกต่อการลงสีที่ใช้ในการเขียนภาพบรรยาย เรื่องราวของพระเวสสันดรทั้ง 13 กัณฑ์ ส่วนผงผะเหวดจะเป็นผ้าฝ้ายสีขาวทอแบบหยาบ ๆ มีการปักขิดสีจาง ๆ เป็นช่วงยาวประมาณ 2-3 วา ตรงชายผ้าประดับด้วยผ้าไหม้หรือผ้าฝ้ายทอแบบขิดสีสันสวยสะดุดตา ในบางพื้นที่อาจมีการแขวนกระดิ่งที่ชายผ้า ผ้าจะผูกกับเสาไม้ไผ่สูง 3-4 วา ในงาน “เทศกาลบุญผะเหวด”
– ผ้านุ่งนาคและผ้าปกหัวนาค โดยปกติผ้านุ่งนาคจะเป็นผ้าไหมทอสีพื้น บางทีอาจเป็นโสร่งลาย ซึ่งนาคใช้นุ่งในพิธีบวชนาค ก่อนจะเปลี่ยนเป็นจีวรของพระ ส่วนผ้าปกหัวนาคจะเป็นผ้าฝ้ายทอสีขาวบริสุทธิ์ ใช้ปกหัวนาคในขณะทำพิธีบวชนาค โดยเฉพาะในตอนแห่นาครอบอุโบสถหรือหมู่บ้านเพื่อเป็นการกันความร้อนจากไอแดด
– ผ้าห่อคัมภีร์ไบลาน จะใช้ผ้าไหมเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งมักเป็นไหมที่ทอโดยการมัดหมี่ ถือว่าเป็นศิลปะการทอชั้นสูงของคนอีสาน ใช้ห่อเพื่อเก็บคัมภีร์ไบลานจากฝุ่น มอด และแมลงต่าง ๆ เข้าทำลาย ส่วนผ้ารองคัมภีร์ไบลานจะเป็นผ้าไหมหรือฝ้าย ทอด้วยการขดหรือจกผืนขนาดกระทัดรัด ใช้รองคัมภีร์ใบลานเวลาพระเทศน์

ปัจจัยสี่: ยารักษาโรค
หมอยากลางบ้าน
หมอยาแผนโบราณ เป็นการรักษาแบบพื้นบ้าน ในชนบทอีสานมีวิธีการสืบทอดความเชื่อในการรักษาแบบโบราณ ผู้ที่มีอาชีพรักษาผู้ป่วย เรียกว่า “หมอยากลางบ้าน” เรียกยาที่นำมารักษานี้ว่า “ยาสมุนไพร” หรือยากลางบ้านในปัจจุบันนี้ถึงแม้ว่าตำรายากลางบ้านบางส่วนอาจสูญหายและขาดการสืบทอดเอาไว้ ก็ตามแต่ทว่าชาวอีสานโดยเฉพาะในดินแดนที่ห่างไกลความเจริญยังคงมีความเชื่อในการรักษาโรคแบบหมอแผนโบราณที่สืบทอดกันมาอยู่มาก
หมอยากลางบ้านหรือหมอยาแผนโบราณในภาคอีสานซึ่งมีอยู่มากมาย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ หมอแต่ละคนมีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคแตกต่างกันออกไป และมีชื่อเรียกกันตามความสามารถหรือความเชี่ยวชาญนั้น ๆ เช่น หมอกระดูก หมอน้ำมัน หมอน้ำมนต์ หมอยาฝน หมอเอ็น ฯลฯ
ยาและชนิดของยากลางบ้าน
ยากลางบ้านที่ใช้ในการรักษาโรคของชาวอีสาน มีหลายชนิดตัวยาแต่ละชนิดมีสรรพคุณในการรักษาโรคแตกต่างกันออกไป แต่อย่างไรก็ตามชนิดของยากลางบ้านหรือสมุนไพรนั้น เมื่อปรุงเสร็จแล้วจะมีลักษณะดังนี้ คือ
– ชนิดเม็ดที่ทำเป็นลูกกลอน ส่วนมากนิยมผสมน้ำผึ้งแล้วปั้นเป็นลูกกลอน
– ชนิดผงที่บดเป็นผงละเอียด ส่วนใหญ่จะเป็นยาที่ละลายน้ำใช้รับประทานหรือใช้เป่าเข้าจมูกเพื่อแก้อาการคัดจมูก เป็นต้น
– ชนิดน้ำ ส่วนใหญ่เป็นการแช่ตัวยาสมุนไพรในน้ำโดยฝนยาสมุนไพรกับหินด้วยละลายน้ำ หรือต้มตัวสมุนไพรเพื่อให้ตัวยาละลายออกมา (น้ำที่ใช้คือน้ำฝนหรือน้ำสะอาด)
– ชนิดน้ำมัน ส่วนใหญ่แล้วได้จากน้ำมันพืช น้ำมันสัตว์และอื่น ๆ
ภูมิปัญญาและเทคโนโลยี
เครื่องจักสาน
อาชีพหลักของชาวอีสาน คือ การเกษตร ด้วยเหตุนี้เองทำให้ชาวอีสานมีทักษะในการดัดแปลงวัตถุดิบในท้องถิ่นมาผลิตเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ในการดำรงชีวิต ในรูปแบบของเครื่องจักสานทั้งเครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องมือในการจับสัตว์
วิถีการดำรงชีวิต ความเชื่อ ขนบธรรมเนียมและศาสนา เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการผลิตเครื่องจักสานของชาวอีสาน มีการฝึกหัดและพัฒนาถ่ายทอดจนเป็นมรดกทางวัฒนธรรม ซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าในเชิงการใช้สอยแล้วยังแสดงออกถึงความประณีตละเอียดอ่อน ความสวยงามในเชิงประดิษฐ์จึงนับเป็นศิลปกรรมอีกแขนงหนึ่งที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตน ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นภูมิปัญญาและเทคโนโลยีพื้นบ้านที่สร้างสรรค์ขึ้นจากธรรมชาติอย่างแท้จริง

ประเภทของเครื่องจักสาน
1. เครื่องมือเครื่องใช้ในการประกอบอาชีพ
1.1 เครื่องมือในการเกษตร ได้แก่
1.1.1 คันโส้ เป็นเครื่องมือสาน ด้วยไม้ไผ่ถี่ ๆ รูปร่างคล้ายกระบอกผ่าซีกด้านหน้าเปิดกว้าง ด้านหลังปิดแคบมีด้ามจับยาวใช้สำหรับวิดน้ำในนาในช่วงฤดูทำนา
1.1.2 วี เป็นอุปกรณ์ใช้สำหรับคัดเมล็ดข้าวลีบที่ยังปะปนอยู่กับเมล็ดข้าวเปลือกเต็มในลานข้าว
1.2 เครื่องมือสำหรับจับสัตว์และเลี้ยงสัตว์ เช่น
1.2.1 เข่งน้อย เข่งใหญ่ เป็นอุปกรณ์สำหรับไว้ขังสัตว์ปีก เช่น นก หรือ ไก่ มีขนาดต่าง ๆ สานด้วยไม้ไผ่ตาห่าง ๆ ทรงมะนาวผ่าซีก ปากเข่งขนาดเล็ก ใหญ่ไม่เท่ากัน มีเชือกถักกันสัตว์บินหนี เข่งน้อยมีเชือกสำหรับสะพายด้วย
1.2.2 ซวงไก่ หรือสุ่มไก่ มีรูปทรงคล้ายกรวยทำจากไม้ไผ่ทั้งลำ ผ่าเป็นซี่ ๆ ประมาณ 8-10 ซี่ แต่เหลือข้อสุดท้ายไว้และใช้ตอกไม้ไผ่ขนาดใหญ่สานลายขัดกับซี่ไม้ไผ่ชิดข้อจัดระยะถี่ห่างพอประมาณ โดยสายให้ปลายขยายออกใช้สำหรับขังไก่
1.2.3 ข้อง เป็นอุปกรณ์สำหรับใส่ปลาที่จับได้
1.2.4 ตุ้ม เป็นเครื่องมือจับปลา มีลักษณะคล้ายสุ่ม ขนาดใหญ่วางหงายขึ้น ตรงกลางมีกระบอก ไม้ไผ่เจาะรู สำหรับใส่เหยื่อเพื่อล่อปลาให้เข้ามากินส่วนล่างของตุ้ม (ที่เป็นทางเข้ามากินเหยื่อ) ทำเป็นงาเพื่อป้องกันปลาว่ายออก

2. เครื่องใช้ในบ้าน
2.1 เครื่องจักสานที่ใช้ในครัวเพื่อประโยชน์ในการประกอบอาหาร หรือรับประทานอาหาร เช่น
2.1.1 หวด เป็นภาชนะนึ่งข้าวเหนียว ถั่ว งา สานด้วยไม้ไผ่ ทรงกรวย ก้นสอย ปากผาย การนึ่งข้าวด้วยหวดเริ่มมาจากนำข้าวเหนียวที่แช่น้ำไว้ มาซาวน้ำแล้วใส่ข้าวลงในหวด นำหวดไปวางบนหม้อที่ใส่น้ำตั้งบนเตาไฟให้ระดับน้ำในหม้อต่ำกว่าก้นหวด ใช้ผ้าขาวบางปิดปากหวดเพื่อให้ข้าวระอุ
2.1.2 กะติบ เป็นภาชนะใส่ข้าวเหนียวนึ่งสานจากไม้ไผ่เป็นทรงกระบอกมีฝาครอบทรงเดียวกันซ้อนอยู่ชั้นนอก ฐานทำด้วยไม้ไผ่หรือก้านตาลขดเป็นวงกลม มีห่วงสำหรับร้อยเชือกยาวกับฝากะติบสำหรับสะพาย
2.1.3 กระชอน เป็นภาชนะกรองของเหลว สานจากไม้ไผ่เป็นตาถี่รูปครึ่งวงกลมหรือสี่เหลี่ยม มีหูหรือมือจับใช้กรองกากมะพร้าวเพื่อแยกกะทิ กรองน้ำปลาแดก หรือกรองเศษวัสดุเล็กออกจากของเหลว
2.1.4 กระด้ง จะสานจากไม้ไผ่ลักษณะแบนกลม มีทั้งตา ห่าง ตาถี่และทึบ โดยมีประโยชน์ใช้สอยต่างกัน เช่น กระด้งทึบ จะใช้ฝัดเอาฝุ่นละอองและสิ่งสกปรกออกจากข้าวหรือเมล็ดพืช กระด้งถี่หรือห่างเอาไว้ตากของ เช่น ตากพริก ตากเนื้อ เป็นต้น
2.1.5 ก่องข้าว เป็นภาชนะใส่ข้าวเหนียวนึ่ง สานจากไม้ไผ่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ ขานิยมใช้ไม้ทำไขว้เป็นรูป กากบาท ผูกกับส่วนก้อน ก่อง ตัวก่องสายด้วยตอก 2 ชั้น ส่วนฝาจะมีหูเล็ก ๆ สำหรับร้อยเชือกที่ยืดขึ้นมาจากก่องข้าวสำหรับใช้สะพายหรือหิ้ว
2.1.6 ฝาชี เป็นภาชนะครอบอาหาร กันแมลงวันหรือแมลงอื่น ๆ ตอมทำด้วยไม้ไผ่หรือหวายจะสานเป็นรูปครึ่งวงกลม
2.1.7 พวงขวด เป็นภาชนะใส่ขวดและแก้ว ทำด้วยไม้ไผ่สานเป็นรูปสี่เหลี่ยม มีช่องใส่ขวดและมีหูหิ้ว

2.2 เครื่องจักสานที่ใช้ภายในบ้านเรือนหรือภายในครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่ เช่น
2.2.1 อีแตะ เป็นพัดขนาดเล็กด้ามยาวสำหรับใช้ตีแมลงวัน
2.2.2 อู่ (เปลเด็ก) เป็นเครื่องใช้สำหรับนอน สานด้วยไม้ไผ่หรือเชือก หวายและอื่น ๆ มีทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่
2.2.3 จ่อ คือกระด้งขนาดใหญ่ มีริ้วตอกสานวางเรียงกันเป็นรูปก้นหอยสำหรับใส่ตัว “ม้อนสุก” (หนอนไหมแก่) ที่พร้อมจะชักใยหุ้มตัวเมื่อเป็น “ฝักหลอน” (รังไหม)
2.2.4 แอบยา กระปุกขนาดเล็ก ใช้บรรจุอุปกรณ์ในการกินหมาก และยาสีเข้ว

2.3 เครื่องจักสานที่ทำขึ้นเพื่อใช้ได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน เช่น
2.3.1 กระบุง เป็นภาชนะใสสิ่งของสานจากไม้ไผ่ ก้นสอบรูปสี่เหลี่ยมปากกลมกว้างกว่าก้น ถักขอบด้วยหวานมีหูสำหรับสอดเชือกเพื่อร้อยกับไม้คานหาบ
2.3.2 กะต่า (ตะกร้า) เป็นภาชนะทรงกลม ป้อม ลวดลายไม่ละเอียดประณีต ใช้ใส่ของเพื่อหิ้วหรือหาบ
2.3.3 กะหยัง (กระจาดหาบ) สานด้วยไม้ไผ่เป็นสายโปร่ง ก้นเหลี่ยม ปากกลม มีลายสำหรับคาดศรีษะเดินขึ้นที่สูง
2.3.4 กระทอ เป็นภาชนะใส่ของต่าง ๆ เช่น นุ่น ถ่านเกลือสานด้วยไม้ไผ่ เป็นทรงกระบอกตาห่าง ๆ โดยทั่วไปสูง ประมาณหนึ่งศอกบางครั้งกรุด้วยใบไม้
2.3.5 กะป่อม รูปทรงเหมือนตะกร้า ยาชัน มีเชือกผูกสำหรับตักน้ำใส่ครุ ถังหรือภาชนะอื่น ๆ อีกที
2.3.6 กะเป๊าะ รูปร่างคล้ายกระบุงเล็ก ๆ สานด้วยตอกไม้ไผ่ ใช้สำหรับตวงข้าวเปลือก โดยปกติจะมีขนาดมาตรฐานอย่างเช่น กระเป๊าะสำหรับตวงข้าว 5 กิโลกรัมหรือ 10 กิโลกรัม เป็นต้น
2.3.7 วี คือพัดโบกลม สานด้วยไม้ไผ่ มีรูปร่างกลมหรือเป็นเหลี่ยม

3. เครื่องใช้ในการประกอบพิธีกรรม
เครื่องจักสานที่ใช้ประกอบพิธีกรรมความเชื่อต่าง ๆ เช่น
3.1 ขันกะหย่อง สานจากไม้ไผ่เป็นภาชนะรูปร่างคล้ายพานมีหลายขนาดใช้สำหรับใส่เครื่องบูชา
3.2 ตาเหลว เป็นอุปกรณ์ประกอบพิธีกรรมเพื่อป้องกันสิ่งที่ไม่เป็นมงคลโดยใช้ปีกไว้บนสิ่งที่ใช้ทำพิธี เช่น ปักบนหม้อย ๆ หรือบนลานข้าว เป็นต้น

ผ้า
การทอผ้าเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนที่หญิงชาวอีสานจะใช้เวลาว่างหลังจากการเก็บเกี่ยว ผ้าที่ทอได้จะเก็บไว้ใช้ในครอบครัว หรือสำหรับถวายพระในเทศกาลต่าง ๆ ชาวอีสานรับเอาอิทธิพลของธรรมชาติรอบข้าง มาดัดแปลงเป็นลวดลายของผ้าทอชนิดต่าง ๆ ก็ทำให้เกิดลวดลายที่สวยงามแตกต่างกัน เช่น ผ้ามัดหมี่ ผ้าจก ผ้าขิด ส่วนใหญ่มักนำผ้าที่ทอได้ไปทำหมอน ผ้าห่ม ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ผ้าโสร่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นเครื่องใช้สำคัญในครัวเรือนทั้งสิ้น

ผ้าไหม
การทอผ้าไหม การทอผ้าของชาวอีสานมีการทอผ้ามาตั้งแต่สมัยโบราณเป็นวัฒนธรรมประจำชนเผ่าไท-ลาว ผู้หญิงอีสานจะต้องทอผ้าเป็นและได้รับการถ่ายทอดฝึกฝนมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากต้องทอผ้าไว้ใช้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งการใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา

การเตรียมเส้นสำหรับทอผ้าไหม
การเตรียมเส้นเครือ (เส้นยืน) สำหรับไหมพื้นและไหมมัดหมี่
ขั้นตอนนี้ จะนำไหมที่แกว่ง (การเก็บขี้ไหมและสิ่งสกปกออกจากเส้นใย) แล้วไปค้นหูก (การเตรียมเส้นด้ายที่จะทำเป็นเส้นเครือโดยนำอักด้าย 2 อัก มาค้นใส่หลักเฝือต้องใช้ด้าย 2 เส้น ถ้าต้องการหนาก็ใช้ 4 เส้น) โดยใช้หลักเฝือ (หลักไม้ที่ใช้ในการค้นหูก) เพื่อกำหนดความยาวว่าจะทอผ้ากี่ผืนหรือกี่เมตร หลักเฝือจะเป็นตัวกำหนดความยาวตามที่ต้องการแล้ว จึงนำไปย้อมสีตากในแห้งแล้วจึงนำไปสืบหูกเพื่อเตรียมทอเป็นผืนผ้าต่อไป

การเตรียมเส้นต่ำ (เส้นพุ่งหรือเส้นทอ) ไหมพื้น
นำไหมที่แกว่งแล้วไปเหล่งเพื่อทำเป็นปอยแล้วย้อมสีตากให้แห้ง นำไปกวักเข้าอักและปั่นหลอด ใส่กับกะสวยสำหรับต่ำหรือพุ่ง ทอเป็นผืนผ้า
การเตรียมเส้นต่ำ (เส้นพุ่ง) ที่มัดหมี่เป็นลวดลายต่าง ๆ ตามที่ต้องการ เริ่มจากการนำเส้นไหมที่แกว่งแล้วไปเหล่งทำเป็นปอยแล้วจึงนำไปใส่โฮงหมี่ (หลักมัดหมี่) เมื่อมัดเสร็จปลดออกจากโฮ่งหมี่นำไปย้อมสี (ส่วนที่มัดไว้ไม่ติดสีผู้ย้อมจะใช้น้ำสีแต้มให้ได้สีต่าง ๆ ตามความต้องการ นำไปตากให้แห้ง กวักเข้าอักเพื่อปั่นหลอดร้อยหลอด เรียงตามลำดับก่อนหลัง ห้ามสลับกันเป็นอันขาดเพราะจะทำให้ทอไม่เป็นลายตามที่มัดไว้ จากนั้นนำหลอดไปใส่กระสวยเพื่อเป็นเส้นพุ่งทอผืนผ้าต่อไป

ผ้าฝ้าย
การทอฝ้ายนั้นเป็นศิลปหัตถกรรม พื้นบ้านที่ทำกันทั่วทุกภาคของประเทศ ซึ่งแต่ละภาคนั้นก็มีวิธีการและลักษณะเฉพาะแตกต่างกันออกไป
ภาคอีสานเป็นอีกแหล่งหนึ่งที่มีการผลิตผ้าทอมือชนิดต่าง ๆ สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคนแล้วจึงมีคำกล่าวว่า “ยามว่างจากนาผู้หญิงทอผ้าผู้ชายจักสาน” ซึ่งสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตและสังคมของชาวอีสานได้ดีว่า หน้าที่สำคัญของผู้หญิงคือการทอผ้า ซึ่งเป็นงานรองจากอาชีพหลัก
การทอผ้าฝ้ายนิ่มสามารถแยกเป็นขั้นตอนได้ดังนี้ คือ
1. ขั้นตอนการทำฝ้ายให้เป็นปุย
2. ขั้นตอนการทำฝ้ายให้เป็นเส้น
3. ขั้นตอนการเตรียมเส้นด้ายเพื่อทอ

1. ขั้นตอนการทำฝ้ายให้เป็นปุย
ชาวอีสานจะลงมือปลูกฝ้ายกันประมาณเดือนพฤศจิกายน หรือเดือนธันวาคม เมื่อสมอฝ้ายแตกเป็นปุยเต็มที่แล้วจะเลือกเฉพาะปุยที่สะอาด ๆ เท่านั้น นำมาแยกเมล็ดออก ชาวบ้านเรียกว่า “อิ้วฝ้าย” แล้วใสในกระเพียดดีดด้วยไม้ดีดฝ้าย เพื่อให้ปุยฝ้ายนั้นแตกฟูเป็นเนื้อเดียวกันแล้วจึงนำปุยฝ้ายที่ได้ไป “ล้อฝ้าย” โดยแผ่ฝ้ายให้เป็นแผ่นบาง ๆ บนกระดานล้อแล้วใช้ไม้ล้อ (ไม้กลมเล็ก ๆ คล้ายกับตะเกียบ) วางลงและม้วนให้ปุยฝ้ายเป็นหลอดกลมยาว ๆ แล้วดึงไม้ออกหลอดฝ้าย

2. ขั้นตอนการทำฝ้ายให้เป็นเส้น
เมื่ออิ้วฝ้ายตามจำนวนที่ต้องการแล้ว จึงนำไปปั่นเป็นเส้นด้ายโดยนำอิ้วฝ้ายที่เป็นหลอดกลม ๆ นั้นนำปลายด้านหนึ่งพันเข้ากับแกนเหล็กไนที่ติดอยู่กับไนหรือหลา มือหนึ่งจับปลายด้านหนึ่งของอิ้วฝ้าย อีกมือหนึ่งจับมือหมุน หมุนไปเรื่อย ๆ มือที่ถืออิ้วฝ้ายต้องคอนป้อนฝ้ายให้พ้นแกนเหล็กไน แกนที่พันเหล็กจะหมุนให้พ้นแกนเหล็กไน แกนที่พันเหล็กจะหมุนปั่นฝ้ายออกเป็นเส้นเล็ก ๆ ชาวบ้านเรียกการทำฝ้ายให้เป็นเส้นนี้ว่า “การเข็นฝ้าย” เส้นฝ้ายที่ได้จะสม่ำเสมอหรือไม่อยู่ที่ความชำนาญของผู้ปั่น เมื่อด้ายพันที่เหล็กไนมากพอสมควรแล้วจะหยุดเข็นฝ้าย ใช้ไม้หลักที่เรียกว่า ไม้เปียฝ้าย ดึงเส้นฝ้ายออกจากแกนเหล็กให้เข้ากับไม้เปียกฝ้าย เพื่อเก็บด้ายไม่ให้พันกับเส้นด้านที่เป็นระเบียบเรียกว่า “เปียฝ้าย” จากนั้นถ้าต้องการจะนำด้านไปเป็นเส้นเครือก็นำไปแช่ในน้ำข้าวเรียกว่า “การฆ่าฝ้าย” เพื่อให้เส้นด้ายเหนียวเรียบไม่เกิดขน แต่ถ้าต้องการย้อมสีต้องนำไปต้มฟอกแยกไขมันออก แล้วจึงย้อมสีต่อไป

3. ขั้นตอนการเตรียมเส้นด้ายเพื่อทอ
การเตรียมเส้นด้ายเพื่อทอสามารถแยกออกเป็นสองกลุ่ม คือ
3.1 กลุ่มที่เตรียมไว้เพื่อเป็นเส้นต่ำ (เส้นพุ่งหรือเส้นทอ)
3.2 กลุ่มที่เตรียมไว้เพื่อเป็นเส้นเครือ (เส้นยืน)

กลุ่มเส้นต่ำจะมีทั้งเส้นต่ำที่เป็นสีพื้นและเส้นต่ำที่จะเป็นมัดหมี่มัดย้อมการมัดหมี่จะยากง่ายขึ้นอยู่กับลวดลาย ลวดลายที่ซับซ้อนยิ่งต้องมัดและย้อมหลายครั้ง การทอผ้ามัดหมี่นิยมใช้ไหมเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเป็นมัดหมี่ฝ้ายมักจะเป็นลวดลายสีแบบง่าย ๆ เช่น สีขาว-ดำกับสีคราม เส้นต่ำที่มัดหมี่หลังจากฆ่าและฟอกเรียบร้อยแล้วจึงนำไปใส่ “โฮงหมี่” และมัดตามลวดลายตามที่กำหนดไว้ แล้วนำไปย้อมสีตามต้องการ จากนั้นจึงแกะเชือกที่มัดไว้ออก แล้วนำมากางใส่กงเพื่อปั่นด้ายจากกงใส่อัก เรียกว่า “การกวัก” เสร็จแล้วจึงปั่นด้ายจากอักใส่หลอด โดยที่ดึงปลายข้างหนึ่งพันไว้กับหลอดไม้เล็ก ๆ ที่ทำจากแขนงไม้ไผ่หรือต้นปอ ซึ่งสอดอยู่ที่แกนของเหล็กไนมือหมุนเพื่อให้เหล็กไนหมุนพันด้ายเข้าหลอด เรียกว่า “การปั่นหลอด”
สำหรับเส้นต่ำที่เป็นเส้นพื้นนั้น หลังจากฆ่าและฟอกแล้วจะนำไปย้อมสี แล้วจึงนำมากวักและปั่นหลอด
เส้นด้ายที่เตรียมไว้สำหรับเข็นเป็นเส้นเครือหลังจากผ่านการฆ่าและฟอกแล้วจะนำมาย้อมสีใส่กง และปั่นจากกงใส่อัก เรียกว่า การกวักเช่นเดียวกับเส้นด้ายที่เตรียมไว้เป็นเส้นต่ำ เมื่อเส้นด้ายจากกวักฝ้ายอยู่ในอักแล้ว นำอัก 2 อักมาค้น เรียกว่า “การค้นหูก” อุปกรณ์ที่ใช้ในการค้นหูกคือ หลักเฝือ การค้นหูกทำเพื่อกำหนดเส้นด้ายที่จะทำเป็นเส้นเครือ การค้นจะต้องค้นด้ายสองเส้นพร้อมกัน หรือถ้าต้องการให้หนาก็ใส่สีเส้น จะใช้เส้นเดียวไม่ได้เพราะจะต้องใช่เป็นเส้นบนและเส้นล่าง เมื่อเตรียมเส้นล่างเรียบร้อยแล้วให้นำไปพันเส้นด้ายไว้ที่ไม้หลักแรก แล้วนำเส้นด้ายคล้องไปตามหลักแต่ละหลักจากล่างไปถึงบนสุด แล้วพันเส้นด้ายกลับมาทางเดิมข้างล่าง ขั้นตอนนี้เป็นจุดสำคัญ จะไขว้เส้นด้ายให้เป็นเส้นบนเส้นล่าง ซึ่งจะนำไปสืบเข้ากับเขาหูกและฟืมต่อไป เมื่อได้จำนวนเส้น ครบพอกับฟืมแล้วจึงถอดด้านยออกจากหลักเฝือ เพื่อนำไปสืบหูกต่อไปชาวบ้านจะเรียกด้านที่ค้นแล้วว่า “เครือหูก” จากนั้นนำด้ายนี้เข้าใส่ไปในช่องฟันฟืม โดยนำเส้นแต่ละเส้นผูกต่อกันกับเส้นด้าย ซึ่งมีอยู่แล้วให้แน่นและครบทุกเส้น
เมื่อเตรียมเส้นด้ายครบทั้งเส้นเครือและเส้นต่ำครบแล้วจึงทอเป็นผ้าฝ้ายต่อไป

ผ้าทอประเภทต่าง ๆ
1. ผ้าขิด
การทอผ้าขิดถือว่าเป็นงานศิลปะชั้นสูงเพราะจะต้องทำด้วยความละเอียดประณีต และมีขั้นตอนที่ซับซ้อน ยุ่งยาก ผู้ทอจะต้องใช้ความพยายาม และมีสมาธิในการทำโดยใช้ไม้เขี่ย หรือสะกิดช้อนเส้นด้ายยืนแล้วสอดเส้นด้ายพุ่งไปตามแนวเส้นยืนที่ถูกช้อนขึ้นนั้น จังหวะในการสอดเส้นด้ายพุ่งจะทำให้เกิดลวดลายต่าง ๆ ตามต้องการ
การทอผ้าขิดนั้น มีลวดลายต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึง วิถีชีวิตที่ผูกพันอยู่กับธรรมชาติ สิ่งของเครื่องใช้และความเชื่อ เช่น ขิดลายนก ขิดลายแมงงอด ผ้าลายขิดธรรมาสน์ ขิดดอกจันทร์ ลายขิดส่วนใหญ่มักทำเป็นรูป ทรงเรขาคณิต เช่น รูปสี่เหลี่ยม จุด เส้นตรง หรือลายผสม เช่น ลายพันมหาอุ้มหงส์ ลายนาคสี่แขน เป็นต้น
ผ้าขิด ถือว่าเป็นของสูงจึงมักใช้ทำหน้าหมอน ผ้าโพกศรีษะ ผ้าคลุมไหล่ ห้ามนำมาใช้ต่ำกว่าเอวและห้ามข้ามหรือเหยียบ
การทอผ้าขิดของสตรีชาวอีสานถือว่าเป็นงานศิลปะชั้นสูงเพราะการทอต้องทำด้วยความละเอียดประณีต ถ้าผู้ทอไม่มีพยายาม หรือไม่มีสมาธิพอก็จะทอได้ไม่งดงาม เพราะหากทำผิดแม้เพียงเส้นเดียวก็จะเห็นตำหนิเด่นชัด ผ้าขิดถือว่าเป็นของสูง จึงใช้ทำหน้าหมอน ผ้าโพกศรีษะ ผ้าคลุมไหล่ ถ้าจะทำผ้าก็ห้ามนำมาใช้ต่ำกว่าเอว มิฉะนั้นจะขะลำ แม้กระทั่งเมื่อทำผ้าเป็นหมอนหรือสิ่งของเครื่องใช้ต่างก็ห้ามข้ามหรือเหยีบ หรือนั่งบนหมอนถ้าเก็บผ้าขิดไว้ที่ต่ำก็จะขะลำ ซึ่งเป็นความเชื่อของชาวอีสาน
รูปแบบลายผ้าขิดมักจะเป็นรูปทรงเรขาคณิต เช่น รูปสี่เหลี่ยม จุด เส้นตรง ยังไม่ปรากฎว่ามีการทอผ้าขิดเป็นเส้นโค้ง หรือวงกลม รูปทรงเรขาคณิตที่กล่าวถึงมี 4 ลักษณะคือ
1. จุด คือการทอเป็นจุดอาจจะทอเป็นจุดกระจาย หรือต่อเนื่องประกอบลายขิดอื่น ๆ
2. เส้นตรง คือ การเรียงจุดให้เป็นแถว เป็นเส้นตรงแนวตั้ง แนวนอนและแนวเอียง
3. รูปสามเหลี่ยม มีหลายอยู่ขนาดทั้งแบบทอทึบ ทอกลวงหรือโปร่ง
4. รูปสี่เหลี่ยม ที่นิยมใช้ คือ สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน สี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด สี่เหลี่ยมผืนผ้า จัตุรัส หรือสี่เหลี่ยมด้านเท่า
5. ลายผสม คือ ลายขิดที่เป็นลายของแพรวา เช่น ลายพันมหาอุ้มหงส์ ลายนาคสี่แขน ลายช่อขันหมาก ลายดาวไต่เครือ เป็นต้น

2. ผ้ามัดหมี่
การทอผ้ามัดหมี่ เป็นศิลปะการทอผ้าพื้นเมืองชนิดหนึ่ง ที่นิยมทำกันมานานแทบทุกหมู่บ้านจนบางแห่งได้พัฒนาเป็นอุตสหากรรมในครอบครัว ผ้ามัดหมี่มีทั้งที่ทำจากผ้าฝ้ายและผ้าไหม ถือว่าเป็นศิลปหัตถกรรมท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของภาคอีสาน และเป็นที่แพร่หลาย
การทอผ้ามัดหมี่ ในขั้นแรกจะต้องนำเส้นด้ายหรือเส้นไหมไปย้อมสีตามต้องการ แล้วนำไปขึงเข้ากับโฮงหมี่ ใช้เชือกฟางมัดส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีให้แน่นตามลวดลายที่กำหนดไว้ แล้วนำไปย้อมสี เมื่อแก้เชือกออกส่วนที่มัดไว้จะไม่ติดสี เมื่อแก้เชือกออกส่วนที่มัดไว้จะไม่ติดสี เมื่อแก้เชือกออกส่วนที่มัดไว้จะไม่ติดสี เรียกว่า โอบ ตามลวดลายที่กำหนดไว้ แล้วนำไปย้อมตากแห้งแล้วมัดและย้อมเช่นนี้จนกว่าจะได้สีและลวดลายที่ต้องการบางครั้งอาจต้องทำถึง 6-7 รอบ การมัดหมี่ต้องอาศัยการคำนวณด้วยความชำนาญ และแม่นยำเพื่อให้ลวดลายที่ออกมาสวยงาม
ลวดลายของผ้ามัดหมี่ ส่วนใหญ่จะได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น ลายนาค ลายม้า ลายดอกสร้อย ลายต้นสน สายปราสาท เป็นต้น

การออกแบบลายผ้า ผู้คิดลวดลายได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติและสภาพแวดล้อมซึ่งน่าจะแบ่งได้ 4 ประเภท คือ
1. ลายที่มาจากรูปทรงของสัตว์ เช่น ลายแมงงอด ลายนาค ลายแมงมุม ลายคน ลายม้า ลายช้าง ลายนกยูง ลายไก่ ลายสิงโต ลายหางกระรอก ลายนก ลายกระต่าย ฯลฯ
2. ลายที่มาจากรูปทรงของพืช เช่นลายดอกสร้อย ดอกพิกุล ลายอ้อ ลายดอกพวง ลายดอกจันทร์ ลายหมากจับ ลายต้นสน ฯลฯ
3. ลายที่ได้มาจากสิ่งประดิษฐ์และสิ่งของเครื่องใช้ เช่น ลายข้อเครือ ลายโคมห้า ลายโคมเจ็ด ลายปราสาท ลายธรรมาสน์ ลายต้นสน ฯลฯ
4. ลายเบ็ดเตล็ด เช่น ลายขิดตา ลายข้อหว่าน หมี่ราย ฯลฯ

ลายแม่แบบพื้นฐาน
จากการสำรวจลายผ้ามัดหมี่ในภาคอีสาน ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้จัดแบ่งกลุ่มเป็นลายพื้นฐาน 7 ลาย คือ
1. หมี่ข้อ มี 2 ชนิด คือ หมี่ข้อตรง หมี่ข้อหว่าน
2. หมี่โคม มี 2 ชนิด คือ หมี่โคมห้า หมี่โคมเจ็ด
3. หมี่บักจับ (หมี่หมากจับ)
4. หมี่กงน้อยมี 2 ชนิด คือ หมี่กงน้อยห้า หมี่กงน้อยเจ็ด
5. หมี่ดอกแก้ว
6. หมี่ขอ
7. หมี่ใบไผ่
นอกจากทอลายแม่แบบพื้นฐานแล้ว ชาวบ้านจะนำลายแม่แบบมาผสมกันเพื่อให้ได้ลายใหม่ขึ้นมา เช่น ลายขอ ดัดแปลงเป็นลายนาค ลายนาคอุ้มหน่วย ลายนาคชูสน ฯลฯ

3. ผ้าจก
จก คือ การควักเส้นไหมหรือเส้นฝ้าย ขึ้นมาจากข้างล่างสอดสลับเป็นลวดลายตามที่ต้องการ โดยใช้ไม้หรือขนเม่นหรือนิ้วมือยกขึ้น เป็นการทอสลับกับการปัก ซึ่งต้องอาศัยความชำนาญมากลวดลายของผ้าจก คล้ายกับลายขิด แต่ลายจกจะทำสีสลับกันเป็นลายได้ละเอียดมากกว่า ผ้าจกส่วนมากนิยมทำเป็นผ้าสไบ (ผ้าเบี่ยง) ที่รู้จักกันดีได้แก่ ผ้าแพรวาของกาฬสินธุ์
นอกจากนั้นยังนิยมทำเป็นลายตีนซิ่น ลวดลายอันสวยงามของแพรวานั้น โดดเด่น มีลักษณะพิเศษซึ่งได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติและจะทอสายหลักใหญ่ ๆ เพียง 4-5 ลายเท่านั้น เช่น สายดอกกระบวนเอวกิ่ว ลายใบบุ่นหว่าน ลายนาคหัวจุ้ม ลายนาคหัวจุ้มสองแขน เป็นต้น
การเก็บรักษาลวดลายและสืบทอดลวดลายนั้น แต่ละบ้านมักจะทำลวดลายตัวอย่างเก็บรวมกันไว้ในผ้าฝ้ายสีขาว ขนาดกว้างประมาณ 40 เซนติเมตร ยาวประมาณ 50 เซนติเมตร เพื่อความสะดวกในการกางดูลวดลายและเก็บรักษา ซึ่งอาจจะมีมากกว่าหนึ่งผืนก็ได้ เรียกว่า “ผ้าแส่ว”

เครื่องปั้นดินเผา
เครื่องปั้นดินเผาเป็นเครื่องใช้ที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับวิถีการดำเนินชีวิตมายาวนาน นับแต่สังคมมนุษย์เปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตแบบเร่ร่อนมาเป็นการตั้งหลักแหล่งรวมกัน เป็นชุมชนและผลิตอาหารเลี้ยงตนเองและชุมชนเรื่อยมา
จากสภาพสังคมเกษตรกรรมแบบยังชีพ ทำให้คนในสังคมคิดค้นเครื่องมือเครื่องใช้ จากวัสดุธรรมชาติเพื่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เครื่องปั้นดินเผาเป็นอุปกรณ์ที่สร้างขึ้นจากภูมิปัญญาด้วยการใช้ดินที่มีลักษณะพิเศษมาปั้นตกแต่งเป็นภาชนะรูปทรงต่าง ๆ เพื่อการนำไปใช้ เช่น หม้อ โอ่ง ไห แว ตลอดจนอาจจะนำไปใช้ในพิธีกรรม โดยเฉพาะในพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความตาย โดยใช้เทคโนโลยีในการเผา อบ เพื่อให้เกิดความคงทนถาวร ต่อมาได้มีการตกแต่งลวดลายเพื่อความสวยงามเพิ่มขึ้น ดังปรากฎหลักฐานซึ่งพบได้จากการขุดค้นทางโบราณคดีอยู่ทั่วไป
ในปัจจุบันมีพัฒนาการของรูปทรงเครื่องปั้นดินเผาเพื่อให้เหมาะสมกับประโยชน์ใช้สอยและเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งหลากหลาย เช่น หม้อน้ำ อ่างบัว โอ่ง ไห แจกัน โคมไฟ ถ้วย ชาม ครก สร้อย ตุ๊กตา และอื่น ๆ อีกมากมาย

เครื่องปั้นดินเผาเนื้อดินธรรมดา
เครื่องปั้นดินเผาแบบเนื้อดินธรรมดา มีการผลิตทั่วไปในภาคอีสานและยังคงใช้วิธีขึ้นรูปด้วยวิธีการแบบดั้งเดิม โดยใช้ไม้ลายหน้าแบนตีด้านนอก ประกอบกับหินดุรองรับน้ำหนักการตีอยู่ด้านใน โดยการตีขยายเนื้อดินหุ้มปิดส่วนก้นภาชนะทำให้ก้นภาชนะมีลักษณะโค้งมนและเผาในอุณหภูมิต่ำด้วยเตาแบบเปิดโล่ง ทำให้ภาชนะที่ได้เป็นภาชนะเนื้อดินที่มีความพรุนตัวสูง จึงมีอัตราการซึมของน้ำอยู่เสมอ ดังนั้นจึงมักผลิตเพื่อประโยชน์ในการปรุงอาหาร เช่น เตาไฟ ที่รองหม้อ หม้อดินแบบต่าง ๆ มากกว่าเพื่อการเก็บรักษาและการถนอมอาหาร เนื่องจากมีข้อจำกัดเรื่องความคงทนและปริมาณบรรจุน้อย เครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้มักไม่มีการทำลวดลายหรือเขียนสีนอกจากนำไปใช้เพื่อการประดับตกแต่ง เช่น กระถางต้นไม้

เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่ง
เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งเป็นเครื่องปั้นดินเผาที่พัฒนามาจากเครื่องปั้นดินเผาเนื้อธรรมดา เพื่อประโยชน์ใช้สอยในการเก็บรักษาและถนอมอาหาร และเป็นเครื่องใช้ขนาดเล็กในครัวเรือน เช่น ไห อ่าง ครก ถ้วยต่าง ๆ ใช้วิธีขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน เทคโนโลยีการเผาใช้เตาขุดหรือเตาก่อ ซึ่งสามารถควบคุมอุณหภูมิได้ โดยเผาด้วยอุณหภูมิสูง จนเนื้อแกร่งและมีการเคลือบผิวเป็นสีสันต่าง ๆ เพื่อความสวยงามและเพื่อประโยชน์ใช้สอยไปพร้อมกัน
แหล่งที่มีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาแกร่งพื้นบ้านอีสานเพื่อส่งขายในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคอีสานทั้งเขตแอ่งสกลนครและแอ่งโคราช ที่สำคัญที่ 4 แห่ง คือ
1. บ้านโพนบก อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
2. บ้านกุดปลาค้าว อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
3. บ้านท่าไห อำเภอเขื่องในจังหวัดอุบลราชธานี
4. บ้านด่านเกวียน อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา

ทั้ง 4 หมู่บ้าน ผลิตเครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่งเพื่อส่งขายในพื้นที่ต่าง ๆ ของภาคอีสาน มีการผลิตสืบทอดกันเรื่อยมาตั้งแต่อดีต บางแห่งก็ยังคงผลิตตามรูปแบบเดิม เพราะยังเป็นที่ต้องการอยู่ แต่ก็ได้มีการผลิตสิ่งของเครื่องใช้รูปแบบใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการใช้สอยของสังคมแบบใหม่ด้วย

โลหะกรรม
หัตถกรรมประเภทหนึ่งที่มีอายุเก่าแก่และแสดงให้รู้ว่าคนอีสานรู้จักที่จะนำมาใช้ก่อนคนในภูมิภาคอื่น ๆ คือหัตถกรรมประเภทโลหะ มีการค้นพบว่าคนอีสานสามารถทำเครื่องมือเครื่องใช้ด้วยสำริดได้ตั้งแต่ 3,600-3,000 ปีมาแล้ว หลังจากนั้น จึงมีการพัฒนาไปสู่การทำเครื่องใช้ด้วยเหล็กซึ่งมีอายุ 2,500-2,000 ปี โดยใช้วัสดุในท้องถิ่นประกอบกับ ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ล้ำลึก เพื่อตอบสนองประโยชน์ใช้สอยในชีวิตประจำวัน

เครื่องทองเหลือง
การผลิตเครื่องทองเหลืองในภาคอีสานร้อยละ 90 เป็นการผลิตแบบดั้งเดิม คือการหลอมเหลวโลหะผสม โดยใช้วิธีการแทนที่ขี้ผึ้งและทำด้วยมือ การขึ้นรูปและมิติขึ้นอยู่กับประสบการณ์และความชำนาญของช่าง ดังนั้นรูปทรงของเครื่องทองเหลืองจึงดูคล้ายคลึงกัน แต่แตกต่างกันที่มิติ เพราะว่าช่างไม่ได้ใช้เครื่องมือวัดที่มีมาตรฐาน เครื่องทองเหลืองส่วนใหญ่เป็นภาชนะที่มีภายในกลวง สามารถจะบรรจุสิ่งของได้ รูปแบบของเครื่องทองเหลืองมีอยู่ 8 ประเภทแบ่งตามลักษณะของรูปทรงและลวดลายได้แก่ รูปทรงกระบอก รูปทรงกระบอกผสมรูปทรงกรวย รูปทรงกรวย รูปทรงครึ่งวงกลม รูปทรงดอกบัวตูม รูปทรงกลม รูปทรงเกลียวซ้อนกัน และรูปทรงมีดปังตอ
ปัจจุบันหมู่บ้านผลิตทองเหลืองที่สำคัญคือ บ้านปะอาว อำเภอเมืองจังหวัดอุบลราชธานี และบ้านหนองบัวน้อย ตำบลหนองบัวน้อย อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งผลิตงานหล่อกระดิ่ง และที่บ้านบิง ตำบลโชคชัย อำเภอโชคชัย จังหวัดนครราชสีมา ผลิตงานหล่อพระพุทธรูปทองเหลือง

กระบวนการทำเครื่องทองเหลือง
การทำเครื่องทองเหลืองตั้งอยู่บนพื้นบานการหลอมหล่อโลหะผสมตามกรรมวิธีแบบโบราณ คือ การหลอมหล่อโลหะผสมโดยใช้วิธีแทนที่ขี้ผึ้ง

องค์ประกอบของการนำเครื่องทองเหลืองของชาวอีสาน
1. วัตถุดิบ
1.1 วัตถุดิบตามธรรมชาติ ได้แก่ ดินจอมปลวก ดินเหนียว มูลวัวหรือขี้วัว ขี้สูดหรือชันโรง ขี้ซี หรือชันฟืน และน้ำ
1.2 วัตถุดิบปรุงแต่ง ได้แก่ แกลบ ขี้ผึ้ง ทองเหลือง อะลูมิเนียม และถ่านไม้

2. กรรมวิธีการหลอมหล่อเครื่องทองเหลือง
การหลอมหล่อเครื่องทองเหลืองประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ตามลำดับดังนี้คือ การเตรียมดินละเอียด การปั้นแกนทราย การตากแกนทราย การกลึงแกนทราย การพันแกนทรายด้วยเส้นขี้ผึ้ง การทำลวดลาย การอุดช่องสำหรับสวมไม้มอนน้อย การติดเส้นชนวน การหุ้มหุ่นขี้ผึ้งด้วยดินละเอียดการหุ้มหุ่นด้วยดินหยาบ การตากหุ่นครั้งสุดท้าย การสุมหุ่น การหลอมทองเหลือง การเททองเหลือง การกะเทาะ พิมพ์ การกลึงแต่งผิวของเครื่องทองเหลืองและการขัดผิวเครื่องทองเหลือง

3. เครื่องมือและอุปกรณ์
เครื่องมือและอุปกรณ์ที่นำมาใช้ในการหลอมหล่อเครื่องทองเหลืองส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือที่ทำจากเศษวัสดุในท้องถิ่น มีขนาดและรูปทรงไม่แน่นอนเพราะว่าเครื่องมือและอุปกรณ์ดังกล่าวประดิษฐ์ขึ้นตามความพอใจของผู้ใช้แต่ละคน จึงมีความแตกต่างกันเมื่อพิจารณาถึงเครื่องมือและอุปกรณ์โดยอาศัยกฎเกณฑ์ด้วยวัสดุที่นำมาทำเครื่องมือ และประโยชน์ใช้สอยจะสามารถแบ่งได้เป็น 6 ประเภท ได้แก่
– เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทำจากไม้
– เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทำจากดิน
– เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทำจากหิน
– เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะ
– เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทำจากโลหะ
– เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทำจากยาง
– เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ทำจากใยพืช

เหล็ก
ในภาคอีสานมีการนำเหล็กมาใช้ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีการค้นพบโลหะกรรมที่ทำจากเหล็ก เช่น เครื่องใช้และเครื่องประดับกระจายอยู่ทั่วไป แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับชุมชนเมืองโบราณตามลุ่มน้ำต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน มีงานโลหะกรรมที่ทำจากเหล็กกระจาย เกือบทั่วทุกจังหวัดเป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ในครัวเรือนและในการเกษตรกรรม เช่น ไถ จอบ เสียม พลั่ว โดยทั่วไปจะใช้วิธีการตีขึ้นรูปด้วยความร้อนวัตถุดิบที่ใช้ คือ เหล็กเหนียว หรือเหล็กกล้า เช่น เหล็กแหนบรถยนต์ เหล็กพืด และเหล็กรางรถไฟ เป็นต้น
ในปัจจุบันอาชีพนี้สามารถทำรายได้ให้กับชุมชน จึงมักทำเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนและสืบสานอาชีพภายในครอบครัว โดยเทคนิคการผลิตยังคงรูปแบบดั้งเดิมของท้องถิ่น คือ การใช้กำลังคน ความชำนาญและอุปกรณ์ง่าย ๆ เช่น ค้อน ตะไบ เตาถ่าน ทั่งเหล็ก ทั่งขอ

ชนิดของผลิตภัณฑ์
ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการตีเหล็ก แบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภทคือ
1. ผลิตภัณฑ์เครื่องมือการเกษตร ใช้สำหรบทำการเกษตรกรรมทั่วไป ได้แก่ มีด จอบ เสียม พลั่ว ขวาน เป็นต้น
2. ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ในครัวเรือน ได้แก่ มีดบาง มีดปอกผลไม้ กรรไกร เป็นต้น
3. ผลิตภัณฑ์จำพวกเครื่องมืออุปกรณ์ เช่น เครื่องมือก่อสร้าง ช่างไม้ ช่างตีเหล็ก ผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ได้แก่ ค้อน ใบกบ สิ่ว เป็นต้น

หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกวัสดุ
การตีเหล็กรูปพรรณจะต้องคัดเลือกชนิดของเหล็กที่สามารถตีขึ้นรูปได้เท่านั้น ซึ่งต้องเป็นเหล็กกล้าเหนียว ซึ่งมีทั้งความแข็งและความเหนียว มีเปอร์เซ็นต์ของคาร์บอนในเนื้อเหล็กสูง สามารถทำการชุบแข็งได้
โดยทั่ว ๆ ไปในการผลิตเหล็กรูปพรรณช่างตีเหล็กจะเลือกใช้เหล็ก ดังต่อไปนี้
1. เหล็กฝาถังน้ำมัน คือ เหล็กที่นำเอามาจากถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร ใช้สำหรับตีเหล็กรูปพรรณที่มีความบางและใช้นำมาทำปลอกมีด เสียม เหล็ก ชนิดนี้มีราคาค่อนข้างสูง
2. เหล็กตะไบ คือ เป็นตะไบที่ใช้การไม่ได้แล้ว เมื่อนำมาทำเป็นรูปพรรณจะมีคุณภาพดีมาก ส่วนมากจะนำมาตีเป็นเหล็กขูดเหล็กหรือตีเป็นสิ่วเจาะไม้
3. เหล็กแหนบรถยนต์ เป็นเหล็กแหนบซึ่งใช้การไม่ได้แล้ว มีราคาถูก มีความแข็งและเหนียว ส่วนมากใช้ทำเป็นมีดพร้าชนิดต่าง ๆ ที่ใช้ในการเกษตร
4. เหล็กพืด เป็นเหล็กซึ่งขายในท้องตลาดทั่วไป มีความแข็งน้อยกว่าเหล็กแหนบแต่ราคาสูงกว่า สามารถทำเป็นรูปพรรณได้ง่าย ส่วนมากใช้ทำมีดโบราณ (เครื่องประดับ) ทำเสียม ทำพลั่วและมีด
5. เหล็กรางรถไฟ เหล็กชนิดนี้ได้มาจากรางรถไฟแบบเก่า มีราคาพอสมควรแต่มีไม่มากในท้องตลาดมีความแข็งแรงน้อยกว่าเหล็กแหนบเล็กน้อย
ส่วนมากใช้ทำขวานชนิดต่าง ๆ ปัจจุบันนี้ช่างตีเหล็กจะนิยมใช้เหล็กแหนบ เป็นวัตถุดิบใช้ในการตีเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดต่าง ๆ มากที่สุดเพราะเหล็กแหนบมีความแข็ง และเหนียวมากอีกทั้งยังตีขึ้นรูปได้ง่าย หาซื้อได้ง่ายและราคาก็ไม่แพงมากนัก
เงิน
เครื่องเงินเป็นโลหะกรรมที่มีการผลิตทั่วไปในภาคอีสาน จะผลิตเป็นเครื่องใช้และเครื่องประดับ มีการสร้างรูปแบบ และเอกลักษณ์ไปตามท้องถิ่นต่าง ๆ กันส่วนใหญ่การผลิต จะอาศัยความชำนาญและลวดลายที่ถ่ายทอดกันในหมู่บ้าน การผลิตยังคงรูปแบบอุตสาหกรรมในครัวเรือน ซึ่งหลายท้องถิ่นจะยึดถือเป็นงานควบคู่ไปกับการทำนาคนในหมู่บ้านทุกคนสามารถทำเป็นทุกคน เช่น การทำ “ประเกือม” ที่บ้านเขวาสินรินทร์ และบ้านสดอ บ้านโชค บ้านนาโพธิ์ เขตอำเภอเมือง จ.สุรินทร์ ซึ่งยังคงรักษาเอกลักษณ์ทางด้านการผลิตและลวดลายสลักที่สั่งสมมาแต่โบราณที่มีความอ่อนช้อยสวยงาม

ขั้นตอนในการทำเครื่องเงิน “ประเกือม”
1. ขั้นเตรียมอุปกรณ์ อุปกรณ์ในการทำเครื่องเงิน “ประเกือม” ได้แก่
1.1 ชัน
1.2 ฆ้อนตี หรือ ฆ้อนตอก
1.3 คีมจับ
1.4 เงิน (เม็ดเงิน)
1.5 ตาชั่ง
1.6 กรรไกร
1.7 เครื่องมือแกะลาย
1.8 เหล็กตัด
1.9 เครื่องรีดโลหะ
1.10 น้ำยาประสาน
1.11 เครื่องประสานหรือเครื่องบัดกรี
1.12 แท่นเหล็กขึ้นรูป
1.13 เบ้าหลอม
1.14 เหล็กเจาะ

2. ขั้นตอนการทำเครื่องเงิน “ประเกือม” พอสรุปได้ดังนี้
2.1 นำเม็ดเงินมาหลอมในเบ้าหลอม
2.2 เทเงินที่หลอมแล้วลงในพิมพ์ซึ่งเป็นแท่นเหล็ก
2.3 นำเงินออกจากพิมพ์ไปรีดให้เป็นแผ่นบางยาว
2.4 ตัดแผ่นเงินที่รีดแล้วให้เป็นชิ้น ๆ ตามขนาดที่ต้องการ
2.5 เชื่อมแผ่นเงินที่ตัดแล้วเข้าด้วยกัน ด้วยน้ำยาประสานให้เป็นรูปทรงตามที่กำหนดไว้
2.6 นำมาตีขึ้นรูปให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการ
2.7 ตกแต่งริมและขอบโดยใช้เส้นลวดขดเป็นวง วางปลายทั้งหัวและท้ายของลูกประเกือมที่ได้รูปทรงแล้ว
2.8 นำลูกประเกือมที่ใส่ขอบแล้วไปต้มให้ขาวในน้ำ ซึ่งประกอบด้วยน้ำสารส้มและเกลือ
ในอัตราส่วนพอเหมาะสมช้เวลาต้มประมาณ 15 นาที
2.9 นำชันมาอุดรูตรกลางภายในลูกประเกือม เพื่อให้ลูกประเกือมมีรูปทรงที่คงตัว
2.10 ใช้เครื่องมือแกะสลักลายบนลูกประเกือม
2.11 ใช้เหล็กเป็นแท่งเผาไฟร้อนเจาะเข้าไปในชัน ซึ่งอยู่ตรงกลางของลูกประเกือมให้เป็นรู เพื่อใช้ร้อยเส้นด้ายหรือเอ็น
2.12 ขัดลูกประเกือมให้ขาวด้วยแปรงในน้ำอุ่นที่ผสมผงซักฟอก
2.13 หากต้องการให้มีสีดำให้นำไปย้อมในน้ำย้อมผม แล้วขัดส่วนลายที่นูนขึ้นออกร่องที่ลึกจะติดสีดำ

การสักขาลาย
การสักขาลายของชาวอีสานเป็นภูมิปัญญาตกทอดมาแต่โบราณ ตามความเชื่อของการสักขาลายมีการสืบทอดมาแต่ครั้งชน เผ่าอ้ายลาวอพยพมาอยู่อาณาจักรล้านนาและล้านช้าง มักนิยมสักด้วยหมึกอย่างแพร่หลาย จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของคนตามท้องถิ่นในบริเวณนั้น
ผู้ชายชาวอีสานส่วนใหญ่แล้วนิยมสักลาย มิฉะนั้นจะถูกมองเหมือนเป็น “โตแม่” (ผู้หญิง) แต่ผู้หญิงก็มีบ้างโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสมัย 60 ปีก่อนขึ้นไป การสักลายถือว่าเป็นคน “ใจกัดแก่น” หรือใจหนักแน่น ไม่ใช่คน “ขี้โย่ย ขี้ย้าน” หรือใจเสาะ การ “สักขาลาย” บางท่านอธิบายว่าเพื่อฝึกธรรมะเกี่ยวกับทมะ คือ ให้รู้จักอดกลั้น ข่มจิตข่มใจและเพื่อความบึกบึนให้สมกับเป็นลูกผู้ชาย บ้างก็ว่าทำให้เกิดความทรหดในทางโลกีย์ด้วย
ผู้ชายที่สักขาลายแล้วจะได้รับการยกย่องจากคนทั่วไปโดยเฉพาะเพศตรงข้าม ทำให้มีความภูมิใจทรนงในตัวเอง ดังนั้นจึงมักจะถกโสร่งหรือผ้านุ่มเสมอ เพื่ออวดให้เห็นขาลายของตน
การสักขาลายให้สมบูรณ์แบบมีคติเป็นกลอนว่า
“ขาลายแล้วทางเอวตั้งซ่อ
ตั้งซ่อ แล้วทางแข้วตอกทอง
สักนกน้อยงอย แก้มจั่งซิคือ”
ถ้าสักลายเพียงเหนือเข่าขึ้นมาเล็กน้อยไม่ถึงเอวได้ชื่อว่า
“ขาลายบั้งปลาแดก”
วิธีการสักขาลาย
การสักจะใช้เหล็กแหลมชุบหมึกซึ่งทำจากใบมันแกวเคี่ยวใส่เขม่าควันไฟ ผสมดีสัตว์แล้วนำมาสักหรือกระทุ้งเบา ๆ ลงผิวหนังพอให้เลือดออกและสีดำซึมลงไป

ลวดลาย
1. ลายมอมคล้ายสิงห์ คนทั่วไปนิยมสักลายนี้เพราะเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ที่ทรงพลัง และความเป็นผู้นำในฝูงสัตว์โลก เป็นสัตว์ป่าหิมพาน ลักษณะของตัวมอมคือ ตัวเป็นช้าง หางเป็นม้า หน้าเป็นสิงห์
2. ลายนกขอด หรือ นกข้วน เป็นสายเสน่ห์มหานิยม ดังคำกล่อนว่า “ลายนกข้วน ชวนน้องเข้าบ่อนนอน”
3. ลายดอกไม้ นิยมสักทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยทั่วไปมักจะสักลายดอกผักแว่นไว้ที่แขน
4. ลายงูขดขนาดสั้น (รูปคล้ายขาคีมหรือมีดสะนาก) นิยมสักบริเวณใต้หัวเข่าลงไป โดยเชื่อว่าจะป้องกันสัตว์มีพิษเลื้อยคลานหรืออยู่ตามน้ำกัดต่อยได้

ความเชื่อ
ลำผีฟ้า
ชาวอีสานมีความเชื่อดั้งเดิมเกี่ยวกับผีผู้มีอิทธิฤทธิ์อยู่บนฟ้าหรือที่เรียกว่า ผีฟ้า พญาแถน ซึ่งเป็นผู้ให้คุณให้โทษ ตลอดจนดลบันดาลให้เกิดสรรพสิ่งบนโลก การลำผีฟ้าเป็นการติดต่อกับผีที่อยู่บนฟ้าเพื่ออัญเชิญลงมาประทับทรงเพื่อช่วยในการรักษาเยียวยาแก่ผู้ป่วย

ผีปู่ตา
ในภาคอีสานทุกหมู่บ้านจะมีป่าไม้ยืนต้นอยู่ทางทิศตะวันตกในป่านั้นจะมีศาลเพียงตาปลูกไว้ เรียกว่า “ตูบปู่ตา” ซึ่งเป็นผีประจำหมู่บ้านช่วยดูแลทุกข์สุข หรือตามปกปักรักษาในการออกรบทัพจับศึกในหมู่บ้านจะมีเฒ่าจ้ำเป็นผู้ติดต่อระหว่างผีปู่ตาในทุกหนึ่งปีจะมีงานเลี้ยงผีปู่ตา

หมอยากลางบ้าน
หมอยากลางบ้านหรือหมอยาแผนโบราณ ในภาคอีสานยังมีอีกมากมาย ปัจจุบันเป็นผู้สูงอายุผู้มีความรู้ในการใช้ยากลางบ้านหรือยาแผนโบราณ ที่สั่งสมสืบทอดกันมา ซึ่งหมอแต่ละคนจะมีความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคแตกต่างกันออกไปและจะถูกเรียกชื่อตามความสามารถความเชี่ยวชาญที่ถนัดอยู่ เช่น หมอกระดูก หมอน้ำมัน หมอน้ำมนต์ หมอยาฝน หมอเอ็น เป็นต้น

เครื่องจักสาน
เครื่องจักสาน เป็นผลผลิตที่เกิดจากภูมิปัญญาผสมกับสภาพแวดล้อมของชาวอีสาน แสดงออกถึงความปราณีตละเอียดอ่อนมีความสวยงามในเชิงประดิษฐ์ ลวดลายและรูปลักษณ์ของเครื่องจักสานของชาวอีสานสะท้อให้เห็นเอกลักษณ์เฉพาะตน ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นเทคโนโลยีพื้นบ้านที่ถูกใช้สอย ผสานเข้ากับความสวยงามอย่างชาญฉลาดชาวอีสานใช้ประโยชน์ จากเครื่องจักสานในชีวิตประจำวันทั่วไปโดยสามารถแบ่งประเภทของเครื่องจักสานตามประโยชน์ใช้สอย คือเครื่องใช้ภายในครัวเรือน เครื่องใช้ในการเกษตร ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ จับสัตว์ของเล่นเด็กและประโยชน์ในพิธีกรรม

ภาพก่องข้าว
ก่องข้าว ภาชนะใส่ข้าวเหนียวนึ่งสานด้วยไม้ไผ่มีส่วนประกอบ 3 ส่วนคือ ขาทำด้วยไม้เนื้อแข็งไขว้เป็นรูปกากบาท ผูกกับส่วนก้นก่อง ตัวก่องข้าวสานด้วยสานด้วยตอกซ้อน 2 ชั้นส่วนฝามีหูก 2 ข้างสำหรับร้อยเชือกที่ยึดขึ้นมาจากก่อง สำหรับใช้สะพายหรือหิ้ว

กะป่อม
เป็นภาชนะสานด้วยไม้ไผ่ยาด้วยชัน รูปทรงเหมือนกะต้าใช้สำหรับตักน้ำหรือขังสัตว์น้ำต่าง ๆ เช่น ปลา ปลาไหล กบ
ขันกระหย่อง
เป็นเครื่องมือใช้กักขัง ปู ปลา กบ เขียด กุ้ง หอย ทำด้วยไม้ไผ่ซีกสานตรงบริเวณปากจะมีฝาเพื่อป้องกันสัตว์น้ำกระโดดออกจากข้อง ข้องมีหลายชนิด เช่น ข้องเป็ด ข้องลอย

เครื่องปั้นดินเผา
เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง
ที่พบเป็นเครื่องปั้นดินเผาเนื้อธรรมดา คาดว่าเป็นสมัยแรกเริ่มกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงมีการผลิตเครื่องปั้นดินเผาไม่ต่ำกว่า 3,500 ปี มาแล้ว โดยใช้ทั้งในพิธีกรรมและใช้สอยประโยชน์ในชีวิตประจำวันภาชนะดินเผาที่ใช้ในพิธีกรรม จะมีการตกแต่งให้มีความสวยงามมากขึ้น

เครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน
บ้านด่านเกวียน เป็นแหล่งผลิต เครื่องปั้นดินเผาเนื้อแกร่ง ที่สำคัญของอีสาน เพื่อสนองความต้องการของชุมชนและประโยชน์ตามความจำเป็นได้อย่างกว้างขวาง ทั้งขนาดบรรจุและความสวยงาม เหมาะต่อการใช้งานที่ต้องการความคงทนถาวร เช่น การถนอมอาหาร การหมักเก็บที่ต้องใช้เวลานานซึ่งเป็นต่อวิถีชีวิตของชาวอีสานในปัจจุบันได้มีการพัฒนาการผลิตซึ่งทำให้รูปแบบเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียนมีความสวยงามหลากหลายทั้งรูปแบบ สีสันและความคงทนถาวร

โลหะ
เครื่องทองเหลือง
เครื่องทองเหลืองถือเป็นงานโลหะกรรม ที่มีความสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตของชาวอีสานมาตั้งแต่อดีตทั้งประโยชน์ใช้สอยและงานพิธีต่าง ๆ การผลิตเครื่องทองเหลืองขั้นตอนส่วนใหญ่แล้วเป็นแบบดั้งเดิมทั้งการขึ้นรูปที่ทำด้วยมือและการวัดด้วยการคาดคะเนตามประสบการณ์ เครื่องทองเหลืองส่วนใหญ่เป็นภาชนะที่มีภายในกลวงสามารถบรรจุสิ่งของลงไปได้