ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

จำรัส ไกรกูล (ช่างน้อย) (ประติมากรรม)

จำรัส ไกรกูล

นายจำรัส ไกรกูล หรือ ช่างน้อย เกิดเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒ เกิดที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ต่อมาย้ายอยู่ที่ชุมชนโดนไข เขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ สำเร็จการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนยุทธกาจราษฎร์วิทยา จังหวัดบุรีรัมย์ จากนั้นได้ศึกษาและฝึกทำงานด้านประติมากรรมกับช่างทำโบสถ์ ช่างทำเทียนจนมีความรู้ความสามารถและได้รับงานออกแบบ ก่อสร้าง และงานประติมากรรมต่าง ๆ

นายจำรัส ไกรกูล เป็นช่างศิลป์ที่ใส่ใจในรายละเอียดของงานเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะงานประติมากรรมที่ต้องมีสัดส่วนที่สมดุล ลายจะต้องมีที่ขึ้น ที่จบ ให้สวยงาม ลงตัว มองแล้วไม่ขัดกัน ไม่ขาดหาย อีกทั้งยังได้ออกแบบลายที่เป็นเอกลักษณ์คือ ลายลึก อวบ และคม สร้างเป็นผลงานที่โดดเด่น อาทิ วิหารหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่ได้ออกแบบให้เป็นเอกลักษณ์แบบอีสานใต้ มีการจัดวางสัดส่วนของวิหาร ลวดลายต่าง ๆ ได้อย่างสวยงามลงตัว

นายจำรัส ไกรกูล เป็นผู้ที่ได้อุทิศตนเพื่อสร้างงานศิลป์ พัฒนารูปแบบงาน ให้มีความสวยงาม ทันสมัย สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย และได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ลูกศิษย์ที่ได้เข้ามาศึกษาและฝึกฝนที่บ้านเป็นจำนวนมาก อีกทั้งได้อุทิศตนช่วยเหลืองานสาธารณประโยชน์มาโดยตลอด ทำให้เป็นที่รัก และชื่นชมของบุคคลโดยทั่วไป

นายจำรัส ไกรกูล หรือ ช่างน้อย เป็นผู้ที่มีความใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ศึกษาหาความรู้ทางด้านงานศิลปะ ลายกนก ลายไทย และงานสถาปัตยกรรม ด้วยความที่เป็นคนที่อยู่ใกล้ชิดกับวัด จึงทำให้สนใจงานช่างทางพุทธศาสนา ทั้งอุโบสถ ซุ้มประตู วิหาร ศาลา จึงศึกษาและเริ่มลงมือทำจากการเป็นลูกมือของช่างใหญ่แล้วค่อยพัฒนาฝีมือตนเองจนมีทักษะ มีการออกแบบเป็นเอกลักษณ์ ที่วิจิตรในแบบของศิลปะผสมไทยกับเขมร

ผลงานที่ออกแบบลายเฉพาะ อีกทั้งยังได้มีหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อสอนนักศึกษา และผู้ที่สนใจให้ เข้าไปศึกษาเรียนรู้เพื่อสืบสานงานศิลป์ นายจำรัส ไกรกูล จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป