ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

กลุ่มชาติพันธุ์ในอีสาน

ภูมิภาคอีสาน เป็นดินแดนที่มีอาณาเขตกว้างขวาง มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศในกลุ่มประชาคมลุ่มน้ำโขง ประชากรในภูมิภาคนี้มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย โดยมีกลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาวเป็นหลักและกลุ่ม วัฒนธรรมย่อยที่แตกต่างตามสภาพท้องถิ่นฐานเดิม กลุ่มชาติพันธุ์ในภูมิภาคนี้จำแนกตามตระกูลภาษาได้ 2 ตระกูล คือ กลุ่มไต-กะได ที่ประกอบด้วยกลุ่มวัฒนธรรมไท-ลาว ไทโคราช และกลุ่มออสโตรเอเชียติค สาขามอญ-เขมร ที่ประกอบด้วยกลุ่มเขมรถิ่นไทย กูย บรู

อีสานนอกจากการเป็นดินแดนอันกว้างขวาง ที่มีวัฒนาการทางสังคมอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่อดีต การเดินทางติดต่อระหว่างกลุ่มชนเผ่าต่าง ๆ ที่ทำให้อีสานไม่ใช่ดินแดนที่อยู่โดดเดี่ยว พื้นที่สูง ที่ราบบนผืนแผ่นดินใหญ่และแนวชายฝั่งทะเล เป็นองค์ประกอบที่ทำให้มีการติดต่อไปมาหาสู่กันอย่างกว้างขวาง กลุ่มชนไต-กะไดเป็นกลุ่มชนหลักในภูมิภาค ในขณะเดียวกันก็มีกลุ่มชนอื่น ๆ เช่น กลุ่มออสโตร-เอเชียติค สาขามอญเขมรกระจายอยู่ทั่วไปในภูมิภาคนี้การผสมผสานทางวัฒนธรรมและพัฒนาการทางสังคมที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มชนต่าง ๆ สร้างสรรค์อารยธรรมขึ้นมาอย่างมีเอกลักษณ์จนกลายเป็นวัฒนธรรมของภูมิภาค

กลุ่มชาติพันธุ์ในอีสานแบ่งตามตระกูลภาษา 2 กลุ่ม
1. ออสโตรเอเชียติค(Astroasiatic)
2. ไต-กะได(Tai-Kadai)

กลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค(สาขามอญ-เขมร)
1. เขมรถิ่นไทย
ชาวเขมรถิ่นไทย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติคสาขามอญ-เขมร ที่เรียกตนเองว่า “คแมร์-ลือ” ซึ่งแปรว่าเขมรสูงแต่เรียกเขมรในประเทศกัมพูชาว่า “คแมร์-กรอม” แปลว่าเขมรต่ำ มีภูมิลำเนากระจายทั่วไปในเขตจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษและบางอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ เช่น อำเภอประโคนชัย อำเภอสตึก อำเภอกะสัง และอำเภอสุวรรณภูมิ ในจังหวัดร้อยเอ็ด ชาวเขมรถิ่นไทยนับถือศาสนาพุทธ และมีความเชื่อในเรื่องผีตายากมาก มีการเซ่นผีตายายที่เรียกว่าพิธี “แซนโดนตา” นอกจากนี้ยังมีความเชื่อในเรื่องของยายสั่งมีการละเล่นพื้นเมืองที่สำคัญ เช่น กันตรึม การขับเจรียง และรำสาก เป็นต้น
การแต่งกาย การแต่งกายของผู้ชายมีทั้งนุ่งโสร่ง โจงกระเบน และกางเกงขาจกกบ สวมเสื้อคอกลมผ่าอก มีผ้าขาวม้า ซึ่งเรียกตามภาษาเขมรว่า “สไบ” คาดเอว สำหรับผ้านุ่งโจงกระเบนนั้นนิยมผ้าหางกระรอก ซึ่งชาวเขมรมีฝีมือในการทอผ้าไหมหางกระรอกมาก ผู้ชายนิยมตัดผมสั้น
ส่วนผู้หญิงจะนุ่มซิ่นไหมและฝ้าย เรียกว่า “ซัมป๊อด” มีหลายแบบหลายลาย เช่น โฮล อันลุยซึมอันปรม (พื้นแดงเข้ม มีขีดดำขาวตัดกัน) ซะมอ ละเบิก หมี่คั่น ผู้หญิงเขมร ถิ่นไทยจะใส่เสื้อแขนกระบอกคอกลมผ่าอกติดกระดุม พาดผ้าสไบ ในโอกาสสำคัญ ๆ สตรีนิยมปล่อยผมยาวไม่เกล้ามวย

2. กูย
คนไทยทั่วไปเรียกชาวกูยหรือกวยว่า “ส่วย” ซึ่งเป็นชาติพันธุ์ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตร-เอเชียติค สาขามอญ-เขมร ชาวกูยมีความสามารถในการคล้องช้าง เลี้ยงช้างและฝึกช้างเพื่อใช้งาน จึงมีพิธีกรรมและความเชื่อหลายอย่างที่เกี่ยวกับช้าง เช่น การเซ่นผีปะกำ ซึ่งต้องกระทำก่อนที่จะออกล่าช้างป่าเพื่อเป็นศิริมงคล และเป็นการเสี่ยงทาย ปัจจุบันชาวกูยตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตจังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ บางอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ เช่น อำเภอสตึก อำเภอกะสัง อำเภอหนองกี่ ในเขตบ้านสะเดาหวาน อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย จังหวัดมหาสารคาม และบางส่วนในเขตอำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี
การแต่งกาย แต่เดิมชาวกูยนิยมนุ่งโสร่งหางกระรอกหรือนุ่งโจงกระเบน คล้องผ้าสไบ คาด “ถุงไถ้” ซึ่งทำด้วยผ้าขิดสำหรับใส่เครื่องรางเวลาเข้าป่า
ส่วนผู้หญิงชาวกูย นิยมนุ่มผ้าซิ่นมีทั้งทอเป็นลายขิดคล้ายไทลาวหรือตีนซิ่นลายผ้ามัดหมี่ คล้ายชาวเขมรถิ่นไทยสวมเสื้อคอกระเช้า หญิงสูงอายุมักใส่สร้อยคอลูกปัดที่ทำจากพลาสติกหรือเงินและมักใส่ดอกไม้หอมแทนต่างหู

3. กลุ่มชาติพันธุ์โซ่, กะโส้
ชาวโซ่หรือกะโส้อยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติคสาขามอญ-เขมร จากการศึกษาสันนิษฐานว่าชาวโซ่ได้ตั้งถิ่นฐานบริเวณเมืองแถน แล้วย้ายมาเมืองมหาชังก่องแก้ว เมืองบก เมืองวัว ก่อนที่จะเข้ามาตั้งถิ่นฐานถาวรในภาคอีสาน ปัจจุบันชาวโซ่นับถือศาสนาพุทธพร้อมทั้งนับถือผีควบคู่กันไป โดยเฉพาะผีบรรพบุรุษ มีพิธี “โส้ทั่งบั้ง” หรือพิธีไหว้ผีบรรพบุรุษประจำปีที่สำคัญนอกนี้ยังมีพิธีซางกะมูด เพื่อเป็นการส่งวิญญาณของผู้ตายอีกด้วย
การแต่งกาย ชาวโซ่มีการแต่งกายเช่นเดียวกับชาวไทอีสานโดยทั่วไป แต่ในอดีตผู้ชายนิยมนุ่มผ้าเตี่ยวส่วนชาวโซ่ที่ได้ร่ำเรียนวิชาอาคมไสยศาสตร์มักมีลูกประคำคล้องคอ นอกจากนี้ยังนิยมสักขาลายจากเหนือหัวเข่าขึ้นไปถึงขาอ่อน ส่วนผู้หญิงนิยมใส่เสื้อแขนกระบอกสีดำขลิบแดง ผ่าอกติดกระดุมเงินกลม ชายเสื้อด้ายข้างแหวกชายทั้งสองข้าง ใช้ด้ายแดงตกแต่งขอบนุ่งผ้ามัดหมี่ ฝ้ายหรือไหมห่มสไบทับ แต่เดิมหญิงนิยมสักลวดลายแบบรวงข้าวหรือลายดอกไม้ไว้ที่ห้องและเอวด้วย ในอดีต “โส้ทั่งบั้ง” เป็นพิธีกรรมไหว้วิญญาณบรรพบุรุษประจำปี แต่ในปัจจุบันได้เปลี่ยนมาเป็นการละเล่นประเภทหนึ่งในพิธีจะมีการทรงเจ้า การขับร้องเพลงร่วมกัน ทั่งบั้ง คือ การกระทุ้งไม้ไผ่ให้เป็นจังหวะ มีผู้หญิงฟ้อนตามจังหวะ ภายหลังได้มีการเพิ่มเครื่องดนตรี เช่น กลองเส็ง ฉาบ ฉิ่ง แคน เข้าไปด้วย

4. บรู
ชาวบลู หรือ บรู เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษากลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค สาขามอญ-เขมร อาศัยอยู่ตามป่าเขาแนวริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้งในลาวและไทย เมื่อครั้งที่ฝรั่งเศสได้ปกครอง ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงตั้งแต่ พ.ศ.2436 เป็นต้นมาชาวพื้นเมืองเหล่านี้ถูกกดขี่ข่มเหงจึงอพยพข้าแม่น้ำโขงมาอยู่แนวริมฝั่งโขงทางฝั่งไทย เช่น ที่บ้านเวินบึก บ้านทาล้งและบ้านหินคก อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ชาวบรูเชื่อในการนับถือวิญญาณมากเห็นได้จากประเพณีเลี้ยงผีบ้าน และประเพณีเลี้ยงผีดงที่ทำอย่างเคร่งครัดทุกปี
การแต่งกาย ปัจจุบันชาวบรูไม่มีการทอผ้าใช้เอง แต่ซื้อจากกลุ่มชนอื่นดังนั้นการแต่งกายจึงคล้ายกับชาวอีสานทั่ว ๆ ไป

5. ญัฮกูรหรือชาวบน
ชาวญัฮกูร หรือชาวบนหรือคนดงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติค ตั้งถิ่นฐานตามไหล่เขาหรือเนินเข้าเตี้ย ๆ ในเขตจังหวัดชัยภูมิ นครราชสีมา และเพชรบูรณ์ แต่เดิมชาวบนอยู่แต่เฉพาะในกลุ่มของตนไม่ชอบคบค้ากับชนกลุ่มอื่น บ้านเรือนมักปลูกคล้านเรือนผูกของชาวอีสานทั่วไป แต่มีเอกลักษณ์ในส่วนที่เรียกว่า “กะต๊อบเมียว” ที่เป็นฟ่อนหญ้าคาแห้งมัดเป็นเป็นห่วง 3 ห่วง ผูกติดกันเป็นหัวกลม ปล่อยหาง เป็นปอยยาว คล้องไว้บนขื่อหน้าจั่วบ้าน ปัจจุบันชาวณัฮกูร นับถือพุทธศาสนาควบคู่กับการนับถือผี
การแต่งกาย สมัยก่อนผู้ชายชาวบนมักนุ่งกางเกง แบบไทย หรือไม่ก็โจงกระเบนแบบเขมรไม่สวมเสื้อ ผู้หญิงนิยมนุ่งผ้า ผืนสีสด เช่น สีแดง แดงเข้ม หรือน้ำเงินเข้ม เป็นผ้าสี่เหลี่ยมผืนผ้า พันอ้อมร่างแล้วทำเป็นหัวพกโต ๆ เหน็บชายไว้ด้านข้าง สวมเสื้อที่เรียกว่า เสื้อเก๊าะ สีน้ำเงินเข้ม หรือสีดำ แขนกุด ปักกุ๊นรอบแขนและรอบคอเสื้อด้วยสีแดง หรือสีอื่น คอเสื้อด้านหลังมักเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้วปล่อยเศษด้ายเส้นยาว ๆ ทิ้งไว้ประมาณ 3-4 เส้น ซึ่งจะใส่เฉพาะในงานพิธี ปัจจุบันมีแต่ชาวบนที่เป็นผู้หญิงวัยกลางคนขึ้นไปเท่านั้นที่ยังแต่งกายด้วยผ้าผืนและเสื้อเก๊าะอยู่
เครื่องประดับนิยมเครื่องเงินแต่ก่อนหญิงชายชาวบนนิยมเจาะใบหูเป็นรูกว้าง ๆ ใช้ใบลานกลม ๆ ใส่รูหูไว้แล้วเอากระจกอุดรูใบลาน เพื่อให้มีแสงแวววาว การแต่งกายแบบนี้มักจะใช้แต่งในงานบุญ ในยามค่ำคืนชายหญิงจะนั่งล้อมวงเพื่อขับเพลงโต้ตอบกันที่เรียกว่า ป้ะ เร่ เร่ หรือเรียกเป็นภาษาไทยว่ากระแจ้ะ ใช้กลองโทนหรือ “ตะโพน” ให้จังหวะในยามเทศกาลจะมีการขับเพลงกันทุกบ้าน เนื้อหาของเพลงส่วนใหญ่เกี่ยวกับความเหงา ว้าเหว่ แม่ม่ายหรือเป็นไปทำนองชมธรรมชาติ

กลุ่มตระกูลภาษาไต-กะได(สาขาไต)
6. ไทโคราช
ชาวโคราชจัดอยู่ในกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มตระกูลภาษาไต-กะได สาขาไตพบว่ามีการตั้งถิ่นฐานในเขตจังหวัดนครราชสีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดีจนถึงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ก็ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมไทยภาคกลางเป็นสำคัญและยังได้รับวัฒนธรรมเขมรและวัฒนธรรมไทยลาวเข้ามาผสมผสานอีกด้วยทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ ไทโคราชมีเอกลักษณ์เฉพาะ ทั้งภาษาพูด อาหาร รวมทั้งการละเล่น โดยเฉพาะเพลงโคราช ชาวไทโคราชตั้งถิ่นฐานกระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ เช่น อำเภอปักธงชัย อำเภอห้วยแถลง อำเภอครบุรี อำเภอหนองบุนนาก อำเภอด่านขุนทด ในจังหวัดบุรีรัมย์ เช่นที่อำเภอนางรอง อำเภอละหานทราย อำเภอหนองกี่ อำเภอเมือง อำเภอลำปลายมาศ และจังหวัดชัยภูมิ ในเขตอำเภอจตุรัส อำเภอบำเหน็จณรงค์
การแต่งกาย ชาวไทโคราชนิยมแต่งกายแบบไทยภาคกลาง คือ ชายนุ่งโจงกระเบนสวมเสื้อคอกลม ไม่ผ่าอก หญิงนิยมนุ่มผ้าโจงกระเบนเช่นเดียวกัน ไม่นิยมนุ่งผ้าซิ่น สวมเสื้อแขนกระบอก ห่มสไบทับเสื้อถ้าอยู่บ้านมักใช้ผ้าคาดอก การละเล่นที่สำคัญคือ “เพลงโคราช” ซึ่งมีลักษณะเป็นเพลง “ปฏิพากย์” คือหรือการร้องเกี้ยวพาราสีระหว่างชายหญิง ไม่มีเครื่องดนตรีประกอบ คนร้องจึงต้องตบมือให้จังหวะ ส่วนดนตรีนั้นชาวโคราชนิยมวงปี่พาทย์ ไม่นิยมวงแคน การแสดงที่สำคัญของชาวไทโคราชคือลิเก

7. ไทลาว
ชาวไทยลาว หรือ ชาวอีสานจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไต-กะไดเป็นชนกลุ่มใหญ่ และมีวัฒนธรรมสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ พูดภาษาไทยลาว (ภาษาอีสาน) มีตัวอักษรไทยน้อยและอักษรตัวธรรม ชาวไทย-ลาวรับวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มผู้นำทางวัฒนธรรมอีสาน ภูมิปัญญาสังคม เช่น ฮีตคอง ตำนานอักษรศาสตร์ จารีตประเพณีและเป็นผู้สืบทอดและถ่ายทอดให้ชาวบ้านกลุ่มอื่น ๆ ด้วย
การแต่งกาย การแต่งกายชาวไทลาวเหมือนกลุ่มชาวไทย-อีสานทั่วไป เมื่ออยู่กับบ้านผู้ชายจะนุ่งโสร่งพาดผ้าขาวม้าคล้องคอและไม่สวมเสื้อ เมื่อออกไปนอกบ้านจะนุ่งกางเกงขาก๊วย สวมเสื้อแขนสั้น คาดผ้าขาวม้าตาตาราง ส่วนผู้หญิงจะนุงซิ่นมัดหมี่ไหมหรือฝ้าย ใส่เสื้อกระบอก แขนยาวและนิยมห่มสไบ ผ้าขาวม้าหรือผ้าขิดลายดอกจันเมื่อไปร่วมงานบุญต่าง ๆ การละเล่นและการแสดงของชาวไท-ลาวมีพัฒนาการทางรูปแบบมากมาย เช่น หมอลำ เซิ้ง โดยมีเครื่องดนตรีประกอบที่สำคัญคือ แคน และเครื่องดนตรีประกอบอื่น เช่น ซึง พิณ ฉิ่ง ฉาบ ปัจจุบันมีโปงลาง ซึ่งนิยมนำมาประกอบกับเครื่องดนตรีชนิดอื่นเช่นกัน
8. ไทโย้ย
ชาวไทโย้ยจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไต-กะได ส่วนใหญ่อพยพมาจากเมืองฮ่อมท้าว แขวงจำปาศักดิ์ประเทศลาว ราว พ.ศ.2373 ได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งในเขตอำเภออากาศอำนวย และวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร และพื้นที่ใกล้เคียง ชาวไทโย้ยมีคติความเชื่อเกี่ยวกับประเพณีชาวบ้านที่เรียกว่า ฮีตสิบสอง ซึ่งเป็นหลักของประเพณีทั่วไปในถิ่นอีสาน (ไท-ลาว) นอกจากนี้ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องผีบ้าน (ผีเฮือน) ว่าเป็นผีที่คอยดูแลรักษาลูกหลานให้อยู่รอดปลอดภัยจากภยันตรายต่าง ๆ
การแต่งกาย ชาวไทโย้ยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ไทย้อและไทลาว ทำให้วัฒนธรรมการแต่งกายโดยทั่วไปของชาวไทโย้ยกลมกลืนกับชาวไทลาวและใช้ผ้าฝ้ายย้อมสีครามในการแต่งกายเป็นหลัก

9. ไทย้อ
ชาวไทย้อ จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไต-กะไดสาขาไต ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในตัวเมือง จังหวัดสกลนครและนครพนม พูดคล้ายกับชาวพื้นเมือง (ชาวไท-อีสานทั่วไป) แต่บางคำออกเสียงแปร่ง มีผิวสีเหลืองขาวมากกว่าผิวดำ แต่เดิมผู้ชายไว้ผมโหยง (ทรงผมมหาดไทย) ส่วนผู้หญิงไว้ผมยาวเกล้าตรงกลางศรีษะ อาชีพหลักคือการทำนา ทำสวนไม้ผล ค้าขายบ้าง มีฝีมือในการเย็บปักถักร้อย ทอเสื่อโดยใช้ต้นกก ต้นผืน ชาวไทย้อยเคร่งครัดในพุทธศาสนา ส่วนความเชื่อเรื่องภูติผีมีบ้างแต่ไม่มากนัก ด้วยเหตุนี้จึงมีบทบาทในงานบุญปราสาทผึ้ง ซึ่งจัดในช่วงออกพรรษาและถือเป็นประเพณีที่สำคัญของจังหวัดสกลนครและงานประเพณีเซิ้งผีโขน บันไฮหย่องอำเภอเมืองจังหวัดสกลนคร
การแต่งกาย ชายมีฐานะดี นิยมเครื่องตกแต่งที่ส่งมาจากญวนใช้ผ้าฝ้ายและไหมตัดเสื้อ คล้ายเสื้อญวน เป็นเสื้อผ่าอก แขนยาวและกว้าง นุ่งผ้าโจงกระเบน ส่วนชายฐานธรรมดานิยมใส่เสื้อทอด้วยผ้าสีดำเรียกว่า “เสื้อปีก” คล้ายเสื้อใส่ทำนา นุ่งโจงกระเบน ผู้หญิงนิยมนุ่มซิ่นหมี่ มีเชิงแบบ “ตันเต๊าะ” ของชาวผู้ไทแต่แถบเล็กกว่า ไม่นิยมสีครามเข้ม สวมเสื้อปีกแบบญวนและนิยมสวมเสื้อคอกระเช้า หรือเสื้อหมากกะแหล่งอีกด้วย

10. กะเลิง
ชาวกะเลิงหรือข่าเลิง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่มตระกูลไต-กะได มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่แขวงสุวรรณเขต แขวงคำม่วนประเทศลาว อพยพมาอยู่อีสานระยะเดียวกันกับชาวสกลนครกลุ่มอื่น ๆ ที่มีความเชื่อในพิธีกรรมเกี่ยวกับผี การเลี้ยงผี ปัจจุบันชาวกะเลิงส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนครและมีบางส่วนอยู่ในจังหวัดนครพนม มุกดาหารและใกล้เคียง
การแต่งกาย ในอดีตผู้ชายนิยมนุ่งผ้าโสร่งทิ้งชายให้สั้นครึ่งแข้ง สวมเสื้อแขนกระบอกไม่ผ่าอก หวีผมเสย ทัดดอกจานสีแดงและสักรูปนกที่แก้ม ปัจจุบันการแต่งกายของชาวกะเลิงคล้ายกับชาวไทอีสานทั่วไป

11. ไทพวน
ชาวพวนเป็นชาวเมืองเชียงของอพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งทั้งภาคกลางและภาคอีสานของไทย เป็นกลุ่มที่มีรูปร่างหน้าตาหมดจด กิริยาละเมียดละไม ขยันทำงาน มีภาษาพูด วัฒนธรรมและประเพณีเป็นของตนเอง ชาวไทพวนนับถือศาสนาพุทธ จึงมักจะสร้างวัดไว้ใกล้ชุมชน นอกจากนี้ยงมีความเชื่อเกี่ยวกับผีผสมผสานในพิธีกรรม โดยเฉพาะประเพณีกำฟ้าที่จัดขึ้นในวันขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ชาวพวนจะทำข้าวจี่ไปถวายพระที่วัดและมีข้อปฏิบัติคือจะไม่ด่าทอหรือทะเลาะวิวาทกัน ถ้าไม่ปฏิบัติจะถูกฟ้าดินลงโทษ
การแต่งกาย
ผู้หญิงนิยมนุ่งซิ่น สวมเสื้อตามสมัยนิยม หญิงสูงวัยมักนิยมเสื้อ “คอกระทะ” หรือเสื้อ “อีเป้า” (เสื้อคอกระเช้า) การแต่งกายในรูปแบบเดิม หญิงมักไว้ผมยาวมุ่นเกล้าไว้ด้านหลัง ใช้ผ้าพันรอบอกแทนการสวมเสื้อ นุ่งซิ่นตีนจกหรือสีพื้น แทรกลายขวาง บางถิ่นนิยมนุ่งซิ่นมัดหมี่ ชายมักนุ่งกางเกงขาก๊วยสีดำและใส่เสื้อสีดำ
การแสดงที่เป็นเอกลักษณ์ของชาวพวนคือการลำพวน ผู้ลำจะนั่งกับพื้น ดนตรีที่ประกอบลำคือ แคน หมอแคนจะนั่งหน้าไปหาคนลำ ทำนองการลำของหมอลำพวนจะร้องเป็นท่อน ๆ คล้ายบทสวด แต่ละวรรคจะประกอบด้วยทำนองขึ้น ๆ ลง ๆ เป็นแบบแผน พอสิ้นวรรคหนึ่ง ๆ ทั้งเสียงแคนและเสียงลำจะหยุดเป็นห้วง ๆ เนื้อหาของบทลำมีตั้งแต่คำสอนจนถึงบทเกี้ยวพาราสี

12. กลุ่มชาติพันธุ์ ผู้ไท
ผู้ไท จัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไต-กะได สาขาไตในปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่เป็นกลุ่มปะปนอยู่กับกลุ่มชาติพันธุ์ลาว ในเขตจังหวัดนครพนม กาฬสินธุ์ มุกดาหาร สกลนคร และบางส่วนของจังหวัดอุบลราชธานี อุดรธานี บ้านป่าหนาดจังหวัดเลย เป็นกลุ่มหนึ่งที่รักษาวัฒนธรรมของตนไว้ได้อย่างดี โดยเฉพาะที่อำเภอเรณูนคร จังหวัดนครพนม ที่มีการฟ้อนผู้ไทเป็นเอกลักษณ์ นอกจากนี้ยังมีการนับถือพุทธศาสนา โดยปรับให้เข้ากับจารีตประเพณีของตน รวมทั้งมีการนับถือภูตผีควบคู่กันไปด้วย
การแต่งกาย ผู้ชายนิยมนุ่งกางเกงขาสั้นครึ่งน่อง (ขาก๊วย) สีดำหรือโสร่งตาหมากรุกเสื้อใช้ตาสีดำเดียวกับกางเกงคอกลมแคบชิดคอ ผ่าอกตลอดชายเสื้อซ้ายขวาผ่าเหมือนเสื้อกุยเฮงแขนยาวจรดข้อมือหรือสั้นครึ่งแขนมีผ้าคาดเอวและโพกศรีษะ ผู้ชายโบราณมักนิยมสักแขนขาลายด้วยหมึกสีดำ แดงถือเป็นความสวยงามและเพื่ออยู่ยงคงกระพัน
ส่วนผู้หญิงนิยมนุ่งผ้าถุงที่ทำจากผ้าฝ้าย ย้อมใบครามหรือมะเกลือสีดำล้วน เย็บต่อด้วยเชิงเป็นริ้วตามยาว สวมเสื้อแขนยาวทรงกระบอก คอตั้ง เครื่องประดับใช้กำไลข้อมือ ข้อเท้า คอสวม ลูกประคำ สร้อยเฉียง ไหล่สังวาลย์ ปิ่นปักมวยผม ต่างหู พวกเต่ารั้ง กระดุมเสื้อล้วนเป็นเครื่องทำด้วยทองทิ้งสิ้น ทรงผม สตรีผู้ไททุกคนไม่ว่ารุ่นสาวหรือผู้แก่เฒ่าไว้ผมขมวดเกล้ามุ่นทรงสูงเอียง ซ้ายหรือขวานิดหน่อยตามถนัด เสียบด้วยปิ่นหรือลูกประคำประดับที่ขมวดมวย

13. ไทแสก
ชาวไทแสกจัดอยู่ในกลุ่มตระกูลภาษาไต-กะได สาขาไต มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองแสก เขตเมืองประคำ ประเทศลาว ติดกับชายแดนเวียดนามอพยพ ข้ามแม่น้ำโขงเข้ามาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยโดยเฉพาะที่บ้านอาจสามารถ จังหวัดนครพนมและจังหวัดใกล้เคียง ในสมัยอยุธยาลักษณะทั่วไปคล้ายกลุ่มลาว นับถือศาสนาพุทธและมีความเชื่อในเรื่องภูติผีวิญญาณ มีประเพณีการเล่น “แสกต้นสาก” เพื่อบวงสรวงวิญญาณพระเจ้าองค์หมู นอกจากนี้ยังมีประเพณีที่ยึดหลักฮีตสิบสอง เช่น ชาวอีสานทั่วไปแล้ว
การแต่งกาย ชายชาวเสกนิยมนุ่งกางเกง สวมเสื้อแขนสั้น เป็นผ้าฝ้ายย้อมครามสีดำ มีผ้าโพกหัวกันแดด
ส่วนผู้หญิงส่วนใหญ่นุ่งผ้าซิ่น ใส่เสื้อ ผ้าฝ้าย ย้อมคราม สีคราม สีขาว สีดำ แขนยาวทรงกระบอก ในปัจจุบันการแต่งกายของชาวไทแสกคล้ายชาวไทอีสานทั่วไป