โชคชัย ตักโพธิ์
นายโชคชัย ตักโพธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2496 ที่จังหวัดนครพนม จบการศึกษาด้านศิลปะระดับอนุปริญญา สาขาภาพพิมพ์รุ่นแรกของเพาะช่าง และระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปกรรม (จิตรกรรม ภาพพิมพ์) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล (โรงเรียนเพาะช่าง) เมื่อปีพุทธศักราช 2919 ขณะเป็นนักศึกษาตั้งแต่ พุทธศักราช 2513 ได้รับ 26 รางวัล จากการประกวดศิลปกรรม วิทยาเขตเพาะช่าง
นายโชคชัย ตักโพธิ์ เป็นศิลปินนักปฏิวัติและนักแสดงหาแนวทางการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะอย่างไม่หยุดนิ่ง ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี นับเนื่องจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา หลังจากจบการศึกษาได้เข้ารับราชการ 2520 และเป็นผู้บุกเบิกแนวทางการจัดการเรียนการสอนและพัฒนาหลักสูตรศิลปะให้กับกรมอาชีวะทั่วประเทศให้เกิดความก้าวหน้า จนได้เป็นครูดีเด่นกรมอาชีวะ 2542 ในด้านของการสร้างสรรค์ศิลปะได้ มุ่งมั่นสร้างผลงานอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่ยอมรับกว้างขวางทั้งในระดับท้องถิ่นภูมิภาค ระดับประเทศ และนาชาติ ผลจากการทุ่มเทดังกล่าวจึงได้รับการยอย่องเป็นศิลปินเด่นมหาวิทยาลัยของจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2542 ได้การเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินพื้นบ้านอีสาน(สาขาทัศนศิลป์) จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในปี2546 ได้รับการคัดเลือกจากสภาศิลปกรรมไทย เพื่อศึกษาดูงานและแสดงผลงาน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี 2534 ได้รับการคัดเลือกจากผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นศิลปินเกียรติยศทัศนศิลป์ดีเด่น ทางด้านสันติภาพ ประชาธิปไตยและความเป็นธรรม(รางวัลมนัส เศียรสิงห์) ครั้งที่ 2 ประจำปีพุทธศักราช 2549 และรางวัลด้านสังคมอื่นๆอีกเป็นจำนวนมากนายโชคชัย ตักโพธิ์ นับเป็นศิลปินนักวิชาการที่สำคัญของภูมิภาคอีสาน ผู้เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ในการสร้างสรรค์ เป็นผู้ใฝ่ศึกษาเรียนรู้วิทยาการสมัยใหม่เพื่อปกการประยุกต์ใช้ในทางศิลปกรรม ผลงานอันเกิดขึ้นจากการศึกษาได้จัดหมวดหมู่แบ่งประเภทออกเป็นวาดเส้น สีน้ำ สีอะคริลิค สื่อผสม และติดตั้งจัดวางสะท้อนสาระการเมือง ธรรมชาติและศาสนา จึงมีลักษณะเป็นผลงานเชิงจินตทัศน์ด้วยวิธีการหลากหลายแต่สามารถเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างเป็นองค์รวม อันเป็นลักษณะแนวทางร่วมสมัย
ปัจจุบัน โชคชัย ตักโพธิ์ ได้เปิดพื้นที่โชคชัย ศิลปะสถานให้เป็นแหล่งศึกษาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปกรรม ทัศนศิลป์ที่เกิดจาการศึกษาของตนเองตลอดระยะเวลา30 ปี ด้วยแนวคิดแบบ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” อย่างเปิดกว้างโดยนำหลักธรรมโลกาภิวัฒน์ให้สามารถดำรงชีวิตอย่างสงบ และมั่นคงด้วยปัญญาแห่งศิลปินที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น เซนแบบอีสานด้วยดุลยภาพแห่งความงดงามของชีวิต อันเป็นพลังสืบสาน พัฒนาด้วยจิตสำนึกที่แรงกล้า ด้วยฉันทะ พยายาม ศิลปินจึงเป็นดั่งเมล็ดพืชที่หยั่งรากทางประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต เพราะมีการสืบต่อความหมายและความทรงจำ ศิลปะของโชคชัย ตัดโพธิ์ จึงเป็นกระบวนการวิถีวัฒนธรรม อันเป็นผลผลิตการสร้างสรรค์ที่มีชีวิตโดยแท้จริง
นายโชคชัย ตักโพธิ์ จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (จินตทัศน์) เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2550 จากสำนักวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น