ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

เจริญ กุลสุวรรณ (วรรณรูป)

เจริญ กุลสุวรรณ

นายเจริญ กุลสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ 15 มีนาคม พุทธศักราช 2491 ที่บ้านน้ำคำ ต.โพนเมือง อ.อาจสามารถ จ.ร้อยเอ็ด สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นที่โรงเรียนบ้านอาจสามารถ อ.อาจสามารถ สมรสกับนางกัลยากุลสุวรรณ มีบุตรธิดา2คน ปัจจุบันมีอาชีพเป็นนักเขียนอิสระ นายเจริญมีความชื่นชอบในการเขียนภาพมาตั้งแต่เยาว์วัย จึงศึกษาค้นคว้าทั้งในระบบและนอกระบบอย่างตั้งมั่น แต่ในอีกทางหนึ่งก็มีความสนในในงานด้านวรรณกรรม เพราะชอบเขียนเป็นนิสัย เมื่อเติบใหญ่ชีวิตหักเหเบนเข็มเข้าสู่ร่มพุทธธรรม โดยมีท่านพุทธทาสเป็นผู้อบรมสั่งสอน จึงมีผลส่งถึงการทำงานสร่างสรรค์ในระยะถัดมาโดยได้นำข้อธรรม คำสอนในพระพุธศาสนา มาเป็นสาระหลักในการถ่ายทอดความคิด จินตนาการ ด้วยเทคนิควิธีของวรรณกรรมผสมกับจิตรกรรม ผสมผสานเข้าด้วยกัน สร้างสรรค์ออกมาเป็นผลงานในแบบบทกวีวรรณรูป ที่น่าสนใจ

ผลงานบทกวี วรรณรูปของนายเจริญ มีความพิเศษตรงที่สามารถนำเอาคำที่มีนัยะทางพุทธศาสนามาประกอบสร้างขึ้นภายใต้รูปทรงต่างๆมากมาย โดยเฉพาะที่ค้นตา คือ ภาพของพระพุทธรูปปางสมาธิ ที่ประกอบสร้างจากข้อความ “อย่าเห็นแก่ตัว” ซึ่งมีผู้นิยมมาประยุกต์เป็นสื่อหลายแบบ เช่น สติ๊กเกอร์ หรือ โปสเตอร์เป็นต้น ผลงานการสร้างรูป เขียนคำของท่านได้ถูกนำมารวบรวมเป็นหนังสือที่มีคุณค่าหลายเล่ม อาทิ “กิเลสที่รัก” (พ.ศ.2540) “กระท่อมเนรเทศทุกข์”(พ.ศ.2547) “เพ่งภาพ พบนิพาน” (พ.ศ.2549) “แสงธรรมในดวงตา” (พ.ศ.2550) ซึ่งใช้ในนามปากกาทยาลุ ส่วน “มองตน” (พ.ศ.2541) ใช้ในนามปากกาเราส์ มหาราษฏร์

นอกจากการสร้างสรรค์ผลงานในแบบบทกวี วรรณรูปที่สร้างสรรค์เป็นแนวหลัก ที่ถือว่าเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่มีความโดดเด่นที่สุดแล้ว ท่านยังได้ประพันธ์บทเพลงเพื่อเผยแพร่ในวาระและโอกาสต่างๆ รวมถึงการเขียนภาพอันเป็นงานที่รัก โดยเนื้อหาส่วนใหญ่อิงหลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนาจึงนับว่า นายเจริญ กุลสุวรรณ เป็นผู้มีความคิดสร้างสรรค์มีจินตนาการ เป็นต้นแบบของการนำเอาแก่นสาระทางพระพุทธศาสนาสื่อสารผ่านภาพ และคำ ในลักษะบทกวี วรรณรูปได้อย่างน่าสนใจนำไปสู่สารัตถะแห่ง ความจริง ความดี ความงาม

นายเจริญ กุลสวรรณ จึงได้รับการเชิดชูเกียรติเป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์ ประเภทบทกวี (วรรณรูป) ประจำปี พุทธศักราช 2551 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น