ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อุ่น ทมงาม (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน ซอ)

อุ่น ทมงาม

นายอุ่น ทมงาม เกิดเมื่อวันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๗ ณ บ้านโพนสูง ตำบลโพนสูง อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด

นายอุ่น ทมงาม สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ ๔ จากโรงเรียนชุมชนบ้านโพนสูง ตำบลโพนสูง อำเภอปทุมรัตต์จังหวัดร้อยเอ็ด เนื่องจากเป็นผู้ที่สนใจดนตรีพื้นบ้านอีสานตั้งแต่เยาว์วัย จึงได้เสาะแสวงหาความรู้จากครูพื้นบ้านผู้เชี่ยวชาญ และหมั่นฝึกฝนด้วยตนเองจนเกิดความชำนาญ นายอุ่น ทมงาม เป็นผู้ที่มีความสามารถทางด้านดนตรีพื้นบ้านอีสาน สามารถเล่นเครื่องดนตรีอีสานได้หลายชิ้น อาทิ ซอ พิณ โหวด แม้กระทั่งเครื่องดนตรีสากลอย่างแซกโซโฟน ก็สามารถเล่นได้อย่างชำนาญ แต่เครื่องดนตรีที่เล่นได้ดีที่สุด คือ ซออีสาน นอกจากนั้นยังเป็นบุคคลผู้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านเข้าสู่ระบบตัวโน้ต เพื่อการจดจำและถ่ายทอดได้ง่าย

ผลงานที่น่าภาคภูมิใจของนายอุ่น ทมงาม ได้แก่ ชนะเลิศการประกวดดนตรีประเภท สีซอ ในงานบุญผะเหวดจังหวัดร้อยเอ็ดปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ ชนะเลิศการประกวดดนตรีประเภทเป่าโหวดในงานบุญผะเหวดจังหวัดร้อยเอ็ด ปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ และชนะเลิศการประกวดเดี่ยวพิณ ในงานส่งเสริมดนตรีพื้นบ้านของท้องถิ่นที่อำเภอเกษตรวิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับโล่เกียรติยศจาก ส.ส.ศักดิ์ดา คงเพชร ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๑ นอกจากนั้น นายอุ่น ทมงาม ยังได้รับฉันทามติจากมวลสมาชิกเครือข่ายวัฒนธรรม ให้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอปทุมรัตต์ ในฐานะที่เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ จรรโลง และสืบสานวัฒนธรรมไทยให้เจริญรุ่งเรือง และด้วยความสามารถทางด้านซออีสาน ซึ่งหาตัวจับได้ยาก ทางจังหวัดร้อยเอ็ดจึงได้ยกย่องให้นายอุ่น ทมงาม เป็นครูภูมิปัญญาของจังหวัดร้อยเอ็ด ในสาขาวิชา ซออู้ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๘

นอกจากจะเป็นนักดนตรีโดยอาชีพแล้ว นายอุ่น ทมงาม ยังได้อุทิศตนในการถ่ายทอดความรู้ให้แก่สถานศึกษาอย่างมากมาย ในการเป็นวิทยากรภายนอกสอนวิชาดนตรีพื้นเมืองให้แก่โรงเรียนต่าง ๆ เช่นโรงเรียนโพนสูงประชาสรรค์ โรงเรียนบ้านโคกทมพิทยาคาร โรงเรียนทุ่งกุลาประชานุสรณ์ โรงเรียนบ้านขี้เหล็กโรงเรียนบ้านโพนสูง โรงเรียนบ้านบัวขาว และได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษด้านดนตรีพื้นบ้านที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิคการบรรเลงเดี่ยวซออีสาน ให้กับนิสิตนักศึกษา ได้เห็นความสามารถและความไพเราะของการบรรเลงซออีสาน แม้กระทั่งในด้านสังคมสงเคราะห์ นายอุ่น ทมงามก็ได้ให้ความอนุเคราะห์ในการแสดงดนตรีแก่หน่วยงานที่ขอความร่วมมือมาอย่างเต็มใจ และให้ความรู้แก่เยาวชนในด้านการอนุรักษ์และสืบทอดการเล่นดนตรีพื้นบ้านอีสานอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยความเสียสละและอุทิศเวลาเพื่อใช้ในการเผยแพร่องค์ความรู้ดนตรีพื้นบ้านอีสานให้แก่สถานศึกษาอย่างสม่ำเสมอ และยังเป็นผู้ที่ริเริ่มการปรับเปลี่ยนรูปแบบการบรรเลงดนตรีอีสานให้เข้าสู่ระบบตัวโน้ต เพื่อการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ตลอดจนความสามารถทางด้านดนตรีพื้นบ้านอีสานที่หลากหลาย โดยเฉพาะ ซออีสาน นายอุ่น ทมงาม จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน ซอ) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป