ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

อุไร ฉิมหลวง “นกน้อย อุไรพร” (หมอลำเรื่องต่อกลอน)

อุไร ฉิมหลวง

นางอุไร ฉิมหลวง เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ ปัจจุบันอายุ ๖๐ ปี มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๕ คน สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดบ้านจอม ตำบลบึงบอน อำเภอยางชุมน้อย จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๕๐ ได้รับพระราชทานปริญญามหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ ปัจจุบันอาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๕๕๕ บ้านหนองใส ตำบลหนองนาคำ อำเภอเมืองจังหวัดอุดรธานี

นางอุไร ฉิมหลวง หรือรู้จักกันดีในนาม “นกน้อย อุไรพร” เป็นผู้ชื่นชอบการร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจตั้งแต่วัยเด็ก โดยมีครูวีระพงษ์ เชาว์ชอบ เป็นผู้สนับสนุนพาเข้าร่วมประกวดร้องเพลง ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้สมัครเป็นนักร้องวงดนตรีเพชรพิณทอง อาจารย์นพดล ดวงพร ได้เล็งเห็นความมุ่งมั่นและจิตวิญญาณความเป็นศิลปินจึงให้บันทึกแผ่นเสียงมีผลงานเพลงแรกคือ เพลงคอยรักจากเสียงพิณ เพลงที่สองคือ เพลงภาพถ่ายวิญญาณรัก ทำให้ชื่อของนกน้อย อุไรพร เป็นที่รู้จักของผู้ฟังตั้งแต่บัดนั้น ผลงานเพลงอื่น ๆ ที่สร้างชื่อเสียงในยุคแรก ได้แก่ เพลงดำขี่หลี่เพลงสัจจาหญิง ได้ร่วมแสดงและสั่งสมประสบการณ์กับวงดนตรีเพชรพิณทองเป็นเวลาเกือบ ๔ ปีเต็ม ก่อนจะกลับไปใช้ชีวิตเพื่อดูแลแม่ในช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๗ นางอุไร ฉิมหลวง ได้มีโอกาสร่วมแสดงกับคณะหมอลำอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๑๘ โดยการชักชวนของนายสะอาด สีตะบุตร หัวหน้าคณะหมอลำสะอาดนาฏศิลป์ ในช่วงปลายปีพ.ศ. ๒๕๑๙ นายสะอาด สีตะบุตรได้ยุบคณะหมอลำสะอาดนาฏศิลป์ แต่นายมัยกิจ ฉิมหลวง หรือ อาวทิดหลอดซึ่งเป็นผู้จัดการวงหมอลำในขณะนั้นหารือกันว่าจะทำวงต่อไป จึงเปลี่ยนชื่อคณะหมอลำจากคณะสะอาดนาฏศิลป์เป็น “คณะเสียงอิสาน” โดยมีผู้นำคณะชื่อ นกน้อย อุไรพร หลังจากนั้น ได้พัฒนาศิลปะการแสดงลำเรื่องต่อกลอนเรื่อยมาจนมีชื่อเสียงเป็นที่ประจักษ์แก่คนทั่วไป นางอุไร ฉิมหลวง นอกจากจะเป็นผู้มีความสามารถด้านการขับร้องเพลงและการร้องหมอลำแล้ว ยังเป็นผู้ที่มีความสามารถด้านการประพันธ์เพลง ประพันธ์กลอนลำ และเป็นผู้กำกับการแสดงหมอลำของคณะอีกด้วย ผลงานลำเรื่องต่อกลอนที่สร้างชื่อเสียงมีหลายเรื่อง เช่น ฮอยปูนแดงฮอยปานดำ วงเวียนชีวิต เงากรรม บาปไผบุญมัน เหนือคำสาบาน เป็นต้น

นางอุไร ฉิมหลวง เป็นผู้เสียสละและอุทิศตนเพื่อสังคม ได้ประยุกต์ความรู้ด้านศิลปะการแสดงหมอลำ เผยแพร่และสร้างสรรค์ประโยชน์แก่สังคม เช่น สนับสนุนโครงการลดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ส่งเสริมกิจกรรมการฝึกทักษะวิชาชีพ สมาคมโรงเรียนอาชีวศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังได้รับเชิญเป็นวิทยากรต่อต้านการซื้อสิทธิ์ขายเสียง บันทึกเสียงร้องรณรงค์การไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ร่วมสนับสนุน อนุรักษ์ และสืบสานศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในระดับประเทศ ได้รับเชิญให้แสดงและเผยแพร่ในรายการโทรทัศน์ “ชัยบดินทร์โชว์” รายการ “คุณพระช่วย” และรายการ“คน ค้น ฅน” เป็นต้น ในระดับต่างประเทศ ได้เผยแพร่วัฒนธรรมการแสดง ณ วัดพุทธาราม นครเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และเผยแพร่วัฒนธรรม ณ สนามกีฬาแห่งชาติลาว นครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ด้วยเกียรติประวัติและความสามารถอันโดดเด่นด้านศิลปะการแสดงหมอลำ และการอุทิศตนเพื่อสังคมนางอุไร ฉิมหลวง (นกน้อย อุไรพร) จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสานสาขาศิลปะการแสดง (หมอลำเรื่องต่อกลอน) พุทธศักราช ๒๕๖๑ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป