ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น

สุขสันติ์ สุวรรณเจริญ (ดนตรีพื้นบ้าน – กลอง)

สุขสันติ์ สุวรรณเจริญ

นายสุขสันติ์ สุวรรณเจริญ หรือครูโตน เกิดเมื่อวันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๙๒ ภูมิลำเนาจังหวัดสกลนคร อายุ ๖๘ ปี สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาจากโรงเรียนเชิงชุมราษฎร์นุกูล ระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนสกลราชวิทยานุกูล ระดับปริญญาตรีครุศาสตรบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์จากวิทยาลัยครูสกลนคร ระดับปริญญาโทครุศาสตร์อุตสาหกรรมมหาบัณฑิต สาขาบริหารอาชีวศึกษา จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ปัจจุบันเป็นข้าราชการบำนาญและศิลปินผู้เชี่ยวชาญ ลายกลองของภาคอีสาน

นายสุขสันติ์ สุวรรณเจริญ รับราชการครั้งสุดท้ายในตำแหน่งรองผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวาริชภูมิและได้ทำหน้าที่พิเศษสอนศิลปะการเล่นลายกลองเส็งให้แก่สถาบันการศึกษาต่าง ๆ มากกว่า ๑๐ แห่ง ได้อนุรักษ์ สร้างสรรค์และเผยแพร่ศิลปะการเล่นลายกลองโดยศึกษาจากบิดา มีผลงานเป็นที่ยอมรับแก่สังคมตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๑๒ – ปัจจุบัน ได้อนุรักษ์การเส็งกลอง ลายกลองเส็ง ลายกลองเตะ กั๊บแก้บ ลายฆ้อง และ ตีกลองให้จังหวะการเต้นมวยโบราณ ฟ้อนภูไท รำหางนกยูง ได้สร้างสรรค์รวบรวมรายชื่อและวิธีเล่นลายกลองเส็ง ลายกลองเตะ กั๊บแก้บ เผยแพร่และสอนนักเรียนในสถานศึกษาทุกระดับตั้งแต่ประถมศึกษาถึงอุดมศึกษา ออกสื่อวิทยุโทรทัศน์เผยแพร่ผลงานตามวาระและเทศกาลต่าง ๆ จนได้รับการยกย่องมีผลงานเป็นที่ยอมรับในฐานะผู้สืบทอดการแสดงในด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็นที่ประจักษ์และชัดเจน

นายสุขสันติ์ สุวรรณเจริญ เป็นผู้เสียสละและอุทิศตนเพื่องานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างแท้จริงมีปณิธานที่จะสืบทอด อนุรักษ์และประยุกต์ความรู้ด้านการแสดงลายกลองโบราณของภาคอีสานให้คงอยู่สืบไป ให้ความร่วมมือและเผยแพร่ด้วยความเต็มใจโดยไม่กำหนดค่าจ้างรางวัล มีความสุขกับการที่ได้เผยแพร่มรดกอันล้ำค่านี้ให้แก่เยาวชนมาโดยตลอด

จากความรู้เกี่ยวกับเส็งกลอง ลายกลองเส็ง ลายกลองเตะ กั๊บแก้บ ลายฆ้อง และตีกลองให้จังหวะการเต้นมวยโบราณ ฟ้อนภูไท รำหางนกยูง นายสุขสันติ์ สุวรรณเจริญ ได้สร้างสรรค์รวบรวมรายชื่อและวิธีเล่นจนกลายเป็นความเชี่ยวชาญที่สั่งสมพัฒนาเป็นหลักการ และองค์ความรู้ที่ได้รับการยอมรับมีการนำไปอ้างอิงในผลงานทางวิชาการของนักศึกษาสถาบันต่าง ๆ สร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ นายสุขสันติ์ สุวรรณเจริญ (ครูโตน) จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน – กลอง) ปีพุทธศักราช ๒๕๖๐ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติ สืบไป