ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

สังคม เภสัชมาลา (วรรณกรรมปัจจุบัน)

สังคม เภสัชมาลา

นายสังคม เภสัชมาลา เกิดวันที่ ๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๐๐ อายุ ๖๐ ปี เป็นชาวบ้านมูลนาค ตำบลโพธิ์ไชย อำเภอมัญจาคีรี (ปัจจุบันคือ โคกโพธิ์ไชย) จังหวัดขอนแก่น นายสังคม เภสัชมาลา บวชเรียนและพำนักอยู่ที่วัดศรีนวล จังหวัดขอนแก่นตลอดชีวิตการศึกษา เพราะการบวชเรียนนี่เอง ทำให้ได้มีโอกาสอ่านหนังสือดี ๆ โดยเฉพาะหนังสือวรรณกรรมและติดตามข่าวคราว ในวงการวรรณกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยมีศิษย์ร่วมสำนักเดียวกันคือ วงเดือน ทองเจียว ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนักเขียนชื่อดังเช่นกัน

จากนั้นได้สอบบรรจุเข้ารับข้าราชการครูและย้ายไปอยู่ที่ อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ จนกระทั่งวันหนึ่งได้เดินไปที่แผงหนังสือพบผลงานของเพื่อนรักคือวงเดือน ทองเจียวได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสารฟ้าเมืองไทยซึ่งเป็นนิตยสารวรรณกรรมที่ได้รับความนิยมในสมัยนั้น จากผลงานของเพื่อนนี่เองที่สร้างแรงผลักดันให้อยากมีผลงานตีพิมพ์บ้าง จึงตัดสินใจส่งผลงานไปให้ อาจินต์ ปัญจพรรค์ บรรณาธิการชื่อดัง ในคอลัมน์ตะกร้าสร้างนักเขียนจนมีผลงานเรื่องสั้นตีพิมพ์ครั้งแรกในชีวิตเมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๗ เรื่อง ครูโรเนียว ซึ่งสะท้อนภาพชีวิตของครูบ้านนอกที่ไม่มีเครื่องโรเนียว แต่ต้องทำขึ้นมาเองเพื่อใช้ในการเรียนการสอน และจากนั้นเป็นต้นมาได้ผลิตงานเขียนออกมามากมาย เหมือนดวงไฟแห่งวรรณศิลป์ได้ลุกโชนขึ้นในหัวใจพุทธศักราช ๒๕๓๗ กับนวนิยายเรื่องแรกในชีวิตเรื่อง โรงเรียนในภู และทยอยส่งผลงานออกสู่สายตานักอ่านอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนวนิยายเรื่อง หวดฮ้าง รวมเรื่องสั้นชุด นาฏกรรมไม่เปลี่ยนแปลง รวมเรื่องสั้นชุดในทุ่งเปลี่ยว นวนิยายเรื่อง สะพานข้ามเขา นวนิยายเรื่อง คนบาป รวมเรื่องสั้นชุด บนซากปรัก รวมเรื่องสั้นชุดเงาเหงาผ่านหลังกรอบแว่น และเป็นคอลัมนิสต์ให้นิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์ ในชื่อ “คิดแบบครูคม” ผลงานของ นายสังคม เภสัชมาลา ได้รับการยอมรับในวงกว้าง เนื่องจากเป็นนักเขียนที่ใช้ภาษาอีสานประกอบในการเขียน ด้วยสำนวนลีลาเฉพาะตัว พร้อมกับนำเอาฉากชีวิตคนอีสานมานำเสนอจนเป็นที่ประทับใจของนักอ่าน กระทั่งได้รับการยกย่องให้ได้รับรางวัลต่าง ๆ ด้านการเขียนมากมาย

ด้วยผลงานอันประจักษ์นี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงเห็นสมควรยกย่องให้ นายสังคม เภสัชมาลา เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาวรรณศิลป์(วรรณกรรมปัจจุบัน) พุทธศักราช ๒๕๖๑ เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อื่นได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานการเขียนอันทรงคุณค่าให้อยู่กับสังคมต่อไป