สมร พลีศักดิ์
นายสมร พลีศักดิ์ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ หมอนหนังตะลุง เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม พุทธศักราช๒๔๘๔ ภูมิลำเนาเดิม ๓๗ หมู่ที่ ๘ บ้านแต้ ตำบลธวัชบุรี อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด สำเร็จการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านคางฮุง ตำบลธวัชบุรี อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาปีที่ ๖ และระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ตำบลธวัชบุรี อำเภอธวัชบุรี จังหวัดร้อยเอ็ด
นายสมร พลีศักดิ์ สนใจในเรื่องของหนังตะลุงภาคใต้จึงได้นำมาประยุกต์ ปรับเปลี่ยน สร้างสรรค์การแสดงให้มีลักษณะประจำถิ่นของอีสาน เรียกว่า “หนังประโมทัย” จึงได้จัดตั้งเป็นคณะหนังประโมทัย ชื่อว่า “คณะประกาศสามัคคี” ส่วนใหญ่นิยมแสดงเรื่อง “รามเกียรติ์” ตอน ศึกไมยราพ ดำเนินบทโดยใช้การพากย์และบทเจรจาเป็นกลอนบทละคร ด้วยความสามารถรอบด้าน ทั้งดนตรีและการแสดง นายสมร พลีศักดิ์ จึงได้นำประสบการณ์มาใช้ในการอนุรักษ์ สร้างสรรค์ และเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมอีสาน เช่นการพัฒนาสื่อพื้นบ้านเพื่อการศึกษา ส่วนผลงานสร้างชื่อเสียงของนายสมร พลีศักดิ์ ที่ได้รับยกย่องจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ปี พ.ศ.๒๕๔๘ ได้รับรางวัลเกียรติคุณเป็นครูภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านหนังตะลุง จากจังหวัดร้อยเอ็ด ปี พ.ศ.๒๕๕๐ ได้รับรางวัลเกียรติคุณ“เพชรสยาม” จากมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ปี พ.ศ.๒๕๕๐ ได้รับรางวัลเกียรติคุณ ผู้สร้างสรรค์ผลงานดีเด่นในด้านศิลปะและวัฒนธรรม จากสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสานมหาวิทยาลัยมหาสารคาม รวมถึงไปแสดงเผยแพร่หนังประโมทัยทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศ เช่น แสดงในรายการ “คุณพระช่วย” และการแสดงในงานเทศกาลวิถีชีวิตของสถาบันสมิธโซเนียนณ กรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา
นายสมร พลีศักดิ์ นอกจากเป็นศิลปินที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านหนังประโมทัยแล้ว ยังเป็นผู้ที่อุทิศตัวทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นส่งเสริมและอนุรักษ์ดนตรีพื้นถิ่น-นาฏศิลป์พื้นบ้าน การนำวัฒนธรรมและอัตลักษณ์มาเป็นกระบวนการในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ และการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาท การแสดงตนเป็นพุทธมามกะ ร่วมเป็นวิทยากรพิเศษในการให้ความรู้และฝึกปฏิบัติการแสดงหนังประโมทัย ซึ่งถือเป็นต้นแบบของครูผู้ให้และศิลปินผู้ยิ่งใหญ่
นายสมร พลีศักดิ์ จึงสมควรได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (หนังประโมทัย) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๖ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป