ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

สมภพ บุตราช (จิตรกรรมร่วมสมัย)

สมภพ บุตราช

นายสมภพ บุตราช เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2500 เป็นชาวอำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม สำเร็จการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนขอนแก่นวิทยายน จังหวัดขอนแก่น แต่ด้วยความสนใจในการวาดภาพมาตั้งแต่วัยเยาว์ จึงตัดสินใจเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเพาะช่าง ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ และสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาจิตรกรรมจากมหาวิทยาลัยศิลปากร

ในขณะที่ศึกษาที่มหาวิทยาลัยศิลปากร สมภพได้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในเวทีศิลปกรรมแห่งชาติและได้รับรางวัลเหรียญทองแดงในประเภทจิตรกรรม อันเป็นเครื่องยืนยันถึงความไม่ธรรมดาในทักษะฝีมือโดยเฉพาะในการเขียนภาพแนวเหมือนจริง ส่งผลให้รับการชักชวนจากศิลปินรุ่นพี่อย่างเฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ และปัญญา จินธนสาร ให้ไปร่วมเขียนภาพจิตรกรรมไทยประเพณี ที่วัดพุทธประทีป กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ประสบการณ์ครั้งสำคัญในประเทศอังกฤษกว่า 10 ปี ได้เปิดโอกาสให้สมภพ บุตราช มีโอกาสศึกษาเรียนรู้ศิลปะร่วมสมัยในแง่มุมแปลกใหม่อย่างหลากหลาย ด้วยหัวใจของความเป็นนักสร้างสรรค์ที่มีอย่างเต็มเปี่ยม จึงได้ใช้จังหวะโอกาสนี้สร้างสรรค์ผลงานร่วมสมัยออกจัดแสดง ณ Royal Academy ประเทศอังกฤษ ในหลายโอกาส หลังจากเดินทางกลับมาอยู่ที่เมืองไทย ในราวปี พุทธศักราช 2540 สมภพได้แสดงผลงานอย่างต่อเนื่องเริ่มจากผลงานชุด “หนึ่งตีน หนึ่งเท้า”“ชุดอนิจจัง” ชุด “เดือนหก” ที่นำดินมาเป็นวัสดุในการสร้างสรรค์ครั้งแรก ตามมาด้วยชุด“นางฟ้า อัญมณี” ชุด “กรุงเทพเมืองเทพ” ชุด “นางสงกรานต์” ที่นำแรงบันดาลใจมาจากภาพเขียนไทยตามจินตนาการ แต่สิ่งหนึ่งที่สมภพไม่เคยละทิ้งคือ เรื่องราวที่สะท้อนความเป็นตัวตนของเขา ที่สัมพันธ์รากเหง้าภูมิปัญญา ดังจะเห็นได้จากผลงานในระยะหลังที่มีกลิ่นไอของความเป็นจิตรวิญญาณอีสานซ่อนแฝงอยู่อย่างเต็มเปี่ยมอาทิ ผลงานชุด “บันไดสวรรค์” ที่นำภาพใบหน้าของบรรดาปราชญ์อีสาน รวมถึงผู้คนที่เขารักและศรัทธามาบรรจงแต้มแต่ง ด้วย “ดิน” วัสดุจากธรรมชาติที่เก็บมาจากพื้นที่ต่างๆในภาคอีสาน เพื่อจะบ่งบอกถึงความประสานจิตวิญญาณในตัวเขากับพื้นที่ที่เขาผูกพัน อันเป็นต้นแบบของศิลปินในการสร้างสรรค์ที่น่าประทับใจยิ่งอีกท่านหนึ่ง

นอกจากการเป็นนักสร้างสรรค์ที่มีความสามารถอย่างยิ่งยวดแล้วท่านยังได้อุทิศตนในการเผยแพร่ศิลปะ ทั้งด้านกิจกรรมทางศิลปะ และในด้านการศึกษาทางศิลปะ โดยท่านได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษให้กับสถาบันหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยศิลปากรเพาะช่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษให้กับคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อีกด้วย

จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสานสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมร่วมสมัย) ประจำปีพุทธศักราช 2555 จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป