ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

สมบูรณ์ หอมเทียนทอง (จินตทัศน์)

สมบูรณ์ หอมเทียนทอง

นายสมบูรณ์ หอมเทียนทอง เกิดเมื่อปีพุทธศักราช 2492 แถวย่านตลาดบ้านสมเด็จ ฝั่งธนบุรีท่ามกลางสภาพแวดล้อมของยุคสมัยที่น้ำยังใสเรือร่มรื่น เรียกพื้นฐานทางศิลปะที่โรงเรียนเพาะช่างและศึกษาปรัชญาความคิดกับ จ่าง แซ่ตั้ง ร่องรอยของสุนทรียภาพแบบธรรมชาตินิยมตามแนวทางของ จ่าง แซ่ตั้งและประเทือง เอมเจริญยังฉายเงาอยู่ในงานของเขาจนถึงปัจจุบัน

นามของนายสมบูรณ์ หอมเทียนทอง เป็นที่รู้จักกันในฐานะศิลปินไทยที่ไปใช้ชีวิตและทำงานศิลปะอยู่ในประเทศเยอรมนีกว่า30 ปี ก่อนจะนำผลงานมาจัดแสดงให้คนไทยได้ชื่นชมกันเป็นระยะจนกระทั่งย้ายกลับมาสร้างบ้านและสตูดิโอในเมืองไทยที่อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ตอนสมบูรณ์ไปเรียนต่อที่มิวนิคในปีพุทธศักราช2516 ปรัชญาธรรมชาติของโลกตะวันตกเติบโตอยู่ในตัวเขาเต็มที่แล้ว ครั้นผสมผสานกับรูปแบบการทำงานที่เป็นระบบระเบียบของวงการศิลปะเยอรมัน ดอกผลก็เบ่งบานให้เข้าได้ใช้ประโยชน์สมบูรณ์นำผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นในเยอรมันมาจัดแสดงให้คนไทยได้ชื่นชมครั้งแรกปลายปีพุทธศักราช 2532 ภายใต้ชื่อนิทรรศการ“เดินทางไปกับลมหายใจ” ต้นปีพุทธศักราช 2536 เขากลับมาอีกครั้งด้วยงานจิตกรรมและลายเส้นชุดใหม่ชื่อ “เวลาที่ไร้นาม” ปีพุทธศักราช 2538 เขาแสดงงานอันเป็นผลมาจากการสำรวจเกี่ยวกับแรงบัลใจในแผ่นดินไทยได้ระยะหนึ่ง อย่างการเก็บหินแม่น้ำโขงมาจัดแสดงในนิทรรศการ “The Mekong River” จากนั้นเขาก็นำงานเก่ามาจัดแสดงใหม่ทั้งวาดเส้นและประติมากรรม และแสดงงานใหม่หลังจากกลับมาอยู่และทำงานในสตูดิโอริมน้ำโขง อำเภอเชียงคานจังหวัดเลย รวมทั้งจัดแสดงเทียบเคียงกันระหว่างงานเก่ากับงานใหม่ด้วย

สมบูรณ์ทำงานหลายประเภท ทั้งประติมากรรม วาดเส้นจิตรกรรม ศิลปะจัดวาง และสื่อผสม แต่ละประเภทมีความสมบูรณ์ในตัวเองทั้งรูปแบบและวิธีการ ส่วนที่เหมือนกันคือลักษณะอันเป็นนามธรรมแสดงความขัดแย้งตามสภาวะธรรมชาติ อย่างการหยุดนิ่งและเคลื่อนไหว ผลปรากฏบ่งบอกถึงวิธีการทำงานอย่างตั้งใจเป็นแบบแผน และไตร่ตรองอย่างรอบคอบ เขาจะไม่นิยมเปลี่ยนรูปแบบอย่างฉูดฉาดฉับพลันแต่จะคลี่คลายงานในแต่ละประเภทค่อยเป็นค่อยไปในส่วนของรายละเอียด เพื่อสะท้อนสภาวะภายในของศิลปินในแต่ละช่วงเวลา

แม้จะใช้รูปแบบการแสดงออกที่เป็นสากล ลักษณะเด่นของศิลปะที่เขานำเสนอก็อยู่ที่การผสมผสานความเป็นตะวันออกกับความเป็นตะวันตกเข้าด้วยกัน เพราะโดยทั่วไปแล้วศิลปะตะวันตกมักจะเน้นความชัดเจนของวัตถุนิสัยของศิลปินหลัก ขณะที่ศิลปะตะวันออกจะแฝงมิติทางจิตวิญญาณมากกว่าดังเช่นที่ปรากฏในผลงานของสมบูรณ์ทุกชุดผลงาน โดยที่ตะวันออกมีนัยยะซ่อนแทรกในมิติความเป็นอีสานพื้นที่เขาเลือกจะบ่มเพราะจิตวิญญาณในบั้นปลายชีวิต

นายสมบูรณ์ หอมเทียนทอง จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็น ศิลปินมรดกอีสาน สาขาทัศนศิลป์ (จินตทัศน์) เนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2550 จากสำนักวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยขอนแก่น