ศูนย์ศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยขอนแก่น
en th

สมจิต ทองบ่อ (สมจิตร บ่อทอง) (ลูกทุ่งหมอลำ)

สมจิต ทองบ่อ

นายสมจิต ทองบ่อ หรือชื่อในวงการว่า “สมจิตร บ่อทอง” เกิดเมื่อวันที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๐๗ ที่บ้านคำเตย ตำบลส้มผ่อ อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๕ จากโรงเรียนกุดชุมวิทยา อำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร

นายสมจิต ทองบ่อ เป็นผู้ที่มีความกตัญญู ช่วยเหลือครอบครัวตั้งแต่เยาว์วัย เมื่อว่างเว้นจากการทำการเกษตร ก็มักใช้พรสวรรค์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ช่วยเหลือสังคมโดยการขับร้องเพลงลูกทุ่งหมอลำใน งานบุญและงานกิจกรรมต่าง ๆ ของโรงเรียนและชุมชนเสมอมา แต่ด้วยความที่ครอบครัวมีฐานะยากจน จึงขาดโอกาสในการเรียนต่อ จึงต้องออกมาช่วยแบ่งเบาภาระครอบครัวโดยการทำนา และในยามที่ว่างเว้นจากฤดูกาลทำนา สมจิต ทองบ่อ ก็ไม่ได้ปิดกั้นความสามารถของตน แต่กลับมีความมุ่งมั่น ตั้งใจ ที่จะทำตามฝันของตนให้เป็นจริง โดยการไปสมัครเป็นหมอลำกับคณะรุ่งตะวัน สีทอง ในฐานะตัวแสดงประกอบ ต่อมาหัวหน้าคณะ (คุณครูบุญเลิศ พรมชาติ) เห็นแววความสามารถ จึงให้เล่นบทพระเอก ใช้ชื่อว่า “สมจิตร แสงชัย” และในปีพุทธศักราช ๒๕๓๒ จึงเปลี่ยนชื่อจาก สมจิตร แสงชัย เป็น “สมจิตร บ่อทอง” ในปีเดียวกันนั้นเอง ก็ได้ทำให้วงการเพลงลูกทุ่งหมอลำสะท้านสะเทือนไปทั่ววงการ ด้วยการออกอัลบั้มชุดแรก “กุหลาบแดง” จนเป็นที่โด่งดัง และสร้างชื่อเสียงให้ผู้คนได้รู้จัก สมจิตร บ่อทอง อีกทั้งบทเพลงกุหลาบแดง ในทำนองลำเพลิน ก็ยังมีศิลปิน นักร้อง ชื่อดังมากมายนำมาขับร้องจนถึงปัจจุบันและในปี ๒๕๕๓ จึงได้ตั้งคณะหมอลำเรื่องต่อกลอนทำนองขอนแก่น ชื่อ “คณะสมจิตร บ่อทอง” เดินสายแสดงคอนเสิร์ตทั่วประเทศ

ด้วยเป็นคนกตัญญูรู้คุณ มีจิตสาธารณะ มีความสามารถเฉพาะตัว รักและฝักใฝ่ในการเรียนรู้จากครูเพลงทั้งลูกทุ่งและหมอลำ รวมถึงมีคติในการดำเนินชีวิตว่า “การมีความมั่นใจในตนเองสูง จะทำสิ่งที่ชอบได้สำเร็จ” จึงนำจิตวิญญาณการต่อสู้ชีวิตของความเป็นลูกอีสาน มาหลอมรวมเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยน้ำเสียงในการขับร้องและกลอนลำที่ไพเราะหาใครเทียบไม่ได้ ประกอบกับท่ารำ ๓๒ ท่า โดยใช้อวัยวะ ทุกส่วนของร่างกายประกอบกับลีลาการแสดงอย่างอ่อนช้อย เรียบง่าย สวยงาม ตามจังหวะก้าวย่าง ของดนตรี ซึ่งเป็นท่วงท่าที่เลียนแบบและดัดแปลงมาจากพฤติกรรมตามธรรมชาติของคน สัตว์และสิ่งแวดล้อมรอบตัวในท้องทุ่งแดนอีสาน จนได้ฉายา “หนุ่มหมอลำนาฏศิลป์ยอดฮิต”

การทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับศิลปะการแสดงหมอลำอันทรงคุณค่า เพื่อให้ผู้คนได้เห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมแขนงนี้ จึงหมายมั่นปั้นใจอนุรักษ์ สานต่อและส่งเสริม มรดกทางวัฒนธรรมนี้ไว้ตราบนานเท่านาน นายสมจิต ทองบ่อ (สมจิตร บ่อทอง) จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ลูกทุ่งหมอลำ) ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๕๘ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่นเพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป